พลังแผ่นดิน:
พลังแห่งการสร้างสรรค์ ความดี ความงาม และความจริง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชาวไทย ทรงเป็นพลังของแผ่นดินโดยแท้

พลังแผ่นดินที่ผนึกความดี ความงามและความจริง ประสานเป็นหนึ่งเดียวไม่แยกส่วน

พลังแผ่นดินที่หลอมรวมความรู้สึก ความถูกต้องชอบธรรม ความมีสติปัญญาเป็นหนึ่งเดียว ไม่แปลกแยก แตกเป็นส่วนๆ

ธ ทรงเป็นพลังแผ่นดินที่ดึงดูดความดี ความงาม และความจริง ในบุคคล สังคม และธรรมชาติ รวมเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ ก้าวพ้นความแตกต่าง และการแบ่งแยก แล้วแผ่พลังรวมที่บริสุทธิ์นี้ปกคลุมและซึมแทรก กลับไปยังบุคคล สังคมและธรรมชาติ อย่างนุ่มนวลและกลมกลืน ประสานรวม (Include) แล้วผุดบังเกิด (Emerge) เป็นสิ่งใหม่ที่ก้าวพ้น (Transcend) สิ่งเก่า

เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่มิใช่จะใช้ได้อย่างดีเยี่ยมเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นปรัชญาที่เหมาะสม (Appropriate Philosophy) และเป็นประโยชน์สุขในการดำรงชีวิตในสังคม ก่อให้เกิดศานติสุขวัฒนธรรม ที่สอดรับกับความเป็นจริงตามธรรมชาติอย่างแนบเนียน

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางการเมือง ดูเหมือนจะหาทางออกกันไม่ได้ พระองค์ท่านก็ทรงพระราชทานทางออก ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ผุดบังเกิดขึ้นท่ามกลางความมืดมิด โดยทรงชี้แนะให้ศาลต่างๆ ปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก ตามหลักกฎหมายและตามหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙

และในวันเดียวกัน ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมเฝ้าฯถวายก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

พระราชดำรัสที่พระราชทานต่อผู้เข้าเฝ้าทั้งสองคณะ มีสาระสำคัญทั้งในแง่ของหลักกฎหมายและหลักการปกครอง ที่มีปัญญาและคุณธรรมเป็นฐาน ดังตัวอย่างบางส่วนของพระราชดำรัส ที่ผู้เขียนขออัญเชิญมา ณ ที่นี้

“…แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่าการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข…การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป แต่ในหนึ่งที่มีคนสมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย…”

“เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย มี ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเขาก็บอกว่า ต้องทำตามมาตรา ๗ มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา ๗ นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ ไม่ใช่ มาตรา ๗ นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย…”

“…มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เนี่ย ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ วันนี้น่ะอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไรไม่มีข้ออ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มีสิทธิที่จะพูดที่จะตัดสิน ฉะนั้นก็ขอให้ท่านได้ไปพิจารณาดู กลับไปพิจารณาไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม…”

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

และล่าสุด ท่างกลางความอึมครึมทางการเมืองว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ถ้ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ รวมไปถึงกระแสข่าวที่ว่าอาจจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พศ. ๒๕๔๙ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สค. ๒๕๔๙ เป็นต้นไป ความชัดเจนก็เริ่มต้นขึ้น และที่สำคัญคือหมายเหตุแนบท้าย ที่ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสประกอบการออกพระราชกฤษฎีกามายัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ๒ ประการที่มีความว่า

๑. เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกานั้น ก็เพราะมีพระราชประสงค์ อยากให้ประเทศชาติ กลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

๒. มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีขึ้นในคราวต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรมอย่างแท้จริง

พระราชประสงค์ที่งดงามนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกห่วงใย ความเข้าถึง และความเข้าใจในสถานการณ์ ความปรารถนาที่จะให้มีการพัฒนาการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของมวลพสกนิกรชาวไทยของพระองค์อย่างแท้จริง โดยปราศจากการจำแนกแยกกลุ่ม

ทั้งหมดเป็นพลังแห่งพระบารมีปกเกล้า ปกกระหม่อม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงอย่างเสมอภาค

พระบารมีมากล้น พรรณนา

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

พระองค์คือพลังของแผ่นดิน

พระองค์ทรงเป็นพลังแผ่นดิน ที่รวมพลังแห่งความดี ความงามและความจริงในบุคคล ในสังคม และในธรรมชาติให้เป็นพลังรวมที่แผ่กระจายครอบคลุม ซึมแทรก ประสาน บุคคล สังคม และธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว

เราจึงได้เห็นมวลพสกนิกรทุกหมู่เหล่า หลั่งน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ ในขณะที่โบกธงชาติไทยพร้อมกับเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ...” ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี

เราจึงได้เห็นภาพผู้คนสวมเสื้อสีเหลือง ก้มลงกราบต่อหน้าพระพักตร์เต็มแผ่นดิน เปลี่ยนถนนเป็นสวนดอกดาวเรืองได้อย่างมหัศจรรย์

ณ ช่วงเวลานั้น อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คน เป็นหนึ่งเดียวกับความดี ความงาม ความภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพรโดยพร้อมเพรียงกัน

ณ ช่วงเวลานั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันของความดี ความงาม และความจริง จึงปรากฏเป็นประจักษ์ เพราะพลังบริสุทธิ์...พลังแผ่นดินที่แท้จริง

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

Back to Top