ฮิตเลอร์ในตัวเรา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2559

เร็วๆ นี้ ผมได้ชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ตั้งคำถามเล่นๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก "เอดอล์ฟ ฮิตเลอร์" กลับมามีชีวิต มีตัวเป็นๆ อีกครั้ง ณ ประเทศเยอรมนี ในยุคปัจจุบัน ภาพยนตร์นั้นมีชื่อภาษาเยอรมันว่า Er ist wieder da หรือ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ดูซิว่า ใครกลับมาแล้ว?" ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความฮือฮาในระหว่างถ่ายทำ เพราะแทนที่ชาวเยอรมันผู้ได้พบเห็นนักแสดงที่แต่งกายเป็นฮิตเลอร์จะรู้สึกสะอิดสะเอียน กระอักกระอ่วนใจ ชิงชังรังเกียจ กลับมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่โบกมือทักทาย ยิ้มให้ ขอถ่ายรูปเซลฟี่กับเขา แถมยังมีคนทำท่าเคารพเขาด้วยการยกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะ ซึ่งเป็นท่าทางที่ตราไว้ในกฎหมายเยอรมันว่าห้ามทำในที่สาธารณะ อย่างเด็ดขาด (แน่นอนยกเว้นสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ)

ปรากฏการณ์นี้สร้างความฉงนฉงายให้กับผมและต้องยอมรับว่าสร้างความรู้สึกป่วนใจอย่างบอกไม่ถูก การได้เห็นพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความเป็นกันเองกับเผด็จการที่ฆ่าชาวยิวเป็นล้านๆ คน ถึงแม้จะเป็นแค่นักแสดง ทำให้ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเหล่านี้ หรือพวกเขาเป็นพวกสมองเม็ดถั่วที่แยกแยะไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด พวกเขาไม่มีสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์หรอกหรือจึงได้เพิกเฉยในเรื่องที่เห็นอยู่ว่าผิดจริยธรรมชัดๆ พวกเขาอาจจะเป็นคนตัดหญ้าหรือชาวนาที่มีการศึกษาต่ำใช่ไหม แต่เปล่าเลย นักแสดงที่แสดงเป็นฮิตเลอร์ผู้นี้ ได้รับการยอมรับจากชาวเยอรมันในทุกระดับชั้น และลักษณะท่าทางการพูดอันมีอำนาจและฉลาดสุดๆ ทำให้ผู้คนที่กำลังหัวเราะเยาะเขาสงบลงและนิ่งฟังอย่างตั้งใจ เหมือนมีแสงออร่าบางอย่างออกมาจากตัวเขา


ให้ตายสิ นี่มันแค่นักแสดงนะ!!
ตื่นสิทุกคน ตื่นๆ อย่าถูกสะกด!!


ไม่ได้ผล เพราะหลังจากชมภาพยนตร์ไปได้สักพัก ผมเองก็ถูกสะกดจนเคลิ้มไปด้วย เพราะอะไรนั่นหรือ? เพราะเขามีความเชื่อมั่นบางอย่างที่ขาดหายไปจากคนในยุคนี้ ยุคหลังสมัยใหม่ที่เราไม่สามารถมีความมั่นใจอะไรได้จริงจัง เราขาดศรัทธาอย่างรุนแรง!

ถ้าจะมีอะไรที่จะกู้คืนศรัทธาของเรากลับมา ทำให้การจัดเรียงโลกภายในของเราง่ายอีกครั้ง ถ้าจะมีใครสักคนบอกกับเราว่า "ความดี" วางอยู่ตรงชั้นที่เท่าไรในซุปเปอร์มาร์เก็ตของจิตใจ เราจะได้เดินไปตรงนั้นและไปหยิบมันมา ไม่จำเป็นต้องเดินหลงวนอยู่บนเส้นทางสีเทาๆ ที่เราไม่รู้จะใช้อะไรตัดสินคุณค่าทางจริยธรรม ถ้ามีใครบอกกับเราว่าอะไรคือ "สีขาว" และ อะไรคือ "สีดำ" ให้ชัดๆ เราอาจจะสบายใจ ไม่สับสนอย่างทุกวันนี้

ฮิตเลอร์เป็นตัวอย่างของพนักงานในซุปเปอร์คนนั้น เขาบอกทางให้กับคนที่ลังเลใจ และคนก็เชื่อเขา


คุณอาจจะคิดว่าไม่จริงหรอก ผู้คนต้องมีความคิดเป็นของตัวเองสิ จะยอมให้ใครจูงจมูกไปได้ง่ายๆ บทเรียนจากการทดลองที่เรียกว่า Stanford Prisoner's Experiment ที่สุ่มเอานักศึกษามาเป็นนักโทษ และนักศึกษาอีกกลุ่มไปเป็นผู้คุม แสดงให้เราเห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเลยที่จะเปลี่ยนให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นปีศาจ ถ้าเราให้อำนาจ ให้ตำแหน่งกับเขา แม้รู้ทั้งรู้ว่าตำแหน่งผู้คุมนั้นถูกอุปโลกน์ขึ้นมาอย่างเดาสุ่ม และตัวคุกก็ไม่ใช่คุกจริงๆ เป็นชั้นใต้ดินของอาคารเรียนเท่านั้น ผู้คุมเหล่านี้ก็แสดงความกักขฬะ เช่น บังคับให้นักโทษทำอะไรแผลงๆ เช่น ปลุกนักโทษตอนตีสามให้ขานชื่อเป็นชั่วโมงๆ ให้เปลือยกายออกหมด ให้นอนดมขี้เยี่ยวตัวเอง ทั้งหมดนี้กินระยะเวลาเพียง 6 วัน! ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าวัฒนธรรมแห่งอำนาจนี้ถูกสืบทอดอย่างยาวนานเป็นปีๆ อะไรจะเกิดขึ้น ผมจึงไม่แปลกใจเลย เมื่อได้อ่านข่าวการทำทารุณกรรมพลทหารใหม่ในค่ายฝึก จนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เพราะคนดีๆ สามารถกลายเป็นปีศาจได้โดยการสร้าง “ข้ออ้าง” มารับรองการกระทำของเขาในนามของ “ภารกิจหน้าที่”

มีการทดลองทางด้านพฤติกรรมศาสตร์อีกการทดลองหนึ่ง เรียกว่าการทดลองของมิลแกรม (Milgram) โดยนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเยล เขาตั้งคำถามว่ามนุษย์เราจะเชื่อฟังผู้มีอำนาจอย่างไม่ลืมหูลืมตาหรือไม่ การทดลองนี้กำหนดให้อาสาสมัครคนหนึ่งถามคำถามกับอาสาสมัครอีกคนหนึ่งซึ่งถูกนำไปนั่งอยู่ในห้องติดกัน ถ้าหากว่าตอบคำถามผิด อาสาสมัครคนที่สองก็จะถูกช็อตด้วยไฟฟ้าในระดับความแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะดูว่า อาสาสมัครคนแรกที่ควบคุมเครื่องช็อตไฟฟ้าจะหยุดช็อตที่ระดับความดันไฟเท่าใด ผลปรากฏว่าอาสาสมัครกว่า ๖๕% ไม่ลังเลที่จะช็อตคนที่นั่งอยู่อีกห้องหนึ่งด้วยความดันไฟสูงสุดคือ ๔๕๐ โวลต์ แม้ว่าจะได้ยินเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดเหมือนสัตว์กำลังถูกเชือดก็ตาม

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ทำไมคนกว่าครึ่งจึงกลายเป็นคนไม่มีหัวจิตหัวใจ? ระดับความแรงขนาดนั้นอาจจะทำให้มนุษย์เราถึงกับเสียชีวิตได้ แต่ทำไมยังกล้าทำ? ซ้ำร้ายมิลแกรมยังบอกด้วยว่าอาสาสมัครที่ทำอย่างนั้นก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆ ท่านๆ ที่เดินปะปนกันไปในสังคม ไม่ใช่เป็นคนที่ดูจะรักความรุนแรงอะไรเลย

การทดลองนี้มีจุดสังเกตก็คือ มิลแกรมให้มีนักแสดงอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้อง ใส่ชุดที่เป็นทางการคล้ายกับนักทดลอง หรือนักวิทยาศาสตร์ และทำเป็นจดบันทึกอะไรง่วนอยู่ตลอด นักแสดงคนนี้จะเป็นคนบอกให้ทำการทดลองต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และบอกกับอาสาสมัครย้ำๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง และขอให้อาสาสมัครทำการทดลองต่อไป “ตามหน้าที่”

มิลแกรมสรุปว่ามนุษย์เราสามารถที่จะทำอะไรชั่วร้ายเลวทรามได้ถ้าหากมองว่ามันคือ “หน้าที่” ที่จะต้องทำและคนที่สั่งนั้นมีอำนาจเหนือกว่าเรา ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คำสั่งของผู้มีอำนาจ แต่เป็นเพราะความอ่อนแอในจิตใจที่พร้อมจะสมยอมกับอำนาจนั้นโดยไม่ต้องถามหาที่มาที่ไป

การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าคำสั่งของผู้มีอำนาจถึงแม้จะดูไร้เหตุผลแค่ไหนก็ตาม มนุษย์เราส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามโดยไม่ตั้งคำถามเลยสักนิด


เปาโล แฟรร์ นักการศึกษาแนวมนุษยนิยมบอกว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมนุษย์เราน้อมรับการกดขี่เข้ามาประดิษฐานเอาไว้ในจิตใจ ปัญหาอันแสนจะย้อนแย้งก็คือมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะตระหนักรู้ว่าเราลงแอพความเป็นฮิตเลอร์เอาไว้ในใจ ตั้งแต่เมื่อใดกัน และเคน วิลเบอร์บอกกับเราว่าไม่ว่าเราจะนั่งภาวนาไปมากสักเท่าใด เราก็เพียงทำได้แค่การพัฒนาความละเอียดของจิตใจในระดับ States หรือสภาวะ แต่จะให้ข้ามระดับ Stages หรือข้ามพ้นในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องอาศัยการเรียนรู้ด้านอื่นๆ อีกมาก นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางครั้งเราจึงเห็นพระสงฆ์ผู้นั่งภาวนาไปมากๆ กลับโฆษณาขายฆ้อนทองคำเพื่อไปสวรรค์ แต่พระสงฆ์บางรูปออกมาเรียกร้องให้ผู้คนเข้าไปช่วยดับไฟป่า เพื่อดูแลป่าต้นน้ำ เป็นเหตุผลว่าทำไมคนบางคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตกลับเลือกเชื่อว่านั่นเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หมอดูให้มา หรือผู้ที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลับมองว่าการทำสังคมสงเคราะห์ให้กับชาวบ้านเป็นวิธีที่ดี

แล้วเราจะทำอย่างไร? ถึงจะถอดถอนแอพ “ฮิตเลอร์” ที่ทำงานอย่างลับๆ กินเนื้อที่หน่วยความจำในใจเรา แฟร์บอกว่าวิธีเดียวที่เราจะทำให้ผู้คนรู้จัก “ฮิตเลอร์” ในตัวเอง ก็คือการพัฒนา “จิตสำนึกเชิงวิพากษ์” ​หรือ Critical Consciousness ให้เกิดขึ้นผ่านการศึกษาแบบลงไม้ลงมือ (praxis) ส่วนแมนนี่บอกว่าเราต้องเห็น “เจตนา” ของเราโดยผ่านการสังเกตรับรู้ และไม่ถูกหลอกโดยความคิด เทพกีต้าร์บอกว่าเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง หมายถึงต้องเห็นด้านของความน่าเกลียดของตัวเอง ไม่ประโลมมันด้วยความคิดเชิงบวก เพราะความคิดเชิงบวกที่ดูดีใสซื่อจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ความรุนแรงในที่สุด

นี่ก็ปี ค.ศ.๒๐๑๖ แล้ว ดูเหมือนแอพ “ฮิตเลอร์” ยังคงทำงานของมันไปอย่างทรงประสิทธิภาพในจิตใจของคนทั่วโลก และคนไทยเองก็ไม่มีข้อยกเว้น

Back to Top