เมื่ออายุหกสิบ (๒)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2556

มีคนเคยกล่าวว่า งานเขียนนิยายที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายคืองานอัตชีวประวัติที่แอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ คนเราจะเขียนอะไรได้ดีที่สุดเล่า นอกจากจะเขียนเรื่องของตัวเอง

งานของชีวิต
ดังที่ผมเขียนไว้ตอนแรกว่า อันดับแรกของงานชีวิต ก็คือการฝึกกระบวนกร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการดูแลลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด พร้อมจะเรียนกับผมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่ใช้คำว่า “ต่อเนื่องยาวนาน” ก็ด้วยเหตุที่ว่า การฝึกกระบวนกรก็คล้ายกับการปฏิบัติธรรม คือมันไม่ใช่การเรียนรู้ในชั้นของความคิด หรือในระดับพุทธิปัญญาเท่านั้น หากต้องบ่มเพาะลงสู่อารมณ์ความรู้สึก ปัญญาปฏิบัติหรือศิลปะ จนกระทั่งเป็นวิถี ดำเนินสู่ระดับความเป็นเซียนของวิถีกระบวนกร จึงต้องอาศัยการบ่มเพาะต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งกว่านั้น การจะเดินข้ามขอบออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ของชีวิต ของปมและบาดแผลต่างๆ ได้ ต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่เกิดจากกลุ่มก้อนผู้คนที่รวมตัวขึ้นเป็นอาศรมและมาร่วมเรียนรู้วิถีแห่งกระบวนกรร่วมกัน

ตอนเป็นเด็กหนุ่ม ผมเคยอยากเป็นครู แต่ตอนนั้นผู้ใหญ่ยังไม่ยอม บอกว่าเป็นครูเงินเดือนคงไม่พอใช้ ผมมาคิดดูก็ดีเหมือนกัน เพราะหากผมเรียนครูในระบบ ผมอาจจะเรียนไม่จบเช่นเดียวกับประชา หุตานุวัตร หรือหากเรียนจบ ผมก็คงต้องแสวงหาองค์ความรู้อย่างใหม่อยู่ดี ในที่สุดก็ไม่ได้เรียนครู แต่ก็มาค้นพบวิถีแห่งความเป็นครูแบบใหม่ที่เร้าใจกว่า นั่นคือการเข้าสู่วิถีแห่งการเป็นกระบวนกร

เรื่องเล่าที่ผมประทับใจ ที่ครูของผม สุลักษณ์ ศิวรักษ์เล่าไว้ก็คือ อาจารย์สอนปรัชญาที่ฉีกบทเรียนที่ตัวเองเขียนทิ้งทุกปี และเขียนใหม่ทุกปีเพื่อสอนนักศึกษาสิบกว่าคน ทุกวันนี้ ผมเองก็ยังศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ ของการเป็นกระบวนกร และรื้อสร้างองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา นำสู่การปฏิบัติ เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปศาสตร์ จนกระทั่งองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นวิถี เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ผมไม่หยุดที่องค์ความรู้หนึ่งใด แต่ค้นคว้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ เริ่มจากไดอะล็อคของโบห์ม แล้วก็นำแนวทางของมากาเร็ต วีตเลย์เข้ามาจากหนังสือ ผู้นำในวิทยาศาสตร์ใหม่ ของเธอ (โดยที่ก่อนหน้านั้น ก็ติดตามอ่านงานของฟริตจอป คราปามาตลอด โดยเฉพาะกับเรื่อง The Web of Life ก็เอาเรื่องราวในหนังสือมาเล่าในเวิร์คชอปที่จัดให้เครือข่ายของเสมสิกขาลัย การบอกเล่าหนังสือของคราปานี้นับเป็นครั้งแรกที่ผมทำงานฝึกอบรมที่เปิดให้สาธารณชน) ต่อมาก็มาศึกษาวอยซ์ไดอะล็อค หรือจิตวิทยาตัวตน ภายใต้คำแนะนำของสมพล ชัยสิริโรจน์ และก็มาศึกษางานจิตวิทยากระบวนการของมินเดล ล่าสุดก็มาศึกษางานจิตบำบัดของกลุ่มสหวิทยาการที่เรียกตัวเองว่า Interpersonal neurobiology นี่ก็ตอบสนองความฝันลึกๆ ว่า สายจิตบำบัดน่าจะมาบรรจบพบกับสายที่ศึกษาวิจัยเรื่องราวของสมองได้อย่างสมใจอยาก

ลาก่อนอาณาจักร
ผมได้เขียนเรื่องราวการบอกลาอาณาจักรไว้ว่า เบาสบายตัวที่หลุดออกจากความฝังใจเรื่องอาณาจักรเสียได้ ระดับใดระดับหนึ่ง (ใส่วลีนี้เอาไว้ เผื่อว่ายังวนเวียนกลับมาอาลัยอาวรณ์อีก) เมื่อก่อนเคยบอกว่า อยากสร้างอัศวินเจไดสักหนึ่งร้อยคน ก็ถูกเพื่อนตีความว่าพยายามก่อตั้งอาณาจักร อาจจะจริงก็ได้ เพราะชีวิตเมื่อสี่ห้าปีก่อน ผมยังไม่มีความสงบสันติเพียงพอเท่าวันนี้ พืชพันธุ์แห่งการสร้างอาณาจักร และความต้องการจะปกปักรักษาอาณาจักรยังเหนียวแน่นอยู่ในกมลสันดาน

แต่วันนี้ได้เลือกที่จะฝึกฝนอีกแนวทางหนึ่ง โดยค่อยๆ ละ ค่อยๆ ถอนออกมาจากอาณาจักรโดยลำดับ เช่น ผมได้เข้าไปกอบกู้องค์กรสาธารณะแห่งหนึ่ง ต้องเอาตัวเข้าไปแลก เข้าไปเสี่ยง แต่แล้วด้วยอะไรก็ตามที องค์กรนั้นค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาได้ การเข้าไปตอนนั้นอาจจะมีส่วนหนึ่งที่หวนหาอาณาจักรอยู่เหมือนกัน แต่ว่า เมื่อมันดูเข้ารูปเข้ารอยระดับหนึ่ง ก็ค่อยๆ ผ่องถ่ายให้กับคนทำงานและคนที่เป็นเจ้าของที่ หมายถึงคนท้องถิ่น ผนวกกับยอมให้เจ้าครองนครอีกท่านหนึ่งเข้ามาเป็นเจ้าของด้วย เดิมทีสัญชาตญาณแห่งการเป็นเจ้าครองนครเหมือนจะไม่ชอบแผนการถอนตัวออกจากการครอบครองอาณาจักรนี้ พยายามจะมองไปในทางลบกับผู้คนต่างๆ แต่แล้วก็เหมือนมีสาส์นจากเทพเทวามาบอกเราว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายหรอก ปล่อยไปได้เลย พอปล่อยก็โล่ง และรู้สึกว่าก้าวย่างแห่งการออกจากการสร้างอาณาจักรก็แจ่มชัด แจ่มใสขึ้นมา

เหมือนกับที่อยากจะสร้างโรงเรียนกระบวนกรเช่นกัน แต่แรกก็อยากสร้างอะไรอย่างใหญ่โต จะเอาไปเชื่อมประสานกับองค์กรใหญ่ๆ ในนามผู้คนใหญ่ๆ ที่เขาสร้างบารมีมาแล้ว และจะเชิญเพื่อนๆ กระบวนกรมาทั้งหมด อา... ใหญ่ (ชื่อเล่นของผม) ต้องสร้างใหญ่ใช่ไหม? มาอีกแล้ว การสร้างอาณาจักรกับความคิดที่อยากถ่ายเทสิ่งดีๆ ให้กับศิษย์ไม่กี่คนที่อาจจะทำได้ในชีวิตนี้ แล้วในที่สุดก็เลือกเดินทางเล็กๆ สายน้อยกับการดูแลศิษย์ไม่กี่คนแทน

สามสี่ทศวรรษสุดท้ายของชีวิต
สาส์นจากคนอายุเจ็ดสิบขึ้นไปประมาณพันกว่าคน สรุปบทเรียนให้คนรุ่นหลังว่า ให้ใช้ร่างกายนี้ เหมือนกับจะอยู่ได้สักร้อยปี ตอนนี้ผมก็พยายามทำเช่นนั้นอยู่ แม้ว่าตอนหนุ่มๆ จะใช้แบบไม่ค่อยทะนุถนอมไปบ้างก็ตาม ก็อยากจะอยู่อีกสักสามทศวรรษเป็นอย่างน้อย

จากบทนำของหนังสือ แด่หนุ่มสาว ที่พจนา จันทรสันติเขียนถึงผมไว้ ความตอนหนึ่ง ผมได้ยกคำของจอห์น โฮลท์ มาว่า “หากเราเลือกที่จะทำสิ่งที่เราไม่ชอบต่างๆ ในที่สุด ชีวิตของเราก็จะจบลงด้วยการต้องฝืนทำสิ่งที่ไม่ชอบต่างๆ เต็มไปหมด แต่หากว่าเราเลือกทำสิ่งที่เรารักต่างๆ เราก็จะจบลงด้วยมีชีวิตที่ได้ทำสิ่งที่เรารักและชื่นชอบทั้งหลาย” ความข้อนี้ ก็น่าจะเป็นข้อสรุปชีวิตของผมได้กระมัง สิ่งวิเศษสุดในชีวิตของผมก็คือ การค้นพบวิถีกระบวนกรนี่แหละ หรือการเป็นกัลยาณมิตรของยุคสมัยใหม่นี้ คือการคลี่บานและเยียวยาผู้คนอย่างเป็นกลุ่มก้อน หรืออย่างเป็นสมุหะไปเลย

ทางกลับคือการเดินทางต่อ
ผมได้กลับมาภาวนาอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังได้เขียนบันทึกไว้ในเช้าวันหนึ่งว่า

“ผมเองเวลาพูดคุย เอาตัวตนจริงจังเข้ามามากเกินไป บางทีจะเกร็งไหล่ พอเกร็งก็อาจจะเฝ้าระวังเพื่อที่จะไม่เกร็ง แต่ก็ยิ่งเกร็งมากขึ้นไหม? แต่พอนึกได้ดังนี้ ก็ถอยออกไปดำรงอยู่ใน “สัมผัสแห่งความว่าง” จดจำสัมผัสนี้ได้จากปี ๒๕๑๘ ที่วัดผาลาด ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับหลวงปู่นัท ฮันห์ ในเวลานั้น ความทรงจำไร้สำนึก ได้จดจำสัมผัสเวลาท่านนั่งตัวตรงอย่างผ่อนคลาย หลอมรวมสัมผัสนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดำรงอยู่ในสัมผัสนั้น ปรากฏว่า หัวโปร่งโล่งดี อาการเกร็งหัวไหล่ก็ไม่เกิด นี่เป็นการค้นพบใหม่ที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง”

Back to Top