มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 เมษายน 2550
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหน้าที่ผลิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย การเรียนการสอนของคณะแพทย์นี้ ใช้หลักปรัชญาการศึกษา Andragogy หรือ Adult leaner นั่นคือการดูแลอบรมนักศึกษาแพทย์แบบเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว โดยใช้ระบบการเรียนการสอนแบบ problem-based learning ที่เน้นการศึกษาจากเรื่องราวของคนไข้จริง หรือใช้เรื่องสมมติเป็นโจทย์ปัญหา (case scenario) เป็นการเรียนรู้ตามบริบท ใช้การเรียนเป็นกลุ่มย่อย ศึกษาปัญหาของคนไข้ ตั้งสมมติฐาน ตั้งวัตถุประสงค์การเรียนของบทเรียน และนำไปศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่างๆ ที่คณะฯจัดเตรียมไว้ให้อย่างครบครัน โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นกระบวนกร (facilitator) ให้กระบวนการกลุ่มดำเนินไปบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งจะต่างจากวิธีการสอนแบบบรรยาย นั่นคือกระบวนกรจะเฝ้าสังเกตว่าการดำเนินงานของกลุ่มนั้น เป็นไปด้วยดีไหม ถ้านักศึกษาทำได้ดี กระบวนกรจะไม่แทรกแซงอะไรเลย แต่ถ้าทำท่าจะเกิดอุปสรรค ก็จะให้คำแนะนำประเภทชี้ให้คิด หรือป้อนคำถามชี้แนวทาง แทนที่จะบอกไปตรงๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด
ส่วนการเรียนรู้ตามบริบท (context-based learning) เป็นหลักการศึกษาที่เชื่อว่า ถ้าตอนเรียนรู้ เป็นการเรียนตามบริบทจริง หรือใกล้เคียงบริบทจริงมากที่สุด นักศึกษาจะสามารถใช้ความรู้ได้ดีกว่า เมื่อพบสถานการณ์นั้นในชีวิตจริง การเรียนแบบนี้พบว่าจะเสริมความเข้าใจ และทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ในตำราต่างๆ เข้ากับชีวิตจริงได้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยศึกษาจากบทเรียนสมมติว่าเมื่อคนไข้จริงๆ มีความผิดปกติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นแทน เป็นโจทย์ย้อนกลับไปให้ค้นหาหรือศึกษาองค์ความรู้ที่จำเป็นอีกที การเรียนรู้แบบนี้มีประโยชน์และจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับการเป็นแพทย์ เพราะแพทย์จะต้อง เข้าใจเรื่องชีวิต และชีวิตในที่นี้ ไม่ใช่แค่ชีววิทยาเท่านั้น แต่รวมทั้งสังคมศาสตร์ประเภทต่างๆ ด้วย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และจริยศาสตร์ด้วยเป็นต้น
อยากจะนำเสนอประสบการณ์ตัวอย่างของการเรียนการสอนโดยการปฏิบัติจริง ในบริบทจริง มาเล่าสู่กันฟัง รองคณบดีกิจการนักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. อานนท์ วิทยานนท์ และผู้ช่วยคณบดีกิจการนักศึกษา รองศาสตราจารย์ พญ.จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ ได้มีโครงการพิเศษจัดขึ้นสำหรับนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่ง ที่หลังจากสอบสัมภาษณ์เข้ามาเรียนแล้ว คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์สรุปว่า กิจกรรมเสริมพิเศษนี้น่าจะเกิดประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่ค่อยเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งจนอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจกับเรื่องของคนไข้ หรือบางคนก็อาจจะมีประสบการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น โดยกลุ่มหนึ่งประมาณ ๓๐ คน และโครงการพิเศษนี้จะมีกิจกรรมตลอดปีการศึกษาแรก
ครั้งหนึ่งเราเคยมอบโจทย์ให้นักศึกษาทั้งกลุ่ม ลองคิดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่มารับการรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่จะอยู่ในอาคารเย็นศิระ ในเขตบริเวณของวัดโคกนาวหน้าโรงพยาบาล อาคารนี้ก่อสร้างโดยเงินพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่วนหนึ่ง และเงินของโรงพยาบาลอีกส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และขัดสนไม่มีเงินพอที่จะพักโรงแรม โดยตั้งโจทย์ให้นักศึกษาไปว่าเห็นควรอยากทำอะไรบ้าง นักศึกษาก็ช่วยกันคิดกันใหญ่ บางคนอยากจะทาสีอาคารให้ใหม่ บางคนอยากจะซื้อของไปแจก มีมากมายหลายโครงการ หาข้อสรุปไม่ได้ จะทำอย่างไรดี? ในที่สุดทั้งกลุ่มก็เลยไปหาคนไข้ที่อาคารเย็นศิระ เพื่อซักถามพูดคุย จะได้ทราบว่าเขาต้องการอะไร
ปรากฏว่าเด็กกลับมาหาอาจารย์ที่ปรึกษา ยิ้มแห้งๆ บอกว่า โครงการทั้งหมดที่คิดออกมา คนไข้ไม่ได้อยากได้เลย บางโครงการกลายเป็นว่าอาจจะทำให้เดือดร้อนเสียด้วยซ้ำ เช่น ถ้าจะทาสีห้อง ก็ต้องให้คนไข้ออกมาก่อน รอสีแห้ง รอให้กลิ่นหมด ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เป็นต้น ผลสรุปออกมา นักศึกษาทั้งกลุ่มก็เลยไปคุยเป็นเพื่อนคนไข้ดีกว่า ดูจะง่ายสุด และท่าทางส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดข้อง
ก่อนจะไป หลายๆ คนก็ลังเล เอ... จะไปพูดอะไรดีหนอ บางคนก็มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานเป็นคนเมือง ไม่ค่อยแน่ใจว่าคนไข้เขาสนใจเรื่องอะไร แล้วจะคุยอะไรกัน พอจัดกิจกรรมไปคุยเสร็จ ก็กลับมารวมกลุ่มกัน มาสะท้อนกันและกันว่าได้อะไรบ้าง เห็นอะไร เจออะไรบ้าง
ปรากฏว่า อือ.. ที่เคยคิดว่าไม่รู้จะคุยอะไร กลับไม่ค่อยเป็นปัญหา พอคนไข้ทราบว่ามีนักศึกษาแพทย์มาคุยด้วย ก็ดีใจกันใหญ่ และเป็นคนเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายให้นักศึกษาฟังเอง บางคนก็เล่าว่าที่ป่วยครั้งนี้มีผลอย่างไรต่อตัวเขา ต่อครอบครัว ต่อการงานบ้าง บางคนเล่าว่ากว่าจะหาเงินค่ารถมาจากบ้านได้ก็แทบจะใช้เงินออมจนหมดแล้ว บางคนก็พูดถึงเรื่องความไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ ว่าตนเองเป็นโรคอะไร จะอยู่ได้นานขนาดไหน และส่วนหนึ่งก็ขอบอกขอบใจนักศึกษาที่อุตส่าห์มาฟัง มาพูดคุยกับเขา
ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่ชอบกิจกรรมนี้มาก มีการจัดกิจกรรมติดตามผลต่อเนื่องต่อไปอีก จากที่แต่แรกเริ่มเดิมที พอรู้ว่าตนเองถูกคัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ (เราเรียกว่ากลุ่ม Sunshine group เพราะเรามักจะนัดวันอาทิตย์) ก็อึดอัดใจ บางคนก็เสียใจ บางคนก็ไม่พอใจ เพราะดูแปลกกว่าเพื่อนๆ แต่ตอนปลายปี ปรากฏว่าพอกลุ่ม Sunshine จะนัดทำกิจกรรม ตัวแทนก็เดินออกไปประกาศทางไมโครโฟนหน้าห้องเรียนใหญ่ อย่างองอาจ ผ่าเผย ว่า “Sunshine ขอนัดพบ เย็นนี้ที่หอนะครับ” กลายเป็นว่าเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ถูกคัดมาเข้าโครงการ พอไปซักถามกลุ่มว่าทำอะไรกัน ได้อะไรบ้าง กลับเป็นฝ่ายเดินมาถามหน่วยกิจการนักศึกษาบ้างว่า ทำไมพวกที่เหลือจึงไม่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะมีหลายๆ คนอยากจะเข้าร่วม
จากประสบการณ์ของนักศึกษากลุ่มนี้ และของอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้พวกเราเกิดความคิดว่าบางทีการจะสอนจริยธรรม นั้น ไม่ได้อยู่ที่นักเรียนต้องรู้ทฤษฎีอะไรมากมาย มนุษย์นั้นมีความดีอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว เพียงให้ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิต มีโอกาสไตร่ตรองชีวิต ความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์นั่นเอง ที่จะเป็นแรงผลักดันจริยธรรมให้เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ดีที่สุด อันความเมตตากรุณานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านตำรา หรือการอธิบายว่าเมตตาแปลว่าอะไร กรุณาคืออะไร แต่จะเกิดขึ้นเมื่อบริบทที่มนุษย์พึงเกิดความเมตตากรุณานั้น ได้มีขึ้น ได้ถูกนำมาสะท้อน และนำมาเสริมคุณค่าในการดำรงชีวิตของตนเอง
แสดงความคิดเห็น