แหวกว่ายในทะเล

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2550

สองปีก่อน เมื่อแรกเข้าประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีหนังสือหลายเล่มที่ต้องไปหาอ่านเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ และการภาวนาบนพื้นฐานศาสนธรรมต่างๆ แต่รายชื่อหนังสือจากการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่ผ่านมาก็ทำให้หนักใจมากพอดู ภูเขาหนังสือคงทับข้าพเจ้าตายเสียก่อนที่จะอ่านได้หมด

อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ในฐานะกัลยาณธรรมได้แสดงทัศนะและกระตุ้นเตือนข้าพเจ้าอยู่หลายครั้งว่า จิตวิวัฒน์มิใช่เพียงองค์ความรู้ในหนังสือ ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิด หากแต่เราต้องกระโดดเข้าไปแหวกว่ายในทะเลแห่งประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

จะด้วยโชคหรือบังเอิญไม่รู้ได้ ไม่นานหลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับกระบวนการที่นำไปสู่การเชื่อมโยงประสบการณ์กับองค์ความรู้ที่พูดคุยกันในกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อคุณกรรณจริยา สุขรุ่ง ผู้ประสานงานโครงการสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นโครงการพี่น้องกับโครงการจิตวิวัฒน์ อยู่ภายใต้แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ซึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นผู้รับผิดชอบขณะนั้น ได้เชื้อเชิญให้เข้าร่วมเวิร์คช็อปติดต่อกันราว ๖ เดือน

เวิร์คช็อปเหล่านี้ประกอบไปด้วย ๑. โยคะ โดย สถาบันโยคะวิชาการ ๒. สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ๓. ผ่อนพักตระหนักรู้ โดย เสมสิกขาลัย ๔. สุนทรียศิลป์ โดย อาศรมศิลป์ ๕. บ้านดิน โดย เครือข่ายบ้านดิน และ ๖. เผชิญความตายอย่างสงบ โดย เครือข่ายพุทธิกา ซึ่งการออกแบบเรียงลำดับเวิร์คช็อปนั้น ได้คำนึงถึงลำดับขั้นพัฒนาการและความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมอย่างเหมาะสมเป็นสำคัญ

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเวิร์คช็อปโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ตัวทั่วพร้อมผ่านฐานกาย เรื่องของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดที่เกิดขึ้นในวงสุนทรียสนทนาภายหลังภาวะความปั่นป่วนสับสนอันมีแบบแผน เรื่องของการมองเห็นใจของตนด้วยกำลังของสติที่เป็นห้วงต่อเนื่องกันไป เรื่องของปัญญาฐานกายที่เชื่อมโยงกับฐานคิดและฐานใจ เรื่องของภาวะสมุหภาพ (Collective) ที่ผุดบังเกิดจากโยงใยความสัมพันธ์ของมิตรภาพระหว่างปัจเจกผ่านกระบวนการทำงานกลุ่ม และท้ายสุดเรื่องของความเข้าใจต่อชีวิตผ่านกระบวนการความตาย เหล่านี้ ได้นำพาให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเข้าสู่ประสบการณ์ที่พ้นไปจากความรู้ในระดับหัวสมอง

เวิร์คช็อปเหล่านี้ได้จัดเตรียมไว้สำหรับกลุ่มสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้สื่อได้เข้ามาสัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะสามารถเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาด้านใน และนำเอาความรู้ว่าด้วยการพัฒนาด้านในบนฐานแห่งความตระหนักรู้และเข้าใจนั้นไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อไปในอนาคต

ข้าพเจ้าเองนั้นเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในเวิร์คช็อปต่างๆ ก็ด้วยความประสงค์ที่จะสัมผัสกับองค์ความรู้ในฐานะประสบการณ์ดังที่มีแรงผลักดันมาแต่แรก เวิร์คช็อปเพียง ๖ ครั้ง ก็ทำให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ในหัวสมองกับสัมผัสอันเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่เป็นเช่นเดียวกับประสบการณ์จากการภาวนา ต่างแต่ว่า กระบวนการในเวิร์คช็อปมีการออกแบบและประยุกต์ให้สมสมัย พ้นไปจากคำต่างด้าวอย่างบาลีและอังกฤษ

เมื่อผ่านพ้นกระบวนการดังกล่าว ผู้เข้าร่วมต่างมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางคนลาออกจากงานไปทำงานอิสระในชุมชนของตน บางคนนำเนื้อหาอันนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและโลกสอดแทรกเข้าไปในงานสื่อของตน บางคนเป็นแกนหลักในการปฏิรูปโครงสร้างสื่อสารมวลชน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสื่อในฐานะมนุษย์ บางคนพยายามนำกระบวนการที่ได้สัมผัสเข้าไปใช้ในองค์กรของตน ขึ้นกับว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับชีวิตของตนเองมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี กระบวนการในเวิร์คช็อปเหล่านี้มิใช่บะหมี่สำเร็จรูป มิได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวของผู้ร่วมอย่างฉับพลันทันที หากต้องอาศัยการทำซ้ำ เพื่อให้เซลล์สมองที่เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลง การทำซ้ำนี้ต้องอาศัยวินัย ซึ่งหมายถึงการฝึกให้เชื่อง

ข้าพเจ้าพบว่า แนวคิดของไถ่ นัท ฮันห์ เรื่องการใช้ชีวิตบนหนทางของการภาวนาโดยมีสังฆะเป็นตาน้ำหล่อเลี้ยงนี้ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนจากกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนที่มาพบปะและรู้จักกันในเวิร์คช็อปที่กล่าวถึงข้างต้น

เวลาผ่านไปปีกว่าแล้ว พวกเขาและเธอยังพบปะกันค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมร้อย เป็นต้นว่า เดินทางไปพบปะเรียนรู้กับปูชนียบุคคลสาขาต่างๆ จัดเวิร์คช็อปไปเรียนรู้ด้วยกัน วางแผน ประสานงาน และช่วยกันส่งข่าวเผยแพร่เรื่องดีๆ เนื้อหาดีๆ ออกไป ดังเช่น การสร้างความเข้าใจเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ การเชื้อเชิญสื่อมวลชนเกือบครึ่งร้อยไปร่วมกิจกรรมภาวนาในวาระการมาเยือนเมืองไทยของไถ่ นัท ฮันห์แทนการไปทำข่าวอย่างฉาบฉวย หรือในอนาคต ก็คือ การสร้างความเข้าใจเรื่อง GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ

พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้หนหนึ่งว่า “ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมือเปื้อนตีนเปื้อน” การปฏิบัติธรรมจึงมิใช่เรื่องของการนั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่ในห้องพระ หรือจิบชาสนทนาเรื่องสันติภาพอยู่ในห้องกระจกติดแอร์กลางสวนดอกไม้ หากต้องเข้าไปสู่ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ต้องเข้าไปสู่ทุกข์ของผู้คนรอบข้าง เรื่องจิตวิวัฒน์ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน

และหากจะมีวิธีสำเร็จรูปในการเข้าใจเรื่องจิตวิวัฒน์อยู่บ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราควรใช้วิธีลงไปว่ายน้ำในทะเลโลกด้วยตนเอง แต่พึงสังวรณ์อย่าให้เป็นการช็อปปิงเวิร์คช็อป หรือเสพติดอัตตาของการสั่งสมประสบการณ์

วิธีเรียนรู้อย่างนี้ดูเหมือนจะมีมาแต่โบร่ำโบราณแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนจึงไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใดเลย

Back to Top