มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551
ใน “กล้าสอน” ตอนที่สองนี้ ผมอยากพูดเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงถึงของพาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ สอง วิธีการสอน สาม ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู “กล้าสอน” ตอนที่หนึ่ง ผมพูดถึงตัวตนของครูไปบ้างแล้ว จึงอยากพูดถึงองค์ความรู้ โดยจะเชื่อมโยงกับความคิดของพาล์มเมอร์ และเพิ่มเติมความคิดของผมที่ค้นคว้าทั้งจากที่อื่นๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อน ระบบโรงเรียนนั้นได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกระบวนทัศน์เก่า) และระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบกลไก หรือการนำอุปไมยอุปมาแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต การมองโลก และการจัดการกับโลก อุปมาอุปไมยแบบเครื่องจักรนี้ ได้คืบคลานเข้ามาในปริมณฑลขององค์ความรู้ และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเครื่องจักรกล โดยมีระบบอุตสาหกรรมหรือระบบโรงงานเป็นต้นแบบ เราลองนึกถึงโรงงานผลิตปลากระป๋อง แล้วเราจะเข้าใจระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่
พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับคำว่า objective ซึ่งเป็นคุณศัพท์ ที่หมายถึงการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจิตของเรา ตัวเราในที่นี้คือ subject หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ประธาน” หรือ “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นเอง หากเอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง การมองจะไม่เที่ยงตรง จะมีอคติได้ ต้องไม่เอาฉันเข้าไปเกี่ยว การมองนั้นจึงจะเป็น “ภววิสัย” คือ objective
แต่พาล์มเมอร์ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เช่นในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ควอนตัม กล่าวกันอย่างสอดคล้องว่า ประธาน หรือฉัน (subject) ต้องเข้าไปเกี่ยวอยู่แล้ว ต้องเข้าไปหลอมรวมอยู่แล้ว ตัวประธานนี้แหละที่จะเข้าไปกำหนดความแตกต่างของการรับรู้ของเรา หากไม่เข้ามามองดูตัวตนนี้ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธาน (subject) จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ลองกลับมามองเรื่องนี้ผ่านปัญญาปฏิบัติดูบ้าง ในแบบฝึกหัดวอยซ์ไดอะล็อกของสามีภรรยาสโตน (ซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่) ต้นฉบับเรื่องวอยซ์ไดอะล็อกนี้ เขาใช้คำว่า personal and impersonal เขาไม่ได้ให้ค่ากับอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาเห็นว่าคำตอบอยู่ที่การนำส่วนผสมของทั้งสองมาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืนมากกว่า หลังจากผมได้นำเรื่อง personal and impersonal นี้มาทำแบบฝึกหัดหลายครั้งหลายหน จนเกิดปัญญาปฏิบัติ จนอวัยวะใหม่ (วงจรสมองใหม่) ก่อเกิดขึ้นมารับรู้ความนัยที่แฝงเร้น (tacit knowledge) อย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่า personal หรือ subjective นั้นเป็นฐานใจ ส่วน impersonal หรือ objective นั้นเป็นฐานคิด ลักษณะเดียวกับซูมอิน ซูมเอาต์ด้วย คือ เมื่อใช้ฐานใจ เราจะมีความเป็นส่วนตัว (personal) เราจะเข้าไปใกล้ชิด หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนหรือสิ่งของนั้น ๆ อันนี้คือซูมอิน และเมื่อซูมเอาต์ เราจะถอยห่างออกมามอง ไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันหรือนัวเนีย แต่นำตัวตนของเราออกห่างออกมา อันนี้เป็น impersonal คือไม่เอาตัวเองเข้าไปพันพัว ถอยออกมา แยกออกมา (disconnect) แต่มันเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะ แล้วแยกออกมา มันจะได้อิสระบางอย่าง แต่ก็สูญเสียการต่อติด (connect) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบในไปด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจเต้นรำสลับกลับไปกลับมา เพื่อเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา แล้วเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา การสลับไปมาอย่างนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนครบถ้วนแง่มุมมากขึ้น หรืออันที่จริงแล้วสมองจะทำงานอย่างนี้เอง หากเราไม่ไปจำกัดกรอบให้มันจนเกินพอดี
อีกระดับหนึ่งของงานวิจัยสมองในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า สองพลังงาน สองศักยภาพ สองปัญญานี้ คือปัญญาจากฐานใจและปัญญาจากฐานคิด ที่จริงทำงานร่วมกัน แนบสนิทกันมากกว่าที่เราคาดคิด หรือ จากที่เรารู้ๆ กันอยู่ ในภาษาและปัญญาของยุคสมัย ที่จริง อารมณ์ หรือฐานใจ เป็นฐานของความคิดด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจฐาน จะเอาแต่ยอด เราจะมั่นคงได้อย่างไร เขาเทียบกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่า อารมณ์เป็นซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ (operating software) และความคิดเป็นตัวซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ใช้งาน (application software) อีกอุปมาอุปไมยหนึ่งจะมองว่า ความคิดเป็นข้อมูลหรือเนื้อหา อารมณ์เป็นการจัดแฟ้ม เป็นจัดเก็บ จัดที่ทาง (organizer) จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเกี่ยวพันกันอยู่อย่างแนบแน่นแยกไม่ออกเลย
ความรู้ในประเด็นฐานคิดฐานใจนี้ จะเข้าไปเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” หรือ “Knowledge Management (KM)” ด้วย ผมคิดว่า จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องแยกแยะคำต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เช่นคำว่า “ความรู้” กับ “ตำรับตำรา” คู่หนึ่ง และ “ความรู้” กับ “ปัญญาปฏิบัติ” อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องเขียนเป็นอีกบทความแยกออกไปกระมัง
สุดท้ายไม่ใช้ท้ายสุด การจะเป็นครูที่แท้ได้ เราต้องเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกันกับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เราจะสอน ทุกปรัชญาจะให้ความสำคัญกับคู่หนึ่งของพลังงาน นั่นคือ “ปัญญาและความรัก” หรือ “impersonal and personal” ความรักทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ และความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งใด หรือบุคคลใด ก็ก่อให้เกิดความรัก ที่สำคัญคือ ต้องเอาฐานคิดและฐานใจมาร่วมกันทำงาน พร้อมด้วยฐานปฏิบัติ หรือฐานกายด้วย จึงจะครบองค์เป็นสองสามชั้นของปัญญาสามฐาน และร้อยเรียงให้ทำงานประสานเสียงกัน มิใช่ปีนเกลียวขัดแย้งกัน
แต่อารยธรรมตะวันตก ที่เริ่มจากคริสต์ศาสนาปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง เอาความเป็นภววิสัย หรือเอาฐานความคิดเข้ามาเพียงฐานเดียว เอาการมองเห็นที่พื้นผิว หรือรูปธรรมบางแง่มุมอันจำกัดเข้ามา (ชูมากเกอร์ จากหนังสือแผนที่คนทุกข์ของเขา บอกว่า วิทยาศาสตร์เก่าใช้ตาเดียวที่บอดสีเท่านั้น ก็แสวงหาสัจจะได้?) และเป็นความคิดแบบแผนเดียวอีกด้วย คือ ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational mind) แบบตรรกะเท่านั้น เราจึงแยกตัว แปลกแยกจากความรู้ของเรา เรารู้แบบไม่ได้สัมผัสความรู้นั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น หรือความรู้นั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของเรา ในเซลล์ของเรา ในอณูแห่งชีวิตของเรา หรือเป็นเลือดเนื้อของเรา ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” หรือ “รู้ได้เฉพาะตน” อันนี้เป็นความรู้แบบอัตวิสัย (subjectivity) หรือไม่?
วิทยาศาสตร์เก่าบอกว่าอัตวิสัยพิสูจน์ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า ผู้สังเกตไม่อาจแยกตัวออกไปจากสิ่งสังเกต ไม่อาจแยกตัวตน ตัวคน หรือ consciousness คือ “จิต” ออกไปได้ เราแยกจิตออกไปไม่ได้จากการรับรู้ และเรียนรู้ด้วย แต่การรับรู้แบบอัตวิสัยนี้ มันมีมิติที่พิสูจน์ได้ โดย communal หรืออย่างเป็นชุมชน เนื่องจากการที่รับรู้ได้เฉพาะตนนั้น มันพอดีออกมาตรงกัน จึงเป็นความรู้ในทางธรรมที่พิสูจน์ได้อย่างนี้เอง เมื่อก่อน ภาพของนักวิทยาศาสตร์คือที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไร้อารมณ์ความรู้สึก บัดนี้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเต็มเปี่ยมได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังทำงานกันเป็นหมู่คณะอีกด้วย ซึ่งถอดความเป็นพุทธได้ในคำว่า “สังฆะ” หรือ “กัลยาณมิตร” นั่นเอง
พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์พระอนุชาว่า “อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างไรกับพรหมจรรย์” พระอานนท์ตอบว่า “มีความสำคัญเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขให้ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า “อานนท์ ที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ความในย่อหน้านี้ เกี่ยวพันกับความในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่อย่างไร วิญญูชนโปรดพิจารณาเอาเองเถิด
แสดงความคิดเห็น