เรียนรู้จากเซลล์มะเร็ง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ื 14 กันยายน 2547

ผมอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านมาท่องโลกของเซลล์กันเล็กน้อย สัญญาว่าจะพยายามเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก และจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อแนวคิดการมองโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิตของเราได้

ถ้าเราเปรียบเทียบเซลล์เป็นไข่ดาว ส่วนของนิวเคลียสก็คือ “ไข่แดง” แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า “นิวเคลียส” เป็นเสมือน “สมอง” หรือหัวใจหลักของเซลล์ เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำงานของเซลล์นั้นมาจาก “โปรตีน” ชนิดต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนหรือเอ็นไซม์ที่ใช้ในปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆ และโปรตีนก็สร้างมาจาก “ตัวต้นแบบ” ที่มีรหัสต่างๆ กัน จึงทำให้เกิดโปรตีนชนิดต่างๆ กัน ทั้งยังพบว่า “เจ้าตัวต้นแบบ (DNA)” เหล่านั้นถูกเก็บไว้ในนิวเคลียสของเซลล์นี่เอง

นั่นเป็นความเดิมที่เป็นมาตั้งแต่ ๕๐ ปีก่อน (ค.ศ. ๑๙๕๓) โดยเริ่มเมื่อวัตต์สันและคริกส์ค้นพบรูปจำลองของ DNA เป็นภาพสามมิติ ด้วยแนวคิดที่ว่า ยีนส์ หรือ DNA ในนิวเคลียสกำหนดการสร้างโปรตีน การทำงานของร่างกายที่ผิดปกติก็เป็นเพราะโปรตีน ดังนั้นถ้าเราสามารถสร้าง “ตัวต้นแบบ” ที่ดีๆ ได้ก็น่าจะทำให้เกิดโปรตีนดีๆ ได้ และโปรตีนดีๆ ก็จะนำไปสู่การทำงานของร่างกายที่ดีๆ ได้เป็นทอดๆ แบบนี้ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับยีนส์”

แนวคิดแบบนี้นำไปสู่ “โครงการเขียนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์” หรือที่เรียกกันว่า Genome Project ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจค ใช้เงินทุนมหาศาล และใช้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากช่วยกันทำงาน เพราะคิดว่าถ้าสร้างแผนที่ทางพันธุกรรมสำเร็จ เราก็จะสามารถแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดจากธรรมชาติได้ทั้งหมด โครงการนี้สำเร็จออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๑ นี้เอง แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะค้นหาเท่าไรก็เขียนรหัสพันธุกรรมมนุษย์ออกมาได้เพียงไม่เกิน ๓๔,๐๐๐ ยีนส์ ทั้งๆ ที่จำนวนโปรตีนในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ชนิด

นักวิทยาศาสตร์ในอีกซีกหนึ่งของความคิดและเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้คือ บรู๊ซ ลิปตัน (Bruce Lipton) ได้ศึกษาการทำงานของเซลล์และเขียนบทความเป็นรายงานการวิจัยที่สำคัญหลายชิ้น หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “The Biology of Belief” เล่าถึง “ทฤษฎีใหม่” เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน “วิธีคิด” ของนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนมาก

ลิปตันได้แนวคิดหนึ่งมาจากแบคทีเรียซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีนิวเคลียส ว่าทำไมเจ้าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียถึงมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัย “สมอง” อย่างนิวเคลียส แถมยังอยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ล้านปีก่อนและไม่มีทีท่าถ้าจะสูญพันธุ์ไปได้เลย

ศึกษาไปศึกษามาพบว่า ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรียนั้นมี “ความพิเศษ” คือในผนังสามชั้นของผนังเซลล์นั้น เปรียบเสมือนแซนวิชเนยที่มีลูกมะกอกสอดไส้อยู่ด้วย แบคทีเรียมีเจ้าลูกมะกอกสอดไส้อยู่ที่ผนังเซลล์ประมาณ ๖ เม็ด เป็นโปรตีนชนิดพิเศษที่เรียกว่า IMP (Integral Membrane Protein) เจ้า IMP นี้มีขั้วด้านนอกที่เรียกว่า “ตัวรับหรือเสาอากาศ” คอยรับข้อมูลจากภายนอกเซลล์ ลิปตันพบว่า ข้อมูลที่เซลล์รับไม่เพียงแต่เป็นเฉพาะปฏิกิริยาทางชีวเคมีเหมือนกับที่เคยเข้าใจกันมาเท่านั้น หากแต่สามารถรับข้อมูลในรูป “คลื่น” ได้ด้วย เหมือนกับเสาอากาศของโทรศัพท์มือถือนั่นเอง

การรับสัญญาณในรูปคลื่นของเสาอากาศของเซลล์นี้ไม่ธรรมดา มีนักวิทยาศาสตร์คำนวณออกมาแล้วว่า “การเลือกรับ” สัญญาณคลื่นที่มีข้อมูลอยู่มหาศาลของขั้วนอกของ IMP นี้ เป็นไปในรูปแบบของสมการฟูเรียร์ (Fourier’s Equation) ซึ่งเป็นสมการของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่นโปเลียนใช้ในการคำนวณเวลาที่เหมาะสมในการยิงปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ปากกระบอกปืนไม่แตก ขั้วนอกของ IMP จึงสามารถเลือกรับข้อมูลที่เหมาะสมเข้ามาเพื่อประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อได้ข้อมูลเข้ามาแล้ว IMP จะส่งสัญญาณไปยังนิวเคลียสก่อนว่า พอจะมีซอฟแวร์หรือข้อมูลอะไรบ้างที่เซลล์จะสามารถตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ หากข้อมูลเดิมที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียส (ยีนส์ที่คุณพ่อคุณแม่ให้มา) เหมาะสมที่จะตอบสนอง IMP ก็จะมอบหมายให้นิวเคลียสทำงานด้วยการสร้างโปรตีนส่งอออกมาในไซโตพลาสซึ่มซึ่งเปรียบเสมือนไข่ขาว เฉพาะการทำงานของนิวเคลียสตรงนี้ เป็นเรื่องเป็นราวที่เข้าใจกันดีในตำราวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บอกว่า IMP ที่ผนังเซลล์เป็นผู้ส่งข้อมูลมาก่อนเท่านั้นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็เลยเข้าใจว่าเป็นนิวเคลียสที่สั่งงานให้สร้างโปรตีน นี่เป็นตัวอย่างของความรู้ที่ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่รู้ไม่สุด เห็นไม่กว้าง เหมือนกับที่กลศาสตร์ของนิวตันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่อธิบายไม่ได้หมด เช่น อธิบายวัตถุที่มีความเร็วเหนือแสงไม่ได้เป็นต้น แต่ควอนตัมฟิสิกส์สามารถอธิบายได้ ทั้งยังอธิบายกลศาสตร์แบบนิวตันได้อีกด้วย ความรู้ใหม่เรื่องเซลล์ตรงนี้จึงเหมือนกับการต่อยอดความรู้เดิมที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทีนี้หากว่า “ซอฟแวร์” หรือ “ข้อมูล” ที่มีอยู่ในยีนส์หรือในนิวเคลียสไม่ดีพอไม่เหมาะสมพอที่จะตอบสนองต่อ “ข้อมูล” ที่ขั้วด้านนอกของ IMP ได้รับเข้ามา IMP ก็จะ “สร้างยีนส์” เอง แล้วส่งผ่านขั้วด้านในของเจ้าลูกมะกอกนี้เข้าไปในเซลล์ด้วยตัวเองเพื่อทำการสร้างโปรตีนที่เหมาะสม

นิวเคลียสของเซลล์จึงทำหน้าที่เป็นเพียงอวัยวะสืบพันธุ์มากกว่าเป็นสมองอย่างที่เคยเข้าใจ

นี่จึงเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมอภิมหาโปรเจคอย่างโครงการจีโนมจึงล้มเหลว เพราะไปเข้าใจว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับนิวเคลียสหรือไข่แดงนั่นเอง และเป็นคำอธิบายถึงโปรตีนที่เหลืออีกร่วมหกเจ็ดหมื่นชนิดที่คนเขียนจีโนมไม่สามารถเขียนออกมาจากนิวเคลียสของเซลล์ได้ เพราะไม่ได้สร้างที่นั่น ข้อมูลของยีนส์ในนิวเคลียสเป็นเพียง “ข้อมูลเก่า” ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษเท่านั้น การสร้างยีนส์ขึ้นใหม่โดยผนังเซลล์จึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันและความเป็นไปในอนาคต ที่สำคัญก็คือจำนวนยีนส์ที่ผนังเซลล์สร้างออกมาใหม่นี้ยังเป็นพลวัตมากขึ้น คือมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลจน “อาจจะ” ไม่มีทางเขียนออกมาเป็นรหัสได้อย่างเด็ดขาด หรือเขียนได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเขียน

ยังไม่จบแค่นี้ครับ เราจะเห็นแล้วว่าขั้วนอกของ IMP นั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรับข้อมูลจากภายนอก ในแบคทีเรียที่มี IMP เพียง ๖ อัน ซึ่งหมายความว่ารับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลนั้นกลับมีความมหัศจรรย์ในการ “ดื้อยา” ได้อย่างรวดเร็วมาก กล่าวคือน่าสนใจว่า ทำไมแบคทีเรียถึงได้สามารถผลิตยีนส์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อผลิตโปรตีนสำหรับการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว บรู๊ซ ลิปตัน อธิบายว่า แบคทีเรียนั้นมีความเป็นชุมชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเป็นเครือข่าย มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างมหัศจรรย์ เจ้าแบคทีเรียจะไม่อยู่กันเดี่ยวๆ แต่จะรวมกลุ่มกัน เช่น สมมติว่าเมื่ออยู่รวมกัน ๑๐๐,๐๐๐ ตัวก็จะสามารถมีข้อมูลถึง ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลที่มาแลกเปลี่ยนกัน แบคทีเรียสื่อสารระหว่างกันได้ดีมากถึงขนาดว่าเป็นไปได้ที่แบคทีเรียสามารถแลกหรือส่งผ่านยีนส์ถึงกันและกันได้ เช่นถ้าหนึ่งในหกแสนข้อมูลนี้นำไปสู่การสร้างโปรตีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะได้ แบคทีเรียจะสามารถส่งยีนส์ดื้อยานี้ผ่านไปมาระหว่างกันได้แบบเป็น worldwideweb ของแบคทีเรีย (http://www.bacteria....) เลยทีเดียว

มีความเป็นไปได้ที่เซลล์ของร่างกายมนุษย์จะทำงานในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าจำนวน IMP ที่ผนังเซลล์ของมนุษย์มีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียมาก เซลล์ของมนุษย์สามารถทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านขั้วนอกของ IMP เช่นกัน และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เช่น มีการศึกษาพบว่า ในเซลล์สมองของมนุษย์ที่มีมากเกือบ ๑ ล้านล้านเซลล์ (เลขประมาณ ๑๓ หลัก หลายร้อยพันล้านเซลล์) ไม่มีสองเซลล์ไหนเลยในสมองมนุษย์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และถ้าทฤษฎีผนังเซลล์นี้เป็นจริง ผมคิดว่าเซลล์ทั้งร่างกายทั้ง ๕๐-๗๕ ล้านล้านเซลล์ก็คงจะต้องมีการสื่อสารส่งข้อมูลระหว่างกันในรูปคลื่นพลังงานแบบควอนตัมตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ไม่ได้ติดต่อผ่านกันแต่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบเดียวอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น

เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติ ดังนั้นเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์อื่นๆ หรือไม่สามารถติดต่อได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์ก็คือการทำให้เกิดเซลล์มะเร็งนี่เอง

ถ้าเราย้อนไปดูกระบวนการรับข้อมูลของ IMP ของเซลล์ข้างต้น เราก็จะเห็นได้ว่าการขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์อาจเกิดจากสาเหตุสองประการคือ

หนึ่ง การ “รับรู้ข้อมูล” ที่ผิดพลาด หมายความว่า IMP ทำงานผิดพลาดเอง

หรือสอง มีสิ่งหรือคลื่นรบกวนจากภายนอก ตัวอย่างเช่น คลื่นกัมมันตรังสีสามารถทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีนี้เช่นกัน เพราะคลื่นกัมมันตรังสีเหล่านั้นรบกวนการทำงานในรูปคลื่นของขั้วนอกของ IMP นั่นเอง ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจึงแบ่งตัวและเติบโตผิดปกติ

นั่นเป็นทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “การสื่อสาร” ระหว่างกันแบบเป็นองค์รวม

ในอีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์แบบใหม่ด้วย ก็คือทฤษฎีส่วนเสี้ยว (Fractal Theory) บอกว่า ความเป็นไปหรือรวมถึงการทำงานของส่วนย่อยนั้นเป็นภาพสะท้อนของส่วนใหญ่ด้วย เช่น กระหล่ำดอกหรือบร็อคคอรี่ที่เราหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก็จะยังคงมีรูปทรงของกระหล่ำดอกทั้งอัน ก้อนเมฆแต่ละก้อนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมีรูปทรงที่มองทีเดียวก็รู้ว่าเป็นก้อนเมฆ รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ในเรื่องภาพสามมิติแบบโฮโลแกรมที่แสดงในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์วอร์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าส่วนเสี้ยวของแผ่นโลหะที่บันทึกข้อมูลนั้นสามารถสะท้อนภาพทั้งภาพได้ แม้จะแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงใด

การทำงานของเซลล์จะสะท้อนการทำงานของมนุษย์ในสังคมด้วย ถ้าเซลล์ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์ มนุษย์ก็ก่อรวมกันเป็นสังคมในรูปแบบเดียวกัน ไม่ใช่แค่เป็นเพียงการเปรียบเทียบเปรียบเปรยเฉยๆ แต่มีความหมายแบบนั้นอย่างจริงจัง และถ้าเราย้อนมาดูการทำงานของเซลล์แบบใหม่ของ บรู๊ซ ลิปตัน เราก็จะสามารถมองเห็นและอธิบายภาพรวมของสังคมได้ว่า

สังคมปัจจุบันกำลังเป็นมะเร็ง

เพราะสังคมในปัจจุบันที่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ คนในสังคมขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน หนึ่งในสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นก็คือ การใช้อำนาจระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐกับประชาชน ครูกับนักเรียน พ่อแม่กับลูก แพทย์กับคนไข้ ผู้เชี่ยวชาญกับคนที่ถูกคาดว่าเป็นผู้ไม่รู้ ฯลฯ

เมื่อมีอำนาจเหนือกว่า ก็จะขาดมิติของการรับฟังกัน เมื่อขาดการรับฟังกันก็สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ เปรียบได้ชัดเจนกับการที่ขั้วด้านนอกของ IMP ไม่สามารถรับสัญญาณหรือข้อมูลจากภายนอกที่ถูกต้องเข้ามาเพื่อประมวลผลในเซลล์ได้ เมื่อข้อมูลมาผิด ก็ย่อมนำไปสู่การตอบรับที่ผิด จนเติบโตผิดปกติกลายเป็นมะเร็งไป เซลล์มะเร็งในที่นี้จึงอาจจะมีความหมายเป็นนัยๆ ถึงคนที่มีอำนาจเหนือกว่านั่นเอง เพราะจะเป็นเซลล์ที่ไม่รับฟังไม่รับรู้ข้อมูล

ความรู้ดังกล่าว นำเราไปสู่แนวคิดเพื่อการแก้ปัญหาว่า ควรจะต้องแก้ที่การสื่อสารระหว่างเซลล์ซึ่งเป็น “ต้นเหตุ” มากกว่าที่จะแก้ที่ปลายเหตุคือการทำลายเซลล์มะเร็ง

หรือถ้าในกรณีของแบคทีเรีย ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งบอกว่า “ฉันมีอำนาจ-ฉันเป็นใหญ่” แบคทีเรียตัวนั้นก็จะสามารถรับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลจาก ๖ IMP เท่านั้นไม่สามารถได้รับ “ข้อมูลร่วมจำนวนมหาศาลของเว็บไซต์ของแบคทีเรียจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลนั้นได้เลย

เมื่อดูด้วยทฤษฎีนี้ เราจะเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนได้ว่า การใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจเพื่อการควบคุมมากขึ้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากแต่จะต้องพยายาม “สื่อสาร” ระหว่างกันให้มากที่สุด เชื่อมโยงระหว่างกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มนุษย์แต่ละคน (เซลล์แต่ละเซลล์) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างเท่าเทียม

ในทางปฏิบัติ การสร้างการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น ก็คงจะต้องกลับมาที่เรื่อง “การหันหน้าเข้าหากัน” ด้วยการฝึก “การรับฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นมิติหลักเรื่องหนึ่งของ “สุนทรียสนทนา” นั่นเอง

Back to Top