พอเพียง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2548

ทีแรกตั้งใจจะตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย และสังคมโลก ภาค ๒” เพราะได้เขียนเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ แต่มาคิดดูอีกทีลองเปลี่ยนมาตั้งชื่อสั้นๆ ดูบ้างก็น่าจะดี เลยออกมาเป็น “พอเพียง”

สังคมไทยและสังคมโลกท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์แห่งเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรมเหลือเพียงแค่ความถูกต้องตาม(การตีความ)กฎหมาย แล้วนำมาอ้างเป็นความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าว่าจะเข้มข้น ดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดอาการหน้ามืดด้วยกันทุกฝ่าย

ถ้าหน้ามืดแล้วเป็นลมก็ดีไป จะได้พักชั่วครู่ และมีโอกาสได้พักการทำชั่วเพราะขาดสติได้ แต่ถ้าหน้ามืดแล้วขาดสติ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ผลประโยชน์ตนอยู่เหนือผลประโยชน์ชาติ ความรู้อยู่เหนือปัญญา ความดีและความงาม กฎหมายอยู่เหนือคุณธรรมโอกาสทำผิดทำชั่วก็เพิ่มขึ้น

เมื่อไหร่ ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม จึงจะไปกันได้หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับความดี ความมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่แยกออกจากกันเหมือนในปัจจุบัน

หรือเพราะมนุษย์ลืมตัว ขาดสติ ไหลไปตามมนต์เสน่ห์ของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ชักจูงให้เราดิ้นรน กระเสือกกระสนไม่รู้จักพอ จึงไม่รู้จักความพอเพียง แล้วพยายามสร้างกฎ ระเบียบ รวมถึงกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ระดับระหว่างประเทศ และระดับโลกขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรม (Justification) ให้กับตัวเอง เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไม่มีความยุติธรรมในหัวใจ

เมื่อไหร่เราจึงจะมีความพอเพียง และความพอดีทางกฎหมาย ไม่สุดโต่งแบบขาดสติ แล้วติดกับกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น แล้วพยามยามจะเอาแพ้ เอาชนะกันทางกฎหมายโดยลืมเรื่องความดี ความงาม ความมีคุณธรรม

หันหน้ามาปรึกษาหารือกัน มีสุนทรียสนทนากัน หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอันเป็นที่รักของเรา ไม่ดีกว่าหรือ ท่านผู้เก่งกล้าทั้งหลาย

ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนในประเทศจำนวนมากอยากเห็นพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือฝ่ายกฎหมายหรือองค์กรอิสระ มีความกล้าทางคุณธรรมและจริยธรรมมาร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.)ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าทำตามกฎหมาย ทั้งที่เคยทำแล้ว มีปัญหา ก็ยังทำแบบเดิม เพราะถ้าไม่ทำก็กลัวว่าตนเองจะผิดกฎหมาย ประชาชนเลยเริ่มสับสนว่า ที่ทำกันอยู่ และอ้างว่าทำตามกฎหมายนั้น ทำเพื่อปกป้องตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือเพียงเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด และความเก่งกล้าทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติ

หรือในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการขายหุ้น กฟผ. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโต้แย้งเรื่องการวางบุหรี่ขายระหว่างเซเวนอีเลฟเวนกับกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงการสรรหา ปปช. และ กกต. ล้วนเป็นเรื่องความถูกผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น จนมีกระแสจะให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ปรากฏว่ามีกระแสให้ปรับแก้กระบวนการสร้างและพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม แต่มีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างกรอบมาครอบและควบคุมคน มากกว่าที่จะสร้างคนดีโดยผ่านกระบวนการศึกษา และการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

เมื่อไหร่ นักการเมือง นักปกครอง ตำรวจ ทหาร ครู อาจารย์ พ่อแม่...จึงจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นครู อาจารย์ต้นแบบที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน มีความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกัน มีคุณธรรมและความดีเป็นฐานของการดำเนินชีวิตและการทำงาน

เมื่อไหร่เราจะยอม “ศิโรราบ” ให้กับความดีงาม มองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง ของตนเองและของผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้ยอมรับ เคารพ ตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องขจัดกันให้หมดไป

โลกาภิวัตน์แบบทุนนิยม ศาสตร์ทางการบริหารธุรกิจ ศาสตร์ด้านโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาดเชิงรุก กลายมาเป็นศาสตราทำลายคุณภาพชีวิตมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดสิ่งแปลกๆ มากมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นมีการเปิดเผยออกมาจากหน่วยงานของรัฐว่าต้นทุนของชาเขียวตกขวดละประมาณ ๑.๕๐ บาท แต่เราต้องซื้อขวดละ ๑๕-๒๐ บาท ตกลงเราต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งที่เราไม่ได้กิน หรือกินไม่ได้เช่น ขวด ค่าโฆษณา ค่าการตลาด...มากกว่าสิ่งที่เรากินได้และได้กินหลายเท่า นี่คือผลพวงของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่เรากำลังหลงเดินตามอย่างขาดสติ ขาดความพอดี เพราะไม่มีความพอเพียงเป็นปรัชญาและแนวทางในการดำเนินชีวิต

เราพร่ำพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่แสวงหาแบบสุดโต่ง เราพร่ำพูดถึงความถูกต้อง ความชอบธรรมและความยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ปราศจากคุณธรรมและจริยธรรมทางความคิดและการกระทำ

หรือเรากำลังพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง

เมื่อไหร่เราจะคิด พูด และทำในทิศทางเดียวกัน โดยมีความดีความมีคุณธรรมเป็นฐานของการคิด การพูด และการกระทำ

ประเทศเรามีวัฒนธรรมที่เลิศล้ำ มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีและความมีคุณธรรมอยู่ทั่วแผ่นดิน มีองค์พระประมุขที่ทรงเป็นครูต้นแบบแห่งความดีมีคุณธรรม ทำไมเราต้องไปหลงและไหลไปตามวัฒนธรรมทุนนิยม ทำไมไม่มาช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีความมีคุณธรรมให้เต็มแผ่นดินและเป็นต้นแบบขยายไปทั่วโลก ทำไมไม่คิดใหม่ ทำใหม่ในสิ่งที่ดีงาม

ผู้เขียนมีความสุขและมีความหวังกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทราบว่า ทางสำนักงานกำลังคิดการใหญ่ ก่อการดี ด้วยการพยายามจะปรับโครงสร้างกฎหมายใหม่ทั้งระบบ โดยเน้นการส่งเสริมประชาชนมากกว่าการบังคับประชาชนอย่างเดียว ขอให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วไว และหวังว่าการปรับครั้งนี้จะมีความดี ความพอดีและความมีคุณธรรมเป็นฐานสำคัญ

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยบทกลอนสั้นๆ ที่ผู้เขียนแต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย เพื่อเตือนสติตนเองและเป็นแง่คิดให้กับผู้อื่น

คำพ่อเตือน

พอเพียง จึงเพียงพอ
เพียงเพราะพอ จึงพอเพียง
เพียงพอ เพราะพอเพียง
พอพอเพียง จึงเพียงพอ

เพราะพ่อ บอกพอเพียง
ด้วยสุ่มเสียง สำเนียงพ่อ
สำเหนียกจิต สำนึกพอ
ให้สานต่อ ที่พ่อเตือน

Back to Top