สื่อสารความดีของแผ่นดิน

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2548

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ชาวจิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้น จิตที่วิวัฒน์คือจิตที่เจริญย่อมทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงและถาวร สัปดาห์ที่แล้วในคอลัมน์นี้ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้เขียนเรื่อง “สุนทรียบำบัด” หรือการบำบัดด้วยศิลปะหรือความงาม ความงามมีอยู่ในความจริงโดยทั่วไป ความงามของหัวใจหรือหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นความงามที่มีฤทธิ์ในการเยียวยาอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดความปีติอิ่มเอิบในหัวใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือแม้พบเห็น

ในการประชุมจิตวิวัฒน์คราวหนึ่ง อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ เดินเข้ามาด้วยความอิ่มเอิบใจ และว่ามีความสุขไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัวหลายวันมาแล้วยังไม่คลายจากการที่เดินทางไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ซึ่งจัดโดยศูนย์คุณธรรม คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ไปด้วยในเที่ยวนั้น มูลนิธินี้มีสมาชิกเป็นล้านคน และมีอาสาสมัครเป็นแสนคนที่นอบน้อมถ่อมตน และทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยประการต่างๆ เช่น ช่วยบรรเทาสาธารณภัย ช่วยบริบาลเด็ก คนแก่ คนพิการ มีโรงเรียนแพทย์ของตัวเอง ซึ่งนอกจากทันสมัยแล้ว บุคลากรของโรงพยาบาลทั้งหมดนบน้อมถ่อมตน เคารพผู้ป่วยและญาติประดุจบิดามารดาของตน มูลนิธินี้ยังมีสถานีโทรทัศน์ของตนเองที่นำเอาความดีของผู้คนมาบอกกล่าวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์คุณธรรมได้จัดคณะไปดูงานที่มูลนิธิฉือจี้เป็นรุ่นที่สอง คณะที่ไปมาจากอาชีพต่างๆ กัน เช่น อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู นอกจากนั้นยังมีนายทหารและนายตำรวจอีกหลายคน รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกนาม รวมประมาณ ๔๐ คน ได้ผลเช่นเดียวกับรุ่นที่ ๑ คือทุกคนกลับมาด้วยความปลื้มปีติในเนื้อในตัวที่เห็นการทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่โตและมากมายขนาดนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า

ความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้

ที่จริงในสังคมมีคนดีมากกว่าคนชั่ว แต่เราไม่มี “เครื่องรับ” และไม่ค่อยได้เอามาสื่อสารกัน การสื่อสารที่ขายได้คือการสื่อสารความชั่ว ทำนองใครฆ่าใคร ใครเป็นชู้กับใคร ใครข่มขืนใคร ฯลฯ บางคนถึงกับพูดว่า “ความชั่วได้ลงฟรี ความดีต้องเสียเงิน” กล่าวคือเรื่องดีๆ บางทีต้องเสียเงิน จึงจะได้ลงในหนังสือพิมพ์

การศึกษาของเราไม่เปิด “เครื่องรับความดี” เพราะศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ศึกษาความจริงและความดีของแผ่นดินหรือของประชาชนคนไทย วิชาก็เป็นวิชา ไม่มีชีวิตจิตใจ ฉะนั้นทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาใหญ่โต แต่ก็ไม่เป็นระบบประสาทที่จะรับรู้เรื่องราวในชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งมีเต็มแผ่นดิน ถ้าเรามีเครื่องรับ เราจะสัมผัสความดีเหล่านี้ได้ทุกวัน ผมขอเล่าเรื่องที่ผมสัมผัส ๓ วันติดๆ กันในวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘

ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จัดประชุมเครือข่ายเพื่อนมะเร็งครั้งที่ ๒ ที่นครนายก ในหัวข้อ “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” คนที่มาประชุมมีทั้งคนเป็นมะเร็ง คนที่หายแล้ว อาสาสมัครที่คอยช่วยคนเป็นมะเร็ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่คอยช่วยเหลือคนเป็นมะเร็ง การช่วยกันและความเป็นมิตรทำให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้เกิดการเยียวยา คนเป็นมะเร็งหลายคนบอกว่า ดีใจที่เป็นมะเร็ง เพราะทำให้ได้พบความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน ความสุขจากมิตรภาพ สมดังคำที่เขาใช้ว่า “มิตรภาพบำบัด” ความงามของหัวใจมีฤทธิ์ในการเยียวยาว ลองนึกภาพว่า ถ้า “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” ขยายตัวไปเต็มประเทศ สังคมเราจะเป็นอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด คือส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเข้าไปเป็นเพื่อนผู้ป่วยและญาติ โลกจะสว่างไสวแค่ไหน

ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาค” อันมีผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู น้าแก้ว สังข์ชู หลวงตาแชร์ และกรรมการท่านอื่นๆ อีก ได้มาเล่าความก้าวหน้าของงานของเครือข่ายฯ ที่ไปส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชนหลายร้อยตำบาล และกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เมื่อชุมชนเหล่านี้สามารถวิเคราะห์ปัญหาของเขาเอง ทำแผนแม่บทชุมชนและขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนที่เขาทำเอง ก็เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ – จิตใจ – ครอบครัว – ชุมชน – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ พร้อมกันไป หลุดพ้นจากความยากจน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ที่พัฒนาเศรษฐกิจ – จิตใจ - สังคม – ปัญญา และการจัดการ พร้อมกันไป เป็นของจริงของการปฏิบัติความดีกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม

ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ผมไปร่วมงานที่วัดป่าดาราภิรมย์ที่เชียงใหม่ ซึ่งเขามีงานฉลอง ๓๐ ปี ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ที่หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ก่อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ท่านเป็นที่พระราชวินยาภรณ์ หลวงพ่อเป็นนักการศึกษาและนักพัฒนาที่ชูปรัชญาว่า “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” คือจะทำอย่างใดอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล มูลนิธินี้ทำงานใน ๘๐ หมู่บ้าน ใน ๓ จังหวัดภาคเหนือ ได้สร้างอาสาสมัครขึ้นมาจำนวนมาก ได้ช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากหลุดพ้นจากความยากจน มีจิตใจและสังคมที่ดี ปรัชญา “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” ของท่านเจ้าคุณ เป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้

อาจารย์ประภาภัทร นิยม และคณะแห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ กำลังทำแผนที่มนุษย์ (Human Mapping) ของคนทุกคนบนเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ โดยถือว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน การเคารพความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน ทำให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตัวเอง ปรากฏว่าในการทำแผนที่ดังกล่าว ได้เกิดพลังขึ้นอย่างมหาศาล เพราะชาวบ้านซึ่งไม่เคยมีเกียรติ มีความรู้สึกที่ดีมาก ที่มีผู้ “มีการศึกษา” มานั่งฟังเขาพูดว่า เขาชอบอะไร ถนัดอะไร เขาทำอะไรได้ดีบ้าง การนั่งฟังใครอย่างลึกๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะแปลว่าเราเคารพผู้พูดและผู้ตั้งใจฟังก็ได้ความรู้ไป เรามีโรงเรียนอยู่ทั่วทุกตำบล ถ้าทุกโรงเรียนไปทำแผนที่มนุษย์ในตำบลที่โรงเรียนตั้งอยู่ คนไทยทุกคนก็จะกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตนเอง โรงเรียนก็จะมีแหล่งเรียนรู้เต็มแผ่นดิน ประเทศทั้งประเทศจะเปลี่ยนไป

เรามีและทำให้มีความดีเต็มแผ่นดินได้ ถ้ามีการสื่อสารความดีของแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ ให้เต็มแผ่นดิน ความดีก็จะมีกำลังมากขึ้น รัฐบาลน่าจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่สักหนึ่งช่อง เพื่อสื่อสารความดีของแผ่นดิน โทรทัศน์ช่องสื่อสารความดีของแผ่นดินจะกระตุ้นให้คนอยากนำความดีมาสื่อสารกัน และอยากทำความดีมากขึ้น เมื่อมีการสื่อสารความดีกันเต็มแผ่นดิน ผู้คนจะมีความปีติปลาบปลื้มในความดี จะเกิดความสุขและความสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้จริง

Back to Top