สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนี

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2549

ทีแรกยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนหัวข้ออะไร เพราะเรื่องที่อยู่ในหัวดูจะมากมายวกวน ตามประสาคนไม่ค่อยได้เขียนอะไรนาน การเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นตัวอักษรให้ได้ใจความไม่ใช่ของง่าย ทบทวนไปมา ก็คิดว่าน่าจะตรวจสอบความคิดตัวเองดูสักทีว่าการได้มาใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ในเยอรมนีนั้นได้เรียนรู้อะไรกับเขาบ้าง เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเรียนรู้นั้นอาจจะไม่เหมือนกับของผู้อื่น และก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าคนอื่นจะต้องมาเรียนรู้เรื่องเดียวกันกับข้าพเจ้า เพราะมนุษย์เรานั้นมีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถมองเยอรมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือเข้าใจอะไรอะไรที่เป็นเยอรมันได้อย่างชัดแจ้ง เพราะมุมที่ข้าพเจ้ายืน ก็เป็นข้อจำกัดในการมองอยู่แล้วโดยปริยาย แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่ามุมมองที่แตกต่างจัก
ช่วยให้เกิดการมองเห็นอย่างรอบด้านมากขึ้น

เมื่อลองจดหัวข้อเรื่องหลักออกมา ข้าพเจ้าเลือกมาเพียงสี่หัวข้อ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การถกประเด็นแลกเปลี่ยนได้กว้างขวางขึ้นในภายหลัง และจะอรรถาธิบายในแต่ละหัวข้อตามลำดับ ดังนี้

๑. เมตตาคุณอันปราศจากขอบเขต

ถึงแม้ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักศึกษากฎหมาย แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อแรกของเยอรมันนั้นจับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก “Die Menschenwürde ist unantastbar. ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” หลักกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ได้ให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์ทุกผู้โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือเงื่อนไขอื่น

แน่ล่ะ! อาจจะมีผู้ค่อนขอดว่า ไม่เห็นแปลกเลย เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเยอรมัน โดยเฉพาะความพยายามฆ่าล้างชาติพันธุ์ชาวยิว ได้ทำให้มีหลักกฎหมายข้อนี้ออกมา แต่นี่ยิ่งทำให้ชาวเยอรมันในสายตาของข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่สมควรก้มศีรษะคารวะในข้อที่เป็นผู้ยอมรับประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน และเรียนรู้ที่จะไม่กระทำผิดอีก

ประธานาธิบดีของเยอรมันอย่าง Johannes Rau ซึ่งถือว่าเป็นประมุขของประเทศ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคม เขาผู้นี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราจำต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความรักชาติและคลั่งชาติ และแม้เขาจะเป็นคริสตศาสนิกชนของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนา เขายังแสดงความกล้าหาญออกมาปกป้องสิทธิของผู้ถือศาสนาอื่น หรือพรรคการเมืองเขียวของเยอรมัน ก็ยืนยันที่จะไม่นำกากนิวเคลียร์ไปทิ้งในประเทศอื่น นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าในหมู่ชนชั้นนำของเยอรมันแม้เป็นนักการเมืองก็ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างศีลและสัจจะมากกว่าคะแนนความนิยม

หลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อนี้ บ้านเราได้รับไปเมื่อคราวปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และเป็นวิวาทะร้อนในประวัติศาสตร์การเมืองว่า “ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์” นี้ มีความหมายว่าอย่างไร ราวกับว่าแม้เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มยังไม่เคยเรียนรู้ที่จะนับถือมนุษย์อื่นว่าเขามีความเป็นมนุษย์เหมือนตน ฉะนั้นเขาจึงมิอาจเข้าใจศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้นอกเหนือจากเกียรติยศของตน

อย่างไรก็ตาม หลักศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์นี้ ในความเป็นจริงตรงกับหลักเมตตาภาวนาในสังคมไทยมาแต่เดิม ดังที่บทแผ่เมตตาแสดงไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” เพราะการฝึกมองสิ่งมีชีวิตทั้งหลายว่าไม่ได้แตกต่างไปจากเรา มีความต้องการไม่ต่างไปจากเรา ไม่ต้องการจะเป็นทุกข์ และอยากจะเป็นสุขด้วยกันทั้งสิ้น จักทำให้ลดการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกันก็จะลดน้อยลงไป นี้เป็นหลักการสร้างเมตตาตามหลักพุทธศาสนาเดิม ดังที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาส ปราชญ์ทางจิตวิญญาณของเรา ได้พยายามย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้ง

๒. ความสมถะ

สมถะเป็นคู่ตรงข้ามกับฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือย แต่สมถะมิใช่ขี้เหนียว ชาวเยอรมันเป็นชนชาตินิสัยมัธยัสถ์ ผู้บริโภคชาวเยอรมันได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติรู้ในการใช้จ่ายเงิน และให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ายิ่งกว่ายี่ห้อ โดยที่บ่อยครั้งจากการตรวจสอบคุณภาพสินค้าพบว่ายี่ห้อเลื่องชื่อต่าง ๆ มิได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพสินค้าเลย ทั้งนี้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันซึ่งมิใช่องค์กรของรัฐนั้นเข้มแข็งยิ่ง มีการทำเอกสารให้ความรู้และเปรียบเทียบสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ แจ้งให้ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผู้ซื้อจึงมีทางเลือกในการซื้อสินค้า เพราะมีข้อมูลเปรียบเทียบช่วยในการตัดสินใจเพียงพอ

รสนิยมในการแต่งกายของชาวเยอรมันนั้นถือว่าต่ำกว่าชนชาติเพื่อนบ้านด้วยกันเลยทีเดียว เพราะเป็นพวกไม่พิถีพิถันในการแต่งกาย และไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ดังจะเห็นว่าร้านอาหารและภัตตาคารมีปริมาณน้อย

ความสมถะของชาวเยอรมันนั้นอาจจะเป็นผลจากที่เขาเป็นผู้รู้ถึงคุณค่าเงินก็เป็นได้ นักศึกษาของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่รับทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ เพราะวัฒนธรรมทางนี้ถือว่าหากอายุครบสิบแปดปีก็ควรที่จะหัดหาสตางค์เลี้ยงตัวได้แล้ว แม้คนรุ่นเก่าที่ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังมีประสบการณ์การหาเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบาก ความสุขสบายโดยปราศจากการทำงานหนักจึงเป็นของน่าติเตียนยิ่ง

และถึงแม้จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของโลก ใช่ว่าชาวเยอรมันทุกผู้จะขับรถราคาแพง เพราะทุกเมืองจะพยายามสร้างมาตรการบีบผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นหลัก

ถึงข้าพเจ้าจะสรรเสริญคุณสมบัติข้อนี้ของชาวเยอรมันมาก แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าชาวเยอรมันจะต้านกระแสทุนนิยมไปได้นานเพียงไหน เพราะดูเหมือนว่าเยอรมันทุกวันนี้จะพ่ายแพ้แก่วัฒนธรรมอเมริกันไปเสียแล้ว ดังจะเห็นได้จากร้อยละเก้าสิบของปริมาณภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์นำเข้ามาจากฮอลลีวู้ดเป็นส่วนมาก แม้ภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ผู้จัดรายการก็ซื้อมาจากอเมริกาเสียมาก แม้รายการเกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อข้าวของของดาราภาพยนตร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงก็ดูจะเป็นที่นิยมยิ่งนัก เด็กวัยรุ่นเยอรมันยุคใหม่ก็มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ใช้ติดตัวกันเกือบทุกคน ร้านอาหารจานด่วนอย่างแมคโดนัลด์หรือเบอร์เกอร์คิงก็กลายเป็นที่นัดพบของวัยรุ่น โดยที่กระแสบริโภคเขียวนั้นแผ่วลงไปอย่างที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นโทษภัยของร้านเหล่านี้ ว่าก่อให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าและเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร ก่อให้เกิดการเบียดเบียนชีวิตและทรัพยากรในประเทศยากจนอย่างไรเสียแล้ว

๓. ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น

หากเดินอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งของเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งที่เหมือนกันเห็นจะเป็นความสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย มารยาทในการขับขี่ยวดยานของชาวเยอรมันนั้นถือได้ว่าอยู่ในระดับเรียกว่าผู้ดีได้ น่าสนใจที่ว่าความเคารพในระเบียบวินัยของชาวเยอรมันกลับกลายเป็นเรื่องความเถรตรงอันน่าขบขันสำหรับชนชาติอื่น ไม่ว่าการจะหยุดยืนรอไฟเขียวสำหรับคนเดินถนนถึงแม้จะไม่มีรถยนต์วิ่งผ่านในขณะนั้นเลย และถึงกับมีป้ายร้องขอทำนองว่าหากมีเด็กอยู่ด้วยก็จงสำแดงตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จึงพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยนั้นมิได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ ทำให้มิต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจับผิดหรือตรวจสอบการทำตามกฎหมาย ดังเช่น การประกาศแจ้งทางสื่อวิทยุว่าตำรวจจะตั้งด่านตรวจจับความเร็วหรือตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่บนถนนเส้นไหนบริเวณใด เพื่อที่จะทำให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังตน มิใช่เป็นการเลี่ยงการทำผิด ทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เบาแรงในการเล่นบทโปลิศจับขโมยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

กฎหมายที่บังคับใช้ในเยอรมันมีจุกจิกมากมายยิ่งนัก การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างจริงจัง แต่มิได้อยู่ในข่ายเข้มงวดอย่างที่เรียกว่าถือเอาตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ หากมีการทำผิดระเบียบ หากเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงนัก เจ้าหน้าที่นิยมใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือนมากกว่าจะลงโทษปรับไปแต่ทีแรก และในการติดต่อกับหน่วยงาน แม้เอกสารของผู้ติดต่อจะไม่ครบตามเงื่อนไข หากก็ผ่อนปรนให้นำมาแสดงภายหลังได้ หรือใช้วิธีการตรวจสอบกับอีกหน่วยงานหนึ่งผ่านโทรศัพท์เลยโดยตรง มิพักต้องรอให้ไปเดินเรื่องมาใหม่อีกรอบ นี่อาจจะเรียกว่าเขาให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณของตนในการทำงานมากกว่าว่ากันไปตามเอกสาร และหากผ่อนปรนกันไม่ได้อีกแล้วนั่นแหละเขาจึงจะยกเรื่องระเบียบหรือเอกสารมากล่าวอ้าง

๔. อหังการ

บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าดูข่าวโทรทัศน์รายงานผลการแข่งขันกีฬาที่มีชาวเยอรมันเข้าร่วม และมักจะประหลาดใจว่าหากนักกีฬาเยอรมันได้รับรางวัลแม้ไม่ใช่รางวัลชนะเลิศ ชื่อของผู้ชนะเลิศซึ่งเป็นนักกีฬาชาติอื่นมักจะถูกอ่านผ่านเร็ว ๆ เสียจนฟังแทบไม่ทัน และพออยู่ไปเริ่มจะทึ่งแทนคนเยอรมันเสียแล้วว่า เล่นกีฬาแข่งขันอะไรก็ชนะไปเสียทุกรางวัล เพราะไม่เคยได้ยินว่านักกีฬาชาติอื่นเขาชนะอะไรบ้าง (ฮ่า)

ครั้นดูข่าวสารคดีท่องเที่ยวในประเทศอื่น นอกเหนือจากข้อมูลประเภทคำเตือนที่ว่า ดินแดนเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยคนหิวเงินและนักฉวยโอกาส สาธารณสุขและคุณภาพชีวิตผู้คนก็ต่ำต้อย หากไม่เท่าทันอคติของผู้ถ่ายทำสารคดีแล้ว อาจจะเชื่อได้ง่าย ๆ ว่ายุคพระศรีอาริย์คงมีอยู่เฉพาะดินแดนเยอรมันแห่งนี้เท่านั้น

อำนาจของสื่อที่มีอยู่มากมายในยุคเทคโนโลยีข่าวสารปัจจุบันได้หล่อหลอมให้คนเยอรมันรู้จักโลกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ปลูกฝังวิธีคิดให้เป็นไปในแนวเพ่งวิเคราะห์ผู้อื่นมากกว่าการตรวจสอบตัวเอง ดังเช่น เคยมีคนเยอรมันเดินเข้ามาถามข้าพเจ้าสองสามหนว่าผู้หญิงไทยมาทำอะไรอยู่ในเยอรมันตั้งมากมาย เมื่อเขาตั้งใจถามอย่างที่ตั้งใจจะให้ข้าพเจ้าได้อาย ข้าพเจ้าก็จงใจตอบอย่างที่ให้เขาได้อายเช่นกันว่า ตัวข้าพเจ้าเองนั้นเขาเชิญให้เป็นแขกมาเรียนหนังสือ ส่วนผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเยอรมันนั้นเท่าที่ทราบทั้งหญิงและชายเยอรมันก็ทนกันและกันไม่ได้ ส่วนชายเยอรมันเห็นคุณค่าของผู้หญิงเอเชียจึงได้ไปขอแต่งงาน และหากจะถามว่าทำไมผู้หญิงเอเชียบางคนจึงได้ประกอบอาชีพขายบริการ ข้าพเจ้าก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมชาวเยอรมันจึงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายเงินกับการซื้อบริการทางเพศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แล้วข้าพเจ้าก็เลยถามเขากลับเพิ่มเติมว่านอกจากเมืองพัทยาที่คนไทยเขาไม่นิยมไปเที่ยวแล้วเขาทราบหรือเปล่าว่าประเทศไทยมีเจ็ดสิบกว่าจังหวัด มีขนาดของประเทศใหญ่โตกว่าเยอรมันถึงสองเท่า เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แล้วก็แถมท้ายด้วยคำถามว่าเขาเคยไปแบร์ลีนไหม ไปฮัมบวร์ก หรือมึนเช่นมาหรือยัง เพราะอ้ายเจ้าพวกที่ตั้งคำถามโง่เขลาเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่เคยไปไหน ไม่เคยรู้จักโลกนอกเหนือจากเมืองที่ตัวเองอยู่ ดังจะทดลองถามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ว่า เขาไปไหนมาไหนน้อยมาก หลายคนแทบไม่เคยเดินทางออกจากเมืองที่ตนอาศัยอยู่เลย วิสัยการท่องเที่ยวในช่วงพักร้อนของชาวเยอรมันนั้นเกิดขึ้นในหมู่คนที่ทำงานรับเงินเดือนแล้วเป็นส่วนมาก

และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูง แต่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันมิเคยสำเหนียกของผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย มิเคยตั้งคำถามการที่ได้ทำให้มายอร์คา หรือพัทยา กลายสภาพไปอย่างไร วิถีชีวิตคนท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันมิเคยตั้งคำถามกับตนเอง

แม้การมองว่าพัฒน์พงษ์เป็นถนนคนบาป แต่เยอรมันกลับภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับเรพเปอร์บาห์นในฮัมบวร์ก แถมขนานนามว่าเป็นประตูสู่โลก ยังร้านขายอุปกรณ์ทางเพศที่เปิดกันเกลื่อนกลางเมืองอีกเล่า บ้างก็อยู่ติดร้านอาหาร ร้านกาแฟ คนเยอรมันก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเลยทีเดียว

ใช่ว่าจะมีคนเยอรมันโอหังเช่นนี้อยู่ทั่วไป จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า คนที่มีการศึกษา รู้ความเป็นไปของโลกนั้น สามารถจับผิดและวิเคราะห์สังคมของตนได้อย่างแหลมคม อหังการที่คนเยอรมันมีก็คงเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจากอหังการในสังคมไทยสักเท่าไหร่ ดังที่มีคนถามชายเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณที่ไปแต่งงานอยู่กินกับหญิงไทยว่าในวัยขนาดนี้ทำไมถึงได้มาแต่งงานกับคนรุ่นลูก เขากล่าวตอบว่า ภรรยาชนชาติเดียวกับเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว เขาก็เป็นคน รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว ต้องการครอบครัว ผู้หญิงในเยอรมันคงไม่มีใครแต่งงานกับเขาอีก ในเมื่อเขายินดีแต่งงานกับผู้หญิงไทย จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เลี้ยงดูภรรยาและลูกติดสมตามฐานะ เหตุใดจึงพยายามยัดเยียดข้อหาเฒ่าหัวงูให้กับเขา ฤาสังคมไทยจะยอมรับได้แต่การเป็นภริยาน้อยของสามีไทยเท่านั้น หรือที่มีชายไทยในสังคมไทยเป็นส่วนมากรู้สึกเสียหน้ากับการที่หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่ง ถึงกับชี้หน้ากล่าวหากันเลยว่าเธอเหล่านั้นเห็นแก่ทรัพย์ มิได้มองเลยว่า ร้อยละเก้าสิบของหญิงไทยเหล่านั้น ล้วนถูกชายไทยทอดทิ้ง แถมยังรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวและบุตรไปตามลำพัง จริง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาซับซ้อน ใครเลยจะหาคำตอบสำเร็จรูปมาอธิบายได้ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ ยโสนั้นเป็นเรื่องโง่โดยแท้ทีเดียว

บทสรุป

สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนีนั้นประกอบไปด้วย (๑) หลักเมตตาคุณอันหาที่ประมาณมิได้ (๒) ความสมถะ (๓) ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น และ (๔) อหังการ

ทั้งนี้หลักเมตตาคุณนั้นจักช่วยให้เราไม่ลืมความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แม้ผู้ที่คิดเห็นต่างจากเรา ความสมถะนั้นช่วยให้เราเบียดเบียนโลกด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่นช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยใช้หัวใจร่วมกับสมองมากขึ้น ส่วนอหังการนั้นช่วยให้เห็นอวิชชาและเน้นให้เห็นปัญญาอันเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนชัดเจนขึ้น

หวังใจว่าบทความนี้คงพอจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง และขออนุโมทนาที่กรุณาอ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้

Back to Top