หลักสูตรปริญญาเอกเน้นอะไร?: คนเก่งหรือคนดี?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2559

ชีวิตผมผ่านการเรียนระดับปริญญาเอกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นนิสิตปริญญาเอกสาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษารุ่นแรกที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบครบรายวิชา และสอบผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามที่หลักสูตรกำหนด เหลือแต่วิทยานิพนธ์ อาจารย์ก็ชวนให้เป็นอาจารย์ที่คณะ ผมก็สมัครเป็นอาจารย์ และก็ได้เป็นอาจารย์ที่คณะ สอนอยู่หนึ่งปีก็สอบชิงทุนของจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกสาขาวิชาปรัชญาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า ซึ่งเป็นการเรียนปริญญาเอกครั้งที่สองของผม ที่มินนิโซต้าผมได้โอกาสเรียนทางด้านการศึกษาและการวิจัยอนาคตด้วย

การเรียนปริญญาเอกทั้งสองครั้ง ตามหลักสูตรที่แต่ละแห่งกำหนด ที่เน้นเหมือนกันคือการเน้นความเป็นนักวิชาการ มีกฎ ระเบียบ มาตรฐาน ประเพณี พิธีการ และพิธีกรรมมากมาย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกเน้นความเป็นเลิศ (ความเก่ง)ทางวิชาการ แต่น่าสนใจว่า ทำไมไม่เน้นความเป็นเลิศทางความดีความงามด้วย

ทำไมต้องแยกความเป็นเลิศทางวิชาการออกจากความดีความงาม?

ความรู้ควรเคียงคู่กับคุณธรรมหรือไม่?

มีแต่ความรู้ แต่ขาดคุณธรรม ขาดความดีความงาม ก็อาจใช้ความรู้นั้นๆ เพื่อตอบสนองประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ใช้ความรู้ที่มีไปทำร้าย ทำลายผู้อื่น สิ่งแวดล้อม สังคม และสรรพสิ่งได้ ศาสตร์ที่มีก็กลายเป็นศาสตราวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรงได้

หรือระบบการศึกษายุคใหม่ในปัจจุบัน ถูกครอบด้วยระบบคิดและวิธีปฏิบัติของทุนนิยมไปโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว?

ต้องเก่งเหนือผู้อื่น ต้องมุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่ง ต้องชิงความได้เปรียบ ต้องเอาตัวรอด ต้องยึดผล (Result Based) โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ได้มาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่

หรือการศึกษากลายเป็นธุรกิจไปแล้ว? การจัดการศึกษาต้องคุ้มทุนหรือมีกำไร ถ้าไม่คุ้มทุน เพราะลูกค้าน้อย ไม่มีกำไรก็ต้องปิดกิจการ (หลักสูตร)

สาขาวิชาปรัชญาการศึกษาถูกปิดเพราะลูกค้าลด สาขาบริหารการศึกษาเปิดมากมายเพราะลูกค้ามาก

ตกลงการศึกษาเป็นกระบวนการในการสร้างและพัฒนาคนหรือเป็นการค้า การดำเนินธุรกิจทางการศึกษา?

ตกลงการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นกระบวนการในการปรับวุฒิ และเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้บริหาร หรือสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่กับการเป็นคนดีมีคุณธรรมทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ผมโชคดี มีโอกาสได้ทำโครงการวิจัยที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือ “โครงการวิจัยและประเมินผลการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก” ใช้วิธีวิจัยที่หลากหลาย เช่นการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ Oral History แบบสอบถาม การประชุมกลุ่ม Focus Group และการประชุมทีมวิจัย งานวิจัยนี้ยังดำเนินการอยู่ ยังไม่เสร็จ มีวัตถุประสงค์หลักสามประการคือ

๑. เพื่อสังเคราะห์ปรัชญาแนวคิดการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศคัดสรร ได้แก่ อังกฤษ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

๒. เพื่อศึกษาพัฒนาการของการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกของประเทศไทย

๓. เพื่อประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบันอุดมศึกษาไทย

โดยมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติผมยังไม่สามารถเปิดเผยผลการวิจัยได้ แต่ผมนำมาเล่าเป็นส่วนเสริมบทความนี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ทั้งในเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ และการทำ Focus Group กับผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เน้นเรื่องของความเป็นนักวิชาการ และความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นหลัก ยังไม่พบว่ามีการจัดการหลักสูตรระดับปริญญาเอกในประเทศคัดสรร และของไทยซึ่งมีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกมากกว่าหนึ่งพันสองร้อยหลักสูตร ระบุว่ามีการเน้นในเรื่องความเป็นคนดีควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการอย่างชัดเจน

ตกลงเรื่องความดี ความเป็นคนดี ไม่ใช่คุณลักษณะที่พึงประสงค์และ/หรือสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนระดับปริญญาเอกใช่หรือไม่? หรือทึกทักว่าผู้เรียนเป็นคนดีอยู่แล้วจึงไม่มีการเน้นเรื่องนี้ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นส่วนของปัจจัย (Input) กระบวนการ (Process) หรือผลผลิต (Output) ยังมิต้องพูดถึงผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ของการจัดการหลักสูตรระดับปริญญาเอก

และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เรื่องความดี ความเป็นคนดี ควรเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้สอนในระดับปริญญาเอกหรือไม่ หรือจะดูแค่ว่ามีคุณวุฒิตรงตามสาขาที่จะสอนหรือไม่เท่านั้น

ทั้งหมดที่เขียน เป็นข้อสังเกตที่ผมตั้งขึ้นมา เป็นการสะท้อนจากประสบการณ์ตรงของตนเองที่ผ่านการเรียนระดับปริญญาเอกมาสองหลักสูตร และการสอนระดับปริญญาเอกทั้งที่จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ

การจ้างและรับจ้างทำรายงาน และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ คงไม่มีปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ถ้าความดีและความเป็นคนดีเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือสมรรถนะที่พึงมีของผู้เรียนและผู้สอนระดับปริญญาเอก

Back to Top