ความดี ความงามในกระบวนการวิศวกรรม

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2549

กระบวนการ (Process) ระบบ (System) การจัดการ (Management) การวางแผน (Planning) การประยุกต์ (Application) การพัฒนาองค์กร (Organization Development) การทำให้ง่าย (Simplification) ฯลฯ ล้วนเป็นถ้อยคำที่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่ทำงานทางด้านวิศวกรรม วิศวกรมักจะพอใจเมื่อได้จัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ มีการประยุกต์และทำให้ง่ายขึ้น ดังที่ ลีโอนาโด ดาวินชี ปราชญ์ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม กล่าวไว้ว่า

“Knowing is not enough; we must apply. Being willing is not enough; we must do. Simplicity is the ultimate sophistication.”

(การที่เราจะมีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่เราต้องประยุกต์ใช้ด้วย ความตั้งใจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราต้องลงมือทำด้วย และการทำให้ทุกอย่างง่าย เป็นศาสตร์อันสุดยอด)


เรือบินของดาวินชี ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติลีโอนาโด ดาวินชี เมืองมิลาโน ประเทศอิตาลี


น่าสังเกตที่อุดมลักษณ์ทางวิศวกรรมหลายท่าน นอกจากจะมีผลงานอันเป็นประโยชน์แล้ว ผลงานของท่านยังแฝงไว้ด้วยความงดงาม และไม่เป็นที่น่าสงสัยสำหรับงานของลีโอนาโด ดาวินชี เครื่องจักรของดาวินชีนั้น มีทั้งประโยชน์และความงดงาม เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลก เขาได้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือมากมายกว่า ๖,๐๐๐ ชิ้น เพื่อใช้ในงานศิลปะและงานทางวิศวกรรม เช่น เครื่องร่อน เครื่องบิน เครื่องมือในการก่อสร้าง เครื่องทุ่นแรง รอก ปั๊มน้ำ เครื่องกลั่นไอน้ำ มาตรวัดต่างๆ เป็นต้น ดาวินชีแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร้ขีดจำกัด เครื่องมือของเขามีความสมดุลย์และมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัว เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งต่อนักประดิษฐ์ในรุ่นต่อๆ มา และทำให้ดาวินชีเป็นบุคคลอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคถัดมา โทมัส เอดิสัน ผู้ที่ได้รับฉายา พ่อมดแสงสว่างแห่งเมนโลปาร์ค เป็นผู้ที่ประดิษฐ์หลอดไฟหลอดแรกของโลก เอดิสันบอกว่า มีวิธีถึง ๒,๐๐๐ วิธีในการสร้างหลอดไฟ แต่เขาเลือกเพียงวิธีเดียว และละทิ้งวิธีอื่นๆ เพราะวิธีอื่นๆ นั้นไม่เข้าท่า ส่วนวิธีที่เขาเลือกเป็นวิธีที่งดงามที่สุด และหลอดไฟของเอดิสันก็ได้ถูกนำไปใช้ทั่วไปทั้งเป็นสัญลักษณ์การ์ตูนหรือไอคอนต่างๆ อย่างคลาสสิก

ผลงานทางวิศวกรรมอีกชิ้นที่งดงาม และก้องโลกมาจนถึงปัจจุบัน คือ หอไอเฟิล สร้างโดย กุสตาฟ ไอเฟิล วิศวกรชาวฝรั่งเศส ถึงแม้หอไอเฟิลจะถูกสร้างขึ้นจากเหล็กหนักจำนวนมาก แต่ด้วยความพิถีพิถันและความใส่ใจในการก่อสร้าง ดังนั้นหอไอเฟิลจึงไม่เป็นเพียงหอส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์เท่านั้น แต่เป็นผลงานศิลปะสำหรับมหานครปารีสมากว่า ๑๐๐ ปี ทุกวันนี้หอไอเฟิลยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลก แห่แหนมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นงานทางวิศวกรรมที่ทรงคุณค่า จึงหล่อหลอมมาจากความงาม แม้จะถูกสร้างขึ้นมาจากเศษเหล็กก็ตาม เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) นักเขียนชาวอังกฤษผู้โด่งดัง สนับสนุนความคิดนี้ โดยกล่าวไว้ว่า

“There is nothing in machinery, there is nothing in embankments and railways and iron bridges and engineering devices to oblige them to be ugly. Ugliness is the measure of imperfection.”

(ไม่มีเครื่องจักกล ไม่มีเขื่อนและทางรถไฟ และสะพานเหล็ก และอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่ถูกบังคับให้น่าตาน่าเกลียด ความน่าเกลียดเป็นการวัดให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์)

และในยุคที่มนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง วิศวกรอวกาศของนาซ่า เป็นผู้ที่เหยียบดวงจันทร์ เป็นคนแรกของโลก เป็นผู้ที่นำภาพโลกทั้งใบอันงดงามจากดวงจันทร์ มาฝากชาวโลก ทำให้เห็นธรรมชาติความเป็นหนึ่งเดียวของโลกและจักรวาลที่ไม่แยกออกจากกัน มนุษย์ไม่ได้แยกออกจากความเป็นจักรวาล และไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนอันใดที่ขั้นขวางระหว่างมนุษยชาติ เป็นการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับชาวโลกอย่างสำคัญ

ดร. เอ็ดการ์ มิทเชลล์ เป็นอีกคนที่ได้ไปยืนบนดวงจันทร์ และเห็นโลกทั้งใบ จากนั้นจิตสำนึกของเขาเปลี่ยนไป เขาเห็นว่าวิกฤตการณ์รุนแรงต่างๆ บนโลกสามารถแก้ไขได้ หากมนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ โดยการหยั่งรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากกลับมายังโลก เขาได้ตั้งสถาบันโนเอติกส์ ไซน์ (Noetics Science Institute) เป็นสถาบันที่ศึกษารวบรวมความรู้เพื่อช่วยให้คนเข้าใจถึงจิตสำนึกใหม่และวิวัฒนาการของจิต

ในยุคปัจจุบัน ยุคแห่งความรู้และข่าวสารข้อมูล งานทางวิศวกรรมส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับผลงานที่จับต้องไม่ได้ เช่น การจัดการความรู้ที่ไม่มีการบันทึกไว้ (Tacit Knowledge Management) ซึ่งเหล่านี้เป็นทุนอันมหาศาลที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ (Intangible Cost) และความรู้ในสมัยนี้ หากจะเป็นความรู้ที่งดงาม ย่อมเป็นความรู้ใดๆ ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพืชไพร สรรพสัตว์ และธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

การทำให้ง่ายขึ้น (Simplify) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) ทางวิศวกรรม อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในระดับจิตวิญญาณ ที่จะช่วยทำให้มนุษย์เห็นความเชื่อมโยง โดยไม่แบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้และยอมรับด้วยจิตสำนึกแล้ว มนุษย์ก็จะสามารถเยียวยาธรรมชาติ และหาระบบจัดการปัญหา ซึ่งเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนโลกได้


การบรรยาย “Leadership and the New Science” ของ นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์


ในหนังสือเรื่อง Leadership and the New Science ของ มาร์กาเร็ต วีทลีย์ ได้นำความรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น เรื่องของควอนตัม มาประยุกต์ใช้กับการจัดการองค์กร เป็นความรู้ที่สร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับคนทำงาน ส่งผลให้องค์กรนั้นประสบความสำเร็จและมีศักยภาพสูง จนกระทั่งเป็นตัวอย่างในการพัฒนาองค์กรอย่างแพร่หลายทั่วโลก

วีทลีย์กล่าวว่า ผู้นำในองค์กรตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ จะเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงรายละเอียดได้อย่างคมชัด ไว้เนื้อเชื่อใจและให้อิสรภาพคนในองค์กร เกื้อหนุนให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา หรือเรียกว่าเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ และใช้ระบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อย่างสม่ำเสมอในการพูดคุยกับคนทำงาน

ทั้งนี้ความรู้ที่ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ยังมีอีกมากมาย หากความรู้เหล่านี้มีการจัดการเชิงวิศวกรรมอย่างเป็นระบบและสามารถทำให้คนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ย่อมจะเป็นความงดงามในวิทยาการของมนุษยชาติ

และถึงแม้อุดมลักษณ์ทางด้านวิศวกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีอยู่ไม่มากก็ตาม แต่หากงานของเขานั้นเปี่ยมไปด้วยความดีและความงามแล้ว ย่อมจะเป็นอมตะตลอดกาล ดังเช่น ลีโอนาโด ดาวินชี และ นีล อาร์มสตรอง นั่นเอง

Back to Top