มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2547
"ทุกวันนี้ผมมีนามบัตรสองใบ ใบหนึ่งแสดงถึงธุรกิจของผม อีกใบหนึ่งแสดงถึงตัวตนของผม" คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ กล่าวในงานอบรมเรื่อง "จิตสำนึกใหม่ของผู้นำ" โครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น (SVN College) ที่เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) จัดขึ้น และผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเมื่อต้นสัปดาห์นี้
คุณปรีดาเล่าให้กลุ่มกัลยาณมิตรฟังว่า ตนเองจะมีนามบัตรใบหนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการบริหารของบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด เพื่อใช้สำหรับติดต่องานกับนักธุรกิจโดยทั่วไป ส่วนอีกใบหนึ่งคือ คุณปรีดา ในฐานะประธานกรรมการเครือข่าย SVN ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มุ่งส่งเสริมจิตสำนึกทางธุรกิจที่นำไปสู่การเคารพสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสิทธิของชุมชนและสังคม ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย
เวลาจะแนะนำตัว ก็ต้องนึกก่อนว่า "เอ! คนนี้เราจะให้ใบไหนดี?"
ปรากฏว่า คุณปรีดาไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีนามบัตรสองใบ ยังมีเพื่อนๆ นักธุรกิจที่มาเรียนรู้ด้วยกันอีกหลายคน ที่ถือนามบัตรสองใบด้วยเช่นกัน
เมื่อก่อนโลกของนักธุรกิจเหล่านี้แยกออกเป็นสอง โลกหนึ่งเป็นโลกธุรกิจ การประกอบอาชีพ การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อีกโลกหนึ่งเป็นโลกนอกภาคธุรกิจที่คนเหล่านี้ก็อยากมีครอบครัวที่อบอุ่นอยากเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม อยากมีสุขภาวะที่ดีและมีส่วนสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนอื่นๆ ด้วย
แต่ทุกวันนี้ คุณปรีดา และเพื่อนๆ มีคุณประสาร มฤคพิทักษ์ คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร และคุณวัลลภา คุณติรานนท์ เป็นอาทิ มีเป้าหมายที่จะทำให้โลกทั้งสองผสานเป็นหนึ่ง ทำนามบัตรให้เป็นใบเดียว
ในการดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ ทักษะ การฝึกฝนตนเอง และการปรับเปลี่ยนในหลายระดับ จึงเป็นที่มาของโครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น ที่กลุ่มจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงร่วมกันจนเห็นผล อย่างน้อยในสามเรื่องหลัก คือ มณฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนา (Dialogue) และการบริหารจัดการองค์กรในวิทยาศาสตร์ใหม่ (หลักการทั้งสามนี้ สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้นำเสนอจากมุมมองต่างๆ ผ่านสื่อ ทั้งในคอลัมน์นี้และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง)
ความรู้ที่ใช้ในกระบวนการอบรมเป็นความรู้ใหม่ที่สุดในโลก อยู่ที่พรมแดนของความรู้ (frontier of knowledge) โดยการนำเอาทั้งความรู้ด้านศาสนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ใหม่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ทฤษฎีระบบ (System Theory) ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) หรือแม้แต่ควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics)
เพราะวิทยาศาสตร์เก่าและกระบวนทัศน์เก่าที่แยกส่วนและเน้นสสารวัตถุ อธิบายความจริงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การประยุกต์ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน ที่กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ และการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด มาใช้ในการอธิบายสังคมมนุษย์ หรือที่เรียกว่า โซเชียลดาร์วินนิสซึ่ม (Social Darwinism) การอธิบายโลกเช่นนี้เป็นการอธิบายที่คับแคบ มองโลกเป็นเรื่องของการแข่งขันเท่านั้น
สังคมที่ภาคธุรกิจมีความคิดเช่นนี้ ก็จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเดือดร้อน เพราะมุ่งเน้นที่การหากำไรสูงสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย สิ่งแวดล้อมก็จะแย่เพราะมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม พนักงานไม่มีความสุขเพราะถูกกดขี่แรงงาน ตัวเจ้าของกิจการเองก็เครียดเพราะต้องคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดเวลา สุขภาพก็แย่ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และจิตวิญญาณ
ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า โลกคือการต่อสู้แข่งขัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า โลกที่แท้จริงคือ โยงใยแห่งความสัมพันธ์ ที่ทุกชีวิตล้วนเชื่อมโยง ถักทอ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
สิงโตที่ล่ากวาง ก็ล่าแค่เพียงพอต่อความอยู่รอด เราไม่เคยเห็นสิงโตล่าอาหารเพราะความละโมบโลภมาก เก็บสะสมเอาไว้เป็นทรัพย์สมบัติของตน ไม่ต้องตื่นขึ้นมาล่าสัตว์ตั้งแต่ไก่โห่ยันพระอาทิตย์ตกดิน แต่ล่าเพียงแค่พอกิน แล้วก็นอนพักผ่อน
ในธรรมชาติมีระบบที่สร้างความสมดุล ไม่มีสิ่งใดเป็น "ของเสีย" (waste) สิ่งขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตหนึ่งเป็นอาหารหรือปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอื่น แม้แต่ความตายก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปตามเหตุตามปัจจัย
ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่อสู้แก่งแย่งชิงดีกัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า แม้มนุษย์จะมีกิเลสอยู่ แต่ทุกคนนั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ มนุษย์มีศักยภาพในการก้าวข้ามขอบเขตของการคิดถึงแต่ตัวเอง และหันกลับมาให้ความสำคัญต่อความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกองคาพยพของสังคม
หากภาคธุรกิจซึ่งมีพลังมาก ได้เห็นและเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ตนเองมีศักยภาพในการทำความดีได้มากเช่นนี้แล้ว โลกจะมีความงดงามขึ้นอีกมาก
หากเราทำเรื่องจิตวิวัฒน์ในภาคธุรกิจให้เป็นจริง เจ้าของกิจการก็จะมีสุขภาพดี เพราะไม่ต้องทำงานเกินกว่าที่ควร มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง
เมื่อคิดเผื่อแผ่ไปถึงพนักงานของบริษัท ก็จะมีระบบและบรรยากาศการทำงานที่ดี สวัสดิการที่เหมาะสม
หากคิดได้กว้างไกลมากขึ้น ไปถึงลูกค้าของบริษัท เราก็จะได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง และหากนักธุรกิจมีจิตที่ใหญ่ เราก็จะมีภาคธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
กระบวนการเรียนรู้แบบเครือข่ายเอสวีเอ็น เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านชุมชนปฏิบัติการ (community of practice) ที่มากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น วิทยาลัยอาศรมศิลป์ ที่เน้นการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ กลุ่มวงล้อ เครือข่ายครู ชาวบ้าน นักวิชาการ โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงราย กลุ่มทันตบุคลากรเชียงราย กลุ่มเครือข่ายผู้ทำงานสังคมของมูลนิธิอโชก้า รวมไปถึงเครือข่ายเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต เช่น กลุ่มการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของโรงแรม แพทย์ นักการศึกษา นักพัฒนาสังคมในประเทศไทย-ฝรั่งเศสอีกด้วย
ชุมชนปฏิบัติการจิตวิวัฒน์ต่างๆ เช่นนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลัง
เพราะอนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่หรือจิตใจสูง เป็นการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ เพื่อให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งโลก
แสดงความคิดเห็น