โลกเปลี่ยนเพราะพวกเรา:
เปลี่ยนโลก ... ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2549

ถาม: ท่านทราบไหมว่าปี...
๑) ๒๕๔๘ ๒) ๒๕๔๑
๓) ๒๕๔๕ ๔) ๒๕๔๖
๕) ๒๕๔๔ และ ๖) ๒๕๔๐
มีความสำคัญอย่างไร ตามลำดับ?
(มีเฉลยอยู่ในบทความครับ)

สัปดาห์นี้คอลัมน์จิตวิวัฒน์ได้เดินทางคู่กันกับหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ มาเป็นเวลาสองปีกับอีกสองเดือนพอดี แต่ละสัปดาห์สมาชิกจิตวิวัฒน์สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าความสำคัญจำเป็นที่โลกจะต้องมี “จิตสำนึกใหม่” (New Consciousness)

เรื่องราวที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากฐานความรู้และมุมมองต่อโลกของแต่ละท่านแล้ว ยังมาจากข้อมูลสาระจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มทั้งในและนอกที่ประชุม ความรู้ทั้งหมดที่กลุ่มให้ความสนใจ เล่าสู่ข้อมูลข่าวสาร และร่วมเรียนรู้กันนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างสิ้นไร้ข้อสงสัยว่า โลกกำลัง “อยู่ใน” วิกฤต หาใช่กำลัง “เข้าสู่” วิกฤตดังที่บางคนเข้าใจไม่ ทั้งยังเป็นวิกฤตในรอบด้าน ไม่ว่าทางสิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา และอื่นๆ
ส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติและข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น มีดังต่อไปนี้ครับ

  • ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในเวลาไม่เกินห้าสิบปีนี้ ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป
  • ปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นถึง ๖ เมตร
  • โลกมีทั้งฤดูแล้งและพายุฝนรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนา เป็นตัวอย่างที่ทุกท่านคงไม่ลืม ซึ่งแท้จริงแล้วปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึง ๒๘ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒๑ ลูกในปี ๒๔๗๖) ในจำนวนนี้เป็นพายุเฮอริเคนถึง ๑๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๑๒ ลูก ในปี ๒๕๑๒) และเป็นพายุเฮอริเคนระดับห้า อันความรุนแรงสูงสุด ถึง ๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒ ลูกในปี ๒๕๐๓)

บางส่วนของข้อมูลนี้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และกำลังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ชื่อ An Inconvenient Truth (“ความจริงที่ทำใจลำบาก”) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของปัญหาภาวะโลกร้อนที่บางคนไม่เคยทราบข้อมูลข้างต้นมาก่อน และจะต้องประหลาดใจยิ่งขึ้น หากพบว่าเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในสื่อต่างๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารสาระบันเทิงอันท่วมท้น บางทีการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อาจเหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมพูดจาเล่าเรื่องอย่างในสังคมไทย มากกว่าการอ่านเขียนก็เป็นได้

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บทให้สัมภาษณ์ของ อัล กอร์ เขาเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่สาวจากโรคมะเร็งปอด ด้วยความที่เธอเป็นนักสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ในขณะที่ครอบครัวก็มีอาชีพปลูกยาสูบ และไม่ได้คิดจะเลิกปลูก จนกระทั่งเธอตายจากไป กอร์บอกว่านี่คงเป็นลักษณะทั่วไปของมนุษย์กระมังที่ยากจะเลิกนิสัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ปลูกยาสูบ หรือแม้แต่การมีวิถีชีวิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้

เรื่องนี้ตรงกับที่อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ กล่าวในวงจิตวิวัฒน์เสมอๆ ว่า “มนุษย์นี้น่ะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บางทีเข้าไปนอนในโลงแล้วยังไม่รู้สึก ต้องได้ยินเสียงตอกตะปูฝาโลงปังๆ น่ะถึงจะคิดได้”

อย่างไรก็ดี จิตวิวัฒน์หาได้เป็นผู้นำข่าวร้าย (ซึ่งที่จริงก็เป็นแค่ “ความจริง” เพียงแต่เป็นความจริงที่ “ทำใจลำบาก”) แต่ถ่ายเดียว จิตวิวัฒน์ยังพยายามสื่อสารบอกเล่าให้เห็นด้วยว่า นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ของตัวเราและของสังคม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีผู้หลุดพ้นจากการร่ำเรียนจาก “ความทุกข์” ที่อยู่เบื้องหน้ามานักต่อนัก

กลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่ามนุษย์จะใช้ความคิด ความรู้ชุดเดิมๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดเดียวกันเป็นทำนองลิงแก้แหอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้ ทว่าต้องมี “จิตสำนึกใหม่” อันเป็นจิตใหญ่ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้อธิบายไว้ในบทความจิตวิวัฒน์ชิ้นแรกในคอลัมน์นี้เมื่อสองปีก่อนว่าจิตสำนึกใหม่เป็น “ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด”

หลังจากที่กลุ่มจิตวิวัฒน์พบเจอกันเป็นประจำมาทุกเดือนไม่เว้น จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มจึงได้มีการ “เหลียวหลัง แลหน้า” กัน และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โลกต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าวิกฤตที่แท้นั้นเป็นวิกฤตภายในจิตใจของตน วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น

ดังที่ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันบอกว่า “โลกเป็นโรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” ดังนั้นการพยายามไปหาทางออกด้วยวิธีการทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถนำพาโลกไปสู่ทางออกได้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเมืองโดยการจัดการและวิทยาการอันเป็นบ่อเกิดปัญหาจึงเป็นการแก้ไขที่เปลือกนอก สิ่งที่ควรเร่งฟื้นฟูขึ้นคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคน

และด้วยเหตุที่วิกฤตเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากภายใน โดยคุณเดวิด สปิลเลน ได้สรุปโดยใช้คำของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “เปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” (Be the change you want to see in the world.)

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เห็นวิกฤต เห็นปัญหา ควรลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ ทันที โดยเริ่มจากตนเองก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ไปยึดติดกับความคาดหวังต่อผลอีกด้วย

การทำโดยไม่หวังผล ฟังดูเผินๆ อาจขัดกับแนวความคิดกระแสหลักที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะ “กรอบความคิด” การวัด-การประเมิน (ที่ “ตีกรอบ” ให้เราคิดแบบวนอยู่ในอ่างที่เดิม) ที่ทุกอย่างต้องตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดได้ โดยหารู้ไม่ว่า ชุดความคิดนี้เองคือที่มาของปัญหาต่างๆ

แท้ที่จริงแล้ว มนุษยชาติมีชุดความรู้ที่แตกต่างจากชุดความรู้ทางเทคนิคปัจจุบันและสามารถพาพวกเราไปรอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา (ที่สอนให้เราไม่คาดหวังผล อย่างเช่นกรณีผู้ปฏิบัติธรรม หากยิ่งคาดหวังจะบรรลุ กลับยิ่งไม่ประสบผล) หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ (ที่บอกว่าการวัดประเมินไปเสียทุกอย่างทุกครั้ง อาจไม่ได้ให้ผลที่เราอยากได้เสมอไป เช่น การทดลองเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์) หรืออีกหลายชุดความรู้ เพียงแต่คนยังไม่ตระหนัก ไม่เชื่อ ถึงคุณค่า ความหมาย และการนำไปใช้ของมันเท่านั้น

สำหรับเฉลยคำถามข้างบนนี้ หกปีที่อยู่ในคำถามเป็นหกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่เคยบันทึกกันมา (นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๓ หรือเมื่อกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบปีมาแล้ว) เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อเห็นข้อมูลว่าหกปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกมาอยู่ในรอบไม่เกินแปดปีที่ผ่านมานี้ ในยุคสมัยของเรานี่เอง ... เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหรือเปล่า?

Back to Top