มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2547
อลิซาเบท ซาทัวริส (Elisabet Sahtoris) บอกว่า “วิกฤตคือคาตาลิสต์ ความเครียดจากการดำรงชีวิตนั้นเองที่ทำให้เราเปลี่ยน” ทุกวันนี้ เราอยู่ท่ามกลางความเครียดจากวิกฤตในแทบทุกด้าน ที่ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราเอง โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและตัวเร่ง ที่ทำร้ายและทำลายระบบนิเวศธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ทำให้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เรามีที่เรารับเป็นมรดกตกทอดมาไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป นักปราชญ์ นักคิด และนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ระดับนำทุกคนล้วนกล่าวตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ทางด้านจิต หรือ “จิตวิวัฒน์” สู่สังคมใหม่ จิตวิญญาณใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และเจ็บปวดที่สุดของมนุษยชาติ ในเวลาอีกไม่ช้านี้
แต่ถึงแม้ว่าสหัสวรรษใหม่จะผ่านพ้นไปสามปีกว่าแล้ว เราส่วนใหญ่ราวๆ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ดูเหมือนจะยังไม่รู้ตัวจึงไม่เปลี่ยนตาม หรือเพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่เชิดชูวัตถุและแสดงออกเป็นความก้าวหน้าของสังคมด้วยเทคโนโลยี คือความจริงที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้น จึงยังคงมีโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบเก่า “ขอให้เหมือนเดิม” อยู่ (Paul H. Ray and Sherry Anderson: The Cultural Creatives, 2000; Duane Elgin and Colleen Ledrew: Global Consciousness Change, 1997; Michael Lerner: The Age of Extinction..., 1999) โดยไม่กังวลหรือไม่รู้ตัวว่า ความก้าวหน้านั้น จะหวนกลับมาทำลายลูกหลานหรือมรดกตกทอดทางเผ่าพันธุ์ที่เรารักและห่วงใยที่สุดอย่างไร?
ที่ว่าไม่กังวลหรือไม่รู้ตัว เพราะว่าความสุขสนุกสนานกับความเจริญก้าวหน้าได้บดบังตาเรา หรือทำให้มองเห็นว่าจิตมนุษย์เป็นอยู่เพียงแค่นั้น คือหยุดอยู่กับที่ แต่หากเรามองจากธรรมชาติของจักรวาล จะพบว่าธรรมชาตินั้นไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันตลอดเวลาเป็นวัฏจักร สถานภาพของมนุษย์และสังคมมนุษย์ในขณะนี้เป็นเพียงช่วงหนึ่งของวัฏจักรที่ว่าเท่านั้น ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่นเดียวกับจิตและจิตวิญญาณที่จะต้องวิวัฒนาการต่อไปเช่นกัน (Ken Wilber: Up From Eden; 1976)
ในบทสัมภาษณ์ ดอน เบ็ค (ผู้ร่วมกับ แคลร์ เกรฟส์ (Clare W. Graves) สร้างทฤษฎีสไปรัลไดนามิกส์ หรือ “จิตวิวัฒน์”, Don Beck and Spiral Dynamics; in: What is Enlightenment?; 2002) อธิบายว่า วิวัฒนาการของจิต คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญญา พฤติกรรม บุคลิกภาพของมนุษย์ (จิตปัจเจก) และรูปแบบ ความเชื่อ หรือค่านิยมของสังคม (จิตร่วมหรือวัฒนธรรม) รูปแบบของความเชื่อหรือค่านิยมนี้ เรียกว่า มีมส์ (Rechard Dawsons' memes นำมาใช้โดย Aaron Lynch: Thought Contagion, 1996) ซึ่ง ดอน เบ็ค นำมาอธิบายวิวัฒนาการของจิตโดยสัมพันธ์กับสี ๘ สี ๘ ระดับ (แบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมี ๖ สี ๖ ระดับ และชั้นบนจะมี ๒ สี ๒ ระดับ) แต่ละสี จะบ่งบอกถึงโลกทัศน์ ปัญญา อุปนิสัย และพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อสังคมโดยรวมในชั่วขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับหรือสี
ประชากรโลกโดยส่วนใหญ่หรือกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จะมีระดับจิตหรือสีกระจายอยู่ระหว่างระดับสาม (สีแดง) ถึงระดับหก (สีเขียว) ระดับใดจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคนในสังคม (หรือชาติพันธุ์) ย่อยนั้นๆ ว่า มีวิวัฒนาการของจิตในระดับใดหรือสีอะไร (ที่จะชี้บ่งระดับของจิตร่วมทางสังคมหรือวัฒนธรรมของสังคมย่อยนั้นๆ อีกทีหนึ่ง)
มีเพียงไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกเท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของจิตกระจายอยู่ในอีก ๔ ระดับของทั้งสองชั้นที่เหลือ ยกตัวอย่าง จะมีคนที่อยู่ในระดับต่ำสุด สีดิน หรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ (Beige) คือระดับจิตดำบรรพ์ของคนถ้ำ น้อยมาก ไม่ถึง ๐.๐๕ เปอร์เซ็นต์ ของประชาการทั้งหมด และที่มีน้อยกว่านั้นอีกได้แก่ระดับ ๘ หรือระดับจิตสูงสุด สีเขียวครามใส (Turquoise) อันเป็นระดับจิตของผู้มีปรีชาญาณเฉกเช่นศาสดา อรหันต์ ที่จิตได้วิวัฒนาการผ่านพ้นตัวตน สู่ความว่างอย่างแท้จริง ระดับทั้งหมดมีดังนี้
ชั้น I มี ๖ ระดับ หรือ ๖ สี
ระดับที่ ๑ ระดับล่างสุด สีดินหรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ (Beige) เริ่มมีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ประมาณ ๑ แสนปีมาแล้ว, ลักษณะนำ ทำอะไรก็ได้เพื่อให้อยู่รอด
พฤติกรรม-นิสัย
แสดงความคิดเห็น