เดิน – ปฏิบัติการแห่งความหมาย



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กันยายน 2556

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ วิโนพา ภาเว (Vinoba Bhave) เริ่มตั้งต้นการเดินเท้าเพื่อขอรับบริจาคที่ดินมาจัดสรรให้กับคนยากไร้และคนไร้ที่ดินในอินเดีย และถือเป็นจุดเริ่มแรกของขบวนการปฏิรูปที่ดินในอินเดีย

วิโนพา ภาเว เป็นปัญญาชน นักคิด และนักเขียน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นครูแห่งประเทศอินเดีย ในยุคหลังได้รับเอกราช เป็นมือขวาและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณของมหาตมะ คานธี ทั้งในฐานะของนักสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชน

ในเวลานั้น วิโนพา ภาเว อายุ ๕๖ ปี เขาเดินเท้าไปขอรับบริจาคที่ดินจากคนรวยทั่วประเทศ เดินจากเหนือไปใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก ในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีนั้น รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า ๘๐,๐๐๐ กิโลเมตร ตอนเริ่มเดินก็มีผู้บริจาคให้ ๑๐๐ เอเคอร์ และในที่สุดก็เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐ เอเคอร์ (๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) เขาเดินไปทุกหนทุกแห่ง แม้ในพื้นที่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่มีกลุ่มชาวบ้านในวรรณะจัณฑาลพร้อมอาวุธเป็นกำลังสำคัญ เขาก็ประสบความสำเร็จในการขอบริจาคที่ดินจากคนรวยมาให้เพื่อแลกกับการวางอาวุธและขอให้มีการทำการเกษตรร่วมกันแบบสหกรณ์บนผืนดินที่รับบริจาคนั้น

ทุกครั้งที่เขาเดินจะมีผู้ร่วมเดินด้วยจำนวนมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการภูทาน (แปลว่า การขอบริจาคที่ดิน) และขบวนการสรรโวทัย (แปลว่า การตื่นรู้ หรือความก้าวหน้า สำหรับผู้คนทั้งหมด) ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย เรื่องราวของวิโนพา ภาเว มีแปลเป็นภาษาไทยในเล่ม “ปฏิบัติการการุณย์รัก” ซึ่งแปลจาก Moved by Love: The Memoirs of Vinoba Bhave ที่เขียนโดยตัวเขาเอง

สาทิส กุมาร (Satish Kumar) อดีตนักบวชในศาสนาเชน ผู้หันมาสมาทานแนวทางของคานธี และยอมตนมาเป็นลูกศิษย์ของวิโนพา ภเว ก็เริ่มการเดินเท้าเพื่อสันติภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมุ่งเดินทางไปยังเมืองหลวงของประเทศผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ๔ ประเทศ นั่นคือ วอชิงตัน ลอนดอน ปารีส และมอสโคว์

เวลานั้น เขาอายุ ๒๖ ปี เห็นข่าวที่เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล อายุ ๙๐ ปี ถูกคุมขังด้วยเหตุที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เลยรู้สึกว่าคนหนุ่มอย่างเขาควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง

การเดินทางกว่า ๘,๐๐๐ ไมล์ หรือราว ๑๒,๐๐๐ กิโลเมตร ของเขา จึงเริ่มขึ้น เขาเดินผ่านเข้าไปในปากีสถาน ประเทศที่กำลังขัดแย้งกับอินเดียอย่างหนัก ผ่านทะเลทราย เผชิญพายุหิมะ และถูกขังในคุกปารีส โดยตลอดทางนั้นเขายึดมั่นในคำสอนของครู – วิโนพา ภเว – อย่างเคร่งครัด นั่นคือ ไม่พกเงิน และเป็นมังสวิรัติ ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนจำนวนมากที่ให้ที่พักและอาหาร และได้สนทนาสื่อสารในประเด็นสันติภาพ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาในเล่ม No Destination ที่แปลเป็นไทยในชื่อ นักเดินเท้าแปดพันไมล์ นั้นแหละ

พ.ศ. ๒๕๔๘ ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอายุ ๕๑ ปี ลาออกจากราชการ เริ่มเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย ระยะทาง ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๖๖ วัน ถือศีลสองข้อคือ ไม่พกเงินและไม่ขอใครเลย เดินโดยไม่ได้ประกาศ ไม่ได้ครองเพศบรรพชิต ไม่มีใครรู้จักเขา เมีย – ผู้อนุญาตให้เขาเดิน - รับทราบสัญญาณความมีชีวิตของเขาจากโปสการ์ดที่เขาเขียนส่งมาระหว่างนั้น เป็นการเดินเงียบ-เงียบแต่เกิดมิตรภาพมากมาย เขาไม่อดตาย และพิสูจน์ได้ว่าสังคมไทยมีความกรุณามากพอ การเดินทางของเขาเป็นการเดินทางภายใน ได้สัมผัสกับความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้าหมองที่ซ่อนตัวอยู่ โลกของเขาเปลี่ยน และเรื่องราวของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายคน

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เขากับเพื่อนจำนวนมากเดินเท้าจากศาลายาสู่ปัตตานี เป็นธรรมยาตราสู่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงและเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องยาวนานจนผู้คนรู้สึกหมดหวังกับสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ ปฏิบัติการสันติวิธีของเขาจึงเป็นการส่งข่าวสารแห่งความหวังและสันติภาพสู่สังคมไทยในช่วงระยะเวลา ๕๓ วัน ตลอดเส้นทาง ๑,๑๐๐ กิโลเมตรนั้น

พฤ โอ่โดเชา ปะกากะญอจากเชียงใหม่ ก็เริ่มเดินในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เช่นกัน เขาใช้เวลา ๕๐ วัน เดินเท้าจากป่าเชียงดาวสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องชุมชนรายทางเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน และกำลังจะถูกปฏิเสธในสมัยประชุมสภานิติบัญญัติ

แม้ว่าเพื่อนร่วมเดินทั้งหมดจะตัดสินใจเดินอย่างรีบเร่งเข้าสู่เมืองหลวงให้ทันก่อนหมดสมัยประชุมสภา พฤก็ยังมุ่งมั่นตามเจตนารมณ์เดิมที่จะพูดคุยกับชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะถือว่าเป็นสัญญาใจกับเจ้าป่าเจ้าเขา จึงเห็นว่าแม้กฎหมายจะสำคัญ แต่ธรรมะสำคัญกว่า และพวกเขาเองก็เดินทางไปเรียกร้องที่กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว แต่การเดินเท้าด้วยความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้คนนั้นเพิ่งทำเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ แม้พฤจะเดินทางมาถึงที่หมายช้ากว่าคนอื่นในทางกายภาพ แต่สำหรับเขาเองนั้นการบรรลุจุดหมายของการเดินทางภายในนั้นสำคัญยิ่ง

ในปัจจุบัน พฤก็ยังเป็นปากเสียงสำคัญของผู้คนที่ยืนยันการใช้ชีวิตในวิถีแห่งความเคารพต่อธรรมชาติ ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขานั้น มักจะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นที่จะดำรงชีวิตอยู่กับป่าในฐานะบ้านและกำเนิดแห่งชีวิต ไม่ว่าโลกจะหมุนไปสู่ความเจริญในทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพียงใด

๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการและเลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เริ่มเดินเท้าจากป่าแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ป่าและระบบนิเวศอันเป็นหัวใจของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยแบกรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) มาด้วย ระหว่างทางนั้น เขาได้รับการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก และหลายคนที่เขาไม่รู้จักก็มาร่วมเดินจนเป็นกลุ่มใหญ่ แม้สื่อกระแสหลักจะไม่นำเสนอเรื่องราวการเดินและเหตุผลในการประท้วงของเขา แต่ผู้คนในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสรองให้ความสนใจต่อเรื่องราวของเขามาก จนอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงระยะเวลา ๑๒ วัน ระยะทาง ๓๘๘ กิโลเมตรนี้ ศศินและผองเพื่อนสร้างแรงกระเพื่อมต่อความตระหนักรับรู้ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและจุดอ่อนในกระบวนการทำ EHIA ในสังคมไทยได้อย่างกว้างขวางมากทีเดียว

การเดินของผู้คนเหล่านี้ แม้จะต่างกรรมต่างวาระ ต่างสถานที่ต่างวัฒนธรรม แต่ก็เป็นปฏิบัติการที่เปี่ยมล้นด้วยความหมาย ในนัยยะของความพยายามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง บนวิถีที่ปราศจากความรุนแรง จึงเกิดเป็นพลังหรือบารมี ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนอื่นด้วย

การเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงมิใช่การหวนกลับเข้าไปสู่ภายในของตนเองจนหลงลืมและมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่ใช่การมุ่งผลสำเร็จภายนอกจนละทิ้งการเดินทางภายใน

ดังนี้เอง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและมีพลังก็คือ ความสามารถที่จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมในระดับฐานรากได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง

Back to Top