มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2549
สรรพสัตว์ทั้งหลายมีการสื่อสาร คือ ส่งสารและรับสารต่อกันตลอดเวลา อีกทั้งยังสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและเทคโนโลยีอีกด้วย
คนเรามีสื่อรับสัมผัส คือ ตา-เห็นรูป หู-ได้ยินเสียง จมูก-ได้กลิ่น ลิ้น-ได้รส กาย-ได้กระทบความเย็นร้อนอ่อนแข็ง และสัมผัสใจ ที่จะรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก จิตสำนึกทั้งปวง
มีคนจำนวนหนึ่งที่บกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน และบางครั้งบกพร่องทางสติปัญญาหรือทางสมอง ซึ่งสมควรได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธี เพื่อให้เขาได้รับรู้และเรียนรู้ จนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า ผู้ที่มีความบกพร่องทางกายนั้น เขามีสัมผัสทางใจที่ดี มีความสามารถทางดนตรี ศิลปะ มีจินตนาการ และสามารถสื่อสารสิ่งที่เขาคิดอย่างน่าชื่นชม บางครั้งผู้เขียนรู้สึกว่าเขามีญาณวิเศษ แม้จะมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียงใดๆ แต่เขารู้ว่าใครชอบใครชัง รู้ว่าใครหวังดี ใครประสงค์ร้ายต่อเขา เขาสัมผัสได้ รับรู้ได้ด้วยใจ
คนอีกจำนวนหนึ่ง มีร่างกายสมบูรณ์พร้อม แต่ใจของเขาหมกมุ่นอยู่กับตนเอง จนมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน เสียงและสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่รอบข้าง ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์เล็กๆ ไปจนถึงเรื่องคอขาดบาดตาย
การรับรู้เริ่มต้นที่ใจ และอาศัยฐานความรู้ที่มีอยู่มาปรุงแต่งให้เกิดความคิดและจิตสำนึก จนสมองสั่งการให้มีพฤติกรรมต่างๆ สัมผัสทางใจที่เกิดธรรมารมณ์ ช่วยเสริมสร้างการกระทำที่ดีและมีประโยชน์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองให้สนใจ ใคร่รู้ และมีเมตตาต่อคนและธรรมชาติแวดล้อม
กาลครั้งหนึ่ง มีสุนัขตัวหนึ่งผอมโซ เดินหลงขึ้นไปบนทางด่วน รถวิ่งเร็วผ่านเฉียดมันไปคันแล้วคันเล่า คนขับบางคนเห็นมัน แต่บางคนก็ไม่เห็น บางคนเห็นมันวิ่งหลบรถละล้าละลัง มันวิ่งไปอย่างไม่รู้ทิศทาง วิ่งหลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้เขียนเชื่อว่า คนในรถหลายคันรู้สึกสงสาร อยากช่วยเหลือสุนัขตัวนั้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดรถ แล้ววิ่งลงไปจับมันได้ สถานการณ์บนทางด่วนไม่เอื้อต่อความประสงค์ดีนั้น ความสงสารไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ในที่สุด ภาพสุนัขหลงทางด่วน กระทบใจคนในรถคันหนึ่ง เขารู้สึกว่า จะปล่อยให้มันวิ่งอยู่อย่างนั้น มันต้องตายแน่ และซากของมันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะรถวิ่งกันเร็วเหลือเกิน เขารีบโทรศัพท์ถึงศูนย์ทางด่วนฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ใช้รถ ๒ คัน สกัดมันไว้ และจับมันใส่รถเอาไปปล่อยตรงสวนป่าด้านล่าง
สัมผัสที่ใจนั้นมีความแรงและฐานการรับรู้ไม่เท่ากัน บางคนมีสัมผัสใจที่ไวและแรงทั้งในทางบวกและในทางลบ ในทางบวกนั้นเป็นกุศลจิต ทางลบเป็นไปทางอกุศลจิต ปลุกเร้าให้เกิดพฤติกรรมที่ดีและชั่ว ยิ่งเมื่อใช้ธรรมะเป็นฐาน ก็ยิ่งทำให้เกิดผลอันเจริญไพบูลย์
เรื่องเล็กๆ อย่างสุนัขหลงบนทางด่วน อาจจะไม่เกิดผลกระทบทางใจที่แรงพอ ผู้คนผ่านมันมาแล้วก็ผ่านเลยไป ด้วยเหตุผลที่คิดว่ามันไม่เกี่ยวกับตนเอง
ลองคิดถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราดูบ้าง เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ โรงเรียนที่ถูกเผาลามไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแล้วครั้งเล่า น้ำท่วมที่นำความทุกข์อย่างยิ่งมาสู่พี่น้องภาคเหนือและภาคกลาง แผ่นดินไหว ไฟไหม้ และคลื่นลมที่ทำลายชีวิตทรัพย์สินในพริบตา ภาพข่าวที่คน ๗ คนรุมซ้อมคนคนเดียวจนสลบ แล้วก็เดินจากไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงรุนแรงของวัยรุ่น ฯลฯ เราเห็น เราฟัง เรารับรู้ ด้วยความรู้สึกที่เย็นชาหรือเปล่า เราได้แยกตนออกจากเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่ ความคิด และความรู้สึกที่มากระทบใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเช่นนั้นหรือ?
ผู้เขียนรับรู้ว่า สัมผัสใจที่เรารับไว้มันแรงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมในความทุกข์ร้อนของผู้คน เกิดจิตสำนึกที่จะอาสามีส่วนช่วยผู้อื่นให้บรรเทาความยากเข็ญ อยากส่งเสียงให้ทุกคนเข้าใจความหมายของการเตือนจากธรรมชาติ และมุ่งหวังที่จะช่วยหยุดห้ามล้อที่กำลังหมุนแรงด้วยความลืมตัวหลงผิด และแข่งขันกันเพื่อเงินและอำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย
ธรรมชาติกำลังส่งความหนาวเย็นมาสัมผัสกายเราแล้ว อีกไม่นานก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้ง จนอารมณ์คนแทบจะคลั่ง สัมผัสทางกายอาจแก้ไขได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว แต่สัมผัสใจที่เศร้าหมอง ทุกข์ร้อน ว้าเหว่ สงสาร เคียดแค้น จำเป็นต้องแก้ไขด้วยสติ และใช้ปัญญา มีสำนึกเมตตาและกรุณาต่อกัน
ผู้ที่สัมผัสทางใจบกพร่อง จึงเป็นคนใจบอด หมกมุ่นเอาแต่ใจตนเอง ฝังใจไว้กับทุกข์สุขของตนเท่านั้น โดยปราศจากการรับรู้และเข้าใจทุกข์สุขของเพื่อนร่วมโลก คนใจบอดจึงมีชีวิตที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชนและสรรพสิ่งรอบกาย
ในวันที่ท่านอ่านบทความนี้ เป็นวันวารแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจ อากาศเย็นสบาย ดอกไม้บานสวยสด ได้ยินแต่เสียงเพลงไพเราะ เสียงสรวลเสเฮฮา และความสุขที่ส่งมอบให้แก่กัน ทั้งที่เป็นนามธรรมและสิ่งของที่มีทั้งคุณค่าและราคา
ผู้เขียนได้รับกล่องของขวัญเล็กๆ เป็นขวดซุปไก่เปล่าๆ ที่ล้างสะอาดใส ใช้เชือกปอหรือป่านก็ไม่แน่ แต่เส้นเล็กมาก สีสวย พันสลับสีรอบๆ ขวด ดูงดงามอย่างยิ่ง
ขวดใส่ดินสอขวดนี้ได้สัมผัสที่ใจผู้เขียน เป็นของขวัญที่บ่งบอกว่าผู้ให้ตั้งใจทำด้วยรักและผูกพัน ตรงกันข้ามกับบัตรอวยพรที่สวยหรูแผ่นหนึ่ง ที่ผู้ส่งไม่ได้ลงนามเอง แต่คงให้ลูกน้องประทับตรายางลงชื่อ ส่งตามรายชื่อที่ทำไว้เป็นประจำปี บัตรนั้นก็เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง ไม่ประทับใจ
วันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ผู้คนมีโอกาสสัมผัสใจกันได้มากที่สุด ขอให้เราช่วยกันเติมเต็มความรักและความเมตตาต่อกัน สัมผัสความห่วงใย ความเข้าใจ ที่เราเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เปิดใจให้แสงสว่างทางปัญญาซึมแทรกลงไปทุกอณู เพียรพยายามรับรู้สิ่งที่ธรรมชาติสั่งสอนและส่งสัญญาณเตือน
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2549
องค์รวมหมายถึงความเป็นหนึ่งอันเกิดจากความเชื่อมโยงอย่างบรรสานสอดคล้องขององค์ประกอบต่าง ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือคุณภาพใหม่ที่พิเศษไปจากคุณภาพขององค์ประกอบย่อย ๆ ทั้งหลาย ตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นคุณสมบัติดังกล่าวชัดเจน ได้แก่ ออกซิเจน และไฮโดรเจน ต่างเอื้อต่อการเกิดไฟ แต่เมื่อมารวมกันเป็นน้ำ ก็ได้คุณภาพใหม่ที่สามารถดับไฟได้ หรือแสงเจ็ดสีเมื่อมารวมกันจะได้แสงสีขาว ซึ่งเป็นสีที่พิเศษไปจากสีทั้งเจ็ด
สุขภาพองค์รวมหมายถึงสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต เป็นสุขภาวะโดยรวมอันเกิดจากสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม ซึ่งต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยากที่จะแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ หรืออย่างโดด ๆ ได้
แนวคิดเรื่องสุขภาพองค์รวม มาจากความคิดพื้นฐานที่ว่า มนุษย์แต่ละคนนั้นประกอบ ด้วยกายและใจ ขณะเดียวกันก็มิอาจแยกตัวอยู่โดด ๆ ได้ หากยังต้องมีความสัมพันธ์กับผู้คน เริ่มจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องไปจนถึงผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้ กายและใจจะต้องสัมพันธ์กันด้วยดี ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ทางสังคม ถึงจะทำให้ชีวิตมีความเจริญงอกงามหรือมีสุขภาพที่ดีได้
การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความ สัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
แม้แต่โรคติดเชื้อ ก็มีอิทธิพลของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ในสก็อตแลนด์ มีการพบว่าร้อยละ ๖๕ ของคนที่เป็นวัณโรคเคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจัด ร้อยละ ๙๐ ของเหตุการณ์ณ์ดังกล่าวได้แก่การผิดหวังในความรัก ล้มเหลวในการแต่งงาน เมื่อคนเหล่านี้หายจากโรค ปรากฏว่าคนที่กลับมาเป็นโรคนี้ใหม่ ร้อยละ ๗๕ ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์มาก ส่วนคนที่ไม่เป็นโรคนี้ มีเพียงร้อยละ ๑๒ เท่านั้นที่ผ่านเหตุการณ์อย่างเดียวกัน
ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้
ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย นั้นทำได้หลายอย่าง วิธีหนึ่งก็คือการสวดมนต์ ในอเมริกาพบว่าในบรรดาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจนั้น คนที่มีศรัทธาและได้กำลังใจจากศาสนามีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่ไม่ได้สนใจศาสนาถึง ๑ ใน ๓ ส่วนคนที่ไปวัดสม่ำเสมอก็มีอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ไปถึงครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะนำเอาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมสุขภาพมาพิจารณาในการวิจัยแล้วก็ตาม
นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย
สภาวะจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น มีผลต่อร่างกายอย่างมิอาจปฏิเสธได้ การรักษาที่เน้นแต่การเยียวยาร่างกายหรืออวัยวะเฉพาะส่วน แต่ไม่สนใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วยหรือความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้อื่น ย่อมเป็นได้แค่การรักษา “โรค” แต่มิใช่การรักษา “คน” ซึ่งในที่สุดแล้วก็มิอาจรักษาโรคได้ด้วยซ้ำ หรือถึงรักษาได้ โรคก็กลับมาใหม่ จะในลักษณะเดิมหรือลักษณะใหม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงมีการให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจและสังคมมากขึ้น แม้กระทั่งในโรงพยาบาลที่ใช้การแพทย์แผนใหม่ โรงพยาบาลเหล่านี้ถึงแม้จะยังใช้วิธีการรักษาร่างกายเฉพาะจุดเฉพาะส่วนเหมือนเดิม แต่ก็เพิ่มการฟื้นฟูบำบัดจิตใจขึ้นมา หลายแห่งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้สวดมนต์ภาวนาตามความเชื่อของตน โดยเปิดห้องสวดมนต์หรือห้องทำสมาธิขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์อีกต่อไป ผู้บริหารโรงพยาบาลพบว่าวิธีนี้สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าการพึ่งพายาและเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพงขึ้นทุกวัน
แม้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงเน้นการรักษาอวัยวะมากกว่าที่จะสนใจเรื่องจิตใจหรือความรู้สึกผูกพันของผู้ป่วยในฐานะมนุษย์ แต่ประสบการณ์ของแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า จิตใจนั้นมีอานุภาพในการเยียวยารักษา ความเมตตาของหมอและพยาบาลสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้ให้ยาเลยด้วยซ้ำ เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอเมริกาเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ เคยกล่าวว่า ผลสำเร็จในการบำบัดรักษาของเขานั้นเป็นเพราะบุคลิกและพฤติกรรมของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความรู้ทางการแพทย์ของเขาเลย
นายแพทย์วิลเลียม เฮนรี เวลซ์ ซึ่งเป็นคนสำคัญในการบุกเบิกการแพทย์แผนใหม่ในอเมริกาได้พูดถึงบิดาของเขา ซึ่งเป็นหมอเหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ป่วยให้หายได้” ศรัทธาในแพทย์และความหวังว่าจะหายเมื่อได้พบแพทย์มีผลอย่างมากต่ออาการทางกายของผู้ป่วย แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบุคลิกที่เปี่ยมด้วยเมตตาของแพทย์และพยาบาล เมตตาจิตนั้นมีพลังอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง
การรักษาด้วยวิธีการที่ต่างไปจากการแพทย์แผนใหม่ อาทิ ชีวจิต ธรรมชาติบำบัด แมคโครไบโอติคส์ หากสามารถเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นจากโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ได้ ก็เพราะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาวะจิตใจ และการใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ในการเยียวยารักษา โดยทำไปพร้อมกับการฟื้นฟูสมรรถนะของร่างกายทั้งระบบ แม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะไม่สามารถอธิบายให้ละเอียดลงไปถึงระดับเซลหรือโมเลกุลอย่างที่การแพทย์แผนใหม่ถนัดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สำคัญเพราะชีวิตนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนหรือเครื่องสแกนสมอง ดังที่พอล ไวส์ นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวว่า “ไม่มีปรากฏการณ์ใด ๆ ในระบบของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถอธิบายได้ในระดับโมเลกุล แต่ก็ไม่มีปรากฏการณ์ใดเลยที่อธิบายได้เฉพาะในระดับโมเลกุล”
ความเครียด ความวิตกกังวล ความท้อแท้สิ้นหวัง ในทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง คือโรคทางใจ และโรคทางใจนี้มีความหมายรวมไปถึง “ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท” โรคทางใจเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความติดยึดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ปรารถนาให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจตน เมื่อไม่ได้ดังใจ จึงเกิดโรคเหล่านี้ขึ้นมา พูดอีกอย่างคือเป็นโรคที่เกิดจากความยึดมั่นในตัวตน โรคทางใจเหล่านี้ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคทางวิญญาณ”
ในการบำบัดโรคทางใจหรือโรคทางวิญญาณดังกล่าว การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ผ่อนคลาย สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน ต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่าปัญญา ปัญญานั้นมีหลายระดับ เริ่มจากการเห็นว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต ความเข้าใจดังกล่าวช่วยให้ยอมรับความเจ็บป่วยได้ โดยใจไม่ทุกข์ทรมานไปกับอาการดังกล่าวมากนัก หรือการเห็นว่าโรคใด ๆ ก็ตามไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวต่อโรคนั้น ความสำเร็จของชีวจิตส่วนหนึ่งอยู่ที่การทำให้ผู้ป่วยเห็นว่ามะเร็งไม่ใช่โรคร้ายที่น่าสะพรึงกลัว แม้จะเป็นมะเร็งหรือมีเซลมะเร็งอยู่ในร่างกาย เราก็สามารถมีความสุขได้ และอาจสุขยิ่งกว่าตอนก่อนป่วยด้วยซ้ำ ปัญญาขั้นที่สูงไปกว่านั้นคือ การเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมาเป็นตัวตนได้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเราจริง ๆ ปัญญาดังกล่าวช่วยให้ปล่อยวางในร่างกาย และไม่ยึดเอาทุกขเวทนาทางกายมาเป็นของตน ดังนั้นแม้จะป่วยกาย แต่ก็ไม่ป่วยใจ ปัญญาที่ละวางความยึดติดในตัวตนนี้ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และโปร่งเบา ปลอดพ้นจากความเครียด ความโกรธ ความริษยา ความแข่งดี ความถือตัว เป็นต้น ปัญญาที่พัฒนาเต็มขั้นย่อมทำให้เป็นอิสระจากโรคทางใจได้อย่างสิ้นเชิง สุขภาวะหรือสุขภาพที่เกิดจากปัญญาดังกล่าว อาจเรียกว่าสุขภาวะทางปัญญาก็ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2549
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชาวไทย ทรงเป็นพลังของแผ่นดินโดยแท้
พลังแผ่นดินที่ผนึกความดี ความงามและความจริง ประสานเป็นหนึ่งเดียวไม่แยกส่วน
พลังแผ่นดินที่หลอมรวมความรู้สึก ความถูกต้องชอบธรรม ความมีสติปัญญาเป็นหนึ่งเดียว ไม่แปลกแยก แตกเป็นส่วนๆ
ธ ทรงเป็นพลังแผ่นดินที่ดึงดูดความดี ความงาม และความจริง ในบุคคล สังคม และธรรมชาติ รวมเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ ก้าวพ้นความแตกต่าง และการแบ่งแยก แล้วแผ่พลังรวมที่บริสุทธิ์นี้ปกคลุมและซึมแทรก กลับไปยังบุคคล สังคมและธรรมชาติ อย่างนุ่มนวลและกลมกลืน ประสานรวม (Include) แล้วผุดบังเกิด (Emerge) เป็นสิ่งใหม่ที่ก้าวพ้น (Transcend) สิ่งเก่า
เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่มิใช่จะใช้ได้อย่างดีเยี่ยมเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นปรัชญาที่เหมาะสม (Appropriate Philosophy) และเป็นประโยชน์สุขในการดำรงชีวิตในสังคม ก่อให้เกิดศานติสุขวัฒนธรรม ที่สอดรับกับความเป็นจริงตามธรรมชาติอย่างแนบเนียน
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางการเมือง ดูเหมือนจะหาทางออกกันไม่ได้ พระองค์ท่านก็ทรงพระราชทานทางออก ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ผุดบังเกิดขึ้นท่ามกลางความมืดมิด โดยทรงชี้แนะให้ศาลต่างๆ ปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก ตามหลักกฎหมายและตามหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙
และในวันเดียวกัน ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมเฝ้าฯถวายก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
พระราชดำรัสที่พระราชทานต่อผู้เข้าเฝ้าทั้งสองคณะ มีสาระสำคัญทั้งในแง่ของหลักกฎหมายและหลักการปกครอง ที่มีปัญญาและคุณธรรมเป็นฐาน ดังตัวอย่างบางส่วนของพระราชดำรัส ที่ผู้เขียนขออัญเชิญมา ณ ที่นี้
“…แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่าการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข…การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป แต่ในหนึ่งที่มีคนสมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย…”
“เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย มี ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเขาก็บอกว่า ต้องทำตามมาตรา ๗ มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา ๗ นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ ไม่ใช่ มาตรา ๗ นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย…”
“…มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เนี่ย ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ วันนี้น่ะอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไรไม่มีข้ออ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มีสิทธิที่จะพูดที่จะตัดสิน ฉะนั้นก็ขอให้ท่านได้ไปพิจารณาดู กลับไปพิจารณาไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม…”
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
และล่าสุด ท่างกลางความอึมครึมทางการเมืองว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ถ้ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ รวมไปถึงกระแสข่าวที่ว่าอาจจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พศ. ๒๕๔๙ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สค. ๒๕๔๙ เป็นต้นไป ความชัดเจนก็เริ่มต้นขึ้น และที่สำคัญคือหมายเหตุแนบท้าย ที่ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสประกอบการออกพระราชกฤษฎีกามายัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ๒ ประการที่มีความว่า
๑. เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกานั้น ก็เพราะมีพระราชประสงค์ อยากให้ประเทศชาติ กลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
๒. มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีขึ้นในคราวต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรมอย่างแท้จริง
พระราชประสงค์ที่งดงามนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกห่วงใย ความเข้าถึง และความเข้าใจในสถานการณ์ ความปรารถนาที่จะให้มีการพัฒนาการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของมวลพสกนิกรชาวไทยของพระองค์อย่างแท้จริง โดยปราศจากการจำแนกแยกกลุ่ม
ทั้งหมดเป็นพลังแห่งพระบารมีปกเกล้า ปกกระหม่อม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงอย่างเสมอภาค
พระบารมีมากล้น พรรณนา
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
พระองค์คือพลังของแผ่นดิน
พระองค์ทรงเป็นพลังแผ่นดิน ที่รวมพลังแห่งความดี ความงามและความจริงในบุคคล ในสังคม และในธรรมชาติให้เป็นพลังรวมที่แผ่กระจายครอบคลุม ซึมแทรก ประสาน บุคคล สังคม และธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว
เราจึงได้เห็นมวลพสกนิกรทุกหมู่เหล่า หลั่งน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ ในขณะที่โบกธงชาติไทยพร้อมกับเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ...” ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี
เราจึงได้เห็นภาพผู้คนสวมเสื้อสีเหลือง ก้มลงกราบต่อหน้าพระพักตร์เต็มแผ่นดิน เปลี่ยนถนนเป็นสวนดอกดาวเรืองได้อย่างมหัศจรรย์
ณ ช่วงเวลานั้น อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คน เป็นหนึ่งเดียวกับความดี ความงาม ความภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพรโดยพร้อมเพรียงกัน
ณ ช่วงเวลานั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันของความดี ความงาม และความจริง จึงปรากฏเป็นประจักษ์ เพราะพลังบริสุทธิ์...พลังแผ่นดินที่แท้จริง
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549
การคุกเข่าของ วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ถือได้ว่าเป็นการขอโทษที่มีความหมายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและถูกจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
วิลลี บรันดท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของเยอรมันช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่เดินทางไปเยือนโปแลนด์ ประเทศที่เคยถูกเยอรมันและรัสเซียเข้ายึดครอง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวโปแลนด์ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีจำนวน ๖ ล้านคน
ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย – เขาได้คุกเข่าลง
เยอรมันเป็นประเทศที่ก่อสงครามโลกทั้งสองครั้ง และตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามทั้งสองครั้ง ภารกิจของผู้นำเยอรมันภายหลังสงครามนอกจากการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายแล้ว ยังต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเกียรติยศของประเทศเพื่อจะกลับเข้าร่วมวงษ์ไพบูลย์กับนานาประเทศดังเดิม
วิลลี บรันดท์ เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน ๑ ใน ๔ ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงครามเพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น
ส่วนกรณีที่เขาคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์นั้น จากผลของแบบสอบถาม ชาวเยอรมันกว่าครึ่งนั้นไม่เห็นด้วย แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับเขาล้วนเป็นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ตัว วิลลี บรันดท์ เองก็ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูง เขาได้คลี่คลายปัญหาเขตแดนเยอรมันและโปแลนด์ สลายภาวะตึงเครียดช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ และสมานบาดแผลที่นาซีเยอรมันเคยกระทำไว้กับเพื่อนบ้าน ปีถัดมาเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เขาได้นำเยอรมันก้าวออกมาจากความมืดมิดเข้ามาสู่แสงสว่างแห่งการยอมรับของประชาคมโลกอย่างสง่าผ่าเผย และแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน วิลลี บรันดท์ ก็ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รักของชาวเยอรมันมากที่สุด
การขอโทษย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้จากการบิณฑบาตร้องขอ และคำขอโทษอันยิ่งใหญ่นี้จักเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากหัวใจและปัญญา หัวใจนั้นทำให้มองเห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเป็นเช่นเดียวกับของตน ส่วนปัญญานั้นทำให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่พึงกระทำบนพื้นฐานของจริยธรรม การก้าวข้ามผ่านด่านแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นอัตตาความหลงทะนงตน ความภาคภูมิใจในพวกพ้อง บรรพบุรุษ ชาติ ไปสู่ประตูแห่งเกียรติยศ คือการกระทำในสิ่งที่พึงกระทำ หยามทำลายศักดิ์ศรีตนด้วยวีระกล้าหาญที่นำพาไปสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ประวัติศาสตร์ย่อมไม่บันทึกการกระทำที่ง่ายดาย
ในกรณีของปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น หากชนชั้นนำของสังคมไทยได้ตระหนักรู้พลังอันยิ่งใหญ่ของการขอโทษ กระบวนการขอโทษที่แม้จะปราศจากคำพูด ดังเช่น การสอบสวนและลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดในการประกอบอาชญากรรมต่อประชาชนมุสลิม การให้อิสระต่อสังคมไทยในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เหล่านี้ ย่อมเป็นคำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ ล้ำค่า และมีความหนักแน่นจริงใจเสียยิ่งกว่าวาทกรรมแห่งความเสียใจ ชนชั้นทางปัญญาของไทยควรจะผลักดันให้เกิดกระบวนการขอโทษนี้ให้มาก เพราะเราพึงเห็นใจว่าปุถุชนย่อมมีความอาลัยอาวรณ์ศักดิ์ศรีตน หากติดกับดักชนิดนี้เข้าเสียแล้ว ย่อมก้าวล่วงเข้าสู่แดนเกียรติยศได้ยาก
ประเทศไทยไม่เคยก่อสงครามโลกก็จริง แต่รัฐไทยเคยก่ออาชญากรรมต่อพลเมืองของตนมาแล้ว กลางหัวใจเมืองข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังอย่างน้อยก็สองหนภายในเวลาสามปี ในถิ่นไกลปืนเที่ยงนับอีกไม่ถ้วน เฉพาะภาคใต้เอง นับจากกรณีอุ้มฮะหยีสุหรงไปถ่วงทะเลสาบสงขลา มาจนถึงอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ หากแผลเป็นทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ถูกเยียวยา ก็จักกำเริบเกิดเป็นแผลใหม่ให้ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่ไม่สิ้นสุด
คำขอโทษที่มีความหมายยิ่งใหญ่ กำลังรอให้หัวใจและสติปัญญาในสังคมไทย มาร่วมกันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวันพรุ่ง
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 พฤศจิกายน 2549
เวลาที่เราเขียนถึงเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวที่เป็น “นามธรรม” หรืออาจจะ “ไม่มีรูปธรรมชัดเจน” เรามักจะต้องใส่คำว่า “ในความหมายของผม” หรือ “ในความเห็นของผม” เช่นเวลาที่เราจะถามว่า “ใครสักคนสวยหรือไม่?” เราก็มักจะตอบว่า “อืมม..ผมว่าก็สวยดีนะ” อะไรทำนองนี้
ผมคิดว่า “ความหมายของจิตวิวัฒน์” เองก็เช่นกัน ค่อนข้างเป็น “นามธรรม” ที่หลายๆ คนก็สงสัยว่ามันคืออะไรและ “รูปธรรม” ที่ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นการปฏิบัติการหลายๆ อย่างก็อาจจะเป็นเพียง “การให้ความหมายของ” คนบางกลุ่มคนบางคนเท่านั้นกระมัง??
ผมมีความรู้สึกว่า อยากจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนนี้ก็ด้วยเหตุผลบางประการ
หนึ่ง คือเรามีกลุ่มจิตวิวัฒน์มาร่วมสามปีเต็มๆ แล้วนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๖ มีการพูดคุยกันเดือนละหนึ่งครั้งๆ ละหนึ่งวันเต็มๆ
สอง ข้อนี้อาจจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผม คือผมมีความเข้าใจว่า “รูปธรรม” หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาจากคำว่า “จิตวิวัฒน์” อาจจะไม่ได้ตรงกับ “รูปธรรม” ที่ตัวผมเองนึกคิดเอาไว้และก็อาจจะไม่ได้ตรงกับรูปธรรมกับที่หลายๆ ท่านนึกคิดเอาไว้
บางคนถามว่า จิตวิวัฒน์หมายถึงจะต้องเข้าวัดใช่มั๊ย? หมายถึงจะต้องไปนั่งสมาธิกันใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องคุยกันเรื่องปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ยากๆ ใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องเป็นคนดีเท่านั้นใช่มั๊ย?
หรือแม้แต่ว่าเมื่อนำ “แบรนด์เนมจิตวิวัฒน์” ไปใช้แล้วเหมือนกับการ “ตีตราแบบเชลล์ชวนชิม” เลยว่า “คุณจะต้องเป็นคนดี” ตรงนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรา “ตีตรา” อะไรก็อาจจะมีความหมายไปว่า “คนอื่นๆ แย่กว่าคุณ” หรือ “คนอื่นๆ ไม่ได้เป็นคนดีเหมือนกับคุณ”
นอกจากนั้นยังอาจจะเป็นเรื่องที่ “น่าชวนหมั่นไส้” ให้กับหลายๆ คนอีกด้วย
ผมเชื่อว่าพวกเราที่ทำงานในกลุ่มจิตวิวัฒน์ไม่ได้ต้องการ “ตีตรา” แบบนั้น อาจารย์หมอประเวศ วะสี ต้องการให้พวกเรารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะ “เป็นหลัก” ในการ “สร้างสรรค์สังเคราะห์” องค์ความรู้ที่สำคัญๆ และจะเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์กับคนไทยต่างหาก
และผมก็รู้สึกว่าพวกเราทำหน้าที่ได้ “ดีในระดับหนึ่ง” แต่โดยส่วนตัวผมไม่ต้องการรับ “การตีตรา” ว่าเป็นคนดี ผมรู้สึกไม่อิสระ ผมรู้สึกว่าการเป็นคนดีก็เป็นกับดักอย่างหนึ่งเหมือนกันเป็น “กับดักของอัตตา” ที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำว่า “อัตตาหยดสุดท้าย” เพราะหลายคนที่เป็นคนดีจะรู้สึกว่า “อัตตาของตัวเอง” นั้นเหลือน้อยมากเต็มที น้อยจนกลายเป็น “อัตตาหยดสุดท้าย” แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าเราไม่เท่าทันมันจริงๆ เจ้าอัตตาหยดสุดท้ายนี่แหละที่ “แสบชะมัด” เพราะมันพร้อมจะขยายตัวไปเป็น “อัตตาตัวโต” ได้อย่างรวดเร็วทันทีภายในเสี้ยววินาที
ผมรู้สึกว่าผมเพียงทำหน้าที่ที่อยากจะทำ เพราะเมื่อเวลาที่อาจารย์ประเวศชวนผมนั้น ผมปิ๊งทันทีและตอบรับด้วยความเต็มใจทันทีเลย เพราะเป็นงานที่ผมทำอยู่แล้วกับกลุ่มที่เชียงรายถึงแม้จะไม่มีกลุ่มจิตวิวัฒน์
ผมเชื่อว่าคนหลายคนที่หลากหลายมากขึ้นทำงานร่วมด้วยกันจะมีพลังมากกว่าทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้สึกไม่ดีอะไรหรือจะเป็นการคิดขัดแย้งหรือตัดพ้อแต่อย่างไรนะครับ ผมเพียงรู้สึกว่าในฐานะที่ตัวผมเองมีส่วนร่วมกระทำอยู่ในความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมน่าจะใช้เวลาที่ครบรอบสามปีเต็มของกลุ่มจิตวิวัฒน์นี้ได้ใคร่ครวญถึง “ความหมาย” ตามที่ผมเข้าใจและบอกกล่าวกับเพื่อนๆ ที่ร่วมคิด เหมือนกับว่าเวลาที่เราเดินทางไกลไปด้วยกัน เมื่อเดินทางถึงจุดพักจุดหนึ่งเราก็ควรจะต้องเช็คแผนที่ของเรา เช็คเป้าหมายของเราว่าเราเดินทางมาอย่างไร ถูกเส้นทางแล้วหรือยัง แน่นอนว่าเส้นทางอาจจะมีได้หลายเส้นทางและหลายๆ ท่านที่ร่วมเดินทางก็อาจจะอยากแวะไปเที่ยวน้ำตกก่อน บางท่านอาจจะขอแวะชมนกชมไม้กันก่อน หรือแม้แต่หลายท่านอาจจะไม่อยากพักเลย อยากจะขับรถทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ถึงเป้าหมายโดยเร็ววันที่สุด
ผมเคารพทุกความเห็น เพราะผมเชื่อว่าทุกเส้นทางสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้
ที่อยากจะบอกเล่าในบทความชิ้นนี้จึงเป็นหรือหมายถึงเฉพาะ “เส้นทางของผม” ที่อยากจะแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางของผมจะดีที่สุดเลิศที่สุดประเสริฐสุด
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยกับคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมคิดว่า “เป้าหมายนี้” สำคัญมากและสำคัญที่สุดจริงๆ และผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคมต่างก็จะมองเห็นความจริงข้อนี้กันทุกคน
สำหรับผมแล้วผมเชื่อว่าการเดินทางสู่ “จิตวิวัฒน์” เป็นเส้นทางที่ธรรมดาๆ ธรรมดาและสามัญเหลือเกิน เป็นเส้นทางที่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพียงแต่เรา “ใช้ชีวิตให้เต็ม” ใช้ชีวิตให้พอเหมาะพอดี สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวโดยไม่ต้องแยกมันออกไปแบบที่ฝรั่งเคยสอนไว้
เพียงแต่ “ขอเวลา” หรือ “มีเวลา” ให้กับการดูแล “เรื่องราวภายในตัวเอง” ให้มากขึ้นกว่าที่เดิมคนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาในการดูแลเรื่องราวภายนอกตัวเรา และคำว่า “มากขึ้นกว่าเดิม” จะเป็นสัดส่วนเท่าไรที่แม้จะเพียงสิบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดของคุณ ก็เป็นที่ยอมรับได้สำหรับผมแล้ว
ขอเพียงให้เรา “มีเวลา” ที่จะพูดคุยกันให้มากขึ้น พูดคุยกันให้ลึกซึ้งขึ้น และมีความเป็นชุมชนที่ไม่ใช่พูดคุยกันแต่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น แต่ “ดูแลกันและกัน” เพราะบางทีเพียงแค่การได้มาพบกันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ไม่ต้องมาถามว่าคุยกันแล้วได้งานอะไรซึ่งดูเป็นนิวตันเสียเหลือเกิน
ผมเห็นด้วยกับ วิจักขณ์ พานิช ที่เคยบอกไว้ว่า บางทีถ้าเราพยายามอธิบายเรื่องราวมากจนเกินไปก็จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน ผมเองก็พบว่าบางทีเรื่องราวก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพียงแต่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของตัวเองและของกลุ่มชุมชนเล็กๆ ที่ดำรงอยู่
ผมรู้สึกว่าบางทีพวกเราหลายคนไปแบกโลกไว้มากเกินไป บางทีโลกอาจจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือหรอกนะ เพราะยังไงๆ เสียโลกก็ไม่แตกหรอก อย่างมากก็แค่เกิด 6th Extinction (การสูญพันธุ์ครั้งที่ ๖)
ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสบอกเล่า แม้ว่าจิตวิวัฒน์ในความหมายของผมอาจจะไม่ได้ตรงกับหลายๆ ท่านคิดหรืออยากให้เป็นเสียทีเดียว
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549
เราได้ยินผู้บริหารไม่ว่าจะภายในประเทศหรือต่างประเทศ ต่างก็พูดถึงการทำองค์กรของตนให้เป็นองค์กรอัจฉริยะเพื่อให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจของตนอยู่บ่อยๆ
มีการประชุมชี้แจงภายในองค์กรเพื่อให้พนักงานทุกคนทุกระดับได้รู้ถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่จะนำพาองค์กรของตนไปสู่ความเป็นเลิศ
มีการจัดอบรมทั้งภายในและมีการส่งบุคลากรไปอบรมภายนอก เพื่อนำความรู้และทักษะทั้งหมดที่ได้รับมาพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด
บางแห่งมีการปรับรื้อระบบใหม่ทั้งระบบที่เรียกว่า Reengineering บางแห่งมุ่งพัฒนาคุณภาพผ่านระบบ QC, TQC, TQM และอื่นๆ ที่มาใหม่อยู่เรื่อย เช่น Balance Score Card, JIT, Futuristic Management
มีการเชิญกูรูทางการบริหารชาวต่างชาติมาพูดให้ฟังในราคาที่แพงอย่างไม่น่าเชื่อ
แนวความคิดทางการบริหารและการจัดการใหม่ๆ ที่บรรดากูรูหรือผู้รู้ทางการบริหารเสนอแนะ ถูกนำมาเรียนรู้ เลียนแบบ เพื่อจะได้ “ทันสมัย” หรือ “ทัน”กับความก้าวหน้า
ทั้งหมดที่ทำไปเพียงเพื่อตามให้ทัน ไหลไปตามกระแส เพียงเพื่อจะรู้เท่า แต่ไม่รู้ทันหรือไม่รู้เท่าทันเขา
เครื่องจักรใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับลิขสิทธิ์ราคาแพง มาตรการและมาตรฐานใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาและนำเสนอแกมบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน “สากล” ระดับ”นานาชาติ” ทยอยออกมาเรื่อยๆ
ผู้นำและผู้บริหารประเทศและบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ทั่วโลก ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ระบบการบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำงานถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองทิศทาง “การค้าเสรี” ของ “ทุนนิยม”ทั้งสิ้น
หนังสือประเภท Know How และวิธีเรียนลัดแบบสำเร็จรูปสำหรับการเป็นผู้บริหารชั้นยอด และการเป็นเศรษฐีในเวลาอันสั้นมีออกมาขายมากมาย เสมือนหนึ่งมีคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด
สิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินและขาดอย่างมากจากองค์กรธุรกิจ คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมขององค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร การคืนและการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ให้กับโลก
ภายนอกมีแต่โฆษณาชวนเชื่อ การสร้างภาพพจน์ที่หลอกลวง และเลือนรางจากความดีความมีคุณธรรม
ภายในเน้นระบบบริหารและจัดการที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ขององค์กร เช่นกำไร การขยายกิจการ ความมั่นคงขององค์กรเป็นหลัก โดยมิได้มีเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) อยู่ในระบบและกระบวนการบริหาร ไม่ว่าจะในส่วนของปัจจัยป้อนเข้าของระบบ (Inputs) ในส่วนของกระบวนการบริหาร (Processes) ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดโครงสร้างองค์กร การจัดคนเข้าระบบ...และในส่วนของผลผลิต (Outputs) มิต้องพูดถึงเรื่องของ Outcomes และ Impacts
ที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ระบบการศึกษาก็ถูกอิทธิพลของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเข้ามาครอบงำด้วย ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลทุนนิยม
ความสำเร็จและความร่ำรวยของคนส่วนน้อย บนซากที่เสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ มลภาวะทางศีลธรรม จริยธรรม สังคมที่เสื่อมทรามลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ทั่วไป ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้นำและผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั้งหลายจะเริ่มคิดและทำอย่างจริงจังที่จะพัฒนาองค์กรของตนให้เป็นองค์กรจริยะ แทนที่จะมุ่งเน้นการเป็นองค์กรอัจฉริยะตามแบบอย่างองค์กรกระแสหลักทุนนิยมแต่อย่างเดียว
ระยะนี้ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ ค่อนข้างบ่อย หัวข้อที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายก็น่าสนใจและท้าทาย เช่นการสร้างและการพัฒนาจริยธรรมในองค์กร การบริหารตามแนวอนาคตนิยม การสอนงานการพัฒนาบุคลากร... ในทุกหลักสูตรที่ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นวิทยากร จะมีการสอดแทรกเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารและการดำเนินธุรกิจเสมอ ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากผู้บริหารมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นฐานและเป็นแกนในการบริหาร จะทำให้คนในองค์กรมีความภาคภูมิใจ เต็มใจ และมีความสุขที่จะทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ นำให้เกิดผลงานที่ดี (Productivity) และมีความพึงพอใจ (Satisfaction) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คุณธรรมและจริยธรรมจะเป็นแกนกลางและตัวเชื่อมประสานคนในองค์กรให้เป็นหนึงเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันเริ่มมีองค์กรทางธุรกิจหลายแห่งในโลกประกาศตัวเป็นจริยองค์กรทางธุรกิจหรือที่ผู้เขียนเรียกว่าองค์กรจริยะ เพื่อให้แตกต่างไปจากแนวคิดกระแสหลักที่มุ่งเน้นสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มีฐานของแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเป็นกลไกผลักดัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาดเสรี มีการพัฒนาระบบการบริหาร การผลิต การบริการ...ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยราคาแพง เพื่อที่จะได้เป็นองค์กรอัจฉริยะ แต่ละเลยเรื่องความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะละเลยเรื่องคุณธรรมจริยธรรม
ในต่างประเทศมีคำใหม่ที่เรียกองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมว่า Corporate Social Responsibility (CSR) ในเมืองไทยก็เริ่มมีกลุ่ม CSR เกิดขึ้น
นับเป็นนิมิตหมายที่ดี
CSR คืออะไร
CSR คือองค์ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารการจัดการเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยภาพรวม มีการดำเนินการกิจกรรมทุกอย่าง อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงจิตสำนึกต่อโลก (Global Consciousness)
CSR เป็นองค์กรที่จะต้องตั้งคำถามหลักสองประการเป็นอย่างน้อยในการดำเนินธุรกิจ
๑. คุณภาพของการบริหารจัดการในแง่ของคนและกระบวนการบริหารภายในองค์กร
๒. ธรรมชาติและปริมาณของผลกระทบที่มีหรือที่จะเกิดต่อสังคมในด้านต่างๆ อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
โดยนัยนี้ความรับผิดชอบต่อสังคม(Social Responsibility) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างความอุดมสมบูรณ์ (Wealth Creation Process) ขององค์กร และถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้ องค์กรก็สามารถที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณค่าด้าน Wealthให้กับคนในองค์กรและสังคมได้
CSR จะยึดถือแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้อย่างมีความรับผิดชอบ
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2549
เมื่อลูกชายอายุ ๖ ขวบของ อัล กอร์ - อดีตอนาคตประธานาธิบดีคนถัดไปของอเมริกา - ประสบอุบัติเหตุรถชนและต้องอยู่ในภาวะใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ร่วมเดือน ในฐานะของผู้เป็นพ่อ อัล กอร์ จะตกอยู่ในภาวะเจ็บปวดทุรนทุรายภายในอย่างไรไม่มีใครล่วงรู้ได้ หากแต่สิ่งที่เขาได้บอกเล่าออกมาในภายหลังก็คือ เขาตั้งคำถามกับตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า “เราควรใช้ชีวิตอย่างไรในโลกนี้?”
เขาได้ประสบกับภาวะที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้เป็นแก้วตาดวงใจ ได้เผชิญหน้ากับคำถามอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ใคร่ครวญกับคำถามของตนอย่างลึกซึ้ง และแปรเปลี่ยนชีวิตของตนให้เป็นคำตอบ
ความรักของเขาที่มีต่อลูกชายนั้นคงยิ่งใหญ่มหาศาล เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่สั่งสมมาก็คงได้เวลาผลิดอกงอกใบออกมา เขาเข้าใจแล้วว่าในยามที่เราสูญเสียสิ่งล้ำค่า เราจะเป็นเช่นใด และเมื่อขยายความรักที่มีต่อลูกชายออกมานอกตัวเป็นความรักต่อโลกและสรรพสิ่ง เขาก็พบว่าสิ่งล้ำค่าของมนุษยชาติ ก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง
และหากเวลาของชีวิตหนึ่งบนโลกนี้มีไม่มากนัก เราจะทำอย่างไรให้การดำรงอยู่ของเราบนโลกไม่เป็นไปในรูปแบบของการทำร้ายทำลาย ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกระทั่งลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา
เมื่อหลายวันก่อนหลังจากดูภาพยนตร์ An Incovenient Truth จบ ข้าพเจ้าได้ยินบทสนทนาที่น่าสนใจ
“หากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมไหม?” – เสียงหนึ่งถาม
“ตามผลวิจัย ก็คงสักร้อยปีกระมัง แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” – เสียงหนึ่งตอบ
วลีที่ว่า “แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” หมายถึงอะไรหนอ? – หมายถึงชีวิตนี้มันสั้นนัก จะทำอะไรกับโลกไปเราก็ไม่มีอายุยืนยาวอยู่พอที่จะรับผลของมัน ลูกหลานของเราจะอยู่ในโลกที่ไม่สมประกอบหลังจากนี้ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของเขาอย่างนั้นล่ะหรือ
“คิดมากน่า” - ความหมั่นไส้พยายามปลอบใจ
นึกถึง “คนคิดมาก” ที่รู้จักอีกกลุ่ม ครั้งนั้น ดร. สมพร จันทระ ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ และ ดร. วนารักษ์ ไซพันธุ์แก้ว ยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางสิ่งแวดล้อม ทั้งสามท่านชักชวนพี่น้องเพื่อนฝูงไปปิคนิคและเดินเล่นในป่า หลังจากก่อไฟปิ้งย่างรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็ช่วยกันเก็บกวาดเศษอาหารเศษขยะใส่ถุงดำเพื่อขนออกมาทิ้งข้างนอก ข้าพเจ้าเห็นทั้งสามท่านกำลังจัดการกับเตาไฟ เมื่อไปชะโงกดู ก็เห็นกำลังกวาดขี้เถ้าใส่ถุง ข้าพเจ้าขมวดคิ้วถามว่า ขี้เถ้ายังต้องขนไปทิ้งหรือ ฝากไว้กับแม่พระธรณีไม่ได้หรืออย่างไร พี่สาวหนึ่งท่านในนั้นก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก ขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง เรามาทำกิจกรรมในป่า แล้วเรายังจะทำให้ดินของป่า ระบบนิเวศน์ของป่าในระยะยาวเปลี่ยนไปอีกได้อย่างไร
บทเรียนเรื่องขี้เถ้านี้ฝังใจข้าพเจ้าอยู่นานทีเดียว สิ่งที่รับมาประทับในใจเห็นจะเป็นว่า คำสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องใดใดในตำราก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับการได้เห็น “คำสอนที่มีชีวิต” เราไม่อาจเรียนรู้เรื่องศีลธรรมหรือสิ่งแวดล้อมได้จากการท่องพระเวท หากย่อมตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งเมื่อได้สัมผัสกับของจริง กับคนที่ทำชีวิตของตนให้เป็นอย่างนั้นได้จริงๆ
อัล กอร์ เป็นอย่างที่ภาพยนตร์นำเสนอจริงหรือ? หลายคนบอกว่าเขาเป็นคนบ้า เรื่องโลกร้อนก็เป็นแค่ทฤษฎี แต่คนบ้าคนนี้มีหลักฐานงานวิจัยที่พร้อมจะนำเสนอเป็นกะตั๊ก หลายคนมองว่าเขาบ้า คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทั้งโลกได้อย่างไร ด้วยการพูดบรรยายประกอบสไลด์ไปทีละเมืองทีละเมืองอย่างนั้นหรือ? ถ้า อัล กอร์ บ้าด้วยเหตุนี้ เขาก็คงไม่โดดเดี่ยวนัก เพราะเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว มีคนบ้ายิ่งกว่าเขา ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งสมบัติพัสถาน โกนผมเผ้าหนวดเครา ไปอยู่ป่า บำเพ็ญภาวนา เมื่อพบกับความรู้แจ้ง ก็เดินจาริกเผยแพร่ธรรม ทีละคน ทีละหมู่บ้าน ทีละเมือง อัล กอร์ ไม่ใช่ศาสดา หากมีสิ่งที่เรียกว่าความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และความกรุณาที่ล่วงพ้นไปจากเขตแดนและกาลเวลา
เรื่องโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง การมองเรื่องโลกร้อนที่จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะพื้นที่จึงเป็นเรื่องตลก อย่าว่าแต่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เลย ถ้าท่วมไปครึ่งโลก กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย เพราะความหมายของพรมแดนประเทศจะหายไป และอาจจะเหลือแต่เพียงพรมแดนแห่งการอยู่รอดเท่านั้น มนุษยชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร หากไม่ใส่ใจความอยู่รอดของโลก
คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร? เมื่อเผชิญกับความจริงที่ไม่น่าพึงใจ มนุษย์เรามักจะปฏิเสธไม่ยอมรับก่อน พอเลี่ยงไม่ได้ก็สุดโต่งไปอีกทาง คือรู้สึกสิ้นหวัง อัล กอร์ เสนอไว้อย่างน่าคิดว่า ถ้าเราเลือกสมดุลตรงกลาง เราก็ต้องถามตนเองว่า – เราจะทำอะไรได้บ้าง
แล้วเราก็จะเป็น อย่างที่ทำนั่นแหละ
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2549
“ใครอายุช่วง ๓๖ - ๔๒ ปีโปรดฟังทางนี้…ขอให้ดีใจถ้าคุณ...เบื่อ เซ็ง สิ้นหวัง เสพติดอยู่กับอะไรสักอย่าง สนุกแต่รู้สึกไร้ความหมาย เกลียดตัวเอง ไร้ความภาคภูมิใจหรือแรงบันดาลใจ มีชีวิตไปวันๆ เพราะผมคิดว่าคุณมาถูกทางแล้วครับ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นกรรมที่มีร่วมกันของคนที่กำลังอยู่ในอายุช่วงนี้ (คนในช่วงอายุอื่นก็อาจประสบกับภาวะการณ์แบบนี้ได้เช่นกัน หากมากน้อยต่างกันไป)”
หลังจากที่ได้เชิญอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เข้าร่วมประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการประชุมที่น่าประทับใจมากหนหนึ่ง ดังที่มีบันทึกการประชุมดีๆ เผยแพร่ออกไป รวมทั้งซีดีเอ็มพี ๓ เรื่อง "การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้" แจกจ่ายออกไปบางส่วน
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารสาธารณะได้สัมภาษณ์อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ช่วยขยายเนื้อหาสาระแห่งการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้เห็นแจ่มชัดขึ้น
เทวาลัยแห่งการเรียนรู้ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไมซอร์ (Mysore University) แดนภารตะ ไม่ได้ทำให้เขาค้นพบคำตอบที่แท้ของชีวิต
เมื่อวันคล้ายวันเกิดปีที่ 50 ของเขา ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2547 ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการ ปลดเปลื้องสถานะทางสังคมเพื่อออกจาริก เขาเดินทางด้วยการเดินเท้า จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย บ้านเกิดของเขาที่สุราษฎร์ธานี โดยใช้วันเวลาไปทั้งสิ้น 66 วัน
การเดินเท้านับกว่าพันกิโลเมตร เพียงเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต แสวงหาคุณค่าของ “ความเป็นมนุษย์” ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ย่อมไม่ธรรมดา
ยิ่งเขาตั้งเงื่อนไขให้แก่ตนเองว่า จะไม่ขอใครทาน จะไม่พกหรือใช้เงินสักแดงเดียว หากแต่จะขอรับน้ำและอาหารเฉพาะผู้ที่หยิบยื่นให้เท่านั้น การเดินเท้าทางไกลทำนองนี้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทัศนะของใครหลายคน
ทว่าสำหรับเขา ไม่ใช่เพียงค้นพบคำตอบดังที่ใจปรารถนาระหว่างทาง รวมทั้งพบความสุขทุกขณะก้าวเท่านั้น แต่วันนี้ เขายังยินดีเผื่อแผ่เรื่องราวการเดินเท้าทางไกลไว้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ประสบปมปัญหาเช่นเดียวกับเขา เก็บรับเป็นแรงใจไว้พร้อมเผชิญหน้ากับฉากชีวิตในชาตินี้ต่อไปอีกด้วย
ทำไมถึงเลือก “การเดินเท้า” เพื่อแสวงหาความรู้
ที่จริงมีองค์ประกอบหลายอย่าง เริ่มต้นที่สุดคงเป็นพื้นฐานการศึกษาของผมที่ศึกษามาทางปรัชญาและศาสนา ที่นี้ ทางปรัชญาและศาสนามีอะไรให้อ่านเยอะมาก ซึ่งผมก็พยายามอ่าน แล้วก็พบว่าหนังสือแต่ละเล่มมีประเด็นเป็นคำตอบ แต่จริงๆ ผมกลับพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นคำตอบสำหรับเรา มันเป็นแต่เพียงคำตอบที่มีผู้อื่นตอบไว้
ทีนี้ มันมาสัมพันธ์กับผมเพราะผมสนใจมิติทางสังคม ผมคิดว่าปัญหาสังคมที่เราคิดเอานั้น ดูเหมือนว่าเรารู้ แต่ที่จริง กลับไม่ใช่ความรู้ที่ใจเราเข้าไปสัมผัสได้จริง
ผมมีความรู้ทางทฤษฎีมาพอสมควรแล้ว จากการได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก จากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และจากการพูดคุยกับใครหลายคน ผมคิดว่า ถ้ามีคำตอบ การเรียน การทำงานมาขนาดนี้ ผมน่าจะมีคำตอบได้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่
ผมยังมีข้อสงสัยใน “ความเป็นมนุษย์” ที่ยังมีความรู้สึกหวงแหนสิ่งที่เรามีอยู่ รู้สึกหวาดกลัวสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรือในฐานะพุทธศาสนิกชนที่รู้ว่า ความรัก ความเมตตาเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรจะอยู่ในตัวผม แต่ทำไม ผมถึงทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ในบางขณะ บางโอกาส เวลาที่ผมต้องเผชิญกับการโต้เถียงกับคนที่มีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันอย่างมากมาย จนบางครั้ง ผมถึงกับรู้สึกเกลียดเขาด้วยซ้ำไป ในความรู้สึกแบบนี้ มันมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ทำให้ผมต้องหาวิธีอื่นมากกว่าการอ่านหนังสือแล้วคิดเอา
ผมอยากใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่างที่หาไม่ได้จากการนั่งครุ่นคิดหรืออ่านหนังสือ แล้วเมื่อผมคิดว่าผมน่าจะทำเช่นนี้ได้ (คือการเดิน) กอปรกับครอบครัวของผม ผมมีภรรยาที่รักผมมาก มากพอที่จะเป็นพลังให้ผมทำในสิ่งที่รักได้ และผมก็ไม่มีบุตร ไม่มีพันธะที่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ผมน่าจะทำได้
ถ้าเช่นนั้น วันหนึ่ง เมื่อผมคิดกับภรรยาว่าเราน่าจะทำได้เอง โดยไม่ควรโยนภาระนี้ไปให้แก่คนอื่น และที่เราทำนี้ ก็คงไม่ใช่เพียงเพื่อหาคำตอบให้แก่ตัวเองเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงการหาคำตอบให้แก่คนที่ใกล้ชิด และที่รู้จักเรากันในวงกว้างออกไปด้วย สาทิสกุมารแห่งศาสนาเชน สานุศิษย์ของมหาวีระยังทำได้ ทำไมสานุศิษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างผมจะทำไม่ได้ นี่คือประเด็นที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราทำได้ และเป็นสิ่งยืนยันที่ชี้ว่า สิ่งที่ผมคิดนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่วิจิตรพิสดารอะไร
ก่อนหน้าจะออกเดิน อาจารย์ได้ปฏิบัติธรรมในรูปแบบไหนบ้าง
พูดถึงเรื่องรูปแบบการปฏิบัติธรรม ผมผ่านการปฏิบัติธรรมเชิงรูปแบบมาตั้งแต่สมัยตอนที่เป็นนักบวชแล้ว ผมเคยเดินจาริกธุดงค์สมัยที่ยังเป็นพระภิกษุ ขณะที่อยู่อินเดีย ผมก็บำเพ็ญตนคล้ายๆ กับนักบวช คือหมายความว่า ถ้าผมจะไปที่ไหน หากเป็นไปได้ ผมจะใช้วิธีเดินไป ตามคติของชาวอินเดีย หรือแม้กระทั่ง ตอนที่ผมจะเดินจริงๆ
เนื่องจากผมงดเว้นการเดินเป็นเวลานาน ผมกับภรรยาจึงปรึกษากันว่า ผมต้องทดสอบก่อน นับจากวันที่ 23 ตุลาคม จนถึง 14 พฤศจิกายน (ปี 2547) นั่นก็เกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ผมเดินทุกวัน ซ้อมเดินตั้งแต่เช้ามืดจนมาถึงตอนค่ำ เช่น เดินขึ้นไปถึงพระธาตุดอยสุเทพแล้วเดินกลับลงมา
พอมาถึงที่ราบ ผมเดินไม่ได้เลย จะข้ามถนนก็ข้ามไม่ได้ เป็นทางวันเวย์ซึ่งต้องวิ่งข้าม จะรอให้รถหยุดแล้วค่อยข้ามก็ไม่ได้เพราะรถไม่หยุด จนผมต้องจ้างรถพาผมข้ามถนนมาส่งถึงบ้าน ภรรยาของผมที่รออยู่ที่บ้านต้องออกมาอุ้มผมเข้าบ้าน นี่คือการฝึกเดินวันแรกที่บอกให้ผมรู้ว่า การเดินเท้าทางไกลทำได้ แต่ไม่ง่ายนัก
แล้วผมก็เดินทุกวันจนกระทั่งวันหนึ่ง ผมสามารถเดินได้ถึง 30 – 40 กม. ไม่มีปัญหาเลย ผมฝึกสมาธิให้สามารถต้านทานเวลาที่จิตของเราโดนอะไรในทางโลกย์มากระทบ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่เราทั้งปรารถนาและไม่ปรารถนา ยามที่มันมารบกวนเรา เราจะต้องทำจิตของเราให้นิ่ง และเพียรระวังที่จะมีอารมณ์ “อกุศล” คือความโลภ ความโกรธ ความหลง และอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมในเมื่อผมรู้ทั้งรู้ว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัดให้หมดไป
ถึงผมท่องจำทฤษฎีได้เยอะแยะ จำวิธีการกำจัดความโกรธ แต่ผมก็กำจัดไม่ได้ มันเข้ามารบกวนจิตของผม ทำให้ผมเสียสมาธิ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ด้วยวิธี “คิด” เอาเอง ผมจำต้องบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำจิตของผมให้มีเมตตาธรรมอย่างจริงจังในความรู้สึก ไม่ใช่เป็นความเมตตาจาก “ความคิด”
การปฏิบัติธรรมที่ผ่านมา จึงเป็นการปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่ถูกจัดวางไว้แล้ว ปฏิบัติได้อย่างสบาย เช่น อยู่ในที่ๆ เงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวน ซึ่งอย่างนั้น ผมคิดว่าทำไม่ยาก แต่ผมต้องการทำสมาธิภาวนาในขณะที่เราก้าวย่างไปสู่ชุมชน ซึ่งบางครั้ง ก็มีคนรังเกียจเดียดฉันท์เรา บางครั้งคนก็กลัวเรา บางครั้งคนเขาก็ไล่เรา ซึ่งผมอยากจะรู้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้น จิตของผมจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นอาจารย์ เมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ใช่ใครสักคนที่มีใครรู้จัก ไม่ใช่พระ แต่เป็นคนแปลกหน้า ผมอยากเรียนรู้ว่า ถ้าวันหนึ่งที่ผมตกอยู่ในสายตาของคนอื่นว่าเป็นคนบ้า คนน่ากลัว ผมจะทำจิตของผมอย่างไร นี่คือการทำสมาธิภาวนาในมิติทางสังคมอย่างที่ผมต้องการทำจริงๆ
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2549
ช่วงนี้การเมืองดูสับสนอลหม่าน สับสนเสียจนข้าพเจ้านึกถึงทฤษฎีโกลาหล Chaos Theory ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์เคยนำเสนอต่อสังคมไทยในเชิงอุปมาทางวัฒนธรรม ข้าพเจ้าคิดว่าหากนำโจทย์ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เคยทิ้งไว้เกี่ยวกับทางแพร่งของสังคมไทยมาขบคิดต่อ เราก็อาจจะมีทางเลือกอื่นเพิ่มเติมได้ในวาระเช่นนี้
หลายคนแย้งว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะมาปรับใช้กับทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมได้ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ กลศาสตร์แบบนิวตัน ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ก็ได้แปรสภาพมาเป็นโลกทัศน์แบบกลไก และการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำความคิดในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มาได้ยาวนาน แล้วทฤษฎีโกลาหลซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่มีอายุเพียง ๓๐ ปี น่าจะทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง?
ทฤษฎีโกลาหลบอกเราว่า ชีวิตนั้นแท้จริงแล้วก็คือความโกลาหล ไม่อาจควบคุมได้ แต่หากเรายอมรับและชื่นชมกับความจริงนี้ได้ ก็ย่อมค้นพบโอกาสและหนทางใหม่ เพื่อเข้าถึงสัจจะความจริงในระดับที่ละเอียดประณีตขึ้นไป
เมื่อครั้งที่แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน กำลังยืนอยู่ตรงขอบของพรมแดนความรู้ฟิสิกส์ทฤษฎีในยุคนั้น เขายอมรับว่าตนเองตกอยู่ในภาวะสับสน ไม่แน่นอน มีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ และประกอบด้วยความลังเลสงสัยอยู่มาก แต่เมื่อเขาทอดทิ้งความกังวล ทดลองก้าวออกจากเขตแดนเดิม เขาก็ได้พบกับคำตอบแบบใหม่ นั่นคือ กลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเปิดโฉมหน้าฟิสิกส์กระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นมาคู่ขนานกับทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์
ความคิดใหม่ ทัศนะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากยอมตนเข้าไปสู่ในภาวะความสับสน และเมื่อเขากล้าที่จะเสี่ยง ยอมที่จะผิดพลาด เขาก็ได้รับโอกาสในการเข้าถึงมุมมองใหม่ และต่อยอดความรู้ออกไปได้อีก
และเมื่อผู้หญิงผิวดำตัวเล็กๆ อย่างโรซา พาร์ก ได้ปฏิเสธการลุกจากที่นั่งให้กับคนผิวขาว ก่อนจะถูกจับดำเนินคดี และนำไปสู่ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๕ การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากคนเพียงคนเดียวแต่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ยิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก ซึ่งทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งเดิมคิดว่า ต้องมีอำนาจจึงจะควบคุมเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาได้ ในสภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายได้เปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนแปลงตนเอง แม้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ย่อมนำไปสู่ความตระหนักรู้ร่วมกันของผู้คนจำนวนมหาศาล
ในป่าเขตร้อน ขอนไม้ผุเริ่มเป็นที่อยู่ของเห็ดรา ซึ่งเรียกเอาพวกมดหรือนกเข้ามาหาอาหารและทำรัง ในสังคมที่ดูวุ่นวายไร้ระเบียบนี้ ปรากฏระบบการจัดการตัวเองอย่างชัดเจน เห็ดรารู้ว่าจะหาขอนผุได้ที่ไหน มดทุกตัวรู้ว่าตัวเองจะทำทำหน้าที่อะไรโดยไม่มีใครสั่ง
เรามักจะคิดว่าองค์กรต้องมีผู้นำ ต้องมีการแข่งขัน และครอบครองอำนาจ แต่ธรรมชาติเป็นเรื่องของการเกื้อกูลอิงอาศัยกัน หาใช่เป็นการแข่งขันดังที่นักทุนนิยมและผู้นิยมดาร์วินมักอ้างถึง เมื่อผู้คนแปลกแยกจากกัน การเริ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจจะเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้อง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พลังภายในตัวปัจเจกแต่ละคนจะไหลเลื่อนเชื่อมโยงกันได้ กลายเป็นพลังกลุ่ม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคได้ ดังที่เคยปรากฎอยู่ในวงสุนทรียสนทนาบ่อยครั้ง
ฟริตจอฟ คาปรา นักคิดร่วมสมัยเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เรากำลังประสบภาวะวิกฤติในการรับรู้” ดังที่ลงทุนมหาศาล เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นไปนอกโลก และเมื่อมองลงมา จึงได้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง” – โลกทัศน์เดิมที่แต่ละคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจ
ความรู้และเทคโนโลยีในยุคแห่งการรู้แจ้งได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์แบบองค์รวมไปสู่แบบกลไก มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีอายุยืน แต่ชีวิตได้กลายเป็นกลไกที่แยกส่วนจากกันไปเสียแล้ว วิกฤติทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนนี้
เราถูกสอนว่า ปัญหาสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราจึงไม่อาจตอบได้ว่า ผู้นำที่ฉ้อฉลเผด็จการ เชิดชูเงินตราให้อยู่เหนือคุณค่าความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมอย่างไร
ความรู้จากทฤษฎีโกลาหลกำลังจะนำเราเข้าสู่กระบวนทัศน์แบบใหม่ เราต้องหวนคืนไปสู่องค์รวม เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง
เราอาจเข้าใจได้ว่า การที่กดราคาข้าวไว้ต่ำย่อมทำให้การปลูกฝิ่นน่าพิศมัยกว่า การปล่อยให้มีการซีดีเถื่อนขายเกลื่อนเมืองย่อมทำให้เด็กและเยาวชนหาซี้อวีซีดีโป๊มาดูได้ในราคายี่สิบบาท
หรืออีกนัยหนึ่ง แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหา การตั้งคำถามว่าการใช้ยาเสพติดข้องเกี่ยวกับเราในฐานะสังคมอย่างไร? การดูภาพยนต์อุจาดลามกเกิดขึ้นได้ในสังคมแบบไหน? ด้วยคำถามเหล่านี้ เราอาจจะพบหนทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ได้
ที่สำคัญ ทฤษฎีโกลาหลย้ำว่า ในโลกที่สรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองแม้จะดูเล็กน้อย ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกและจักรวาลทั้งหมด
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 มกราคม 2551
“Because questions are intrinsically related to action, they spark and direct attention, perception, energy and effort…….Creativity requires asking genuine questions, those to which an answer is not already known.”
Marilee Goldberg
หลังจากที่ดูหนังไทยเรื่อง “โคตรรักเอ็งเลย” จบ คำถามหนึ่งที่โกวเล้งเคยถามก็ผุดพรายขึ้นมา
“มนุษย์เรานั้น อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม”
เล่าต่อจากคราวก่อน
ในส่วนของวิทยากรฝ่ายอิสลามนั้น อาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินีได้อรรถาธิบายไว้ว่า วิถีอิสลามนั้นก็คือการแสดงความเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า กิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง การประกอบอาชีพ ล้วนต้องเป็นไปเพื่อการนี้
สำหรับชาวมุสลิมแล้ว โลกนี้และโลกหน้ามิได้แยกออกจากกัน ความตายเป็นสมบัติของชีวิต ศาสดาก็เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ต้องตายก่อนตาย” และย้ำให้ระลึกถึงความตายทุกเวลาทุกนาที
อาจารย์สุชาติยังกล่าวถึงความตาย ๓ ลักษณะในอัลกุรอานไว้ ดังนี้
ความตายคือ
(หนึ่ง) การพบกับพระผู้เป็นเจ้า
(สอง) การกลับคืน
(สาม) การจับ/หยิบดวงวิญญาณไปวางไว้ในอาณาจักรพระผู้เป็นเจ้า
ส่วนเหตุแห่งความกลัวตายของมนุษย์นั้นมี ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง (๒) เป็นสิ่งที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย จึงมีความกังวล และ (๓) ขาดการเตรียมพร้อม เพราะความตายไม่เคยรอให้พร้อม
ตามความเชื่อของชาวมุสลิมนั้น เมื่อตายลง เดินไปไม่ถึงสี่สิบก้าว ก็จะมีผู้ตามทวงหนี้แล้ว ฉะนั้น การสั่งสมกุศลกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น การปฏิบัติดีต่อเพื่อนมนุษย์แท้จริงแล้วก็คือการปฏิบัติดีต่อพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
เรื่องเล่าหนึ่งในอิสลาม กล่าวถึงชายผู้หนึ่ง ซึ่งถามเพื่อน ๓ คน ว่าหากเขาตาย เพื่อนจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง คนแรกตอบว่าจะเตรียมโลงและผ้าห่อศพให้ คนที่สองตอบว่าจะช่วยแบกโลงไปที่หลุมฝังศพ ส่วนคนที่สามตอบว่าจะลงไปอยู่เป็นเพื่อนในหลุมฝังศพและช่วยตอบคำถามต่อเทวทูต เพื่อนทั้งสามคนเป็นดังอุปมาของสิ่งที่ติดตามตัวเราไปได้เมื่อตายแล้ว เพื่อนคนแรกคือทรัพย์สินเกียรติยศ เพื่อนคนที่สองคือครอบครัวญาติพี่น้อง ส่วนเพื่อนคนสุดท้ายก็คือ อาม้าล หรือกรรมดีกรรมชั่วนั่นเอง
ความตายในอิสลามก็มิใช่ความตายเชิงปัจเจก หากยังมีความอยุติธรรมในสังคม มีความบีบคั้นเบียดเบียน ชาวมุสลิมย่อมไม่อาจดูดายได้เช่นกัน ดังถ้อยคำในพระคัมภีร์ที่ว่า “จะเข้านอนได้อย่างไร หากเพื่อนบ้านยังหิวอยู่”
สำหรับชาวมุสลิมแล้ว ความตายมิได้เป็นเรื่องแยกออกจากชีวิต โลกนี้กับโลกหน้าล้วนเป็นโลกเดียวกัน ทุกคนต้องกลับไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ดังบทกวีในสายซูฟี ที่กล่าวว่า
When you leave me in the grave,
Don’t say goodbye.
Remember a grave is only a curtain,
For the paradise behind.
หากเราจากกันชั่วนิรันดร์
อย่าได้กลั่นถ้อยคำแห่งร่ำลา
สุสานนี้ก็เพียงม่านบังตา
แผ่วพริ้วอยู่เบื้องหน้าแดนสวรรค์
เสาร์นี้อยู่เชียงใหม่ ช่วงบ่ายเข้าร่วมประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึก หรือจิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ประชุมเป็นครั้งที่ ๑๓ แล้ว
เติ๋นผญายังน่ารักเหมือนเดิม ศาลาร่มรื่น อยู่ท้ายวัดสวนดอก เขตอารามหลวง สถานที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของเมือง
การประชุมคราวนี้ได้รับความกรุณาจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร และอาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินีมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ความตาย ในทัศนะของคริสต์ และอิสลาม”
เนื้อหาพูดคุยวันนี้น่าประทับใจมาก คุณพ่อนิพจน์พูดได้ลึกซึ้ง ราวกับกลั่นออกมาจากเนื้อตัว ท่านอาจารย์สุชาติก็ช่างถ่อมตน แต่สิ่งที่กลุ่มได้เรียนรู้นั้นมีมากเหลือเกิน
คุณพ่อนิพจน์ได้กล่าวถึงทัศนะต่อความตายในศาสนาคริสต์ไว้ ๓ ประการ คือ
(หนึ่ง) เป็นสภาวะการเปลี่ยนผ่าน “เราจะไม่ไปไหน มีเพียงร่างกายที่เปลี่ยน” ความตายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว และกำลังจะมาถึง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เราจะมีชีวิต โดยใช้ชีวิตอย่างไร”
(สอง) ความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตและความตาย การมีชีวิตจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย เพื่อรับใช้สังคมและโลก
(สาม) โลกมิใช่กลไก หากประกอบด้วยชีวิตภายใน ประวัติศาสตร์มนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจ การเมือง หากยังประกอบด้วยมิติทางศาสนธรรม จริยธรรม
ท่านยังได้เล่าถึงประสบการณ์ใกล้ชิดความตายของตนเอง เมื่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว โดยชี้ให้เห็นภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของจิตในภาวะเจ็บป่วยใกล้ตายเป็นลำดับ และเน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมตัว และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
นอกจากนี้แล้ว ความตายในทัศนะคริสต์มิได้หมายถึง ความตายของปัจเจกเท่านั้น หากยังรวมถึง ความบีบคั้น เบียดเบียน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อมและโลก เหล่านี้ เป็นบาปโครงสร้าง เป็นความตายเชิงคุณค่า ชาวคริสต์ย่อมต้องทำลายบาปเหล่านี้ ด้วยการใช้ชีวิตในการสร้างสังคมที่ดี
โลกทัศน์ของชาวคริสต์ก็คือการมองว่าสรรพสิ่งล้วนประกอบด้วยความมีชีวิต และชีวิตย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ โลกที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นโลกเดียวกับโลกียะ ความอยู่รอดของบุคคลย่อมเป็นสิ่งเดียวกับความอยู่รอดของโลกและจักรวาล
เมื่อเรียนถามถึงการพิจารณา “ตายก่อนตาย” ในวิถีคริสต์
คุณพ่อนิพจน์ยกแก้วน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว “นี้อย่างไรล่ะ น้องสาวน้ำของเรา ความตายของเธอ ได้มอบชีวิตให้กับเรา”
เมื่อชี้ไปที่จานอาหาร “ขนมปังนี้ ข้าวนี้ ได้มอบขวัญให้กับเรา ความตายของข้าวนั้นเป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงเรา เตือนใจให้เราบริโภคด้วยความระมัดระวัง และดำรงชีวิตที่มีความหมาย”
โอ้... จับใจไหม?
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2549
มนุษย์เราดำรงอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลโดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่รู้ จึงต้องอยู่กับอวิชชาที่เราคุ้นกับมันและจะโกรธหากมีใครมาพูดว่าเราเช่นนั้น เหมือนปลาน้อยที่ว่ายวนเวียนอยู่ในทะเลเพื่อค้นหาว่าทะเลอยู่ที่ไหน ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อว่านั่นเป็นเจตนาของจักรวาลที่ทำให้เรามัวเมาอยู่กับความรู้สึกที่ได้จากผัสสะสฬายตนะ “มายา” ที่เป็นด้านโลกียะของความเป็นสอง ความเป็นสีสันทุกข์สุขที่เราคุ้นเคยดำรงอยู่กับมัน ทำให้เราคิดว่านั่นคือธรรมชาติของชีวิตหรือของมนุษย์ (human nature) นั่นคือความจริงที่เราไม่มีทางเลือก และต้องอยู่กับมันจนวันตาย และเป็นเพราะอวิชชาความไม่รู้อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองเช่นนั้นเอง ที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ทำให้เราต้องเดินทางเพื่อเรียนรู้ความจริงที่อยู่อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองนั้น เป็นการเรียนรู้ที่ มาร์กาเร็ต มีด เรียกว่า “การเรียนรู้หมดทั้งกระบวนการ” (whole process learning) ความรู้อีกด้านหนึ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งๆ คราวๆ ในรูปของโค้ดหรือสัญลักษณ์ หรือเหตุการณ์ที่พ้องต้องกัน (synchronicity) หรือความฝัน ฯลฯ ประสบการณ์ที่นักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จริง หรือบังเอิญ โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้เฉพาะที่มาของความฝันไปอีกทาง โดยมีหลายอย่างตรงข้ามกับที่เชื่อกันอย่างที่ว่ามานั้น เป็นต้นว่าความฝันเกิดจากคิดมาก อาหารไม่ย่อย อั้นปัสสาวะ หรืออะไรง่ายๆ ของคนขี้เกียจคิด ผู้เขียนเชื่อว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น
ผู้เขียนเชื่ออย่างมีหลักฐานหรือมีเหตุผลที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีกว่า ที่ต้องการโต้แย้งหรือคัดค้านความเห็น และ/หรือข้อมูลของผู้เขียนที่มีว่า ความฝัน อย่างน้อยส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่เสียด้วยมีความสัมพันธ์กับ “ความจริงแท้ หรือมหาปัญญาอันสากลของจักรวาล” ดังที่ คาร์ล จี. จุงเชื่อ หรือแม้แต่ เคน วิลเบอร์ เองก็พูดไปในทำนองเดียวกัน
ความคิดเห็นของ คาร์ล จุง ในเรื่องของความฝันมีดังนี้ “ ความฝันเป็นประหนึ่งประตูเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ข้างในสุดเร้นลับที่สุดของจิตไร้สำนึก (psyche = unconsciousness as consciousness) ประตูที่เปิดสู่จักรวาลยามค่ำคืนที่มืดมิด หรือสู่แหล่งที่มาของจิตไร้สำนึกก่อนที่มันจะเปลี่ยนเป็นจิตแห่งอหังการ์ในมนุษย์ – ที่จะยังคงเป็นจิตไร้สำนึกของจักรวาลตลอดไปไม่ว่าจักรวาลจะขยายไปถึงไหน ... จิตนั้นอาจมีหลากหลายรูปแบบ แต่ในฝันเราจะเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีความเป็นสากลจริงๆ เป็นความจริงที่แท้จริงกว่านิรันดร ที่ดำรงอยู่ในความมืดสลัวของ “แสงแรกแห่งจักรวาล” (primordial light) มนุษย์ที่เป็นส่วนย่อยของทั้งหมดเท่าๆ กับมีทั้งหมดอยู่ในส่วนย่อย และเป็นสิ่งเดียวกับ “ธรรมชาติที่ไร้อหังการ์” จากหนึ่งที่เป็นทั้งหมด - ทั้งหมดที่เป็นหนึ่งนี้เองที่ความฝันอุบัติขึ้นมา ไม่ว่าความฝันนั้นๆ จะดูไร้เดียงสาหรือว่าจะโอ่อ่าโอฬารหรือว่าจะไร้สิ้นซึ่งคุณธรรมมนุษยธรรมแค่ไหนก็ตาม” (Carl Jung : Memeries, Dreams, Reflections; 1963)
นั้นเป็นการนำเอาความฝันเข้าไปเกี่ยวพันกับไซคี (psyche) หรือจิตไร้สำนึกร่วมสากลของจักรวาลเป็นครั้งแรกในทางจิตวิทยา แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่พูดเรื่องจิตไร้สำนึกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเป็นคนแรก คือซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เราทุกคนรู้จักชื่อเสียงของเขาดี ความสัมพันธระหว่าง คาร์ล จุง กับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นั้นล้ำลึกยิ่งนัก เมื่อฟรอยด์ตั้งใจและพยายามที่จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิชาการของยุโรปเข้าใจว่า คาร์ล จุง คือทายาททางวิชาการของเขา หรือยิ่งกว่านั้นเป็นลูกบุญธรรมของเขา ส่วนจุงเองในช่วงหนึ่งก็นับถือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากประหนึ่งเป็นครูเป็นบิดาของตน จุงนับถือวิธีการของฟรอยด์ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย (psychoanalysis) ที่นำไปสู่การแปลความฝัน ที่ฟรอยด์ตีพิมพ์เป็นหนังสือ Interpretation of Dreams จุงบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดของฟรอยด์ แต่จุงก็ไม่เห็นด้วย นั่นคือฟรอยด์ได้นำเอาเรื่องของจิตใต้สำนึก (ไร้สำนึก) ที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มาเขียนเป็นครั้งแรกในโลกแห่งวิชาการ เพียงแต่ฟรอยด์เอาเรื่องของกามารมณ์เพียงอย่างเดียวไปผูกไว้กับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดตามมาจากจิตไร้สำนีกที่ถูกกดดันเอาไว้ในอดีต
ก่อนที่จุงจะแต่งงานกับเอ็มมา – คนละคนกับคนไข้ของฟรอยด์ที่ชื่อเอ็มมาเหมือนกันที่ทำให้ ฟรอยด์สร้างทฤษฎีความฝันขึ้นมา (Emma’s dream) ทีแรกจุงทำท่าจะรับเป็นทายาท แต่สาเหตุหนึ่งที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนไม่อาจลุล่วงเช่นนั้นได้ เพราะตอนนั้นจุงต้องการจะเป็นจิตแพทย์ จึงต้องการการรับรองจากสภานักวิชาการที่ไม่ชอบฟรอยด์เท่าไรนัก เพราะ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นคนหยิ่งที่อหังการ์ ผู้ไม่เชื่อในเรื่องของพระเจ้าและจิตวิญญาณอย่างเปิดเผย ช่วงนั้นจุงยังปรารถนาการยอมรับจากวงวิชาการ จึงทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกระหว่างทั้งสองต้องถูกชะลอเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นไม่นานนัก ทั้งสองก็เดินทางมาประชุมที่สหรัฐอเมริกานานถึงสามสัปดาห์โดยอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และช่วงนั้นเองที่คาร์ล จุง รู้ว่า นอกจากตนจะสืบทอดเจตนารมณ์ของฟรอยด์ไม่ได้แล้ว - โดยหลักการ – แม้โลกทัศน์ของทั้งสองคนก็ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามกันและกัน การรู้เช่นนั้นเป็นผลจากความฝันของฟรอยด์ที่ตัวฟรอยด์เองต้องการให้จุงช่วยแปล ปรากฏว่าความเห็นในเรื่องของการตีความจิตไร้สำนีกเป็นไปคนละทาง สำหรับฟรอยด์ความฝันเป็นประเด็นทางจิต ความปรารถนาที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในชีวิตจริง จึงหวังจะให้มันสำเร็จในฝัน พฤติกรรมเช่นนั้นฟรอยด์บอกว่าเป็นผลของความเก็บกดทางเพศในขณะยังเป็นเด็ก นั่นคือ พฤติกรรมทั้งหมดเป็นผลของจิตใต้สำนึกของความกดดันทางเพศเท่านั้นและเท่านั้น สัญลักษณ์ที่ปรากฏเป็นความฝันคือความปรารถนาทางเพศในอดีต ซึ่งสำหรับจุง พฤติกรรมที่แสดงออกในฝัน ไม่น่าจะได้มาหรือมีที่มาจากความกดดันทางเพศอย่างเดียวเท่านั้นและเท่านั้น แต่อาจเป็นความทรงจำที่ฝังใจทุกอย่าง เช่นความไม่เป็นธรรม การถูกเหยียดหยามซ้ำซาก ฯลฯ และความทรงจำก็ไม่ได้ยุติที่อดีตที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ความทรงจำนั้นๆ ยังอาจจะไล่กลับไปถึงแหล่งความจำของเผ่าพันธุ์ (archetype) และไล่ต่อไปถึงสนามจิตไร้สำนึกร่วมอันเป็นสากลของจักรวาล (universal unconscious continuum)
ในกรณีความฝันของฟรอยด์ที่กล่าวมานั้น เป็นฟรอยด์เองที่ต้องการให้จุงแปลสัญลักษณ์ของจิตไร้สำนึกที่ว่านั่น จุงจึงบอกกับฟรอยด์ว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอดีตของฟรอยด์มีไม่พอ จึงขอให้ฟรอยด์ช่วยเล่าประวัติทั้งหมดที่จำได้มาให้ด้วย และตรงนี้เองที่ฟรอยด์ตอบจุงไปว่า “ในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้ที่มีศักดิ์ศรีของนักวิชาการ ผมไม่ยอมเสี่ยงกับการเอาความเป็นอาญาสิทธิ์และศักดิ์ศรีมาแลกกับความเป็นส่วนตัวของผมหรอก” จุงรับการปฏิเสธเช่นนี้ไม่ได้ สำหรับจุงแล้ว ความจริงทางวิชาการอยู่เหนือตัวคนและอหังการ์ หรือเหนือ “อาญาสิทธิ์หรือศักดิ์ศรี”มากนัก
และเรื่องที่ฟังดูแล้วอาจไม่สำคัญกับเรา แต่สำหรับจุงแล้ว เรื่องของตัวตนอหังการ์จะสำคัญกว่าข้อเท็จจริงได้อย่างไร? ในเมื่อเราเอง – ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม – ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้แสวงหาความจริง อย่างไรก็ตาม คาร์ล จี. จุง เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจและนำมาเล่าไว้ในหนังสือที่อ้างถึงข้างบน โดยตีพิมพ์หลังจากที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้จากโลกไปแล้วหลายทศวรรษ
หากเราเข้าใจที่มาและกระบวนการวิวัฒนาการทางชีววิทยาของสมอง (กายภาพ) หรือ (the trune brain theory) โดยเฉพาะวิวัฒนาการของจิต (spectrum of consciousness) และเชื่อในทฤษฎีว่าด้วยที่มาหรืออุบัติการณ์ของความรู้ เป็นต้นว่า เราได้สูตรคณิตศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์ หรือญาณทัสสนะ ฯลฯ) มาจากไหนและอย่างไร? ทฤษฎีที่ อมิต โกสวามี นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอนอธิบายที่มาของความรู้ (เช่น มาจากโลกแห่งคณิตศาสตร์ของพลาโต้) ที่ อมิต โกสวามี เชื่อว่ามาจากจิตจักรวาลหรือมหาปัญญาจักรวาล(the science within consciousness theory –SWC) ที่ทั้ง อมิต โกสวามี และ เคน วิลเบอร์ รวมทั้งนักคิดคนอื่นๆ ใช้อธิบายที่มาและกระบวนการของความรู้ (valid knowledge accumulation) เราก็จะสามารถแปลความฝันหรือสามารถถอดรหัสสัญลักษณ์ของงานศิลปะที่ไม่ต่างไปจากการแปลความฝันได้ทั้งหมด
ทฤษฎีแรกเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต่างเคยได้ยินได้ฟังมา นั่นคือทฤษฎีสมองสามส่วนของ พอล แม็คคลีน (Paul McLene’s Triune Brain) ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกภาพ ว่าด้วยวิวัฒนาการทางกายภาพของสมองที่เป็นมาตลอดเวลาของไบโอเจเนสิสกระทั่งมาเป็นสมองของมนุษย์อย่างไร ส่วนทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของจิตนั้นมีนักคิดโดยเฉพาะนักปรัชญาว่าด้วยธรรมจิต หรือจิตวิญญาณมากมาย ไม่ว่า พลาโต้ โพลตินัส ศรีอรพินโท และคนอื่นๆ ที่ผู้เขียนนำมาเขียนในช่วงหลายปีมานี้ นั่นคือสเปคตรัมของจิตที่หากพูดโดยหลวมๆ -ก็มีสามระดับ คือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ที่แต่ละระดับก็แยกย่อยต่อไป รวมกันแล้วจะมี ๘ ระดับ (ดู Ken Wilber : Spectrum of Consciousness, 1973)
ส่วนที่มาและกระบวนการแห่งความรู้ (validity of knowledge) ที่รวมเอาญาณทัสสนะเอาไว้ด้วยนั้น มีสามระดับคือ หนึ่ง การหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด (injunction) สอง การนำข้อมูลมาชงมาวิเคราะห์จนถึงทางตัน (apprehension or incubation) และสาม ความรู้ที่ว่านั้น (สูตรคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ปัญญาญาณทัสสนะก็จะปรากฏขึ้น (intuition – manifestation or confirmation- Aha…Eurada…etc.) มาของมันเอง
การแปลความฝัน หรือการถอดรหัสสัญลักษณ์ที่ประกอบเป็นความฝันนี้ – โดยหลักการ - ไม่ได้ต่างไปจากการแปลงานศิลปะใดๆ ไม่ว่าภาพวาดหรือบทกวี แต่ผู้แปลต้องมีข้อมูลรอบด้านพอ และอย่าลืมว่า การแปลหรือการตีความหมายอะไรก็ตามมีทักษะของศิลปะบูรณาการเป็นบริบทที่สำคัญ หัวใจสำคัญของความฝันคือสัญลักษน์ของความฝันนั้นๆ เช่น เรือ รถ หรือพาหะหนึ่งใด รวมทั้งการเดินไปในที่ต่างๆ ทั้งหมดคือการเดินทาง รวมทั้งเดินทางไปปรภพ ดอกไม้สวยหรือเทียนไขสุกสว่าง คือความเป็นมิตรคือความก้าวหน้า นั่นเป็นภาพรวมๆ ที่จริงๆ แล้ว การแปลความฝันแต่ละความฝัน มันละเอียดและซับซ้อน เป็นองค์รวมกว่านั้น เคน วิลเบอร์ บอกว่าความฝันทุกๆ ความฝันมีสัญลักษณ์เป็น “พาหะ” ที่นำพา “ความหมาย” โดยแต่ละระดับและทุกๆ ระดับของจิต ล้วนให้ความหมายภายใต้สัญลักษณ์เดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน (ในภาพรวมของธรรมชาติจะมีสามระดับคือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนาโดยมหาสติปัฏฐานสี่ แยกหยาบเป็นสองคือกายกับเวทนา ละเอียดหนึ่งคือจิต (จิตใจ) กับละเอียดอย่างยิ่งอีกหนึ่งคือธรรม เคน วิลเยอร์ แยกระดับหลักใหญ่ๆ ออกเป็นสี่ระดับเหมือนกัน คือ – physical – emotional – mental or self-rational – และสุดท้าย ระดับจิตไร้สำนึกที่เป็น จิตเหนือสำนึกหรือธรรมจิต (spiritual) ที่แยกต่ออีกเป็นสี่ระดับย่อย – สู่นิพพาน)
การแปลความฝันหนึ่งใดนั้น เราต้องไล่แปลไปตามลำดับเพื่อค้นหา “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่ในความฝัน ให้คล้องจองหรือสอดคล้องกับสเปคตรัมของจิตแต่ละระดับนั้น ไล่ขึ้นไปและเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ (from physical meaning to emotional meaning to mental meaning to spiritual meaning) แต่ละระดับจะมีบริบทของมันที่จะต่อเนื่องและคลี่ขยาย – เหมือนวงคลื่นที่ทับซ้อนกัน และแต่ละวงคลื่นนั้นๆ จะประกอบด้วยระลอกน้อยๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายทั้งสิ้น