วิกฤติน้ำมัน อนาคตอยู่ที่จิตของเรา

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กันยายน 2547

เร็วๆ นี้ได้หนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งเรื่อง Out of Gas: The End of the Age of Oil, David Goodstein, ๒๐๐๔) ที่อ่านแล้วตกใจว่าน้ำมันกำลังจะหมด อย่างน้อยจากตลาดน้ำมันโลกในเร็วๆ นี้ อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า น้ำมันที่ผูกติดกับสังคมวัตถุ ระบบเศรษฐกิจเสรี และเทคโนโลยีดุจฝาแฝด กำลังจะหมดจากตลาด (ข้อมูลของบริษัทเชลล์ เรียกว่าฮับเบิร์ทพีค หรือจุดสูงสุดที่เราสามารถดูดน้ำมันสำรองใต้ดินสู่ตลาดได้ หลังจากนั้น แม้ว่าน้ำมันสำรองใต้ดินยังมีอยู่ แต่ตลาดจะไม่มี) อย่างเร็วอาจในอีก ๕ ปีเศษๆ (www.hubbertpeak.com) หรืออย่างช้า ๔๐ ปี (บริษัทบีพี, www.bp.com) ซึ่งไม่นานพอสำหรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะปรับตัวได้ทัน นั่นเป็นเรื่องน่ากลัวและร้อนแรงสำหรับคนที่มองอะไรไม่เห็นนอกจากเงินกับเทคโนโลยี ที่เอามาบอกจนเราทุกคน (ยกเว้นส่วนน้อยนิดที่ปัดเศษทิ้งก็ได้) เชื่อว่านั่นคืออารยธรรม ความก้าวหน้า และเป็นวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ (ที่จะต้องอยู่เหนือธรรมชาติอันป่าเถื่อนและล้าหลัง) ดำรงอยู่แบบมีคุณภาพและศักดิ์ศรี เช่น ใส่สูท นั่งรถเบ็นซ์ เป็นต้น

เดวิด กู๊ดสไตน์ บอกว่าเวลาน้ำมันหมดนั้น มันหมดตลาด “ทันที” ซึ่งอาจจะขยายเพิ่มเติมว่า ก่อน“ทันที” คือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะเลวร้ายต่อเนื่อง ช้าหรือเร็วขึ้นกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อันที่จริง วิกฤติดังกล่าว ได้เริ่มไปบ้างแล้วตั้งแต่หลายเดือนหรือหลายปีก่อน แต่ถูกบดบังและเร่งให้เลวร้ายยิ่งขึ้นโดยสงครามอัฟกันและอิรัก ทำให้คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ก็ตาม น้ำมัน (ซากฟอสซิลคาร์บอน) ก็กำลังจะหมดลงจริงๆ และนั่นคือจุดสุดท้ายของอารยธรรมแบบที่เรารู้จัก (วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ที่ขึ้นกับเงินและเทคโนโลยี) ชื่นชมและคิดว่าเป็นจริงได้มาถึงแล้ว ประเด็นคือ สิ่งที่จะตามมาใน ๕– ๒๐ ปีข้างหน้านี้ มนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร?

ที่มองเห็นเฉพาะหน้าสั้นๆ คือตั้งแต่หน้าหนาวปีนี้ น้ำมันอาจจะมีราคา ๖๐-๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล และคงไม่มีทางลดลงมาอีก ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนก็ยังห่างไกลมากจนไม่ทันกับความวุ่นวายที่จะเกิดจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และกระทบกับทุกๆ สังคมแทบจะทันทีทันใด ตามมาด้วยสภาวะอนารยธรรมในทุกๆ หนแห่ง มากหรือน้อยเร็วหรือช้าขึ้นกับสถานภาพทางวัฒนธรรมและการศึกษาของคนในประเทศนั้นๆ

สิ่งที่ตามมา หากสรุปจากผลงานวิจัยของ ซูซาน แคนนอน (Susan Cannon) แห่ง California Institute of Integral Studies (CIIS) ที่ตีพิมพ์ใน Yes! A Journal of Positive Futures, Spring 2000 Issue, “Whose Story, What Future” คาดการณ์อนาคตของสังคมโลกในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ (ซูซานเชื่อว่า จะมีภัยจากธรรมชาติที่ปรับตัวไม่ทันกับอารยธรรมวัตถุ เช่น น้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง พื้นที่ด้านในจะแห้งแล้ง มีโรคระบาดร้ายแรงใหม่ๆ มากมาย และสาธารณูปโภคขาดแคลนในทุกๆ ด้าน เรียกว่า “The Shock of 2012”) สังคมอนาคตจะมี ๔ รูปแบบขึ้นกับสภาพการณ์ในตอนนั้น ๒ ประการคือ หนึ่ง มนุษย์สามารถมีวิวัฒนาการของจิตสู่กระบวนทัศน์ใหม่หรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Cultural Creatives)ได้ทันหรือไม่? หรือยังคงวัฒนธรรมเดิมคงวัตถุนิยมเดิมๆ ต่อไป สอง สังคมหรือรัฐบาลของประเทศใด มีความแข็งแกร่งมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และสามารถรักษาองค์กรการเมืองและสถาบันต่างๆไว้ได้เพียงใด ซูซานชี้ว่าสังคมหรือประเทศในโลกอนาคต (อาจเริ่มแต่ปี ๒๐๑๒) จะมีสภาพ ๑ ใน ๔ แบบ ๔ สมมติฐาน ต่อไปนี้

สมมติฐานที่หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ จิตใหม่ และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ทัน แต่ระบบต่างๆ ของสังคมหรือประเทศล่มสลาย ผล เกิดสังคมแห่งความจำเป็นที่เรียบง่าย (Necessary Simplicity) ประชากรจะกระจายอยู่เป็นชุมชนธรรมชาติทั่วทุกหนแห่ง กินใช้เรียบง่ายและเท่าที่จำเป็น สร้างความสุขทางจิตใจร่วมกันทางอินเตอร์เน็ต รัฐบาลและระบบต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภคแทบทั้งหมดล่มสลาย เพราะไม่มีงบประมาณหรือถูกใช้ในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เป็นผลสะท้อนกลับของอารยธรรมวัตถุแบบเก่า

สมมติฐานที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน ยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมวัตถุ และสังคมอ่อนแอ ทั้งรัฐบาลก็ไร้สมรรถภาพ ผล เข่นฆ่าวุ่นวายทุกหย่อมหญ้า (War and Pieces) ชีวิตขึ้นกับการดูแลตัวเองและการเอาตัวรอด ไร้ความปลอดภัยแบบบ้านป่าเมืองเถื่อน มีแต่การปล้นจี้หรือข่มขืนกันทุกๆ ซอกตรอกถนนในทุกๆ ก้าวย่าง แม้คนของรัฐเองก็ไว้ใจไม่ได้

สมมติฐานที่สาม ประชาชนยังแสวงหาวัตถุที่มีอยู่น้อย แถมสิ่งแวดล้อมก็ล่มสลาย โดยไม่มีวิวัฒนาการทางจิตเหมือนในปัจจุบัน แต่รัฐบาลและระบบยังเข้มแข็งมั่นคง ผล เกิดการเดินขบวนประท้วงประจำวันแบบที่ต่างฝ่ายต่าง “ไร้จิตไร้วิญญาณ” โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายที่ “มี” กับ “ไม่มี” (Soul-less Confrontation) รัฐบาลจะปกป้องทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้มีการแบ่งแยกเขตแดน กั้นรั้วสร้างกำแพงระหว่างนายทุนกับคนจนเหมือนในภาพยนตร์ หรือ ยิวกับปาเลสไตน์ ที่ยูเอ็นมีมติออกไป แล้วทำอะไรไม่ได้ นอกจากหัวเราะแหะๆ ตีขาตัวเองแปะๆ แก้เขิน

สมมติฐานที่สี่ ประชาชนเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ร่วมกันสรรค์สร้างสังคม โดยรัฐบาลกับระบบมีความเข้มแข็งและเป็นธรรม ผล เกิดบุพนิมิตแห่งการร่วมใจกันและรวมกันเป็นหนึ่ง (Integral Dawn) เป็นสังคมใหม่แห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความพอเพียง พอดีและยั่งยืน เป็นสังคมใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เน้นความเป็นชุมชน เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือเป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณ

เชื่อว่าเราทุกคนต้องการเห็นสังคมในรูปแบบสมมติฐานที่สี่ แต่ความอยากเห็นกับการเปลี่ยนแปลงจริงเป็นคนละเรื่องกัน การเปลี่ยนแปลงในมิติทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องยากที่ท้าทาย เพราะเราเคยชินกับวัตถุนิยมและแยกส่วนมานาน ที่สำคัญกว่านั้นคือเรามีเวลาน้อยเหลือเกิน

แต่เราส่วนใหญ่ต้องพยายามและอดทน (วิริยะและขันติธรรม) อย่ากลับไปที่เดิมอีก เผ่าพันธุ์ของเราจึงอาจจะอยู่รอดต่อไปได้

อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส (Elisabet Sahtouris) นักชีววิทยากรีก เขียนในหนังสือ Earth Dance (๒๐๐๐) ว่า “วิกฤติคือคาตาลิสต์สู่การเปลี่ยนแปลง” หรือ “จี่เว่ย” วิกฤติคือโอกาสของเต๋านั้นเอง เธอบอกว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างรู้ดีว่าวิถีอารยธรรมวัตถุนิยมคือวิถีแห่งความพินาศหายนะ ริชาร์ด ลีกตีย์ (Richard Leakey) นักดึกดำบรรพ์วิทยาศาสตร์ เขียนใน The Sixth Extinction (๑๙๙๖) ว่า โลกเราได้พบกับความพินาศอันยิ่งใหญ่มาแล้ว ๕ ครั้ง แต่ละครั้ง (ยกเว้นครั้งที่แล้ว ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน) เราไม่รู้สาเหตุแท้จริงทั้งหมด แต่ความพินาศครั้งที่ ๖ นี้ เรารู้ว่าเป็นเราเอง!

นับแต่ปี ๑๙๙๒ การประชุมสุดยอดโลกครั้งแรกที่ ริโอ เดอจาเนโร รวมทั้งอีกสิบกว่าครั้งหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามชี้ประเด็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการยั่วยุให้คนคลั่งไคล้วัตถุอย่างไม่บันยะบันยังของบรรษัทข้ามโลกข้ามชาติ เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกระบวนการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านโดยไม่ยกเว้น แต่นักอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากปฏิเสธที่จะเชื่ออย่างเด็ดขาด เหมือนกับผู้โดยสารเรือ “ติตานิก” (Titanic) ที่ชื่นชมและภูมิใจในเทคโนโลยีของเรือยักษ์ ไม่เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่จะนำพาพวกเขาไปตายที่ก้นมหาสมุทร ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้โดยสารบนนาวาโลกที่สุดภูมิใจในเทคโนโลยี “ไฮ-เทค” ใหม่ๆ ที่นักประดิษฐ์ผู้รับใช้บรรษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขึ้นมาล่อใจเป็นรายวัน และภูมิใจกับความเป็นอิสรชน “สิทธิของกู” ที่จะคลั่งไคล้อย่างไรก็ได้กับเทคโนโลยีนั้นๆ จึงยากที่คนรุ่นใหม่หัวเก่าจะยอมเชื่อว่าความอิสระและเทคโนโลยี คือสิ่งที่จะนำความฉิบหายและความตายมาให้ตนและชาวโลกอีกมาก เราประมาท อหังการ และโลภมากจนนำตัวเองสู่กับดักของตัวเอง

บางที น้ำมันที่จะขึ้นราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายจากตลาดไปอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้ (Hubbert’s Peak, Kenneth S. Deffeyes, ๒๐๐๑) หรือหมดเกลี้ยงใน ๔๐ ปีอย่างที่บริษัทบีพีคาดไว้ ผลที่จะตามมา คือความทุกข์ของเราแต่ละคนที่จะต้องอยู่กับความไม่เคยชิน จากความวุ่นวายของเราไปจนถึงสังคมประเทศชาติ แต่ความทุกข์ความวุ่นวายเหล่านั้นจะสะท้อนให้เราได้คิดมากขึ้นและล้ำลึกขึ้น ไม่ว่าในตอนนั้นเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม สมมติฐานทั้ง ๔ ที่ ซูซาน แคนนอน วิจัยมานั้น ทำให้เราได้คิดว่า มนุษยชาติคงกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่าเดิมคือ ยึดถือตัวตน คิดแยกส่วน วัตถุนิยม และฟุ่มเฟือยอย่างที่เคยเป็นเคยทำไม่ได้อีกแล้ว เราคงต้องเรียนรู้ใหม่มีวิธีคิดใหม่ว่า เราในฐานะเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ย่อมจะต้องมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกันหรือเป็นส่วนของกันและกันกับธรรมชาติทั้งหลายนั้นๆ น้ำมันที่หมดลงไปในด้านหนึ่ง คือตัวดึงดูด (attractor of the chaos system) หรือคาตาลิสต์ที่ อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส ว่า ทำให้เราเรียนรู้กับเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าทั้งหมดเป็นเราเองที่จงใจแยกตัวออกจากธรรมชาติและล้างผลาญธรรมชาติเพราะความไม่รู้ เรียนรู้ว่าเป็นเราเองที่อหังการ หยิ่งผยองในปัญญาด้านเทคโนโลยีที่แท้จริงแล้วเป็นอวิชชา ทำให้ธรรมชาติหวนกลับมาสนองตอบต่อเราทั้งเผ่าพันธุ์อย่างไร? การเรียนรู้ที่สุดเจ็บปวดนี้ สำหรับบางคนในเวลานี้และหลายคนในตอนนั้น อาจมีจิตวิวัฒน์ได้ ทำให้เราไม่กลับไปที่เดิมหรือใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีกต่อไป

เห็นจะมีแต่การเรียนรู้ที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะนำเราไปสู่สมมติฐานรูปแบบที่ ๔ คือบุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Integral Dawn)

Back to Top