เมื่อพอก็เป็นไท



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2553

คำร้อง คำบ่น คำต่อว่าที่หนาหูทุกวันนี้คือ นักเรียนไม่สนใจจะเรียน อยากได้แต่เกรด พนักงานไม่อยากเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เราจำต้องหาอุบายหลอกล่อให้คนเหล่านี้ เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง คำถามคือจะทำได้อย่างไร ผมคิดว่าคำตอบอยู่ในตัวคนที่ถามมากกว่าอะไรอื่นทั้งหมด

ตอนนี้องค์กรจำนวนมากพยายามฟื้นฟูบรรยากาศการทำงาน ความสัมพันธ์ และความสุขในองค์กร เพราะประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาเชิงเทคนิควิธีเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัญหาเชิงจิตใจและความสัมพันธ์ของคนในองค์กรมากกว่า

การเปลี่ยนแปลงองค์กรโดยการปรับโครงสร้างใหม่พบกับความล้มเหลวถึงร้อยละ ๖๐-๗๐ ไม่ใช่เพราะยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ไม่ได้เรื่อง แต่การดูแลมิติด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ ทำให้ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่ออกแบบมาดีด้วยความชำนาญการ ต้องไร้แรงขับเคลื่อนของผู้คนที่เต็มใจจะทำจริงๆ

ผมรู้สึกว่าเราไม่ค่อยให้คุณค่ากับหัวใจของมนุษย์อย่างที่ปากเราว่ากัน ถึงที่สุดแล้วเราสนใจเรื่องความสำเร็จหรือเป้าหมายขององค์กรมากกว่าเป้าหมายชีวิตของผู้คนหรือเปล่า หากไม่ให้ใจ แล้วจะได้ใจได้อย่างไร ก่อนจะคาดหวังความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้คน เราได้ให้ใจเราในการรับรู้สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า ให้ความสำคัญ กลัว รัก หรือปรารถนาอย่างแท้จริงหรือเปล่า

ในขณะที่เราคาดหวังให้เขาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อให้ปรับตัวเข้ากับเหตุปัจจัยใหม่ๆ ได้อย่างทันท่วงทีนั้น เราได้ใส่ใจกับความยากลำบากที่พวกเขาต้องประสบจริงๆ บ้างหรือไม่ เราอยากให้ผู้นำในระดับต่างๆ คิดใหม่ทำใหม่ แต่เรากลับอัดฉีดภาระงานให้พวกเขาหนักขึ้น ต้องการความรวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น จนไม่มีเวลาในการคิดใคร่ครวญ หรือได้แลกเปลี่ยนจากกันและกันจริงๆ นอกเหนือจากการประชุม “จัดการความรู้” ที่ไม่ค่อยจะได้อะไรมากไปกว่าการ “โชว์ความรู้ด้วยคำอธิบาย” ต่างๆ

ดังที่ มาร์กาเร็ต วีทลีย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ว่า “ความรู้ตัว และการใคร่ครวญนั้น นับวันจะมีความสำคัญต่อการเป็นผู้นำยิ่งขึ้นเรื่อยๆ บางบริษัทถึงกับสร้างที่ทางใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดการสนทนา สร้างพื้นที่ในการคิด และใคร่ครวญ รวมทั้งโอกาสในการเขียน การสร้างนวัตกรรมเหล่านี้สวนทางกับนิสัยแบบต้องการคำตอบอย่างรวดเร็วและการตัดสินใจที่เร่งรีบจนแทบไม่มีเวลาหายใจ บ่อยครั้งที่นวัตกรรมดีๆ ล้มเหลวเพราะความต้องการผลตอบรับที่รวดเร็วเกินไป จนทำให้คนในองค์กรไม่มีเวลาบันทึกความคิดที่เกิดขึ้น หรือไม่มีเวลานั่งสนทนากันอย่างฉันท์มิตร

เราเผชิญหน้ากับความจริงที่ยากลำบากที่ว่า จนกว่าเราจะมีเวลาสำหรับการใคร่ครวญและมีพื้นที่ในการคิด เราจะไม่มีทางสร้างความรู้ หรือเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ได้ เราไม่ปฏิเสธความจำเป็นของการสร้างความรู้ หากแต่มันต้องอาศัยเวลาและความสัมพันธ์ในการเจริญเติบโต”

บางทีความอยากเปลี่ยนแปลงมันท่วมท้นมากเสียจนล้มทับการมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่งในปัจจุบันไป หากเราไม่รีบร้อนที่จะเอามาตรฐานหรือเกณฑ์ของตัวเองไปชี้วัดเสียก่อน เราอาจเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในผู้คนของเรา หรือที่เราเกี่ยวข้องด้วย การให้เกียรติและเห็นคุณค่าชีวิตของผู้คนในองค์กรหรือในระบบ มีความสำคัญต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาก

ในช่วงนี้มีข่าวคราวการปฏิรูปการศึกษาระลอกที่ ๒ ออกมาท่ามกลางกระแสการเมืองที่เข้มข้น ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย รู้สึกว่าเราจะเป็นห่วงกันมากว่าเด็กไทยจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานกันกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงว่า ชีวิตของเด็กเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร พึ่งพาตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเองได้หรือไม่ แล้วครูบาอาจารย์ทั้งหลายล่ะ ต้องวิ่งไล่ตามนโยบายการปฏิรูปอีกมากมายเท่าไร

คุณครูจากจังหวัดอุบลราชธานีคนหนึ่ง เล่าให้ผมด้วยความภูมิใจว่า โรงเรียนของเขาอยู่ชายขอบ อยู่ในระดับล่างๆ เด็กเรียนอ่อนส่วนใหญ่จะมาเข้าเรียนที่นี่ แต่สิ่งที่เด็กที่นี่เก่ง คือการหาปูหาปลา การหากินจากธรรมชาติ บางทีครูก็ออกไปหาอาหารกับเด็ก สนุกมาก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม ผมฟังเรื่องราวนี้อย่างชื่นชม เพราะนอกจากตัวเองไม่มีทักษะการหากินเองจากธรรมชาติแล้ว ยังไม่ค่อยมีเวลากับเรื่องพื้นฐานแต่สำคัญ คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอีกด้วย แต่ไม่ทันไร คุณครูก็เล่าต่อว่า แต่พอนโยบายยกระดับมาตรฐานการศึกษาเข้ามา ตอนนี้ต้องติวเด็ก “หัวอ่อน” เหล่านี้ให้สอบผ่าน ก็เลยอยู่แต่ในห้องเรียน ทั้งครูทั้งนักเรียนไม่ได้ไปไหนกันเหมือนเคย

ผมฟังดูแล้วก็เศร้า แม้จะเข้าใจว่าทางกระทรวงการศึกษาคงมีหน้าที่ยกระดับ “มาตรฐาน” การศึกษาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเอาการทดสอบของประเทศเป็นเกณฑ์ แต่ก็น่าจะตั้งคำถามว่า เป้าหมายสูงสุดของเราคืออะไร เราต้องการให้เด็กเติบโตมาเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน และการยกระดับ “มาตรฐาน” นั้น มันคือการพัฒนา “คุณภาพ” การศึกษาที่มีหัวใจ คือคุณภาพของมนุษย์หรือไม่

การศึกษาแบบแพ้คัดออกหรือแข่งขันอย่างนี้ ใครทำแบบฝึกหัดได้มากกว่าก็ย่อมสอบได้มากกว่าเป็นธรรมดา เด็กที่มีเวลาทำแบบฝึกหัด คือเด็กที่ไม่ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินหรือทำงานบ้าน พ่อแม่มีเงินก็ส่งไปเรียนกวดวิชา บางคนถึงกับเรียนตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ ทุ่ม การแข่งขันแบบนี้เด็กชนบทจำนวนไม่มากนักหรอกที่จะผ่านเข้ารอบขึ้นไปเป็นหัวกะทิได้ ส่วนหางกะทิก็เตรียมน้อมรับกับความ “ด้อยกว่า” การสูญเสียความรู้สึก “เท่าเทียมและความภาคภูมิใจ” ในจุดแข็งของตัวเอง และยิ่งระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่นี้ โอกาสที่เด็กชนบทจะแข่งขันหางานกับเด็กเมืองก็อาจน้อยลงไปด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว การศึกษาจะช่วยตระเตรียมให้คนไปพ้นการแพ้หรือชนะ จะเตรียมคนให้มีความภูมิใจกับถิ่นฐานและสัมมาอาชีวะของตัวเอง เห็นคุณค่าของแผ่นดินและธรรมชาติ เป็นผู้นำในการดำรงรักษาวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองอย่างเป็นไทแท้ๆ ได้อย่างไร แน่นอนว่าเราควรเลิกกะเกณฑ์ให้ใครต้องโตไปเป็นอะไร เด็กบ้านนอกสักคนอาจอยากเป็นหมอหรือนักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ ในขณะที่เด็กอีกคนอาจอยากเอาดีทางการเกษตรตามรอยพ่อแม่ของตัวเอง แต่ถ้าใช้มาตรฐานทางการศึกษาที่วัดคนเพียงส่วนเดียวอย่างนี้ ก็คงชัดเจนว่าเด็กที่จะเอาดีด้านการเกษตร ถ้าเรียนวิชาคำนวณหรือภาษาอังกฤษไม่ดีขึ้นมา ก็จะถือว่าตกเกณฑ์ได้

เราจะพัฒนาการศึกษาไปสู่ความพอเพียงได้อย่างไร และการพัฒนายกระดับมาตรฐานการศึกษา จะไม่ทำลายหรือบั่นทอนระบบคุณค่า วิถีชีวิต และสัมมาอาชีวะที่มีรากฐานมั่นคงในชุมชนของเด็กนักเรียนได้อย่างไร นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวว่า ถ้าเราสร้างทางเลือกโดยให้คุณค่ากับการพัฒนาไปข้างหน้าแบบเข้าเมืองพอๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอยู่กับที่ เราอาจได้เห็นคนไทยยุคใหม่เท้าติดดิน และมีเสถียรภาพในชีวิต อย่างพอเพียง และมั่นคงยิ่งขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรเสียแผ่นดินของเราคงก็คงจะน่าไว้ใจได้มากกว่าตลาดโลกที่กระเพื่อมไปมาทุกวันนี้

Back to Top