มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2547
ในแต่ละวัน มีคำที่เราได้ใช้ ได้อ่าน หรือได้ยินได้ฟังมากมาย และเราต่างก็ยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัยหรือปฏิกิริยาใดๆ เพราะนึกเอาว่าเราเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นแล้ว คนส่วนใหญ่ก็คงเข้าใจเช่นเดียวกัน แต่ถ้าลองถามใครถึงความหมายของคำนั้นๆ ก็จะถูกมองเหมือนคนโง่เขลา ไร้การศึกษา หรือมาจากป่าจากดอยไปทันที และหลายครั้งมักได้คำตอบว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร” แต่เราเคยพิจารณาให้ลึกไปกว่านั้นบ้างไหม เคยตั้งคำถามถึงความหมายสมมติที่ซ่อนอยู่ในคำเหล่านั้นบ้างหรือไม่
บางทีตัวอย่างง่ายๆ ต่อไปนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจกระจ่างขึ้น เพราะล้วนเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยครั้งจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ หรือนักการเมือง คำเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็นคำสำคัญ จึงมักจะพบเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ภาคเช้า หรือในข่าวภาคค่ำเสมอๆ ยกตัวอย่างเช่น
“ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ จีดีพี (Gross Domestic Product) ซึ่งมีความหมายอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ มูลค่ารวมของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศในระยะเวลา ๑ ปี เราถูกบอกมาโดยตลอดว่า ความสำคัญของสิ่งนี้อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของตัวเลข ยิ่งสูงมากยิ่งดี แต่เราเคยพิจารณาถึงความหมายที่แฝงอยู่ในคำๆ นี้บ้างหรือไม่ เช่น หากเราคำนวณหามูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์จากโรงงานยาสูบ อันเป็นสินค้าที่รู้กันดีว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ และในแต่ละปีต้องสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนับพันๆ ราย ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันต่างมุ่งค้ากำไรจากการรักษาผู้ป่วยโรคปอด มะเร็ง และโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ตัวเลขที่ได้จะถูกคิดเป็นส่วนหนึ่งของค่าจีดีพี ไม่เพียงเท่านั้น การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือปัญหาสุขภาพที่สามารถป้องกันได้ ก็ถูกคิดรวมอยู่ในค่าจีดีพีด้วยเช่นกัน หากปีนี้ค่าจีดีพีสูงกว่าปีที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ลองคิดดู จะว่าไปแล้ว คำว่า “มวลรวม” (Gross) สามารถหมายถึง ความมากเกินไป อาการบวมพอง หรือพะอืดพะอม ก็ได้
“การพัฒนา” (Development) เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอเมริกา แต่การพัฒนาส่วนใหญ่มักไม่สมดุลกับธรรมชาติและความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ แน่ละ เราต่างต้องการไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง และการรักษาพยาบาลที่ดี แต่เราต้องการอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตที่ไร้พื้นที่สีเขียว เต็มไปด้วยควันพิษ รถติด ๒๐ ชม.ต่อวัน ผู้คนตกอยู่ในภาวะตึงเครียด ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกล้นทะลักไปด้วยผู้ป่วยโรคเครียดอย่างนั้นหรือ คนส่วนมากถูกโฆษณาล้างสมอง ถูกความโลภครอบงำ จนไม่ใส่ใจกระทั่งพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลายปีก่อน ข้าพเจ้ามีโอกาสสนทนากับท่านทูตคนหนึ่งซึ่งมาจากประเทศที่ยากจนมาก ท่านได้พูดประโยคหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยลืมว่า ความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) กำลังทำให้โลกตกอยู่ในฝันร้าย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หากผู้คนทั่วโลกหันมาใช้ชีวิตแบบอเมริกันชน ใช้ข้าวของเกินจำเป็น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการอย่างฟุ่มเฟือย อีกไม่นานโลกคงต้องถึงกาลหายนะ
“ความสำเร็จ” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่พ่อแม่มักใช้พูดกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก พ่อกับแม่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จนะ คนนั้นช่างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเสียจริง แต่งตัวสวยๆ เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ แล้วรับประกันว่าลูกจะประสบความสำเร็จในอนาคต ครั้นถามว่า เรานิยามความสำเร็จกันอย่างไร หลายคนมักโยงไปหายศฐาบรรดาศักดิ์ ความมั่งคั่ง อำนาจ ทรัพย์สมบัติ หรือรางวัลต่างๆ ที่จะประกาศศักดิ์ศรี แต่ตรงกันข้าม ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หลายประการบนโลกใบนี้ กลับเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความเสื่อมทราม ไร้ศีลธรรม ขาดจรรยา และเลวร้ายลงทุกขณะ
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีบุคคลเพียงสองท่านที่ข้าพเจ้าชื่นชมศรัทธาที่สุด คือพระพุทธเจ้า และพระเยซูเจ้า เราเคยฉุกคิดสักนิดไหม ว่าหากใช้บรรทัดฐานหรือเกณฑ์ในปัจจุบันดังที่กล่าวถึงข้างต้นมาวัดมาตรฐานชีวิตของท่านทั้งสอง จะพบว่าไม่มีท่านใดประสบความสำเร็จในชีวิตเลย เพราะต่างก็ไร้ทรัพย์สินเงินทอง ไร้ยศ ไร้ตำแหน่ง ไร้เสื้อผ้าสวยงาม ไร้บ้านหลังใหญ่ ข้าพเจ้าจะไม่แปลกใจเลยว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยรุ่นทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ยอมรับหรือเห็นคุณค่าควรนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราคิดว่าพระพุทธเจ้า และพระเยซูเจ้า ท่านไม่ประสบความสำเร็จหรือ ?
ยังมีคำอีกมากมาย ที่เราควรพินิจพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ อย่างเช่น สงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
แสดงความคิดเห็น