เล่นกับไฟ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มีนาคม 2553

เพื่อนคนหนึ่งคุยกับผมเมื่อไปเชียงดาวว่า เริ่มเข้าใจเข้าถึงวิถีที่ผมดำรงอยู่อย่างสบายๆ ภายใต้ผิวหนังของตัวเอง เขาพูดเป็นภาษาอังกฤษ หมายความว่า เราดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ผมนึกถึงคำว่า แรงค์ (rank) ที่ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) ใช้ใน Sitting In The Fire และนึกถึงคนในทีมของประชา (หุตานุวัตร) ที่กำลังจะแปลหนังสือเล่มนี้ ผมแปลคำนี้ว่า “ศักดิ์” เพราะมันมีพยางค์เดียวและมีความหมายเข้ากันได้ดีกับที่มินเดลต้องการใช้คำๆ นี้ ผมคิดว่า การดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง หรือการดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นตัวของตัวเอง เป็นศักดิ์อย่างหนึ่งในบรรดาศักดิ์หลายๆ อย่างที่คนเราอาจจะมีได้

เมื่อเร็วๆ นี้ มนตรี ทองเพียร ไปทำเวิร์คชอปให้กับคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มนตรีเอาศักดิ์อะไรไปทำหรือ? อาจารย์อรสาจัดเวิร์คชอปครั้งนี้ให้กับนักศึกษาปริญญาโท และเชิญคณาจารย์ที่สนใจเข้าร่วมด้วย ปรากฏว่ามีอาจารย์เข้าร่วมเพียงสามคนเท่านั้น อาจารย์อรสาอาจจะอยากให้มาเข้ากันมากกว่านี้ แต่พอดีมีเวิร์คชอปคล้ายๆ กันที่ศักดิ์ศรีอาจจะเด่นล้ำกว่า เพราะทีมงานอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง และเริ่มมีการกล่าวกันว่า ทีมงานของมูลนิธิสังคมวิวัฒน์นั้น กระบวนกรไม่ค่อยจะมีศักดิ์ด้านหนึ่ง โดยเฉพาะปริญญาบัตรต่างๆ กันเท่าไรนัก

แต่ศักดิ์ไม่ได้มาจากปริญญาบัตรเพียงเรื่องเดียว ศักดิ์อาจจะมาจากประสบการณ์ตรง หรือปัญญาปฏิบัติได้ด้วย พวกผมมีโอกาสดูแลองค์กรหลายแห่งอย่างลึกเข้าไป ไม่ได้เพียงจัดเวิร์คชอปแล้วเสร็จงาน แต่มีโอกาสตามไปเป็นที่ปรึกษา และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย เราเห็นว่าหากความรู้ในตำราไม่ได้มีการย่อยซึมซับเข้าไปเป็นปัญญาปฏิบัติที่มีชีวิตแล้ว ความรู้นั้นๆ จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ยังไม่ต้องพูดกันถึงทฤษฎีการเรียนรู้เลยด้วยซ้ำว่า องค์ความรู้ของโลกล้วนมีรากฐานที่มาจากปัญญาปฏิบัติทั้งสิ้น

และตอนนี้ ทักษะที่สำคัญยิ่ง ทักษะที่เหนือชั้นขึ้นไป อาร์โนลด์ มินเดล และ เอมี มินเดล ภรรยาของเขา เรียกมันว่า เมตาสกิล (metaskill) คือทักษะที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกับที่พวกเราทำกันอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ จะเรียกชื่อว่า จิตวิวัฒน์ หรือจิตตปัญญาศึกษาก็ตาม แต่พวกเขาเรียกมันว่า โปรเซส เวิร์ค (process work) และเรียกคนทำงานด้านนี้ว่า เวิร์ลเวิร์คเกอร์ (worldworkers) พวกเขาสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมาพอสมควรเลยทีเดียว แต่มีความจำเป็นไหมกับการสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมา ขอให้ท่านพากันใคร่ครวญหาคำตอบดูกันเล่นๆ ก็แล้วกันนะครับ

และคนที่จะทำกระบวนการ (process work) ได้ดี จะต้องพัฒนาตัวเองเป็น เอลเดอร์ (elder) แปลตรงๆ ว่า ‘ผู้อาวุโส’ แต่ประชาแปลว่า ‘สัตบุรุษ’ ซึ่งผมก็ใช้ตามเขาไปก่อน สัตบุรุษนี้คือกระบวนกรหลักที่เป็นเซียนแล้วตามหลักการของเรา แน่นอนครับว่า ศักดิ์ขององค์กรฝึกอบรมสังกัดมหาวิทยาลัยมีชื่อดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเราในด้าน “วิชาการ”? แต่ในการวัดแบบมินเดล จะวัดอย่างไร ผมจึงถือโอกาสนำการเปรียบเทียบระหว่าง “ผู้นำ” กับ “สัตบุรุษ” ในบท “The Metaskills of Elders” ในหนังสือ Sitting in the Fire มาลงไว้ให้พวกเราได้เปรียบเทียบกันเล่นๆ นะครับ ดังนี้

ผู้นำทำตามกฏเกณฑ์ที่เยี่ยมยอด ในขณะที่สัตบุรุษเชื่อฟังจิตวิญญาณ

ผู้นำแสวงหาเสียงส่วนใหญ่ ในขณะที่สัตบุรุษยืนอยู่เพื่อคนทุกคน

ผู้นำเห็นปัญหาและพยายามจะยุติมัน ในขณะที่สัตบุรุษเห็นคนก่อปัญหาว่าอาจเป็นครูของเขาได้

ผู้นำพยายามจะซื่อสัตย์ ในขญะที่สัตบุรุษพยายามจะแสดงความจริงในทุกสรรพสิ่ง

ผู้นำประชาธิปไตยสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่สัตบุรุษทำเช่นนั้นด้วย แต่เขายังน้อมรับฟังเผด็จการและภูตผี (คำๆ นี้ต้องขออนุญาตแปลภายหลังอีกทีต่างหากออกไป) อีกด้วย

ผู้นำพยายามทำงานให้ดีกว่าเดิมในงานของเขา ในขณะที่สัตบุรุษพยายามขวนขวายหาคนมาพัฒนาตัวเองเป็นสัตบุรุษเช่นเขา

ผู้นำพยายามจะทรงภูมิปัญญา ในขณะที่สัตบุรุษไร้ตัวตน หากแต่คล้อยตามวิถีแห่งธรรมชาติ

ผู้นำต้องการเวลาใคร่ครวญ ในขณะที่สัตบุรุษใช้เพียงชั่วขณะที่จะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น

ผู้นำรู้ ในขณะที่สัตบุรุษเรียน

ผู้นำพยายามกระทำการ ในขณะที่สัตบุรุษปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไป

ผู้นำต้องการยุทธศาสตร์ ในขณะที่สัตบุรุษศึกษาห้วงขณะ

ผู้นำทำตามแผนงาน ในขณะที่สัตบุรุษค้อมหัวให้แม่นยำที่ไม่เคยรู้เห็นและลี้ลับนำทาง

One Comment

phana กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ ^^

Back to Top