เรียนรู้อยู่กับความตาย



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2559

"คนที่หันหลังให้ความจริง จะถูกความจริงโบยตี ความตายคือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อระลึกความจริงนี้ได้ต้องเผชิญ ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย"

ส่วนหนึ่งของการบรรยายโดยพระไพศาล วิสาโล ในหลักสูตรอบรมการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ ‘Book of memorial’ 19 พฤศจิกายน 2559 ที่จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา กระตุ้นเตือนให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความจริงข้อนี้ในชีวิตที่มักจะหลงลืมกัน

ประมาณสองเดือนที่แล้ว ผู้เขียนเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์หลักสูตรอบรมเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพของเครือข่ายพุทธิกาปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยความสนใจส่วนตัวที่มองว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพเป็นงานเขียนที่ทำให้เข้าใจชีวิตของผู้ตาย และสภาพสังคมที่แวดล้อมชีวิต ประกอบกับหลักสูตรนี้จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องความตายมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้ารับการอบรม

การอบรมจัดระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน และ 4 ธันวาคม 2559 ในระยะเวลา 3 วัน แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ในวันแรก เป็นการเรียนรู้เรื่องความตาย ผ่านการบรรยาย “เรื่องความตายในทรรศนะพระไพศาล วิสาโล” โดยพระไพศาล วิสาโล หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจ ที่ทำให้เกิดกระบวนการใคร่ครวญกับชีวิตและความตาย

การบรรยายของพระไพศาล วิสาโล กระตุกให้เราคิดว่า ควรเตรียมตัวรับกับความตายที่พร้อมจะมาเยือนเมื่อไรก็ได้ การเตรียมตัวที่สำคัญ คือ การเตรียมสติ ซึ่งต้องให้เวลากับการเตรียม และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พระไพศาลเปรียบเทียบความตายกับการสอบไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความตาย คือการสอบไล่ครั้งสุดท้ายของวิชาชีวิต ไม่มีทางแก้ตัว ตกแล้วตกเลย ที่สำคัญคือไม่รู้จะสอบเมื่อไร และคนส่วนใหญ่ไม่ให้เวลากับการเตรียม”

กิจกรรมไพ่ไขชีวิต ทำให้เราทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และวางแผนสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จก่อนตาย ขณะที่สมุดเบาใจ คือ การแสดงเจตจำนงในการ “ตายดี” ด้วยการวางแผนการดูแลรักษา การจัดการร่างกาย และงานศพด้วยตนเอง โดย ปทานุกรมความตาย ที่จัดทำโดยโครงการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้วิถีสู่การตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา อธิบายความหมายของการ “ตายดี” ไว้ว่า เป็นการตายที่ปลอดจากความทุกข์ทรมานที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งของผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษา

เจตจำนงในการตายดี นอกจากเป็นความประสงค์ส่วนตัวแล้ว ยังเป็นสิทธิของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

การเรียนรู้ในช่วงนี้ จึงทำให้เห็นว่าเรื่องความตาย นอกจากเป็นการใคร่ครวญทบทวนชีวิตในระดับบุคคลแล้ว ยังเป็นสิทธิของทุกคนในการเลือกที่จะ “ตายดี” ด้วย

ช่วงที่สองอยู่ในวันที่ 2 และ 3 ของการอบรม เป็นการเรียนรู้เรื่องการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ ครูในช่วงนี้ คือ คุณอรสม สุทธิสาคร และคุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ซึ่งมาให้ความรู้ผ่านการบรรยาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งในเชิงประเด็นและเทคนิคการเขียน เช่น การตั้งชื่อเรื่อง การแบ่งหัวข้อ การเขียนบรรยายให้เห็นภาพ ควบคู่ไปกับการยกตัวอย่างหนังสืออนุสรณ์งานศพแบบต่างๆ รวมทั้งให้ผู้เข้าอบรมฝึกเขียนในประเด็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต

ผู้เขียนพบว่า การปูพื้นฐานให้ใคร่ครวญเรื่องความตายมาจากการอบรมช่วงแรก มีความหมายอย่างมากกับช่วงฝึกเขียน เพราะทำให้การเขียนเป็นกระบวนการสืบค้นเข้าไปในชีวิตของตนเอง หรือคนที่เราเขียนถึงในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น

หลังจากอบรมวันที่ 2 ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องกลับไปทำ “การบ้าน” คือ เขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพส่งกลับมาให้ครูตรวจภายใน 1 สัปดาห์ และมาพบกันอีกครั้งในการอบรมวันที่ 3 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานเขียน โดยเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการแนะนำของครูทั้ง 2 ท่าน และวงคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนของแต่ละคน รวมทั้งปิดท้ายด้วยการเสริมเทคนิคการเขียน เพื่อนำไปพัฒนางานต่อไป

ก่อนจบการอบรมมีการเปิดวงให้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 วัน เสียงสะท้อนจากนักเรียนรุ่นแรกพบว่า ประทับใจกับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการเข้าใจเรื่องการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ แต่ทำให้เกิดการใคร่ครวญเรื่องความตายทั้งจากประสบการณ์ของตนเอง และเรียนรู้จากเพื่อนผ่านกระบวนการกลุ่ม

การอบรมเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ จึงเป็นการเรียนรู้อยู่กับความตาย ที่เหมาะสมกับผู้ที่ใช้การเขียนเป็นกระบวนการใคร่ครวญชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นหลักสูตรที่เปิดพื้นที่ให้คนรักการเขียนได้ลองมาสัมผัส มาเรียนรู้ เปรียบเหมือน “หลักสูตรเบื้องต้น” เรื่องความตาย ซึ่งอาจพัฒนาความสนใจไปสู่การเรียนรู้เรื่องความตายในระดับลึกต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากสังคมกระแสหลัก คำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น และเป็นคำถามเชิงท้าทาย คือ ทำไมจึงต้องเรียนรู้เรื่องความตาย และการเรียนรู้เรื่องความตายมีความสำคัญอย่างไร

การตอบคำถามนี้ นอกจากการมีประสบการณ์ตรงผ่านการอบรมแล้ว กระบวนกรที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเผชิญความตายอย่างสงบ จากเครือข่ายพุทธิกา กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ไว้ ในชุดความรู้การอบรมและกระบวนกรแนวจิตตปัญญาศึกษา เล่ม 8 การเผชิญความตายอย่างสงบ จัดทำโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ว่า

“ความเข้าใจเรื่องความตาย และการเตรียมตัวเผชิญความตายอย่างสงบ ไม่ใช่เรื่องของเราแต่เพียงคนเดียว หากเป็นเรื่องของสังคมโดยรวมด้วย เราต้องช่วยกันศึกษาเผยแพร่ให้คนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้อง เห็นความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ช่วยให้มีความรู้เรื่องชีวิตหลังความตาย ให้ตระหนักอย่างลึกซึ้งในความงามและคุณค่าของชีวิตและความตาย ช่วยให้คนในสังคมมีความรัก ความเอื้ออาทรและเมตตาต่อกัน”

การเรียนรู้เรื่องความตายจึงมีความสำคัญเชื่อมโยงทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคม เมื่อแต่ละบุคคลตระหนักว่าความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องเผชิญ จะทำให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาชีวิตที่เดินผ่านไปในทุกขณะ นำไปสู่การเลือกดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า และเมื่อวิธีคิดนี้ต่อประกอบเป็นภาพรวมของสังคมแล้ว จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ลดการเบียดเบียน และเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น

Back to Top