ควอนตัมเมคคานิกส์กับพุทธศาสนา



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มกราคม 2555

ธรรมะของพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยก็เป็นจิตวิทยาดังที่ คาร์ล จุง ว่า แต่ผู้เขียนคิดว่านั่นไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ใหม่หลายคนบอกว่า พุทธศาสนามีความสอดคล้องแนบขนานกับควอนตัมฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ (Fritjof Copra: The Tao of Physics, 1975 และ Gart Zukav: The Dance of Wuli-Master, 1979) ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อมั่นมากๆ เช่นกันว่า เป็นความจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย สัจธรรมความจริงของพระพุทธเจ้าคือควอนตัมเมคคานิกส์โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้เขียนว่า ความสงสัยกังวลใจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือสอดคล้องกับความจริงแท้ หรือความจริงทางธรรมของพุทธศาสนา และไม่ถูกต้องที่มนุษย์จะอยู่กับเหตุผลซึ่งเป็นความจริงทางโลก (ที่สำคัญมากๆ) สำหรับคนทั่วไป แต่ไม่ตรงกับธรรมะของพระพุทธเจ้า นั่นเพราะเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง เพราะความขี้สงสัยและเรื่องเหตุผลนั้น มนุษย์คิดขึ้นเอง (มนุษย์มีอัตตา “ตัวกูของกู” จึงเข้าข้างมนุษย์ตลอดเวลา ใกล้เข้าไปจากนั้นก็จะเข้าข้างผิวพรรณตัวเอง ชาติประเทศตัวเอง ตระกูลตัวเอง ฯลฯ ตามลำดับจนถึงของกูและตัวกู) สอง เราเคารพเหตุผลเพราะว่ามันแสดงความรู้และสติปัญญา (intelligence ซึ่งไม่ใช่ภาวนามยปัญญาหรือปัญญาที่มาเองระหว่างภาวนาหรือในสมาธิ) ของเราเป็นเอกเทศจากคนอื่นๆ - เราภาคภูมิใจในสติปัญญาและความรู้ ประเด็นนี้คล้ายๆ กับข้อหนึ่ง แต่พ่วงเอาความรู้และสติปัญญาไปด้วย อันเป็นความจริงทางโลก และความป็นสอง - ซึ่งส่วนใหญ่ - เกิดขึ้นมาจากความรู้และสติปัญญาที่ว่านั้น (ในพุทธศาสนานั้น ผู้เขียนคิดว่าคำว่าปัญญาเฉยๆ น่าจะหมายถึงภาวนามยปัญญา หรือปัญญาที่หมายถึงการระลึกได้ คือสตินั่นเอง)
ดังนั้น เรื่องของความสงสัยกับเรื่องของเหตุผลจึงไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความจริงแท้ของพุทธศาสนา แต่เป็นความจริงทางโลกที่สำคัญมากๆ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกด้านพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่หันมาทำปริญญาโทในสาขาจิตตปัญญาศึกษาว่า พุทธศาสนาและควอนตัมฟิสิกส์เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ใหม่พยายามจะอธิบายพุทธศาสนาในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบว่านักศึกษาคนนั้นจะคิดอย่างไร? เพราะเขาตอบผู้เขียนมาว่า “ผมพยายามจะเชื่อ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนควอนตัมฟิสิกส์มาอย่างลึกซึ้ง และยังเข้าใจว่าฟิสิกส์ใหม่คงไม่ต่างไปจากฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์เท่าใดนัก

แต่นั่น – ผู้เขียนเข้าใจว่า คือความผิดอันยิ่งใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ดังที่ จอห์น อาร์ชิบาลด์ วีลเลอร์ และนักควอนตัมฟิสิกส์อีกหลายคนพูดคล้ายๆ กันว่าฟิสิกส์ใหม่ช่างแตกต่างไปจากฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์ยุคเก่ามากมายยิ่งนัก คือเหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ได้ฉุดกระชากวิทยาศาสตร์เก่าหรือฟิสิกส์เก่าให้ล้มทั้งยืนหรือหกคะเมนไปเลย

ในหนังสือความจริงทางควอนตัมของ นิค โรเบิร์ตส์ (Nic Roberts: Quautum Reality, 1985) เขาได้อ้างถึงการประชุมของนักฟิสิกส์ยุคใหม่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งมี นีลส์ บอห์ร และ เวอเนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก เป็นหัวเรือใหญ่ ที่เรียกว่า “คำแปลความจริงทางควอนตัมของโคเปนเฮเกน (Copenhagen Interpretation)” ซึ่ง นิค โรเบิร์ตส์ ได้แยกแบ่งความจริงทางควอนตัมออกไปเป็นแปดข้อ ปรากฏว่าทั้งแปดข้อคือเส้นทางที่นำไปสู่ความจริงที่แท้จริง หรือความจริงทางธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น รวมทั้งข้อแรกที่เป็นจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นยังไม่ถึงสิบปี และนักจักรวาลวิทยาในปัจจุบันให้การยอมรับเพิ่มมากขื้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับพุทธศาสนาและลัทธิพระเวทว่า จักรวาลมีจำนวนไม่สิ้นสุด และผู้เขียนยังเชื่อว่าพลังงานมืด (dark energy) ก็คือพลังงานจิตที่แยกจากจิตไม่ได้นั่นเอง

ความจริงทางควอนตัมที่เป็นคำแปลของโคเปนเฮเกน นอกจากจะตรงกับพุทธศาสนาแล้ว ยังไปตรงกับหลักการของศาสนาเต๋าด้วย – แต่ไม่ตรงกับฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์แม้แต่ข้อเดียว นั่น – สำหรับผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ที่ให้เหตุผลแก่มนุษยชาติโดยตอบความจริงของรูปกายมานานกว่า ๕๐๐ ปีกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอธิบายความจริงทางจิต – เฉกเช่นวิวัฒนาการทางกายภาพที่มีวิวัฒนาการทางกายก่อนที่จะมีวิวัฒนาการทางจิต (และกำลังมีวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณอยู่ในขณะนี้) - ดังที่ผู้เขียนได้พูดได้เขียนมาตลอดเวลา

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าด้วยการค้นพบทฤษฏีควอนตัมหรือควอนตัมเมคคานิกส์ - ดังที่ได้พูดว่าสอดคล้องต้องกันกับความจริงที่แท้จริงหรือความจริงทางธรรมของศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า จะต้องมีความหมายเฉพาะบางอย่าง

ผู้เขียนยังเชื่อว่า นอกจาก - การค้นพบควอนตัมฟิสิกส์ที่สอดคล้องต้องกันกับความจริงที่แท้จริงหรือความจริงทางธรรมโดยเฉพาะของพุทธศาสนาแล้ว ภายใต้ความเชื่อนี้ เรายังได้พบว่าวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือทฤษฏีควอนตัม – ที่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์เก่าอย่าง “สิ้นเชิง” – ยังสามารถตอบคำถามหรืออธิบายอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ความเป็นสอง หรือจักรวาลวิทยาใหม่เป็นอย่างดี ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าไม่สามารถอธิบายได้เลย ความเป็นสอง คือความแตกต่างกันของความจริงทั้งสอง อันได้แก่ความจริงทางโลก กับความจริงทางธรรม หรือความจริงที่แท้จริงซึ่งพุทธศาสนาได้ค้นพบ (ทางจิต) และอธิบายไว้เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังที่ผู้เขียนได้เขียนมาตลอด

ทั้งหมดคือการพิสูจน์ความจริงด้วยวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ที่อีกไม่ช้าไม่นาน จะเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ “ทุกคน” ว่าเป็นความจริงที่แท้จริงแทนที่วิทยาศาสตร์ยุคเก่าที่ให้ความจริงน้อยกว่าจนเทียบไม่ได้ (เป็นหมื่นๆ เท่า) ความเป็นสองที่ทางพุทธศาสนา และลัทธิพระเวทเน้นย้ำเป็นนักเป็นหนา และเรียกความจริงทางโลกว่า “มายา” หรือภาพลวงตา ความเป็นสองที่เป็นความเชื่อของชาวตะวันออก และตรงกับความจริงทางควอนตัมฟิสิกส์ที่เรียกว่า “โลกที่มองเห็นเป็นสอง” ของ เวอเนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก (duplex world of Heisenberg) ส่วนจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งเพิ่งมีขึ้นมา จะบอกว่าจักรวาลของเราเป็นเพียงหนึ่งในจักรวาลที่มีจำนวนไม่สิ้นสุด ตรงกับที่ควอนตัมฟิสิกส์ (multiworlds theory) และพุทธศาสนาบอกไว้

ที่ผู้เขียนพูดมาทั้งหมดนั้น แสดงสองสิ่งสองอย่างที่เกี่ยวกับบทความนี้คือ หนึ่ง เป็นความต้องการของผู้เขียนที่จะบอกว่า โดยพื้นฐานแล้ว ผู้เขียนเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบันหรือเป็นหมอ แต่โดยพื้นฐานที่อยู่ลึกยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนาที่มี “ปัญญา” เป็นแก่นแกนโดยจะต้องผ่านการทำ “สมาธิ” – และที่สำคัญ ผู้เขียนยังมีความใกล้ชิดกับศาสนาอื่นๆ อย่างลึกล้ำ – จึงมีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับการเป็นศาสนานิยมหรือเป็นนักจิตนิยมสุดโต่ง แต่ทว่าผู้เขียนจะมีความสนใจอย่างยิ่งยวดกับสภาวะจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง เพราะผู้เขียนมีความใกล้ชิดกับศาสนาอิสลาม คริสต์ เต๋า โดยผู้ใกล้ชิด ทั้งยังได้ศึกษาศาสนาอื่นๆ มาพอสมควร สอง ผู้เขียนคิดและเชื่อว่า ควอนตัมเมคคานิกส์หรือวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่นั้นเป็นการค้นพบวิทยาศาสตร์โดยเจตนาของจักรวาล หรือวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณไปตามสเปคตรัม ซึ่งสอดคล้องความจริงทางธรรมของกับพุทธศาสนาจริงๆ

ดังนั้น ความมุ่งหมายของผู้เขียนที่พูดกับนักศึกษาจิตตปัญาศึกษาในวันนั้น จึงหมายความว่าผู้เขียนมองเห็นว่าวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่นั้น มีความสอดคล้องต้องกันกับความจริงทางธรรมหรือจะพูดว่า “ควอนตัมเมคคานิกส์ได้ตามพิสูจน์พุทธศาสนาในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความจริงที่แท้จริงก็ได้” ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั้งหลายของโลก และผู้เขียนเองยังคิดว่าเป็นสาเหตุให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการเหล่านั้น เข้าใจในความเป็นวิทยาศาสตร์ของศาสนาพุทธรวมทั้งศาสนาอื่นๆ ทางตะวันออกมากขึ้น บางคนถึงกับหันไปนับถือพุทธศาสนากับศาสนาดังกล่าว และสำหรับผู้ที่ยังยากจะเลิกเชื่อว่ามีพระเจ้า ต่างก็หันไปนับถึอลัทธิพระเวท ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่เราจะเชื่อมั่นในความจริงที่แท้จริงอย่างไร? ถ้าหากเชื่อมั่นว่ามันคือความสำคัญที่สุดแล้ว เรื่องของการมีหรือไม่มีพระเจ้าจึงได้ตกมาเป็นรอง อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้ปฏิเสธพรหมมัน ที่เริ่มปรากฏในอุปนิษัทฉบับแรกๆ ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่ และพระองค์ได้ศึกษามาก่อนที่จะบรรลุนิพพาน

บทความนี้ นอกจากจะบอกอย่างจริงๆ ว่า วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือควอนตัมเมคคานิกส์นั้นให้ความจริงที่แท้จริงอันถูกต้องยิ่งกว่าฟิสิกส์ยุคเก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์นับหมื่นเท่าแสนเท่าแล้ว (นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคลาสสิคัลฟิสิกส์และเทคโนโลยีให้ความจริงที่แท้จริงได้เพียงร้อยละ ๙๗ – ๙๙ แต่ควอนตัมฟิสิกส์ให้ความจริงแท้ได้ถึงร้อยละ ๙๙.๙๙)

สำหรับผู้เขียน ควอนตัมเมคคานิกส์ยังเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทั้งให้และตามพิสูจน์ความเป็นวิทยาศาสตร์ “ที่แท้จริง” ให้กับศาสนาเต๋า พุทธศาสนา และลัทธิพระเวทด้วย

Back to Top