ด้านมืดของคิดเชิงบวก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2552

“พี่คะๆ คนเราคิดอะไรก็ได้อย่างนั้นใช่มั้ยคะ”

น้องนักศึกษาพยาบาลปี ๒ ถามผมระหว่างที่ทำกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญา ที่วิทยาลัยพยาบาลนครสวรรค์

“ที่ถามมาหมายความว่ายังไง ขยายความหน่อยสิ” ผมตอบด้วยการถามเธอกลับ

“ก็เห็นเค้าว่าถ้าเราคิดดี เราก็จะดึงดูดในสิ่งดีๆ เข้ามาหาตัวเรา ถ้าเราคิดไม่ดี เราก็จะมีแต่สิ่งไม่ดีเข้ามาหาเรา พี่ว่ามันจริงมั้ยคะ”



ผมสนใจเบื้องหลังที่มาของคำถามของเธอ หรือว่าเธอจะไปอ่านหนังสือจิตวิทยามหาชนแนวประมาณ เดอะ ซีเคร็ท หรือ กฎแห่งกระจก น่าสนใจว่าในระยะหลังมานี้ หนังสือที่มีความคิดในทำนองนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ไม่น้อย การที่เราตื่นเต้นกับแนวความคิดเหล่านี้ มันส่องสะท้อนว่าสังคมของเรากำลังเป็น “โรคภูมิคุ้มกันจิตใจบกพร่อง” แนวความคิดอะไรก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ถ้าฟังดูเข้าที เราก็พร้อมที่รับเข้ามาเป็นหลักชี้นำประจำใจ น่าสงสารคนไทยในยุคไร้รากกันเสียจริง

แนวความคิดที่เรารับมาเต็มๆ จากตะวันตกก็คือ “ความคิดเชิงบวก” สืบย้อนไป เราจะพบว่าชาวตะวันตกมิได้คิดว่าโลกนี้สวยงามมาแต่ไหนแต่ไร แต่มองว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกเพื่อชดใช้บาป ตัวอย่างเช่นศาสนาคริสต์นิกายคาลวินิส์ที่เชื่อเรื่องเทวลิขิต และปฐมบาป บอกว่าศาสนิกชนที่ดีจะต้องสำรวจตรวจสอบไม่ปล่อยใจให้เผลอไปกับความชั่ว และการปล่อยใจให้มีความสุขเพลิดเพลินนั่นคือบาป ความเชื่อศาสนาที่เข้มงวดอย่างนั้นทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเครียด และความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาเมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเชื่อดังกล่าวดูจะไม่เข้ากับลมหายใจแห่งยุคสมัย ที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าและไม่ต้องการจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดของตนอย่างที่แล้วมา ในช่วงนี้เกิดกระแสความคิดใหม่ๆ ที่ไปใส่ใจกับความรักจากพระเจ้า มากกว่าเรื่องบาปกำเนิด หรือแม้แต่กระแสความคิดที่ว่ามนุษย์เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ อย่างของอีเมอร์สันก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมาเมื่อนักจิตวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องความคิดเชิงบวกและศาสตร์แห่งความสุข การตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งโหมแรงกระพือทำให้กระแส “ความคิดเชิงบวก” เป็นมนตราแห่งยุคสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วกระแสคิดเชิงบวกเข้ามาสู่บ้านเราได้อย่างไร ลองสำรวจตรวจตราไปรอบตัว หลายสิบปีที่แล้วเราฮิตอ่านหนังสือแบบ เดล คาร์เนกี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวก หรือ พลิกชีวิตคิดเชิงบวก ของ นโปเลียน ฮิลล์ เดี๋ยวนี้เราอ่านหนังสือแบบ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? (Who moved my cheese?) หรือ อัจฉริยะสร้างสุข ของ หนูดี กระแสนี้คืบคลานเข้ามาในบ้านเรานานมาแล้วอย่างเงียบๆ ในทุกๆ เจนเนอเรชัน โดยที่เรามองไม่เห็น เรามารู้ตัวอีกทีก็เมื่อเราเองได้รับแนวความคิดนี้เข้ามาเป็นหลักย้ำประจำใจเสียแล้ว

แล้วความคิดเชิงบวกมันไม่ดีตรงไหน ในเมื่อใครๆ ก็แนะนำเราทั้งนั้น ตั้งแต่อดีตนายกทักษิณ ยันโอเพรา วินฟรีย์ สองสามปีมานี้เราบ้านเรายังแจกรางวัล “ผู้หญิงคิดบวกแห่งปี” อีกด้วย

ถ้าย้อนกลับไปดูวิกฤติการเงินเมื่อปี ๔๐ เราต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นคนไทยเราตกอยู่ใต้กระแสของการคิดบวกอย่างรุนแรง จนมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พวกเราเหมือนเดินอยู่บนปุยเมฆ หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง ในช่วงนั้นหากใครมาทักว่าให้รอก่อนอย่ารีบร้อน จะได้รับคำตอบว่า “รอให้โง่สิ โอกาสทองอยู่ข้างหน้าเห็นๆ” วิกฤติอย่างปี ๔๐ เป็นละครน้ำเน่าที่กลับมาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ตั้งแต่วิกฤติซับไพร์ม ของสหรัฐ ไปจนถึงเร็วๆ นี้ที่ฟองสบู่ดูไบแตกดังโพละ ผู้ที่ถูกตัดขาดจากความเป็นจริงมากที่สุดก็คือผู้บริหารที่ถูกบ่มเพาะด้วยกระแสความคิดเชิงบวก ในอเมริกา นักพูดเก่งๆ ถูกเชิญเข้าไปพูดในบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ที่ปรึกษาบริษัทที่ตอนนี้ผันตัวเองมาเรียกตัวเองอย่างเก๋ไก๋ว่าโค้ช ตามอย่างโค้ชทีมกีฬา มีหน้าที่ปรนเปรอ CEO หรือผู้บริหารด้วยอะไรก็ได้ที่จะทำให้เขาหรือเธอฮึกเหิม การวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ ข้อมูล เริ่มกลายเป็นของล้าสมัย ใครจะไปดูตัวเลขกันเล่าในเมื่อสมัยนี้ต้องใช้ ญาณทัสนะ การปิ๊งแว้บ หรือการหยั่งรู้โดยฉับพลัน ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิด “จิตเหนือวัตถุ”

ในปี ๒๐๐๖ ไมค์ เกลแบน ผู้จัดการแผนกอสังหาริมทรัพย์ของ เลย์แมน บราเธอร์ เข้าไปพูดคุยกับ CEO ริชาร์ด ฟุลด์ ว่า “เราต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราใหม่ เพราะมันกำลังย่ำแย่” ต่อมาไม่นานผู้จัดการผู้นี้ถูกไล่ออกในโทษฐานที่มีทัศนคติบกพร่อง อย่างที่เราทราบกัน สองปีให้หลังบริษัทเลย์แมน บราเธอร์ก็ล้มละลาย

ความคิดเชิงบวกนอกจากจะเป็นปัจจัยในการทำลายเศรษฐกิจโลกแล้ว มันยังเป็นตัวการทำให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ากดขี่ผู้ที่อยู่ด้อยกว่าได้อย่างสะดวกดาย เช่นหากเจ้านายมาเอาเปรียบเรา ก็คิดเชิงบวกว่าเขาต้องทำอย่างนั้นเพราะภาระหน้าที่ และหากเจ้าหน้าที่รัฐมาเอาเปรียบเราก็คิดเชิงบวกว่าใครๆ เขาก็โดนกัน ความคิดเชิงบวกยังบ่มเพาะความรุนแรงในครอบครัวได้ด้วย เช่นผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยหวังว่าสักวันผู้ชายคนนี้จะกลับมาเห็นความดีของเธอ บางคนคิดเชิงบวกเพื่อปลอบใจตนเอง เช่นหากเราถูกใครบอกเลิกก็คิดเชิงบวกว่าชีวิตของเขาคงจะดีแล้วที่ไม่มีเรา หรือหากเราเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายก็คิดเชิงบวกว่า ก็ดีเหมือนกันเราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ส่วนพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ก็คิดเชิงบวกว่าต่อไปลูกจะเป็นคนเก่งดีมีความสามารถ...

...เร็วๆ นี้มีข่าวว่ามีเด็กผู้ชายวัยสิบขวบผูกคอตายในห้องน้ำ เพราะพ่อแม่บังคับให้เขาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่ตัวเองต้องการออกไปเล่นกับเพื่อน...

ช่วงที่ผ่านมาคนทำงานทางด้านจิตวิวัฒน์สนใจเรื่องการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับจิต รวมทั้งยังขยายไปสู่ความสนใจด้านควอนตัม ฟิสิกส์ แต่จิตไม่ใช่วัตถุ และความคิดก็มิใช่สมอง ความรู้ทางควอนตัม ฟิสิกส์บอกเราว่าการทำงานของตัวรับส่งนิวรอนในข่ายใยประสาทในสมองนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัม ส่วนการทำซ้ำในใจ (mental rehearsals) เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากว่าเป็นตัวอย่างของอานุภาพแห่งจิตที่มีเหนือวัตถุ การฝึกฝนจิตไปถึงระดับนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหากเป็นไปได้ก็คงได้กับจิตที่ฝึกมาดีแล้วละเอียดแล้วเท่านั้น ระดับอย่างเราๆ ท่านๆ ที่วันๆ ก็ฟุ้งอยู่ในความคิดนู่นนี่นั่น อย่าได้ไปหวัง เร็วๆ นี้ก็มีเพื่อนไปอบรมคอร์สที่สอนให้สะกดจิตตัวเองและจะทำให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่นถ้าอยากมีรถสักคนก็เอาภาพรถไปติดไว้ที่หน้ากระจกมองมันทุกวัน พิมพ์ภาพสี่สีมาดูก่อนเข้านอน นึกภาพตัวเราอยู่ในรถคันนั้น เอาภาพเข้าไปนอนกอดด้วยได้ยิ่งดี เราจะมีโอกาสได้ขับรถคันนั้นเร็วขึ้น????

คำพังเพยของไทยเรามีว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่พอฝรั่งมาปรับเปลี่ยนพยัญชนะเสียใหม่เป็น “คิดดีได้ดี คิดชั่วได้ชั่ว” มันฟังดูดีกว่าและง่ายด้วยเพราะแต่ก่อนเราต้องลงมือทำ เดี๋ยวนี้เพียงแค่คิดก็จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา...ถ้ามองว่าคิดดี จิตใจย่อมดี หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมเราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยในสังคมของเราที่คิดดี พูดดี ทำดี แต่จิตใจยังเศร้าหมองอยู่

ความคิดแม้จะดีเลิศเพียงใดก็เป็นเพียงความคิด การรับรู้สภาวะภายในที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือการบ่มเพาะปัญญาให้เกิด เมื่อไม่มีทั้งความคิดบวกและลบ เราเห็นอะไรในใจ?


(บทความนี้ได้แรงบันดาลใจและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก Bright-Sided ของ Barbara Ehrenreich)

4 Comments

Unknown กล่าวว่า...

อ่านแล้วเกิดปัญญาค่ะ

weirdgirl กล่าวว่า...

ดิฉันคิดว่าความคิดเชิงบวกไม่มีด้านมืดค่ะ แต่ที่ออกฟุ้ง ๆ เบลอ ๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ "ความคิดเชิงบวกกึ่งสำเร็จรูป" ออกแนวดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้ อันนี้ผู้อ้างตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญนำไปเหมาเอาเองว่าเป็น "ความคิดเชิงบวก" และผู้คนก็เชื่อเสียด้วย

ดิฉันคิดว่าทำนองเดียวกับอินเตอร์เน็ตในสังคมไทย บรรดา forward mail และ blog ต่าง ๆ ให้ข้อมูลข่าวสารจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ที่น่าแปลกใจคือในบรรดาความจริงและไม่จริงนั้นผู้คนส่วนใหญ่เชื่อสนิทใจ อนิจจังอนิจจา

"ความคิดแม้จะดีเลิศเพียงใดก็เป็นเพียงความคิด การรับรู้สภาวะภายในที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือการบ่มเพาะปัญญาให้เกิด เมื่อไม่มีทั้งความคิดบวกและลบ เราเห็นอะไรในใจ?" ประโยคนี้ดิฉันเห็นด้วยค่ะ

happiness กล่าวว่า...

แล้วถ้าอย่างนั้น เราควรทำอย่างไรดีคะ คิดบวกไม่ดี แล้วเราควรคิดลบหรือว่าควรไม่คิดอะไรเลย

อันที่จริงแล้ว ในทุกสิ่งมีทั้งสองด้าน คือ ด้านดีและด้านลบ ด้านมืดและด้านสว่าง

และแน่นอน ในเมื่อคุณเห็นด้านมืดของการคิดบวก คุณย่อมเห็นด้านสว่างของการคิดลบ (เช่น ไม่กล้าเดินที่เปลี่ยวในตอนกลางคืนเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ผลก็คือทำให้คุณปลอดภัย)

ดังนั้นในการมองสิ่งใดเราควรมองให้รอบคือ คิดในด้านบวกและคิดทั้งด้านดี เพื่อหาผลดีที่สุดหรือผลดีที่ร้ายที่จะเกิด แล้วเราก็มองในมุมกลางที่ไม่ใส่ความคิดลบและบวก ประเมินผลความเป็นไปได้ ลงเราจึงค่อยกลับมามองในด้านบวกหรือคิดดีไว้ เพราะโลกนี้มันไม่สวยงามอยู่แล้ว การที่ไปจ่มจ่อมกับการคิดในด้านลบ มันไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์อะไรให้ดีขึ้นมาเลย

ในทางพุทธศาสนา ให้ความสำคัญกับการคิดมาก เพราะ ความคิดเป็นบ่อการของการกระทำ เมื่อใจคนเราคิดดีได้ การกระทำที่ดีต้องตามมาด้วย ....แต่ไม่แปลกหรอกที่การคิดดีอย่างเดียว ทำดีอย่างเดียวแล้ว ใจคนยังเศร้าหมอง ซึ่งการคิดดีหาใช่สาเหตุความเศร้าหมองของใจคน เพราะสาเหตุจริงๆ คือ การอยากมี อยากเป็น อยากได้ เมือ่ไรที่หันมาฟังหัวใจตัวเอง จนเกิดมีความรู้สึกพออยู่ในใจ พอใจในสิ่งที่มียินดีในสิ่งที่เป็นไม่ไล่ไขว่คว้าสิ่งนอกตัว เมื่อนั้น ใจของคุณจะเป็นสุข

อนึ่ง แม้คนที่คิดดี พูดดี ทำดี อาจจะมีจิตใจเศร้าหมองอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่บรรลุขั้นอริยะ กิเลสย่อมมาแผ้วพาน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คนคิดดี พูดดี ทำดี เค้าทำถูกทางแล้ว เพราะการกระทำเหล่านั้นได้ช่วยให้โลกใบเทาๆใบนี้ มีความขาวขึ้น สวยงามขึ้น ถ้าเราไม่ร่วมด้วยช่วยกันและส่งเสริมให้คนทำดี ต่อไปลูกหลานของเราในอนาคตจะอยู่กันอย่างไร และที่สำคัญการคิดดีทำดี เป็นจุดเริ่มต้นของการไม่เบียดเบียนกัน เริ่มจาก ทาน สู่ ศีล และไปสู่ ภาวนา อันทำให้เกิดปัญญาญาณอย่างแท้จริง

patumariya กล่าวว่า...

แวะเข้ามาอ่านค่ะ ได้แง่คิดที่ดี คนไทยเราปัจจุบันนี้ กระแสนิยมเข้ามามากจริงๆ ค่ะ ชอบถ้อยคำนี้จัง ...

"คำพังเพยของไทยเรามีว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่พอฝรั่งมาปรับเปลี่ยนพยัญชนะเสียใหม่เป็น “คิดดีได้ดี คิดชั่วได้ชั่ว” มันฟังดูดีกว่าและง่ายด้วยเพราะแต่ก่อนเราต้องลงมือทำ เดี๋ยวนี้เพียงแค่คิดก็จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา.."

Back to Top