มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2550
นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับเราสาธารณชนคนทั่วไปทั้งหลายในปัจจุบันซึ่งหลงมัวเมาไปกับวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกายภาพ) ที่นำโดยนิวตัน กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยเชื่อว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์เก่าที่ว่านั้น (ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์) เป็นความจริงทั้งหมด อาทิเช่น เฮอเบิร์ต สเป็นเซอร์ (Herbert Spencer) ที่ประกาศว่าธรรมชาติของชีวิต “คือการอยู่รอดของผู้ที่แข็งแรงกว่า” แต่เพียงประการเดียว หรือ ออกัสเต คอมเต้ (Auguste Comte - ผู้นิยามวิชาสังคมวิทยายุคปัจจุบัน) ที่กล่าวว่า โลกและประวัติศาสตร์ของศาสนาได้จบลงไปแล้ว นับแต่มนุษยชาติได้ค้นพบวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ให้ความจริงสุด ท้าย กับให้อนาคตแก่มนุษยชาติ
ในความเห็นของผู้เขียน ความคิดเช่นนั้นชี้บ่งอีโก้หรืออัตตาอหังการ์ของเรา ให้มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล (anthropocentric) ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโลกทัศน์ชีวทัศน์ที่ผิด ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ว่ามานี้ - เชื่อแต่วิทยาศาสตร์โดยโยนทิ้งศาสนา - สร้างความพินาศหายนะให้กับสังคมโลกและระบบนิเวศธรรมชาติของโลก ก่อวิกฤติปัญหานานัปการดังที่เรากำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน
แท้ที่จริงแล้วสำหรับผู้เขียน ศาสนาทุกๆ ศาสนา - ที่มาก่อนวิทยาศาสตร์นานนักหนา - ให้ความจริงแท้ที่สมบูรณ์อย่างยิ่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากไล่กลับไปแล้ว อาจถึงช่วงเวลาที่โลกเราเริ่มมีประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ด้วยซ้ำ เพียงแต่ลัทธิความเชื่อและศาสนาต่างๆ เหล่านั้นมีมาก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการของตรรกะและเหตุผล ทำให้เรา - ส่วนใหญ่ มากๆ - อยู่กับความเชื่อศรัทธาเพียงอย่างเดียวประหนึ่งว่าเป็นคนตาบอด สุดท้ายเมื่อไม่มีเวลาคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งและปฏิบัติศาสนาอย่างที่ควร จึงงมงายอยู่กับกระพี้เปลือกนอกของศาสนาและนับถือว่านั่นคือแก่นแท้ ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น พระหรือนักบวชอันเป็นตัวแทนของศาสนา – ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเช่นมนุษย์ธรรมดาๆ ทั้งหลาย - ที่มีธรรมชาติของความเป็นตัวตนและเห็นแก่ตัวมากขึ้นไปตามวิวัฒนาการทางจิตสู่อัตตาอหังการ์ ผู้หาประโยชน์ใส่ตนบนความไม่รู้หรือไม่มีเวลา และบนความเชื่อศรัทธาของประชาชน ปัญหาอันเกิดจากวิกฤติศรัทธาจึงเริ่มเกิดขึ้นและมีมากขึ้น จนทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกแยะแก่นแท้ของศาสนาออกจากตัวบุคคล โลกจึงก้าวสู่ยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา กระทั่งถึงเวลารุ่งอรุณฟ้าสางทางตรรกะและเหตุผลดังที่เรารู้เราเรียนกัน
ด้วยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่า ศาสนาทุกๆ ศาสนาอาจมีรูปแบบและวิธีการที่เน้นเนื้อหาสาระคำสอนขององค์พระศาสดาผู้ประกาศศาสนานั้นๆ แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติหรือลักษณะที่ศาสนิกนั้นๆ คิดว่า ศาสนาของตนแตกต่างไปจากศาสนาอื่นๆ อย่างไร? ผู้เขียนกลับเชื่อว่า ทุกศาสนามีเเก่นที่ชี้บ่งสัทธรรมความจริงอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่เหมือนกันหรือเป็นเช่นเดียวกัน โดยไม่มีตรงไหนที่ใดผิดเพี้ยนออกไปจากกันหรือแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย และที่กล่าวมานั้น ไมใช่เป็นเพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกศาสนามีเป้าหมายเพื่อสอนให้คนเป็นคนดี อยู่ในศีลอยู่ในธรรม และมีวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรมความดีงาม - อันเป็นสากล – เท่านั้น แต่ผู้เขียนคิดว่า เป้าหมายสุดท้ายของทุกศาสนากับเป้าหมายสุดท้ายของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ - เรามาอยู่ที่นี่ทำไม? - นั้นเป็นเป้าหมายอันเดียวกัน นั่นคือเพื่อตอบว่าสัทธรรมความจริงแท้หรือความจริงสูงสุดคืออะไร? ซึ่งในความคิดของผู้เขียน เป้าหมายของศาสนาหรือเป้าหมายของมนุษย์ชาตินั้นเป็นไปเพื่อให้ความรู้สูงสุด (gnosis) หรือการเรียนรู้ที่มาและที่ไปของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาล รวมทั้งชีวิตและมนุษย์ว่าเป็นมาอย่างไร? สัทธรรมความจริงอันสูงสุด (The Absolute or The Ultimate) ที่มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าแต่ละศาสนานั้นๆ และเราจะเรียกสิ่งสูงสุดนี้ว่าอย่างไร? พระเจ้าในชื่อต่างๆ หรือเต๋า หรือนิพพาน หรืออะไร? สิ่งสูงสุดที่ทั้งเป็นหนึ่งและทั้งเป็นทั้งหมด (The One and The Many) ที่มาจากความว่าง (The Void) ด้วยกันทั้งสิ้น
จริงๆ แล้วนั่นคือองค์ความรู้สูงสุดที่มนุษยชาติแสวงหามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อมนุษย์คนแรกเกิดมีขึ้นมาในโลก - ผลิตผลของวิวัฒนาการธรรมชาติของจักรวาลผ่านห่วงโซ่ของสรรพสิ่งที่รวมชีวิตและมนุษย์ (the great chain of being) – แล้วมองไปรอบๆ ตัว ทั้งแหงนมองดูท้องฟ้าด้วยความพิศวงงงงวยประหม่ากลัว แท้ที่จริงแล้วที่มาของปรัชญาธรรมชาติและที่มาของวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาล้วนแล้วแต่พัฒนาขึ้นมาด้วยการสะท้อนทางตรรกะ (logic or philosophic reflection) หรือมีขึ้นมาเพื่อหาคำตอบต่อความจริงอันสูงสุดที่ว่านั้นทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามนุษย์เราใช้ตรรกะของการสะท้อนแตกต่างกันออกไป นั่นคือ สำหรับผู้เขียนแล้ว เป้าหมายสุดท้ายขององค์ความรู้ทั้งหลายแหล่ที่มนุษย์เรามีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าที่มีมาในอดีต หรือที่มีอยู่ในวันนี้ หรือจะมีในวันหน้าและวันไหนๆ ล้วนแล้วแต่มีที่มาเบื้องต้นที่เดียวกัน และมีเป้าหมายสุดท้ายอย่างเดียวกัน คือหาคำตอบสุดท้ายให้กับมนุษยชาติว่า สัทธรรมความจริงสูงสุดหรือธรรมชาติสูงสุดคือสิ่งใด? เป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ชาติคืออะไร? และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อตอบคำถามว่า - เรามาอยู่ที่นี่ทำไม? – ที่สุดท้ายแล้วเรามนุษย์ทุกผู้ทุกคนก็จะรับรู้ความจริงที่ว่านั้นด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในอดีดตั้งแต่เริ่มต้นของประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ศาสดา อรหันต์ นะบี โยคี อรัญวาสีจำนวนมาก ต่างรับรู้หรือรู้คำตอบที่มีหนึ่งเดียวจากเส้นทางภายในมาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนทั้งนั้น ที่ต่อมาบ้างก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นศาสนา ในขณะที่นักปรัชญาจำนวนมากในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรีกไล่ขึ้นมา พยายามใช้ตรรกะและเหตุผลบนสติปัญญา (intelligence) จากสมอง การครุ่นคิด ที่บางครั้ง ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจ (หรือด้วยสมาธิ) อย่างไม่รู้สึกตัว เพื่อวิเคระห์และสังเคราะห์คำถามและคำตอบต่อความจริงสูงสุดที่ว่านั้นกันอย่างไม่หยุดยั้ง
ตั้งแต่วันนั้นตราบถึงวันนี้ การเดินทางด้วยเส้นทางภายในบางครั้ง รวมทั้งการเดินทางด้วยเส้นทางภายนอกจากสติปัญญาของสมองบนตรรกะและเหตุผลในบางครั้งที่ว่านั่นเอง ทำให้นักปรัชญาแต่ละคนกลายเป็นอัจฉริยะหรือไม่อัจฉริยะ มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป นักปรัชญาที่บางครั้งได้องค์ความรู้จากสมาธิ กับบ่อยครั้งกว่าที่ได้ความรู้จากเหตุผล หรือภายในกับภายนอกบวกกัน ได้ทำให้สัทธรรมความจริงอันสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียว มีความแตกต่างกันเป็นหลากหลาย จวบจนกระทั่ง ณ บัดนี้
นักคิดนักปรัชญาที่ก่อนหน้านั้นเป็นนักเทววิทยาผู้หนึ่ง ที่หลายๆ คนรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นผู้ที่อธิบายที่มากับเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติ หรือสัทธรรมความจริงอันสูงสุดได้อย่างกระจ่างชัด คือ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) มหาปราชญ์คนหนึ่งที่ถามและตอบเช่นที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างบนตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ ๑๙ และต่อมา ศรีอรพินโธได้สาธยายไว้แทบจะเหมือนกัน แม้ในรายละเอียดของส่วนที่สำคัญ
จริงๆ แล้ว ผู้เขียนคิดว่าเฮเกลอาจได้ความคิดส่วนหนึ่งจากญาณทัสสนะ การครุ่นคิดอย่างใจจดใจจ่อหรือการทำใจให้อยู่กับสมาธิอย่างไม่รู้สึกตัว สิ่งที่เฮเกลได้มาจากญาณทัสสนะเช่นนั้น ในส่วนสำคัญถึงเหมือนกับที่ศรีอรพินโธ หรือผู้หนึ่งผู้ใด รวมทั้งอริยสงฆ์ที่เป็นพระป่าหรืออรัญวาสี เช่น หลวงปู่ดูลย์ (อตุโล) หรือหลวงปู่มั่น (ภูริทัตโต) ได้จากการปฏิบัติจิตปฏิบัติสมาธิเป็นเวลายาวนาน นั่นคือ สัทธรรมความจริงที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นพุทธะ เป็นจิตเดิมแท้ที่มาจากความว่าง (หลวงปู่ดูลย์) - ขามาและขากลับ ที่พลาโต้เรียกว่า ขาลง (descent) และขาขึ้น (ascent) - ขามาคือจิตหนึ่ง (The One) ที่ให้ความหลากหลาย (The Many) แห่งสังสารวัฏ และขากลับคือ จากความหลากหลายกลับสู่ความเป็นหนึ่งแห่งพระนิพพาน เพียงแต่เฮเกลจะเรียกจิตหนึ่งว่า ความจริงสุดท้าย (The Absolute) ที่เป็นสิ่งเดียวกับพระเจ้าสูงสุด (spirit) สำหรับเฮเกลแล้ว องค์ความรู้สูงสุดหรือเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาตินั้น ไม่ได้มีข้อจำกัด และมนุษย์เราทุกคนสามารถแสวงหาได้ด้วยตนเองหรือเป็นปรากฏการ์ที่ประสบด้วยตนเอง เพราะเฮเกลคิดว่าเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติ - โดยเหตุผล (ทางโลก) ส่วนหนึ่ง - ก็คือองค์ความรู้ความจริง เมื่อพระเจ้าสูงสุดที่ว่านั้น (ที่อยู่กับเราทุกคน) แสวงหาและค้นพบตัวเอง นั่นคือการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางของมนุษย์ที่มีสามขั้นตอน คือจากความหลับไหลงมงายของจิตใต้สำนึก (sub-consciousness) สู่การตื่นของอัตตาตัวตน (self- consciousness) แล้วตื่นผ่านพ้นตัวตน (transcend) ต่อไปสู่จิตเหนือสำนึก (super-consciousness) ซึ่งสำหรับผู้เขียน นั้นคือระดับธรรมจิต (spirituality) อันเป็นเส้นทางสู่นิพพาน
และนั่นก็เป็นเนื้อหาสาระของการเดินทางสู่เป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติที่แท้จริงของศรีอรพินโธที่กล่าวว่า จิตของมนุษย์ชาติเดินทางผ่านจาก “การรู้ตัวทางกายแบบผิวเผิน (superficial bodily awarenessหรือ sub-consciousness) สู่ระดับจิตรู้ตัวตนและอีโก้ (self-conscious) เมื่ออหังการ์เข้าใจว่าความผิวเผินของรูปกายคือความเป็นเอกภาพสุดท้าย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมนุษยชาติยังต้องเดินทางเพื่อผ่านพ้นอัตตาตัวตนนั้น สู่จิตเหนือสำนึก (super-consciousness) เป็นอกภาพกับจักรวาล
หรือเราอาจพูดได้ว่า วิวัฒนาการของจิตหรือประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหมด คือการตื่นและการเปลี่ยนแปลงของจิต ของสปิริต กลับสู่สปิริต สุดแล้วแต่ว่าแต่ละศาสนาจะแปลคำสปิริต (spirit) ว่าอย่างไร? การตื่นและเปลี่ยนแปลงทางจิต หรือวิวัฒนาการทางจิตที่มีสามขั้นตอนใหญ่ (หรือแปดขั้นตอนย่อยหรือระดับที่นักจิตวิทยาและนักคิดส่วนใหญ่ เช่น เค็น วิลเบอร์ อธิบาย) เราจึงต้องเดินทางเพื่อผ่านพ้นจิตแต่ละระดับเพื่อผ่านไปสู่จิตอีกระดับ
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นชี้บ่งอย่างชัดแจ้งว่า – สำหรับผู้เขียนแล้ว - เป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติก็คือ การเดินทางเพื่อเรียนรู้สัทธรรมสูงสุด และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับองค์ความรู้สูงสุดอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของแต่ละศาสนาและทุกๆ ศาสนามาตั้งแต่หลายพันปีก่อน และตราบใดที่มนุษย์เรายังไม่เรียนรู้หรือรับรู้ความจริงได้ทั้งหมด มนุษยชาติก็จะสิ้นสุดลงไปไม่ได้ มนุษย์เราจะต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อเป้าหมายนั้น - ไม่ว่าตัวตนอหังการ์และอวิชชาจะคร่าชีวิตมนุษย์ไปสักเท่าไรก็ตาม - เพียงแต่ว่าเพราะจิตในระดับที่เรามีอยู่ในวันนี้ อัตตาตัวตนที่ทำให้เราส่วนใหญ่กลัวตาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่เรายังว่ายเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อสปิริตยังไม่ค้นพบกับสปิริตและรวมกันเป็นเอกภาพ ไม่ว่าใครก็ไม่ตาย (ทางจิต) ไปจริงๆ สำหรับผู้เขียนที่เข้าใจพุทธศาสนาจากคำอธิบายของหลวงปู่ดูลย์ที่เชื่อว่าเป็นอรหันต์ จิตดั้งเดิมและพระนิพพานคือพุทธะ คือความว่าง (The Void) ซึ่งเป็นสาระของที่มาและที่ไปของสรรพสิ่งและสัตว์โลกทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ในทุกๆ ศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น