มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2551
เช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เช้าดีๆ ได้ไปร่วมประชุมจิตวิวัฒน์ ฟังอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล เล่าเรื่องการต่อสู้ภายใน การแสวงหาด้านจิตวิญญาณ คุ้มค่ากับการถ่อสังขารลงไปฟังอาจารย์สองชั่วโมง เสียดายที่ได้ฟังแค่นั้น เพราะเที่ยวบินเที่ยวเช้าไปถึงเวลาเริ่มประชุมพอดี อาจารย์เสกสรรเป็นฮีโร่ทางการเขียนหนังสือของผมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจารย์เขียนโดยใช้ภาษาที่คมและสวยงาม มักอธิบายความรู้สึกที่ผมรู้สึกเช่นกัน แต่เขียนบรรยายไม่ได้ออกมาได้อย่างสวยงาม
สิ่งที่ผ่านยากที่สุดในชีวิตด่านหนึ่ง ก็คือการติดดี การคิดว่าตัวเองเป็นนักรบแห่งมโนธรรม เมื่อเราคิดว่าเราคิดดีคิดประเสริฐกว่าคนอื่น สิ่งที่ตามมาก็คือการตัดสินคนอื่น ว่าด้อยกว่า เลวกว่า แล้วเราก็จะจัดการคนอื่น นั่นคือสภาพสังคมปัจจุบัน ที่บางคนออกมาทำอะไรแล้วคิดว่าตัวเองถูก คนที่ไม่ออกมาคือผิด หรือแหย ขี้กลัว ทั้งที่คนที่ออกมาพูดอย่างนั้น ก็เคยขี้ขลาดหนีตายมาแล้วในอดีต เมื่อเพื่อนเดินออกไปสู่สงคราม คอยยุให้คนเดินไปตายเพื่อเป้าหมายของตนเอง เป็นคนเชียร์นี่มันสนุกกว่า แต่ความตายและแขนขาขาดเป็นเรื่องจริง
เมื่อพ้นยุคสมัยนี้ไปแล้ว บางทีความตายและการเสียอวัยวะเพื่ออะไรนี่ มันอาจชัดเจนขึ้น จนกระทั่งมีคำถามว่า “เพื่ออะไร” สติเป็นเรื่องสำคัญ การรู้ตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ การฆ่าฟันในรวันดา ในเขมรสมัยก่อน ก็มีจุดเริ่มต้นที่เรื่องราวแบบนี้ มีคนชั่วและคนดี ยังมีหนทางอื่นในการดูแลผู้คน นอกจากการออกมาเอาชนะกัน พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด ถ้าจะมีใครตัดสินผมว่าเป็นคนแบบไหน อันนี้เป็นสิทธิและเป็นปัญหาของคนๆ นั้น ซึ่งการที่ผมหรือเราจะเป็นอะไร มีแต่เราที่รู้อยู่ ไม่จำต้องเป็นอย่างเขาว่า หรืออยากให้ใครเขาชื่นชม
วันที่ ๗ ตุลาคม วันถัดมา ความรุนแรง ความแค้น ความขัดแย้ง ความกลัว แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เราต้องเลือกข้าง เราจะไม่… และอื่นๆ อีก ลูกสาวและลูกชายผมนั่งดูทีวีอยู่ แล้วก็ถามว่า “ป๊า เค้าทะเลาะกันทำไมเหรอ ทะเลาะกันนี่ต้องฆ่ากันด้วยหรือ” ผมไม่รู้ว่าเราจะสอนลูกของเราอย่างไรว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง การเอาชนะด้วยการฆ่าฟันเป็นเรื่องถูกต้องหรือ แล้วจะสอนเรื่องเมตตากันอย่างไร การอภัยกันอย่างไร แววตาของลูกทั้งสองไม่เข้าใจ
เด็กอีกหลายล้านคนในประเทศนี้ จะถูกอธิบายเรื่องราวนี้กันอย่างไร เมื่อไปโรงเรียน พวกเขาจะทะเลาะกันด้วยเรื่องที่พ่อแม่อธิบายไม่เหมือนกันหรือเปล่า เมื่อพ่อแม่ของพวกเขาเลือกข้าง แล้วการทะเลาะของพวกเขาจะจบลงด้วยความรุนแรงเหมือนที่ปรากฏตามทีวีทุกช่องหรือเปล่า เรากำลังหน้ามืดตามัวกับการเอาชนะกัน จนลืมเป้าหมายที่แท้ของการออกมาทะเลาะกันหรือเปล่า และเราก็ไม่ได้ดูแลคนรุ่นต่อไปว่าจะเติบโตกันอย่างไร
ถ้าเราฝังใจกับมันมาก ขอให้ดูสิ่งที่เห็นให้เป็นอนิจจัง หลายคนในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นนักศึกษาที่ถือไม้และมีมือเปล่าออกไปสู้ปืน เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน บนท้องถนน และก่นด่ารัฐบาลว่าปราบประชาชน เมื่อปี ๒๕๑๖ ปี ๒๕๑๙ คนๆ เดียวกันที่เคยก่นด่าระบบและออกไปประท้วงรัฐบาลเมื่อก่อน บัดนี้เป็นรัฐบาล และบอกว่าการที่รัฐบาลปราบประชาชนคือความถูกต้อง และเพื่อรักษาประชาธิปไตย ไอ้พวกที่ออกมาประท้วงนี่เป็นพวกกบฏ เช่นนี้แล้ว ความถูกต้องก็คือที่ๆ เรายืนอยู่ ไม่ใช่ความถูกต้องแท้ที่ไม่ขึ้นกับที่ๆ เราอยู่ สักวันหนึ่งข้างหน้า คนที่ออกมามีบทบาทบนท้องถนนวันนี้ ก็อาจจะเป็นรัฐบาลและปราบประชาชนเช่นเดียวกับที่ตนเคยก่นประณาม เช่นนั้นแล้ว เรากำลังทำอะไรกันอยู่ และเราจะเสียสละชีวิตของเราเพื่อสิ่งใด
คืนนั้น ผมพาลูกเข้านอน ลูกสาวถือหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งมาให้ผมอ่านให้ฟังก่อนนอน หนังสือเล่มนั้นชื่อเรื่องเล่าที่ประทับใจอะไรประมาณนั้น เธอขอให้เล่าเรื่องสุดท้ายของหนังสือให้ฟัง
เรื่องการส่งต่อความรัก
เรื่องนี้เกี่ยวกับคุณยายกับหลานสาว คุณยายเสียคุณตาไป โลกของคุณยายก็หม่นหมองลง หลานสาวบรรยายความรู้สึกในการเดินไปบ้านยายทุกครั้ง เหมือนเดินไปใต้ต้นไม้ที่มืดครึ้ม ในวันอันขมุกขมัวของฤดูใบไม้ร่วง
วันหนึ่งเมื่อเธอเดินไปบ้านคุณยาย ในใจของเธอก็นึกหน้าคุณยายที่อมทุกข์หน้าตาเศร้าหมอง แต่ทว่าเมื่อเปิดประตูเจอหน้ายาย ยายของเธอใบหน้าสดใสยิ้มแย้มเหมือนมีรัศมีเปล่งประกายออกมา
“เกิดอะไรขึ้นคะคุณยาย ทำไมคุณยายถึงหน้าตามีความสุขอย่างนี้”
“ยายเข้าใจแล้วหลานรัก ยายเข้าใจแล้วว่าทำไมตาทิ้งยายไป”
“ทำไมล่ะค่ะ”
“เพื่อให้ยายมีโอกาสได้รักคนอื่นไงล่ะหลานเอ๋ย ต่อนี้ไปยายจะมอบความรักให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกว่าเขาเป็นใคร”
จากนั้นคุณยายก็ทำตามที่คุณยายว่า เมื่อหลานสาวได้มาเยี่ยมคุณยายอีก คุณยายก็เล่าเรื่องการส่งต่อความรักให้ฟังว่า คุณลุงของหลานแวะมาและเล่าเรื่องที่กังวลใจมากมาย ทั้งโกรธและเศร้าใจ ยายก็รับฟังอย่างสงบ เมื่อคุณลุงเล่าเรื่องจนหมดและดูใจเย็นลง ก็ลากลับบ้าน วันต่อมาคุณลุงเอาขนมเค้กก้อนโตมาให้คุณยาย คุณยายก็เอาออกไปให้คนยากจนสิบกว่าคนได้กินขนมอร่อยไป จากนั้นคนสิบกว่าคนก็มาช่วยคุณยายทำสวน หาดอกไม้สวยๆ มาปลูก ทำให้คนที่เดินผ่านไปมามีความสุข และคนเหล่านั้นก็ไปทำเรื่องดีๆ ต่อๆ กันไปอีก
คุณยายมีความสุขกับการเล่าเรื่องราวเหล่านั้น และยังส่งต่อความรักไปทุกวัน
จวบจนคุณยายเข้าโรงพยาบาล วันสุดท้ายของชีวิต หลานสาวมาเยี่ยมคุณยายตามปกติ แต่เมื่อไปถึงห้องคุณยาย หลานสาวก็ใจหายเมื่อพบกับเตียงที่ว่างเปล่า เธอรีบเดินออกมาพบกับคุณพยาบาล
“ยายเป็นอะไรไปหรือเปล่าค่ะ”
คุณพยาบาลโอบไหล่เธอและพาไปยังหน้าต่างที่มีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา
“คุณยายของหนูได้พบกับความสงบแล้ว ก่อนที่คุณยายจะสิ้นลม ได้ขอน้ำพี่แก้วหนึ่ง พี่คิดว่าคุณยายคงกระหายน้ำ แต่คุณยายเอาน้ำแก้วนั้นไปรดที่กระถางต้นไม้ข้างหน้าต่างซึ่งกำลังเหี่ยวเฉา แล้วบอกว่า ถ้าหลานยายมา บอกหลานยายด้วยนะว่ายายไม่ได้ไปไหน ยายรดน้ำให้ต้นไม้นี้เพื่อให้มันเติบใหญ่ และเมื่อเติบใหญ่ ขอให้คุณพยาบาลย้ายมันไปปลูกในป่า เพื่อให้มันโตให้ความร่มรื่น และให้ผู้คนได้อาศัยร่มเงาของมัน ได้นั่งพูดคุยกันถึงเรื่องความรักที่ต่างคนได้ส่งมอบให้กันและกัน ส่วนยายไม่ได้ไปไหนหรอก ยายจะเป็นแสงสว่างที่จะส่องมาให้ต้นไม้ต้นนี้เติบโต และยายจะเป็นแสงสว่างที่ส่องมายังมันอีกเมื่อมันเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ผู้คน เพื่อเป็นแสงสว่างและแรงบันดาลใจให้ผู้คนต่างๆ ส่งมอบความรักต่อๆ กันไป บอกหลานยายด้วยนะ”
พูดจบทั้งคุณพยาบาลและหลานสาวก็ยืนนิ่งริมหน้าต่าง ให้แสงสว่างที่ส่องเข้าอาบไล้ร่างกาย และทั้งคู่ก็รับรู้ถึงความอบอุ่นที่ปรากฏในหัวใจ และเข้าใจความหมายของชีวิตว่าเกิดมาเพื่อสิ่งใด
ผมไม่รู้ว่านิทานเรื่องนี้จะช่วยเยียวยาลูกทั้งสองได้ไหม จากคราบไคลของความรุนแรงที่ปรากฏ แต่ผมมีความหวัง เพราะความรักมีอานุภาพมากกว่าความแค้นและความเห็นแก่ตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่ความรุนแรงแฝงอยู่ในอณูของอากาศ ผมเชิญชวนทุกท่านส่งต่อความรักครับ ส่งต่อกันไปเพื่อเราทุกคน
แสดงความคิดเห็น