หัวใจที่มีหู



โดย จารุปภา วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559

ในการทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อป้องกันและขจัดความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับใครก็ตามด้วยเหตุจากเพศที่เขาและเธอเกิดมาเป็น หรือเลือกเป็น เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำงานคือการฟัง แบบที่เรียกว่า “ฟังด้วยหัวใจ”

การฟังด้วยหัวใจ ช่วยให้เสียงที่มีธรรมชาติเป็นเพียงแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องมีความหมายต่อเรา

และความหมายนั้นทำให้เรารู้สึกบางอย่าง และเกิดความเชื่อมโยงบางอย่างกับเสียงที่ได้ยิน

หลักการสำคัญที่สุดของการฟังด้วยหัวใจ คือการรับฟังคู่สนทนาในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และทั้งสองฝ่ายสามารถใช้อำนาจร่วมกันในพื้นที่สนทนาได้อย่างแท้จริง

ก่อนอื่น คนฟังต้องเรียนรู้เทคนิคการ Grounding เสียก่อน การกราวดิ้ง คือการกลับมามีสติและหยั่งรากลงในปัจจุบันขณะ คือการพาจิตใจล่องลอยไปตามการชักนำของความคิดและความรู้สึกต่างๆ ให้กลับมาตั้งมั่นอยู่ที่นี่ เวลานี้

เทคนิคการกราวดิ้งมีหลายวิธี ที่ใช้ได้ผลดีและเป็นประโยชน์ในระยะยาว คือการกลับมารู้สึกตัวที่ร่างกายและลมหายใจของเราเอง เริ่มจากหายใจเข้าออกให้ลึกและยาวหลายๆ ครั้ง จากนั้นค่อยๆ ไล่ความรู้สึกไปที่ร่างกายแต่ละส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า สัมผัสความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ร่างกายสัมผัสกับเสื้อผ้า พื้น และสิ่งแวดล้อม รับรู้ท่าทางที่ร่างกายเป็นอยู่ รับรู้ความรู้สึกโปร่งเบา แข็งตึง หรือเจ็บปวดที่เกิดในร่างกายส่วนต่างๆ แล้วใช้ลมหายใจส่งความปรารถนาดีไปที่อวัยวะที่แข็งตึงและเจ็บปวดเหล่านั้นให้หย่อนคลาย

การกราวดิ้งเป็นเทคนิคพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับคนทำงานเพื่อความเป็นธรรม ที่มักมีสถานการณ์ยากๆ มาทดสอบความสงบตั้งมั่นของจิตใจเสมอ หลายครั้งที่ความกังวล โกรธ เกลียด เศร้า หดหู่ และหวาดกลัวท่วมทับ ทำให้ชีวิตและจิตวิญญาณถูกเผาผลาญไปกับการงาน การกลับมามีสติบ่อยๆ ทำให้อารมณ์ลบต่างๆ ค่อยๆ หลุดลอกออก และชำระล้างหัวใจให้สว่างไสวตามธรรมชาติเดิมของหัวใจมนุษย์

เมื่อเราหยั่งรากลงในปัจจุบัน และฟัง หูของเราจะค่อยๆ เลื่อนลงมาอยู่ที่หัวใจ ความสว่างไสวในหัวใจของผู้ฟังจะเป็นแรงดึงดูดให้เสียงของความขมขื่นของคู่สนทนาที่เก็บกลืนไว้ยาวนานแสดงตนออกมา เมื่อความว้าวุ่นที่อัดอั้นไว้มีช่องทางระบายออก ภายในจิตใจของผู้เปล่งเสียงก็มีทีว่างที่ทำให้เขาหรือเธอสามารถเห็นความสว่างเช่นเดียวกันนั้นในตนเอง

การกล้าพูด และเริ่มต้นพูดเพื่อตัวเองของผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นเดียวกับการกล้าพูดและเริ่มต้นพูดเพื่อตัวเองของเด็กๆ คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน และคนด้อยอำนาจทุกคนและทุกกลุ่มในสังคม สังคมไทยให้สิทธิกับคนที่มีอำนาจมากกว่าพูดได้เสียงดัง และใช้วิธีการต่างๆ นานาปิดปากคนอำนาจน้อยไม่ให้พูด เมื่อพูดไม่ได้นานเข้า เธอและเขาก็สะกดจิตตัวเองไม่ให้พูด เสียงเล็กๆ ที่ขาดกลัวหลบหาย เสียงดังๆ ของคนมีอำนาจกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม ทั้งที่มันผิดปกติ และเราก็สะกดหัวใจไว้ไม่ให้หูงอกออกมาได้

หนังสือเล่มสำคัญของขบวนการทางสังคมของผู้หญิง In a Different Voice คาโรล กิลลิแกน เขียนถึง “เสียง” ที่ผู้หญิงสามารถเปล่งออกมา ว่า “การมีเสียงคือการเป็นมนุษย์ การมีอะไรบางอย่างจะพูดคือการเป็นคน แต่การพูดก็ขึ้นอยู่กับการฟังและการถูกได้ยินด้วย มันเป็นการกระทำที่สัมพันธ์กันอย่างเข้มข้น ... เมื่อฉันพูดถึงเสียง ฉันหมายถึงอะไรบางอย่างทำนองเดียวกับเวลาที่ผู้คนเอ่ยถึงแก่นแกนของตัวตน เสียงเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วก็เป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย มันก่อประกอบด้วยลมหายใจ ถ้อยคำ จังหวะ และภาษา ทั้งยังเป็นเครื่องมือและช่องทางทางจิตวิทยาอันทรงพลังที่เชื่อมโยงโลกภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน การพูดและฟังเป็นการฝึกลมปราณรูปแบบหนึ่ง การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องของผู้คนเกิดขึ้นผ่านภาษา วัฒนธรรม และความแตกต่างหลากหลาย เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้เสียงเป็นกุญแจดอกใหม่ที่ใช้ทำความเข้าใจการจัดระเบียบทางจิตวิทยา สังคม และวัฒนธรรม ในฐานะตัววัดความสัมพันธ์และสุขภาพจิต” (Gilligan, C., 2003: xvi)

กระบวนการรับฟังในการทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพของผู้เสียเปรียบที่เผชิญสถานการณ์ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนข้ามเพศ คนทำงานในส่วนต่างๆ ทั้งพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ตำรวจ ผู้นำชุมชน และผู้ประสบปัญหาเอง ล้วนฝึกการฟังด้วยหัวใจ เพื่อดูแลและเยียวยาร่างกายและจิตใจของผู้ประสบปัญหา ดำเนินคดี และสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ให้เกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชน

การรับฟังและให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ คือการฟังอย่างลึกซึ้งและเป็นประจักษ์พยาน เพื่อให้ผู้เล่ารู้สึกปลอดภัยและกล้าและรู้สึกปลอดภัยในการระบายสิ่งอัดอั้นใจออกมา เมื่อฟังจนเข้าใจดีแล้ว ผู้ฟังจึงจับประเด็นสิ่งที่ได้ยิน ทั้งเรื่องราวและความรู้สึก เพื่อสะท้อนกลับแบบเป็นกระจกเงาให้ผู้เล่าเข้าใจตนเองชัดขึ้น แล้วจึงตั้งคำถามที่ท้าทายเพื่อช่วยรื้อถอนความเชื่อที่เกิดจากเสียงที่สังคมตะโกนบอก ในขั้นนี้ ผู้เล่าจะค่อยๆ เห็นความเชื่อมโยงของสถานการณ์ปัญหากับต้นเหตุจากความไม่เป็นธรรมที่ผู้เสียเปรียบจำนวนมากต้องเผชิญเหมือนๆ กัน

สุดท้ายจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการหาทางแก้ปัญหา ถึงตอนนี้ ผู้ฟังสามารถให้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจได้แล้ว แต่ต้องอยู่บนฐานการเคารพและให้ผู้เล่าเลือกตัดสินใจหาทางออกจากปัญหาด้วยตนเอง คนทำงานจำนวนมากเล่าตรงกันว่า เมื่อผู้ประสบปัญหาได้รับการเยียวยาจนเกิดอำนาจภายในแล้ว ศักยภาพในการแก้ปัญหาด้วยตนเองของเขาและเธอล้วนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว

ลองจินตนาการสิว่า ถ้าหัวใจของมนุษย์เรามีหูงอกออกมา โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร

Back to Top