โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2551

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีโฆษณาแป้งน้ำทางโทรทัศน์ ว่าด้วยแม่มดใจร้ายส่องกระจกแล้วถามว่า “กระจกจ๋าบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปถพี...” กระจกตอบไม่ตรงใจก็โกรธมาก ยิ่งโกรธหน้าตาท่าทางที่อัปลักษณ์อยู่แล้วก็น่าเกลียดมากขึ้น

ผู้เขียนจำได้ว่าเคยถามแม่มดอยู่คนเดียวว่า เธอส่องกระจกอยู่แล้ว มองไม่เห็นเงาตนเองหรือ ความริษยาพยาบาทมันบังตาหมดสิ้นหรืออย่างไร

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่เหมือนแม่มดที่อยู่ในโฆษณานั้น ส่องกระจกทุกวันก็มองเห็นรูปลักษณ์ของตนเองเพียงผิวเผิน และที่มองไม่เห็น คือความคิดและจิตใจของตนเอง ว่าแจ่มใส งดงาม หรือ ขุ่นมัว เต็มไปด้วยอคติ โง่เขลา

คนที่น่าสงสาร คือพวกที่มีชีวิตโลดแล่นไปตามเส้นทางที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ถูกหลอกล่อด้วยความหลงผิด คิดแค้น มุ่งแต่จะทำลายล้างผู้อื่นเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่ง และความมั่งคั่ง คนพวกนี้มองไม่เห็นตัณหาและพฤติกรรมที่ผิดของตนเอง ด้วยมีอคติมาบังตา แต่จะมองเห็นความผิดพลาดและความชั่วของคนที่เขาเกลียดชัง แต่ละวันก็เฝ้าแต่ขุดคุ้ยข่าวร้ายออกมาประจาน ยิ่งถ้าคนประเภทนี้แบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย การโจมตีกันด้วยวาจาและอาวุธ ก็สรรหามาสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

เชื้อปะทุของความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากอคติ ๔ คือ ความลำเอียง เพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงผิด และเพราะความกลัว

ความรุนแรงในสังคมไทยทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากความหลงผิดอันเป็นโมหาคติ ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แปลไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ว่า prejudice caused by delusion or stupidity เราขาดหลักการและวิธีการที่จะค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำมาเป็นฐานของการคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติการเคลื่อนไหว สันติธรรมซึ่งเป็นหลักการสำคัญ และวิธีการเสวนาอย่างเปิดใจกว้าง ได้ถูกละทิ้งและถูกบดบังด้วยอคติ คนไทยส่วนใหญ่จึงตกอยู่ท่ามกลางสงครามวิวาทะ พูดเอาดีใส่ตัว พูดเอาชั่วใส่คนอื่นอยู่ทุกคืนทุกวัน

ความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันขณะนี้ ข่าวสารได้กลายเป็นอาวุธสำคัญ ที่สื่อให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้ว่าใครกำลังทำอะไรดีหรือชั่วในบ้านเมืองของเรา แต่ข่าวสารเหล่านั้นมีความจริงหรือไม่ เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เราควรเชื่อทั้งหมด หรือควรตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร การรับข่าวสารจึงต้องคิดพิจารณาทบทวนระหว่างบรรทัด ค้นหานัยที่แฝงและซ่อนความประสงค์ดีหรือร้ายในการสร้างข่าวหรือรายงานเหตุการณ์เหล่านั้น ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าว

การปะทะกันของข่าวจากคน ๒ สี สร้างความสับสนให้แก่คนที่ไม่มีสีอย่างที่สุด กลุ่มเสื้อสีหนึ่งสร้างข่าวว่าพวกตนกำลังเสียสละ ทำสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยมองว่าต้องกำจัดกลุ่มเสื้ออีกสีหนึ่งที่เป็นเผด็จการ ทำลายชาติ และทำความผิดที่ให้อภัยไม่ได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มหลังก็สร้างข่าวว่าพวกตรงกันข้ามใช้กฎหมู่ ไม่เคารพกฎหมาย ก้าวร้าวรุนแรง และทำความหายนะให้แก่บ้านเมืองเช่นกัน

น่าแปลกที่คู่วิวาทแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่ากลุ่มของตนมีคุณสมบัติของประชาธิปไตย และกำลังต่อสู้อย่างอาจหาญเพื่อประชาธิปไตย แต่คนเหล่านี้ได้วิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรมของตนหรือไม่ ว่ามีความบกพร่อง ผิดเพี้ยนไปจากคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเพียงนามธรรมที่มีความหมายคล้ายกับความดี ความถูกต้อง แต่ถ้าทุกกลุ่มทุกคนส่องกระจกดูแล้ว ก็จะพบว่าตนเองได้มีส่วนร่วมและมีส่วนให้แก่สังคมประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด

ผลจากการเมืองนำมาสู่เรื่องการศึกษา มีผู้กล่าวประนามการศึกษาอยู่เนืองๆ ว่าการที่ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม เช่นนี้ เป็นเพราะการจัดการศึกษามีคุณภาพต่ำ ไม่สอนให้คนรู้หน้าที่ของพลเมือง ไม่อบรมศีลธรรม ไม่ปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ไม่ฝึกให้คนมีความขยันหมั่นเพียร ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ฯลฯ สรุปเป็นถ้อยคำดูหมิ่นได้ว่า การศึกษาไม่ได้ให้อะไรเลย ผู้เรียนได้แค่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่มีการศึกษา

ถ้อยคำเช่นนี้ คนที่อยู่ในวิชาชีพอื่นก็จะกระหน่ำซ้ำเติมอย่างเต็มที่ว่าต้องรื้อระบบการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ เสนอแนะแนวทางปฏิรูปที่สวยหรู โดยมิได้คำนึงถึงกระบวนการที่จะต้องเกี่ยวข้องกับนักเรียนกว่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน ครูจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน โรงเรียนกว่า ๘๐,๐๐๐ โรง ผู้ปกครองมากกว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาทางเลือก

ส่วนผู้ที่อยู่ในวงวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ย่อมมีเหตุผลโต้แย้งว่า การศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน สื่อเทคโนโลยีการวัดและประเมินผล การประกันและการประเมินคุณภาพของผู้เรียนและของสถานศึกษา

คนไทยทุกรุ่นทุกวัยมิได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ทุกคนได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ตนได้เผชิญและผจญในชีวิต เรียนรู้จากแบบอย่างของผู้คนในสังคม กลุ่มเพื่อน กลุ่มคนดัง ซึ่งเป็นแบบอย่างทั้งดีและชั่ว เรียนรู้จากสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้จากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และเรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อม ที่วิถีชีวิตต้องดำเนินไป กระแสการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ เคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็วมาก สามารถครอบงำความคิด พฤติกรรม และให้บทเรียนแก่คนในสังคมได้มากกว่าการเรียน “วิชา” ในระบบการศึกษา

แม้กระนั้น ทั้งคนในวงการศึกษาและบุคคลทั่วไป ก็ต้องหมั่นพิจารณาตรวจสอบทบทวนตนเอง ว่าได้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และภารกิจของตนเพียงใด มีความบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตนอย่างไรบ้าง คนไทยทุกคนมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคมไทย จะกล่าวโทษผู้อื่นโดยมิได้หันมามองจุดอ่อนของตนหาได้ไม่

การกล่าวโทษและเสียงนินทาว่าร้าย เหมือนกับโคลนสกปรก คนที่สาดโคลนใส่ผู้อื่น โคลนนั้นก็ย่อมเปรอะเปื้อนมือของตนเช่นกัน บางครั้งอาจจะเปื้อนมอมแมมหมดทั้งตัวก็เป็นได้ คนเราควรสงวนเวลาที่ใช้มองข้อบกพร่องของคนอื่น นำมาใช้ทบทวนตนเอง ปรับปรุงตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์คุ้มค่า

ผู้เขียนเขียนบทความข้างต้นไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน แล้วออกไปอยู่กับธรรมชาติ ๔ วัน กลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เข้ามาสู่ค่ำคืนที่ระทึกใจว่าคนไทยจะลุกขึ้นมาฆ่ากันเองหรือไม่ เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำความเลวร้ายอย่างให้อภัยไม่ได้

กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ก็ในวันที่ ๖ ธันวาคม ผ่านวันมหามงคลที่รวมหัวใจของไทยทั้งชาติเป็นหนึ่งเดียว ขอพระบารมีปกเกล้าฯ แผ่พระเมตตาคุณสู่จิตใจของพวกที่แยกกันเป็นหลายฝ่ายหลายสี ให้ลบอคติที่สิงอยู่ในความคิดจนชีวิตดำมืดนั้นสว่างขึ้นด้วยปัญญา

ผู้เขียนเคยทำนายเหตุการณ์ในอนาคตและวางความหวังในปีหน้าและปีต่อๆ ไป แต่ในวันนี้สุดที่จะทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชั่วโมงต่อไปเกี่ยวกับชาติไทยที่รักของเรา

เสียงเรียกร้องการเจรจาดังขึ้นที่โน่น ที่นี่ หากการเจรจาเกิดขึ้นได้จริง ผู้เขียนขอร้อง “คนมีสี” ทุกฝ่าย ให้มองคู่กรณีโดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำของเขาในส่วนที่ถูกต้อง และมองเข้าไปในตัวตนของตน โดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเรา เพราะเราจะไม่ได้ยินและไม่เห็นอะไรเลย ถ้ายึดมั่นว่าตนเองถูกต้องและอีกฝ่ายหนึ่งชั่วร้าย การเจรจาจบลงอย่างสูญเปล่า ประเทศชาติก็สูญเสีย น่าเศร้าใจ

o โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา

ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น

โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง

ปองปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ”

สุภาษิตคำโคลงโลกนิติ


ไม่ว่าเหตุการณ์วิกฤตจะจบลงอย่างไร ประเทศไทยก็ยังคงต้องเจ็บปวดบอบช้ำไปอีกนาน คนไทยยังคงสับสนและจิตใจระส่ำระสาย ความรัก ความเมตตาต่อกันเท่านั้นที่พอจะเยียวยาให้สงบ ลบความโกรธที่แรงร้อนให้เย็นลง

คนสวมเสื้อแบ่งสีทั้งหลาย ตื่นขึ้นมาเช้าวันนี้ จงเดินไปส่องกระจกแล้วถามว่า

“กระจกจ๋าบอกข้าเถิด ใครทำให้ไทยเกิดมิคสัญญี” กระจกที่แตกร้าวยับเยินจะตอบว่า

“อ๋อใช่ คนไทยด้วยกันน่ะซี ทั่วพื้นปถฐีไม่มีใคร (...) เกิน”

ขอได้โปรดลบอคติออกจากใจด้วยเถิด เพื่อสันติจะได้เกิดขึ้น สังคมไทยพอมีเวลาสงบ พักฟื้น ประคับประคองกันให้ยืนหยัดขึ้นมาใหม่

ก่อนจะสายเกินแก้ ก่อนจะแพ้ย่อยยับ

ก่อนที่บ้านเมืองจะดับ ลับลงต่อหน้าต่อตา

Back to Top