เพื่อนครูมหิดล



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕

“จริงๆ แล้วพวกหนูใจง่ายมากเลยค่ะ”

นักศึกษาสาวเอ่ยขึ้นกลางที่ประชุมเสวนาสัญจร “เพื่อนครูมหิดล: ความสุขและความหมายในชั้นเรียน” ที่ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คน มีทั้งอาจารย์และนักศึกษา ต่างมาร่วมกันค้นหาวิธีนำความสุข ความหมาย ชีวิตชีวาในชั้นเรียนกลับคืนมา ทั้งหมดนั่งกับพื้นล้อมวงแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ จนกระทั่งมาถึงเรื่องการเข้าไปคอนเน็กต์ (connect หรือผูกพันเชื่อมโยง) กับนักศึกษา

อาจารย์บางคนพูดเป็นนัยว่า ไม่รู้ว่าทำไมต้องสนิทสนมกับนักศึกษา ตั้งใจสอนเนื้อหาก็น่าจะพอแล้ว ในขณะที่อีกหลายคนบอกว่าก็อยากจะสนิทสนมอยู่หรอก แต่ไม่รู้ต้องทำตัวอย่างไร บ้างก็ว่าเด็กๆ ไปเร็วเหลือเกิน จะพูดภาษาเขาบ้างก็พูดผิดพูดถูก โดนแซวจนไม่กล้าเข้าไปใกล้

นักศึกษาที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยจึงเล่าให้ฟังว่าเรื่องที่อาจารย์จะมีคอนเน็กชั่นกับนักศึกษานั้น เด็กๆ เห็นเป็นอย่างไร

“พวกหนูน่ะ อยากจะคอนเน็กต์กับอาจารย์มากๆ อยู่แล้วค่ะ ขอแค่อาจารย์พยายามนิดเดียว หรือแค่ให้พวกหนูเห็นว่าอาจารย์ได้พยายามที่จะคอนเน็กต์กับพวกหนู หนูก็ไปอยู่ข้างอาจารย์แล้วค่ะ”

นักศึกษายังเล่าถึงตัวอย่างชั้นเรียนที่พวกเธอประทับใจ เธอเล่าว่าชั้นเรียนของอาจารย์ท่านนี้ นักศึกษารู้สึกคอนเน็กต์กับอาจารย์มาก พวกเธอรักและเกรงใจอาจารย์อย่างยิ่ง มาเรียนก็รีบมาให้ตรงเวลา เวลาทำงานก็พยายามทำอย่างเต็มที่ “เพราะว่าไม่อยากให้อาจารย์เสียใจ”

“แล้วอาจารย์เขาสอนยังไงล่ะ?”
อาจารย์ท่านหนึ่งถามด้วยความอยากรู้ คาดว่าคงเริ่มเห็นประโยชน์ อยากให้นักศึกษารัก เกรงใจ และตั้งใจทำงานส่งบ้าง

นักศึกษาเล่าว่า อาจารย์ผู้สอนพาทำกิจกรรมเช็คอิน (check in) ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียน โดยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่แต่ละคน ทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ได้เช็คสภาวะ บอกความรู้สึก ความพร้อม (หรือไม่พร้อม) เป็นช่วงเวลาที่ได้บอก และวางเรื่องที่อยู่ในใจไว้ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้นดีใจหรือทุกข์กังวลใจ เพื่อให้พร้อมที่จะเรียนมากขึ้น และเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้สภาวะของกันและกัน หากใครหลับ ใครง่วง อาจารย์ก็พอจะรู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีใครบ้างที่อาจจะต้องตามไปดูแลกันหลังเลิกคลาส

“แล้วจะสอนทันเหรอคะ นี่ขนาดก้มหน้าก้มตาสอน เร่งขนาดนี้แล้วครูยังสอนไม่ค่อยจะทันเลย” อาจารย์อีกท่านแสดงความกังวล คงได้ลองคิดว่าหากเอาไปใช้ในชั้นเรียนตนเองจะเป็นอย่างไร

นักศึกษาเล่าว่าอาจารย์สั่งงานให้นักศึกษาไปอ่าน ไปเตรียมนอกชั้นเรียน ทั้งก่อนและหลังเรียน ซึ่งนักศึกษาก็ตั้งใจทำกันมาก “เพราะพวกหนูก็รู้สึกคอนเน็กต์กับวิชาแล้วค่ะ”

ห้องประชุมนิ่งกันไปพักหนึ่ง ราวกับเพิ่งเห็นความเชื่อมโยงที่สำคัญอะไรบางอย่าง

เป็นไปได้ว่าบรรดาอาจารย์ได้เริ่มเห็นความสำคัญของความเข้าใจ ของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างผู้สอนและกับนักศึกษา หากผู้สอนมีคอนเน็กชั่นกับนักศึกษาแล้วก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะให้พวกเขาเกิดความอยากรู้อยากเรียน

อาจารย์หลายคนก็แบ่งปันเทคนิควิธีที่ตนเองใช้ในการเข้าไปรู้จักและเชื่อมโยงกับนักศึกษา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์จับคู่กันสอน คนหนึ่งเดินสอนรอบห้อง อีกคนหนึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าเครื่องฉายแผ่นทึบ คอยช่วยบันทึกประเด็นสำคัญ พวกเขาพยายามท่องชื่อเล่นคู่กับภาพถ่ายใบหน้าของนักศึกษา จนกระทั่งสามารถจดจำนักศึกษาร่วมสามร้อยคนได้เกือบหมด อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาใช้วิธีให้นักศึกษาเขียนคำถามท้ายคาบเรียน สอนแต่ละครั้งก็ได้กระดาษเกือบสามร้อยใบกลับไปอ่าน แม้จะใช้เวลามาก แต่อาจารย์ก็ว่าคุ้มเกินคุ้ม อีกทั้งเวลาอ่านก็เกิดความสุขด้วย

ที่ประชุมยังได้แบ่งปันกันอีกในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดการในกรณีนักศึกษามาสาย นักศึกษาคุยกันในห้องเรียน นักศึกษาหลับ อาจารย์มีภาระงานสอนมาก มีเนื้อหาที่จะต้องสอนให้ครบเป็นจำนวนมาก

จากตอนเริ่มต้น อาจารย์ที่เข้าร่วมประชุมมักจะถามหาเทคนิควิธีการสอนว่าจะต้อง “ทำ” อะไรบ้าง ต้องพูด ต้องดุ หรือต้องแสดงกริยาท่าทางอย่างไร แต่เมื่อใช้เวลาพูดคุยกันลงลึก ต่างก็เริ่มตระหนักกันมากขึ้นว่าการจะทำให้เกิดความสุขและความหมายในชั้นเรียนนั้น คงจะต้องไม่ใช่แค่พิจารณาหรือตั้งคำถาม “อย่างไร” (คือ ต้องใช้แนวทาง เทคนิควิธีการสอนอย่างไร) ไม่ใช่แค่คำถาม “อะไร” (คือ ต้องสอนเรื่องอะไร วิชาอะไร) หรือแม้กระทั่งคำถาม “ทำไม” (คือ วัตถุประสงค์ในการสอน หรือเราจะสอนไปสู่จุดมุ่งหมายอะไร) แต่คำถามที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ คำถามว่า “ใคร” หมายถึง ตัวตนของครู หรือครูใช้ตัวตนแบบไหนในการสอน

ตรงกับที่ พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ นักการศึกษาผู้เป็นที่กล่าวถึงในแวดวงจิตวิวัฒน์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Courage to Teach

เขาเตือนให้ครูทั้งหลายได้ตระหนักว่า ตัวตนของเราผู้สอนก็มีอิทธิพลและเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อหาวิชา เทคนิควิธีการ หรือเป้าหมายของการเรียน ตัวตนของครูนี้เองที่จะสัมผัสเชื่อมโยงถึงตัวนักศึกษา นำพาเขาให้เข้าถึงวิชา และการเรียนที่มีความสุขและความหมาย

ในหนังสือเล่มดังกล่าว พาล์มเมอร์ยังได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนแบ่งปันในสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้มี “การพูดคุยที่ดีเกี่ยวกับการสอนที่ดี”

และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่า “กลุ่มเพื่อนครูมหิดล” ทำได้ค่อนข้างดี

กลุ่มเพื่อนครูมหิดล เป็นความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ สิบกว่าคนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับชีวิตการเรียนการสอน ชีวิตความเป็นครู จิตวิญญาณความเป็นครู ว่าความสุขและความหมายในชั้นเรียนส่วนใหญ่ทำไมดูเหมือนลดน้อยถอยลง ทำไมครูยิ่งสอนยิ่งโมโห ยิ่งสอนยิ่งผิดหวัง ยิ่งสอนยิ่งหมดแรง ซึ่งอันที่จริงคือเหนื่อยกันทั้งคนสอนและคนเรียน หมดแรงกันทั้งสองฝ่าย ทำอย่างไรการเรียนการสอนจึงจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตด้านความรู้ อารมณ์ และจิตวิญญาณ ของทั้งผู้เรียนผู้สอน

พวกเขาได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ สองสัปดาห์ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษยชาติมีอยู่ จากการอ่านการทำวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงแบ่งปันตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน

นำไปสู่การจัดกิจกรรม “เยี่ยมชั้นเรียน” ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับชั้นเรียนระดับอุดมศึกษา นอกคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ เกิดการจัดการความรู้และทำให้เกิดคู่มือแนวทางการเยี่ยมชั้นเรียน ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีและเกิดการเรียนรู้ทั้งอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนครูที่เข้าเยี่ยมชม แรกๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เขินๆ เกร็งๆ ไม่ค่อยกล้าเปิดชั้นเรียนให้เพื่อนเยี่ยมชม แต่เมื่อได้ไปลองเยี่ยมเพื่อนที่เปิดแล้วก็เห็นว่าเกิดประโยชน์ จึงมีการทะยอยเปิดชั้นเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

กิจกรรมเยี่ยมชั้นเรียนอาจเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด เพราะอาจารย์ที่เข้าร่วมทั้งเจ้าของชั้นเรียนและเพื่อนผู้มาเยี่ยมต่างกลับไปเปลี่ยนแปลง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตนเองทุกคน

เกิดการเปิดวิชาใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม เช่น วิชา Transformative Learning ของคณะเทคนิคการแพทย์ ที่กลุ่มอาจารย์ร่วมกันเปิดเพื่อจะได้รู้จักลูกศิษย์ ได้สอนทักษะชีวิต พากันข้ามข้อจำกัดเดิมๆ แม้มีหน่วยกิตเดียว แต่ก็ใช้เวลาเรียนทั้งวันได้ แถมสอนโดยคณะอาจารย์จำนวนมากที่มาร่วมเรียนรู้กับนักศึกษา เรียนไปพัฒนาวิชาของตนเองไปด้วย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้สอนเชื่อมโยงและสัมพันธ์ถึงกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนสนับสนุนการเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ในกันและกัน สุดท้ายอาจารย์ต่างบอกว่าตนเองได้เรียนรู้จากนักศึกษามากมาย

ด้านนักศึกษาก็ได้เรียนรู้เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่อยู่รอดในสังคมมหาวิทยาลัยที่พวกเขาต้องปรับตัวอย่างหนัก ไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องการอยู่หอ รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ของวัยหนุ่มสาว แต่พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและอยู่อย่างมีความหมาย ได้ใช้ตนเองเป็นเครื่องมือเรียนรู้ และได้ลองใช้ความรู้ที่เรียนประยุกต์กับชีวิตจริงของตนเอง หลายปัญหาก็คลี่คลาย ความสัมพันธ์ของหลายคู่หลายคนก็ดีขึ้น เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเป็นไปได้หลายประการ

การประชุมของกลุ่มเพื่อนครูฯ ก็ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดชุมชนปฏิบัติและบนฐานของความจริง กลุ่มได้ร่วมกันปฏิบัติสิ่งที่กลุ่มเชื่อและนำเสนออย่างต่อเนื่องจริงจัง ไม่แบ่งงานและชีวิตอย่างแยกขาดออกจากกัน เป้าหมาย แนวทาง และกิจกรรมของกลุ่มก็มาจากการเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดทุกคน (ซึ่งต้องชื่นชมทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาที่เข้าใจและสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอิสระในการดำเนินงาน) การประชุมของกลุ่มเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนบอกว่าเป็นที่ประชุมไม่กี่แห่งที่มีความสุขทั้งก่อนมา ระหว่างประชุม และหลังประชุม ประชุมเสร็จทุกครั้งก็ได้รับพลัง ได้รับแรงบันดาลใจกลับไปทำงาน กลับไปใช้ชีวิตและดูแลคนรอบข้างต่อ เป็นที่ประชุมที่อยากจะมาร่วมอีก

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ว่า “เราจะนำความสุขและความหมายกลับมาสู่ชั้นเรียน” ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่ที่มิใช่ในแง่ปริมาณ หรือความรวดเร็ว แต่ยิ่งใหญ่ที่ต่างคนต่างได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่ร่วมประคับประคองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เริ่มจากการสัมผัสกับแรงบันดาลใจข้างใน สู่การเชื่อมโยง (connect) ชีวิตกับการสอน เชื่อมร้อยตนเองกับศิษย์ และสร้างชั้นเรียนที่เป็น “การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ” ดังปรากฏใน ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์ ซึ่งอาจารย์ประเวศ ได้เขียนไว้ในหนังสือ การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ: สู่สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ ตั้งแต่ครั้งเริ่มก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อแปดปีมาแล้ว

One Comment

phana กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ

Back to Top