ภูมินิเวศภาวนา
แสวงหาปัญญาจากแผ่นดิน

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2550

ภูมินิเวศภาวนา เป็นแนวทางการพัฒนาจิตและคุณธรรมที่มาจากพื้นฐานความคิดว่า ทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สอดประสานเชื่อมโยงกันและกันอย่างแนบแน่น มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและมีร่างกายที่เป็นธรรมชาติด้วย แต่จิตของเรานั้นมักตีตนให้แปลกแยกออกจากธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกตัว โดยอาจหลงคิดไปว่า เราสามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทางวิถีทางของร่างกายได้ ให้จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นนายหรือบ่าว เป็นเพียงแต่เหตุปัจจัยของกันและกัน ส่งผลต่อกันและกันอย่างแยกไม่ออก

จิตของเรานั้นเชื่อมโยงกับสถานที่ ผู้คน และผัสสะต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวมากเกินกว่าที่เราจะรับรู้ได้ สมองของเราทำงานบันทึกเหตุการณ์หรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาในประสบการณ์ชีวิตของเราตลอดเวลา ดังนั้นเราไม่สามารถแยกตัวเรา กายจิตของเราออกจากสิ่งแวดล้อมได้ อย่างเช่น กายจิตที่ดำรงอยู่ในเมืองกับกายจิตที่ดำรงอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรจะต่างกัน เป็นต้น

ตอนนี้ทางตะวันตกมีการศึกษาถึงพลังแห่งการบำบัด เยียวยาและเสริมสร้างพัฒนาการทางจิตใจด้วยการกลับไปพึ่งพาธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตวิทยาเชิงนิเวศ (Ecopsychology) เป็นการกลับไปเรียนรู้จักตัวเองในอ้อมแขนของแผ่นดินและธรรมชาติ

ภูมินิเวศภาวนา เป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้ที่จะระลึกถึงสัมพันธภาพอันเก่าแก่ของมนุษย์กับจักรวาล ซึ่งก็คือตัวเราที่กว้างใหญ่ไพศาลออกไป (Ecological Self) มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในดินแดนต่างๆ และในรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้รูปแบบวิธีการที่ผู้เขียนใช้อยู่เป็นสิ่งที่เรียนรู้มาจากรากฐานของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันหรือที่บ้านเราเรียกว่าอินเดียนแดง โดยเรียกในภาษาอังกฤษว่า Vision Quest หรือการแสวงหานิมิตหรือปัญญาจากธรรมชาติ

กล่าวคือธรรมชาติจะช่วยทำให้เรามองเห็นความจริงที่สำคัญ เช่น ช่วยให้เห็นว่าเราเกิดมาเพื่อปฏิบัติภารกิจชีวิต อะไรที่จะช่วยรับใช้ชีวิต สังคมมนุษย์และโลก โดยถือว่าทุกคนล้วนมีภารกิจอันทรงเกียรติที่ติดตัวมาพร้อมกับการเกิด อันพึงกระทำในฐานะของผู้หล่อเลี้ยง ผู้ให้และผู้เยียวยาสังคม เราล้วนมีพรสวรรค์ติดตัวมาเพื่อจะได้ตอบแทนคุณต่อครอบครัวใหญ่ของชีวิตทั้งมวล

ในวิถีดั้งเดิมนั้น ภูมินิเวศภาวนาเป็นการทำพิธีส่งตัวเยาวชนที่กำลังย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ให้ออกไปอยู่กับธรรมชาติเพื่อค้นพบศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของตัวเอง เป็นการค้นหาปัญญา และพรที่แต่ละคนได้รับจากสวรรค์ แผ่นดิน พระเจ้า หรือธรรมชาติ โดยถือว่าทุกคนเกิดมาอย่างมีเป้าประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับใช้ชีวิต ชุมชน สังคมและโลกในวิถีทางต่างๆ ตามพรหรือของขวัญที่ได้รับ บุตรธิดาทั้งหลายเมื่อถึงเวลาจะต้องกลับไปดำรงอยู่ร่วมกับพระแม่ธรณีและผืนฟ้าพสุธากว้าง ผ่านความยากลำบากทางกาย บางคนอดอาหารและน้ำหลายวัน เพื่อให้จิตวิญญาณเติบโตและแก่กล้า รับพลังจากธรรมชาติ แล้วจึงกลับคืนสู่ชุมชน

ซึ่งจะทำการต้อนรับและยืนยันความแปรเปลี่ยนอย่างสมเกียรติ ดังนั้น การเดินทางของเราแต่ละคน แม้ดูว่าเป็นส่วนเสี้ยวที่เล็กน้อย แต่ก็ต้องถือว่า ปฏิบัติการนี้เป็นไปเพื่อมนุษยชาติและธรรมชาติทั้งมวล ความยากลำบากทางกายหรือใจภายในตัวเราทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ล้วนหมายถึงโอกาสแห่งวิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติทั้งหมดด้วย

หากเปรียบเทียบกับบ้านเราก็อาจคล้ายคลึงกับการออกบวชของผู้ชาย ซึ่งมีความเชื่อว่าคนที่ยังไม่ได้บวชเป็นคนดิบอยู่ เพราะยังไม่ได้ผ่านพิธีกรรมแห่งการแปรเปลี่ยนชีวิต (พิธีกรรมอื่นๆ ที่เป็นการสื่อสารและยืนยันการแปรเปลี่ยนสถานะ เช่น งานเลี้ยงวันเกิด การรับปริญญา การแต่งงาน หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย เป็นต้น) ส่วนการภาวนาในป่านั้นก็คล้ายกับธรรมเนียมปฏิบัติของพระสายวัดป่า คือให้ธรรมชาติเป็นครูสอนลักษณะความจริงคือ ลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และความไม่มีตัวตน

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ กระบวนการหรือพิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในการดูแลหล่อเลี้ยงให้สังคมและครอบครัวดีงามนั้น เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยและไร้ความหมายในทางชุมชนและจิตวิญญาณเอามากๆ มีเพียงการรับปริญญาที่เป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่เน้นตรงความพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุเท่านั้น คือสามารถออกไปทำงานได้ แต่ไม่มีอะไรบ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตและสังคมในมิติที่ไปพ้นวัตถุเลย

ผมคิดว่าเยาวชนยุคนี้โหยหาการยอมรับ ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ได้รับเกียรติจากสังคม น่าเสียดายที่ระบบโรงเรียนสมัยใหม่ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทุกคนต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางความคิด ว่าใครจะผ่านชีวิตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ดีอย่างไรนั้น หาได้มีมิติของการค้นหาความงอกงามทางจิตไม่ ตราบใดที่มุ่งเน้นไปที่ความเก่ง ความสามารถและความสำเร็จเพียงอย่างเดียว อัตตาก็ยิ่งจะแก่กล้า ความรู้ตัวหรือรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมของตนก็น้อยลงไปด้วย ทั้งเด็กที่เรียนเก่งและไม่เก่งต่างไม่มีที่ทางที่ตัวเองจะยืนหยัดได้อย่างสง่าผ่าเผยหรือภาคภูมิใจในทางจิตวิญญาณเลย ดังที่ บิล มอยเยอร์ นักคิดและนักวิทยุโทรทัศน์ชาวอเมริกันได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“สังคมยุคใหม่นี้ปราศจากพิธีกรรมที่จะช่วยทำให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเป็นส่วนหนึ่งที่มีค่าต่อเผ่าพันธุ์และชุมชน เยาวชนทุกคนต้องการการเกิดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อจะตระหนักรู้และยอมรับหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง และละทิ้งชีวิตอันเยาว์วัยไว้เบื้องหลัง” (Bill Moyers, quoted in Cohen, 1991, p. 45)

จริงๆ แล้ว ชีวิตของผู้ใหญ่ก็ต้องผ่านช่วงแปรเปลี่ยนที่สำคัญๆ และต้องการกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจความหมายของการแปรเปลี่ยนแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน พิธีกรรมแห่งการแปรเปลี่ยนชีวิต (Rite of Passage) สามารถใช้ในวาระต่างๆ เช่น การยอมรับความชราภาพ ความเป็นอนิจจังของสังขาร ความเจ็บป่วยของร่างกายตัวเองหรือคนรัก ในขณะเดียวกันก็น้อมรับบทบาทแห่งการเป็นผู้เฒ่าหรือผู้นำทางจิตวิญญาณหรือปัญญาของเผ่าพันธุ์ หรือวาระแห่งการหย่าร้างเลิกรากับความสัมพันธ์ในอดีต หรือสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน สามารถใช้เป็นพิธีแห่งการละทิ้งความสามารถในการมีบุตร เพื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตแห่งการแสวงหาด้านในและการให้กำเนิดทางปัญญา หรือวาระแห่งการแปรเปลี่ยนอื่นๆ ที่ช่วยสร้างหมายเหตุสำคัญๆ ของชีวิตไว้ โดยย้ำเตือนถึงการแปรเปลี่ยนแต่ละครั้งที่มีความหมายต่อตนเอง

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ภูมินิเวศภาวนา เป็นกรรมพิธีหนึ่งที่สามารถสร้างอานิสงส์ได้หลากหลาย ได้แก่ ๑) เป็นการสร้างหลักหมาย หรือหมายเหตุให้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต (Mark life transition) ๒) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฟื้นคืนพลังชีวิต และความศักดิ์สิทธิ์ให้กับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเรากับจิตอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ผืนแผ่นดินและจักรวาล (Renewal and strengthen connection to Earth and Nature) ๓) เพื่อแสวงหาความเข้าใจอันลึกซึ้งลงไปในการดำรงชีวิต ผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยอาศัยญาณทัศนะจากธรรมชาติที่อาจชี้แนะทิศทางชีวิต (Guidance, deepening understanding, vision, direction in life) ๔) เพื่ออุทิศผลบุญอันเกิดจากการภาวนาให้กับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในชีวิตเราเอง และแผ่ไปยังผองเผ่าผู้คนทั้งหลายให้มีความเป็นอยู่ที่ดี พ้นทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง (Dedication to life purpose or to the well-being of people)

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ ๓-๙ มี.ค. ๒๕๕๐ กลุ่มจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันเดินทาง เพื่อประกอบการเรียนรู้มิติของความศักดิ์สิทธิ์ ณ นิเวศต้นน้ำ หมู่บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นการจาริกสู่ขุนเขาและนิเวศต้นน้ำอันเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่นั่น และชีวิตน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพื่อช่วยให้เกิดการมองเห็นภูมิปัญญาจากแผ่นดิน การได้ภาวนาและเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยสร้างหลักหมายแห่งการแปรเปลี่ยนในชีวิตของผู้จาริกแต่ละคน และเป็นโอกาสในการได้สัมผัสชีวิตแบบชนเผ่าที่ยังคงดำรงความดั้งเดิม เรียบง่ายและมีคุณค่า ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์เมืองอย่างเราๆ ได้สืบสานความเป็นชนเผ่าของมนุษย์ไว้ในชีวิตชาวเมืองต่อไป

ชุมชนสบลานเป็นขุมพลังชีวิตของความ “ปกติ” ที่อ่อนน้อม อ่อนโยน และกรุณาอย่างไม่ต้องใช้ความพยายาม บางคนที่เคยมาที่นี่แล้วจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนและความเป็น “ปกติ” ในวิถีชีวิตของการไม่ทำร้ายไม่ทำลายและพึ่งพาธรรมชาตินั้น อาจเป็นคำตอบเชิงรูปธรรมอันหนึ่งต่อวิกฤตจิตวิญญาณ พลังงานและระบบนิเวศของโลกยุคนี้

เราได้ใช้เวลา ๒ วัน ในการอยู่หมู่บ้านและเรียนรู้กับชุมชนที่นั่น แล้วก็เดินทางสู่พื้นที่ธรรมชาติ เพื่อการปฏิบัติภูมินิเวศภาวนา เมื่อแต่ละคนได้ละทิ้งความสะดวกสบายและความคุ้นชินเดิมๆ แล้วตั้งสัจจาธิษฐาน เดินทางเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการแปรเปลี่ยน ที่มีการอดอาหาร กินแต่น้ำเป็นเวลา ๒ คืน ๑ วัน แล้วกลับออกมาบอกเล่าเรื่องราวที่ธรรมชาติเผยปรากฎ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองในช่วงของการอยู่วิเวก อย่างมีความหมายในวงล้อมของกัลยาณมิตรที่รับฟังอย่างเกื้อกูล การเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของตัวเองและผู้อื่นก็เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น เปลือยเปล่าและถึงรากถึงโคน เป็นดังปาฏิหาริย์ที่เกิดจากความเรียบง่าย ธรรมดาๆ และจิตที่นอบน้อมต่อภูมิปัญญาของแผ่นดิน

หากคนในยุคใหม่นี้ได้มีโอกาสเดินทางไปด้วยกัน ใช้เวลาอย่างศักดิ์สิทธิ์ โดยให้เวลาแก่การใคร่ครวญถึง วาระชีวิตในปัจจุบัน และค้นหาคำตอบจากจิตนิเวศอันยิ่งใหญ่ก็น่าจะดีไม่น้อย อาจมีสิ่งที่เราอยากสร้างหมายเหตุให้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราเองในแต่ละช่วงด้วย เพื่อว่าจิตวิญญาณของเราจะได้ค้นพบและดำรงอยู่ในวิถีทางของการเติบใหญ่และสุกงอมจากด้านในยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอบคุณการโอบอุ้มและความความกรุณาของชุมชนสบลาน ของธรรมชาติ สายน้ำและขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ ในการเดินทางที่ผ่านมานี้ ที่แม้ว่าเราจะละทิ้งความสะดวกสบายของชีวิตเมือง เราก็ยังค้นพบความสบายใจอันหฤหรรษ์ ความลี้ลับและมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ ของขุนเขา ป่าใหญ่ และธารน้ำน้อยๆ อันเป็นพลังให้ชีวิตเราได้ดำเนินต่อไปอย่างเกื้อกูล

Back to Top