ตรรกะกับเหตุผล: ทิ้งหรือไม่ทิ้งก็ไม่ได้

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 เมษายน 2550

มองจากความคิดของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาระดับโลกชาวตะวันตกหลายๆ คน ตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นพลาโต้, โพลตินัส, ค้านท์ ไล่มาถึง เตยา เดอ ชาดัง, คาร์ล จุง กระทั่งโกร๊ฟ และ เค็น วิลเบอร์ ในปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่านักคิดผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ “สมัยใหม่” (คงรวมนักวิทยาศาสตร์แทบทั้งหมดในบ้านเรา) มีความเป็นจิตนิยมหรือเชื่อในเรื่องของพระเจ้าไม่มากก็น้อย นั่นคือในรูปแบบหนึ่ง นักคิดนักปราชญ์เหล่านี้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาบนหลักตรรกะและเหตุผล แต่กลับไปเชื่อในเรื่องความไม่มีเหตุผลว่าเป็นความจริงแท้ในอีกด้านหนึ่งด้วย

ที่เกริ่นนำมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนขอย้ำว่า - ความหมายของคำว่าจิตนิยมนั้น - เป็นการมองปรากฏการณ์ธรรมชาติของวิวัฒนาการมนุษย์ที่สัมพันธ์หรือสัมพัทธ์กับมโนทัศน์หรือวัฒนธรรมในเวลาปัจจุบัน นั่นคือกระบวนทัศน์เก่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะต้องไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สู่กระบวนทัศน์ที่ใหม่กว่าและสูงกว่าตลอดกาล

นอกจากโลกทัศน์ของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทุกวันนี้ ยังมีนักฟิสิกส์ยุคใหม่จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นนักคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นตรรกะอย่างหนึ่ง แต่ก็พากันไม่เชื่อในตรรกะและเหตุผลไปด้วย เช่น เดวิด ฟิงเกลสไตน์ นักฟิสิกส์ควันตัมชื่อดังระดับโลก อดีตหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ทฤษฏี สถาบันจอร์เจียเทค และบรรณาธิการวารสารฟิสิกส์ทฤษฏีนานาชาติ เคยพูดว่า “ไอน์สไตน์ทำให้เรา (นักวิทยาศาสตร์) ต้องทิ้งมโนทัศน์ในเรื่องของเวลา นีลส์ บอห์ร ทำให้เราโยนทิ้งความจริง (ทางวิทยาศาสตร์กายภาพที่เคยเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด) ไป เราอยู่กับตรรกะที่ผิดๆ มาตลอดเวลา ต่อไปนี้เราต้องเรียนที่จะอยู่กับความถูกต้องเสียที นั่นคืออยู่กับตรรกะ (ที่ไม่มีเหตุผล) ทางควันตัม” คำในวงเล็บเป็นของผู้เขียนที่อาจสรุปต่อได้ว่า ในความเห็นของ เดวิด ฟิงเกลสไตน์ (นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ที่ตอนหลังมาสนใจในพุทธศาสนา) ตรรกะและเหตุผลไม่ควรมีขึ้นมาในโลกตั้งแต่ต้น - สำหรับความเห็นของผู้เขียน - ว่าไปแล้ว ในด้านหนึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว...ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติ...โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา...ควรน้อมใส่ตัว...การรู้ที่ได้มาด้วยตนเอง...นั่นคือปัญญาเหนือปัญญาและทัศนะ (wisdom and vision) ที่นักปฏิบัติทางจิตหรือสมาธิในคริสต์ศาสนา เช่น ลอเร็นซ์ ฟรีแมน หรือ จอห์น เมน บอกว่าองค์ความรู้สูงสุดนั้น (real knowledge or gnosis) หากมนุษย์เราหวังจะได้มา ต้องทิ้งตรรกะและเหตุผลไปเสียก่อน (unknowing of the known)

เรา - ในอดีตตั้งแต่ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วหรือตั้งแต่เริ่มมีประวัคิศาสตร์ตราบจนปัจจุบัน - แทบทุกคนจะมีความอวดดีอหังการ์หรืออีโก้โดยไม่รู้ตัวจากการมองตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (anthropocentric) ดังที่แสดงออกโดยปโตเลมี (Ptolemy’s conceit) ที่นักจิตวิทยาและนักเทววิทยาบอกว่า มนุษย์เราต่างมีและแสดงออกอยู่ทุกวินาที นั่นคือช่วงเวลาที่เราตื่นทางจิตจากการหลับลึก (magic) และหลับไหลมาอยู่กับนิยายปรัมปรา (mythic) ประหนึ่งความงมงายจากจิตใต้สำนึก (sub - consciousness) มาสู่จิตระดับใหม่หรือจิตสำนึกแห่งอัตตาตัวตน (self - consciousness) ที่มีขึ้นเมื่อร่วม ๑๕๐ ชั่วคนก่อนและอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

จิตสำนึกแห่งอัตตาอหังการ์ที่ตั้งบนการรับรู้ตามที่ตาเห็น (หรือเวทนาที่ประสาทสัมผัสบอกเรา) นั้นคือตรรกะที่เกิดจากตากับการเห็น (vision-logic) ของ เค็น วิลเบอร์ ด้วยระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยชั่วคนเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงไม่รู้หรือลืมเลือนไปหมดสิ้น และคิดว่าอัตตาตัวตนที่พัฒนาเป็นความเห็นแก่ตัวและกิเลสตัณหาต่างๆ นานา รวมทั้งความอวดดีที่มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แล้วคิดว่าทั้งหมดนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (human nature) ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงแก้ไขไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจผิดที่ผู้เขียนได้ชี้ - บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์กับโบราณคดีศึกษา - มาตลอดเวลาว่า การมองตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือไม้บรรทัดวัดธรรมชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันนี้เอง ที่พัฒนาขี้นมาเป็นตรรกะและเหตุผลที่เราใช้วัดโลกหรือสิ่งอื่นๆ มาจนถึงวันนี้ โดยคิดว่าสิ่งอื่นๆ ไม่สำคัญและไม่แยแสว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ เขาจะเห็นด้วยหรือไม่ และตรรกะและเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์และไม่จริงแท้เช่นนี้เอง ที่เรานำมาเป็นรากฐานของวิธีคิดและมโนทัศน์ของเรา เป็นรากฐานของระบบการศึกษาและสังคมของเรามาตลอด

ตราบใดที่เรายังคงทัศนคติที่ยึดถือตรรกะและเหตุผลเข้าข้างตนเองอยู่อย่างนี้ สัทธรรมความจริงแท้ย่อมจะหวนกลับมาแก้ไขความผิดพลาด - การเสียสมดุลย์หรือเสียลักษณะธรรมชาติการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งของจักรวาลลงไป - ที่เกิดจากความอวดดีอหังการ์ของมนุษย์เรา ไม่อย่างหนึ่งอย่างใดในเร็ววันนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังคิดว่าแม้ตรรกะและเหตุผลจะไม่จริงหรือไม่สมบูรณ์ หรือเป็นเรื่องของมนุษย์ สำหรับมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียว แต่เราจะโยนทิ้งไปทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วตรรกะ เช่น ภาษาและคณิตศาสตร์ การวิพากษ์หรือการวิเคราะห์สังเคราะห์โลกและธรรมชาติรอบตัวบนเหตุผลนั้น เป็นผลผลิตของวิวัฒนาการของจิตจากระดับหนึ่งไล่สูงขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง ในที่นี้จากจิตแห่งความหลับลึกและหลับไหลประหนึ่งเป็นความงมงายของจิตใต้สำนึก (sub-consciousness) ไปสู่ระดับจิตรู้ตัวตนที่มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น โดยมี “สถานที่” หรือ “ที่ว่าง” ในสมองที่เหมาะสมกับการบริหารสามารถเอื้อให้จิตมีวิวัฒนาการได้ต่อไป (สำหรับมนุษย์เท่านั้น) นั่นคือวิวัฒนาการของจิตที่มนุษย์เรามีอยู่ในปัจจุบัน ใช้แยกอัตตาตัวตนออกจากธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง (vision-logic) สร้างทวิลักษณ์แห่งความเป็นสอง (dualism) เพื่อปลดปล่อยความจริงสูงสุดที่ถูกกักขังด้วยจิตใต้สำนึกและความหลับไหลงมงายให้เป็นอิสระ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยตรรกะและเหตุผล อันเป็นเรื่องสำคัญกับวิวัฒนาการของจิต ซึ่งจิตแห่งอัตตาตัวตน (self-consciousness) มีหน้าที่ต้องทำเช่นนั้น อย่าลืมว่า จิตรู้แห่งความมีอัตตาอหังการ์ที่มาจากการบริหารใน “ที่ว่าง” ของสมอง พร้อมกับศักยภาพของความเป็นไปได้อันหลากหลายของการมองเห็นโลกและธรรมชาติด้วยตรรกะและเหตูผลนั้น ย่อมเป็นระดับจิตที่อยู่กว่าและเป็นอิสระกว่าจิตที่ถูกกักขังและหลับไหลอยู่กับความงมงายของตำนานโบราณ (mythic)

นอกจากนี้ ด้วยจิตอิสระที่เป็นไปเองจากการดิ้นรนหรือวิวัฒนาการที่ “เนื้อใน” ภายในจิต แม้ว่าจะยังมีอุปาทานปรุงแต่งด้วยปัจจัยจากภายนอกอยู่บ้าง กระนั้น จิตสำนึกแห่งตัวตนและเหตุผลก็ยังเป็นจิตที่อยู่ในระดับสูงกว่าเดิมอยู่ดี ที่เอื้อต่อการวิวัฒนาการต่อไปได้ นั้นคือ การ “ตื่น” อีกครั้งจากระดับจิตแห่งอัตตาตัวตนสู่ระดับจิตเหนือสำนึก (super–consciousness) ความจริงสูงสุด เมื่อสปิริต (Spirit) ได้ค้นพบสปิริต - หรือเมื่อจิตแห่งพุทธะค้นพบนิพพาน - ได้ในภายหลัง ทั้งนี้ สุดแล้วแต่ว่าเรา โดยผ่านศาสนาต่างๆ จะแปลคำว่าสปิริต – หนึ่งที่ให้ความหลากหลาย - ว่าอย่างไร

ในความคิดของผู้เขียน การอุบัติขี้นของจักรวาล โลก และสรรพสิ่ง ที่รวมชีวิต มนุษย์ กับสังคมของมนุษย์ จิตและจิตวิญญาณ เป็นห่วงโซ่ที่แยกออกจากกันไม่ได้ ดังที่นักคิดทั้งหลายในอดีตโดยเฉพาะพลาโต้เรียกว่า ห่วงโซ่ของการมีขึ้นของสรรพสิ่ง (the great chain of being) ซึ่งมาจาก “หนึ่ง” ที่มีหนึ่งเดียว (The One) แล้วเดินทางสู่ความหลากหลาย (The Many) - ที่เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างกันและกัน ระหว่างภาพลักษณ์ของความเป็นสอง (dualism) - โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพียงประการเดียว นั่นคือเพื่อให้สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น - ในทางศาสนา - เรียนรู้และค้นพบธรรมะหรือสัทธรรมความจริงสูงสุด หรือเพื่อให้สปิริตได้ค้นพบสปิริต การเดินทางเพื่อเรียนรู้ผ่านกระบวนการธรรมชาติที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าวิวัฒนาการที่มีสองกระบวนการคือ หนึ่ง วิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพผ่านรูปกายของมนุษย์ และสอง วิวัฒนาการทางจิตวิทยาผ่านจิตของมนุษย์ (ที่บริหารโดยสมอง) นั่นคือหน้าที่ทั้งหมดของมนุษย์เรา

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจพอมองเห็นได้ว่า แม้ตรรกะและเหตุผลจะเป็นเรื่องของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว ทั้งยังเป็นผลผลิตของระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์ที่ได้มาจากทวิลักษณ์ของความเป็นสอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตรรกะและเหตุผลสำคัญหรือไม่สำคัญชนิดที่มนุษย์เราจะโยนทิ้งหรือไม่โยนทิ้งไปเสียทั้งหมด อย่างที่ เดวิด ฟิงเกลสไตน์ กล่าวไว้ ผู้เขียนคิดว่าการเจริญเติบโตหรือวิวัฒนาการของโลกของจักรวาล เพื่อให้มนุษย์แต่ละคนหรือมนุษย์โดยรวมเรียนรู้สัทธรรมความจริงสูงสุดนั้น แต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ล้วนมีความหมายและความสำคัญในตัวเองอย่างขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปไม่ได้ แต่ละขั้นตอนนั้นๆ ล้วนมีความหมายจำเพาะและความถูกต้องแตกต่างกัน ซี่งสองประเด็นที่กล่าวมานั้นไม่เหมือนกัน ความจำเพาะเป็นลักษณะหรือคุณสมบัติ “เนื้อใน” ของแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการของจิตจักรวาลที่อยู่ในแต่ละสรรรพสิ่งรวมทั้งในมนุษย์แต่ละคน เป็นปัจเจกที่ต้องคลี่ขยายหรือ “โผล่ปรากฏ” ออกมา ในขณะที่ความถูกต้องเป็นการตรวจวัดหรือเปรียบเทียบระหว่างกันของภาพที่ปรากฏของจิตวิวัฒนาการของสังคมโดยรวม โดยมีช่วงเวลานั้นๆ เป็นสิ่งกำหนด

ความจำเพาะเป็นเรื่อง “เนื้อใน” ที่ภายใน - การคลี่ขยายรูปลักษณ์ของสปิริต (ของจิตวิวัฒนาการ) ของมนุษย์แต่ละคน - ในขณะที่ความถูกต้องชอบธรรมหรือความยุติธรรม (legitimacy) แม้จะเป็นเรื่องของภายใน แต่ก็เป็นเรื่องของจิตแห่งสังคมโดยรวม เมื่อมองกันจากจุดยืนที่ต่างกัน ด้วยมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เรื่องของตรรกะและเหตุผล - ที่ไม่ควรเป็นประเด็นเพราะเป็นธรรมชาติของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ - จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา จากการมองบนประเด็นของวิวัฒนาการทางกายภาพระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม มาเป็นตรรกะและเหตุผลด้วยการเปรียบเทียบระหว่างกัน

Back to Top