โดย
ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มีนาคม 2547
หนังสือเล่มหนึ่งของพระติช นัท ฮันห์ ชื่อว่า
ความโกรธ (Anger) กำลังขายดีทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง ๙ ภาษา หากหนังสือเล่มนี้จะช่วยลดอาการโกรธให้ชาวโลกได้ก็คงดี เพราะทุกวันนี้โรคโกรธนับวันจะเรื้อรังไปทุกหนทุกแห่ง กระทั่งสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งศีลธรรม คนในสังคมกลับเลือกใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหาหลายปัญหา ดังจะเห็นได้จากข่าวการทะเลาะวิวาท หรือข่าวฆ่ากันตายที่มีอยู่ทุกวัน ล้วนแล้วแต่เกิดจากความโกรธทั้งสิ้น ดังนั้น “โรคโกรธ” กับ “โรคไข้หวัดนก” ก็น่าจะร้ายแรงพอๆ กัน หากหาวัคซีนป้องกันไม่เจอ สังคมก็จะเจ็บป่วยไม่หยุดหย่อน
ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนเอาไว้ในหนังสือ
ความโกรธ ว่าคนทุกคนไม่ว่าชาติใดภาษาใด ล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธอยู่ในใจทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นั้นมากกว่ากัน คนบางคนอาจจะไม่เคยโกรธใครง่ายๆ ก็เพราะไม่เคยรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธนั้น ในขณะที่คนบางคนโกรธง่ายเหลือเกิน เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธนั้นถูกรดน้ำอยู่เป็นประจำ จึงเติบโตบดบังเมล็ดพันธุ์แห่งความรักความเมตตาเอาไว้สิ้น
นอกจากเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธแล้ว ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความโลภ ความหลง ความกลัว และความเกลียด ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่ ความหลงนั้นร้ายกาจ หลงตัวเอง หลงคนอื่น หลงอำนาจ หลงความมั่งคั่ง รวมทั้งหลงศาสนา ความหลงนี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งความกลัว กลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนรักและหวงแหน และจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อต่อพลังชั่วร้ายได้ง่าย ในระดับสังคม หากมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว จะยิ่งง่ายต่อการสร้างกระแสความเกลียดชังและความโกรธ ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้คนลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา โดยการทำร้ายกันไปมาไม่จบสิ้น
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความขัดแย้งของพี่น้องในบ้านหลังหนึ่งที่พูดกันไม่รู้เรื่อง แย่งสมบัติกันและใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ ความผูกพันแบบพี่น้องท้องเดียวที่สร้างสมกันมานานก็ขาดสะบั้น ปัญหาระหว่างคนเล็กๆ กับคนเล็กๆ ในบ้านทำให้บ้านแตกได้ฉันใด ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวและปัญหาเรื่องความเชื่อที่ต่างกันของคนหลายกลุ่มในสังคมก็ทำให้ประเทศแตกได้ฉันนั้น เมื่อมีปัญหาในบ้าน พ่อแม่ก็ได้แต่กุมขมับว่าจะทำอย่างไรให้แบ่งทรัพย์สมบัติให้ลงตัวกันทุกฝ่าย เมื่อมีปัญหาในประเทศ ผู้นำประเทศก็นั่งกุมขมับว่าจะนำพาประเทศไปในทางใดต่อ แต่ประเด็นหนึ่งที่ทุกคนลืมเสียสนิทก็คือ ทำไมผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีนิสัยใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา หากตีประเด็นนี้แตกได้ ปัญหาก็น่าจะมีทางออก
ในทางคณิตศาสตร์ พบว่าการแก้ปัญหาในสมการต่างๆ นั้น ไม่สามารถที่จะแก้ทื่อๆ ได้เสมอไป จำเป็นต้องมีการสมมติตัวแปรใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย บนเงื่อนไขอันหลากหลาย และท้ายที่สุดคำตอบก็ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว ดังนั้นหากเราจะไตร่ตรองโจทย์ให้ถ้วนถี่ จะคลี่คลายโจทย์ได้นั้นต้องจับประเด็นให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะตัวแปรที่มองไม่เห็นด้วยตา
ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่า เราต้องเป็นนายเหนือความโกรธก่อนที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องจัดการความโกรธในตัวเรา ก่อนที่จะจัดการความโกรธของผู้อื่น ท่านแนะนำการจัดการความโกรธในตน ด้วยการโอบล้อมความโกรธของเราด้วยพลังแห่งสติ นั่งอยู่ข้างๆ ความโกรธ แล้วเอาความรักความเมตตามาโอบล้อมไว้ ความโกรธเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความแตกแยกได้ ท่านติช นัท ฮันห์ พูดบ่อยเรื่องการฟังแบบลึกซึ้ง (deep listening) ว่าเป็นวิธีที่ดีในการเกี่ยวข้องกับคนโกรธ กล่าวคือ ก่อนที่จะลงมือใช้ความรุนแรงโต้กลับใคร ต้องถามตัวเราเองก่อนว่าเราฟังเขาพอหรือยัง การฟังอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เงี่ยหูฟัง แต่ต้องเปิดใจฟังกันจริงๆ คำว่า “ฟังก่อน” ต้องทำให้ได้ถึงขั้นว่าฟังด้วยความสงบ ฟังอย่างมีสติ ฟังแบบยังไม่ต้องตัดสินในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด ฟังแบบยังไม่ต้องหาคำพูดใดมาโต้ตอบ ฟังอย่างเดียวจริงๆ การฟังที่แท้จริงทำให้ผู้พูดกล้าเปิดหัวใจ เมื่อหัวใจของผู้พูดได้ถูกเปิดออก และเมื่อหัวใจของผู้รับเปิดกว้างด้วย ความเข้าใจของทุกฝ่ายจะเกิดขึ้น พลังแห่งชีวิตที่เรียกว่าความรัก ความเมตตา ความกรุณา และความเอื้ออาทรจะเกิดขึ้นได้จริง ที่นี่ และเดี๋ยวนี้
ถ้ามองอย่างพุทธ ความโกรธก็เป็นอนิจจัง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนสิ่งอื่นๆ ที่ไม่จีรังยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ความโกรธที่มีกำลัง ความโกรธที่เป็นก้อนใหญ่ ความโกรธที่มีที่มาที่ไปในทางประวัติศาสตร์ยาวนาน ถ้าพูดเป็นภาษาฝรั่งว่าความโกรธแบบ collective ก็คงไม่หายไปง่ายๆ เหมือนกับความโกรธของคนสองสามคน ดังนั้น หากใครอยากให้ความโกรธแบบนี้หายไปเร็วๆ ก็คงต้องตั้งสติ นำปัญญามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องสร้างเวทีในการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ ต้องเปิดโอกาสให้มีการรับฟังแบบลึกซึ้งจากคนที่โกรธ ฟังหัวใจของเขาว่าเขาต้องการอะไร ถ้าคนฟังใจกว้างพอที่จะฟังจริงๆ คนพูดเขาก็อาจเปลี่ยนท่าทีได้ แล้วคนพูดก็จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของคนฟังไปพร้อมๆ กันด้วย ได้ยินว่าคนฟังเขาจะทำอะไรให้ได้ เขาจะตอบสนองสิ่งที่เรียกร้องได้แค่ไหน เขามีข้อจำกัดอย่างไร เมื่อต่างฝ่ายต่างฟังกัน ต่างฝ่ายต่างเห็นข้อจำกัดของกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเปิดใจให้แก่กัน จะยังมีปัญหาอะไรในโลกที่ยากแก่การแก้ไขอีก
ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ท้าทายคนรุ่นเรา มิใช่เรื่องการสรรหาอาวุธไฮเทค หรือความชอบธรรมใดมาปราบปรามมนุษย์ด้วยกันเอง ศัตรูที่แท้จริงของเรามิใช่มนุษย์ หากแต่เป็นความโกรธ ความหลง ความเกลียดชัง จำเป็นต้องใช้สติปัญญาเลือกวิธีการอันชาญฉลาดมาจัดการเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มิให้เติบโตฝังรากขึ้นภายในจิตใจ ปัญหาโรคร้ายเจ็บป่วยเรื้อรังของสังคมจึงจะได้รับการรักษาได้อย่างตรงจุดและหายขาดอย่างแท้จริง
แสดงความคิดเห็น