ความท้าทายของวิวัฒนาการ

โดย เดวิด สปินเลน
วรนุช ชูเรืองสุข แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2547

ชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราต้องการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เราควรจะศึกษาพวกเอป (Ape) มากกว่าเอาเวลามานั่งอ่านงานเขียนของนักปรัชญาทั้งหลาย ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา นักสัตววิทยา เช่น เจน กูดอลล์ (Jane Goodall ) ได้ศึกษาพฤติกรรมของไพรเมตในเชิงลึก (ไพรเมต คือสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึง ลิง เอป และมนุษย์) การศึกษาเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมพื้นฐานบางอย่างของไพรเมตชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ๑. สัตว์กลุ่มนี้สนใจหาอาหารเพื่อประทังชีวิตแบบวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ๒. ต้องการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ๓. มีความห่วงใยเฉพาะกับตัวเอง ครอบครัวและกลุ่มของตัวเองเท่านั้น

มนุษย์เองก็มีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่กระนั้น เรายังมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างประกอบด้วย เช่น มีความสามารถในการคิดทบทวน ไตร่ตรอง คือสามารถรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือรู้อะไรบ้าง นอกจากนี้ มนุษย์ยังสามารถพัฒนาจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ และสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วย ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่า มนุษย์มีทั้งคุณลักษณะทางวิวัฒนาการแบบเก่า คือ ต้องการอาหารและความปลอดภัยในชีวิต ต้องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และมีกรอบความห่วงใยแคบๆ เฉพาะภายในครอบครัว นอกจากนี้ มนุษย์เรายังสามารถมีศักยภาพในการตระหนักรู้ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเริ่มขยายกรอบความห่วงใยที่กว้างกว่าเดิม ขยายกรอบความห่วงใยคืออะไรนะหรือครับ? ก็คือเริ่มสนใจและห่วงใยในเรื่องที่มากกว่าแค่การหาอาหาร หาข้าวของเครื่องใช้ไว้ใช้แค่ในช่วงสั้นๆ ใส่ใจดูแลแค่สมาชิกในครอบครัว พวกพ้อง หรือคนในประเทศของตัวเองเท่านั้นนะสิครับ

ตอนนี้เราลองมาดูกันคร่าวๆ ถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และดูว่าผู้นำของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ตลอดจนประชาชนทั้งหลาย จะยังคงมีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่ากันอย่างไร ทุกวันนี้ความกลัวในเรื่องที่ว่า เรา (ประเทศของเรา) จะไม่มีอาหารและทรัพยากรที่จำเป็น เช่น น้ำ น้ำมัน เพียงพอแก่การบริโภคแพร่ขยายไปทั่ว ฉะนั้นเราจึงพัฒนานโยบาย หรือแม้แต่ยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อยึดหรือครอบครองทรัพยากรเหล่านั้นไว้ สิ่งนี้สร้างความตึงเครียด โกรธเคือง และคับแค้นใจให้กับประชาชน และนานาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่สมดุลด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างกว้างขวางและรุนแรง การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะ “น้ำ” ของประชากรโลกเริ่มส่อเค้าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ อัตราการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรในเมืองใหญ่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีการเพิ่มขึ้นของบรรดาลัทธิจารีตนิยมทางศาสนา ซึ่งก็เป็นวิถีของวิวัฒนาการทางพฤติกรรมและความเชื่อแบบเก่านั่นแหละครับ คือเชื่อว่าพวกของข้าดีกว่าพวกของเจ้า ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ที่สามารถแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว

ท่าทีของบรรดาผู้นำเกือบทุกประเทศที่มีต่อปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นไปในลักษณะวิวัฒนาการแบบเก่า คือใช้เทคโนโลยีและวิธีการบีบบังคับ เข้าจัดการจากบนสู่ล่าง (Top-Down) สร้างความอึดอัดโกรธแค้นไม่พอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้สึกไร้อำนาจ จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้เรามีทั้งขบวนการผู้ก่อการร้ายและระเบิดพลีชีพกระจายอยู่ทั่วไป

โปรดสังเกตนะครับว่าปัญหาเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นปัญหาสากล เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหรืออาณาเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้กำลังจะชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาทางวิวัฒนาการอยู่ ว่าจะสามารถฝ่าฟันกระบวนการคิด การกระทำและพฤติกรรมอันจำกัด ไปสู่การมองที่เห็นว่ามนุษยชาติล้วนเป็นพี่น้องกันได้หรือไม่ หากไม่เช่นนั้นก็อาจต้องล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

ก็ทำไมเราไม่ทำเช่นนั้นละครับ ไม่เพียงแค่ลักษณะทางวิวัฒนาการที่เราได้รับสืบทอดมาดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เราพึงตระหนักไว้ นักจิตวิทยาได้จำแนกสภาวะของปฏิกิริยาที่คนหรือกลุ่มคนแสดงออกเมื่อเผชิญกับปัญหาวิกฤตเป็น ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ ระยะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ติดเหล้าติดยาส่วนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเวลาหมอบอกว่าตัวเองติดสิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมแบบนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือครับ เกือบ ๓๐ ปีมาแล้วที่บรรดารัฐบาลและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจต่างพร้อมใจกันไม่ยอมรับว่าทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาทางนิเวศและสิ่งแวดล้อม ระยะที่ ๒ ระยะแสดงอาการโกรธและชอบกล่าวโทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นตัวสร้างปัญหา คือถ้าไม่ใช่เพราะ “มัน” ฉันหรือเราก็คงไม่เดือดร้อนยุ่งยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ กำจัดมันเสีย หรือถ้าจำเป็นก็ “ฆ่า” มันเสียเลย ระยะที่ ๓ ของการตอบสนอง คือการแสดงอาการท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะคิดแต่ว่าปัญหาต่างๆ ช่างใหญ่เกินกำลัง รับมือไม่ไหว เอาชนะไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ระยะสุดท้ายคือ ยอมรับความเป็นจริง ว่าพวกเรากำลังเผชิญปัญหาซึ่งยากและซับซ้อนมาก มันทำให้ฉันโกรธและหดหู่ ฉันเห็นและยอมรับว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เอาล่ะ ถ้าเช่นนั้น เราควรจะทำอย่างไรกันดี

ตามความเห็นของผม วิวัฒนาการกำลังนำเราไปไกลพ้นจากตัวเอง จากการที่เราเป็นห่วงเฉพาะเรื่องแคบๆ เล็กๆ เห็นแก่ตัว เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องการทางออกในระดับโลกด้วยเช่นกัน ผู้นำในหลายประเทศไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่ธรรมชาติไม่ให้โอกาสเราเลือกมากนักหรอกครับ เราจะถูกผลักให้หันหน้ามาร่วมมือกัน หรือไม่ก็ตายไปด้วยกัน คุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์กำลังถูกเรียกร้องให้นำออกมาใช้ นั่นคือ ต้องนำจินตนาการเชิงสร้างสรรค์มาใช้สร้างวิสัยทัศน์สำหรับโลกอนาคต อันเป็นจุดหมายหลักของชุมชนโลกนั่นเอง

อุปสรรคยากเย็นที่เราเผชิญอยู่คือโอกาส เนื่องจากเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือศาสนา แต่เป็นวิกฤตทางวิวัฒนาการ วิวัฒนาการที่นับจากนี้ไปเป็นเรื่องของจิต หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ มันขึ้นอยู่กับคุณและผมแล้วละครับว่า จะก้าวข้ามการไม่ยอมรับความจริง ความโกรธ ความหดหู่ มายอมรับความจริงได้อย่างไร แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ตามวิถีทางเล็กๆ ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และพาตัวเองก้าวพ้นจากพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่าอันคับแคบให้ได้

เราคงไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่า ถ้าคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณก็เป็นศัตรูกับเรา แต่เราจะต้องตระหนักและเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า เรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้ด้วยกันทั้งหมด

Back to Top