มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” เป็นหนังสือที่ดีที่สุดไม่กี่เล่มที่ผมได้อ่านในรอบห้าปีนี้ เขียนโดย พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ซึ่งเป็นเควกเกอร์ (เควกเกอร์เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาที่เข้าหาศาสนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนักบวช ไม่มีคนที่เป็นสื่อกลาง หากทุกคนเป็นฆราวาสที่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีวัฒนธรรมภาวนาอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ในชีวิตอย่างมีพลัง) หนังสือของพาล์มเมอร์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ครูของณัฐฬส (วังวิญญู) คนหนึ่งมีพาล์มเมอร์เป็นหนึ่งในครูสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
พาล์มเมอร์ยังทำเวิร์คชอป “กล้าสอน” โดยให้คนเข้าค่ายหลีกเร้นใคร่ครวญ เพื่อกลับมาสะท้อนย้อนใคร่ครวญร่วมกันในคณะครู เข้ามาทบทวนความหมายของการเป็นครู วิธีการสอน และที่สำคัญยิ่ง ตัวตนด้านในของครู พาล์มเมอร์พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี หนึ่ง คือ องค์ความรู้ สอง คือ วิธีการสอน สาม คือ ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู หรือคำของพาล์มเมอร์อันเป็นชื่อที่สองของหนังสือ “กล้าสอน” ของเขา คือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”
จากประสบการณ์ของพาล์มเมอร์เอง วิธีการสอนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ตัวตนของครูต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาเคยพยายามลอกเลียนครูของเขา ผู้มีพลังในการสอนมาก แต่ครูคนนี้กลับมีวิธีการสอนแบบอนุรักษ์นิยมธรรมดา คือ จะบรรยายอย่างยืดยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ทิ้งเวลาให้ถามตอบกันเลยด้วยซ้ำ แต่ครูกลับเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง เขาพยายามลอกเลียนครูทุกอย่าง แต่ผลคือความล้มเหลว กว่าจะรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร ต้องเสียเวลาไปเป็นทศวรรษ ตอนหลัง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอน หากยังคงพลังอะไรบางอย่างของครูคนนี้ไว้ในท่วงทำนองการสอน เขาจึงพบ “มหาวิชา” แห่งการสอน และเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม ทำหลักสูตรเวิร์คชอปให้ครูมาเรียนแปดครั้งๆ ละสามสี่วัน ในช่วงเวลาสองปี งานของเขาแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา ๓๒ รัฐ สร้างกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) ได้ถึง ๑๕๐ คน และเวลานี้ได้มีหลักสูตร “กล้านำ” เพิ่มเข้ามา เพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มิใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และยังเชื่อมโยงศิษย์เข้าหาองค์ความรู้ได้อีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เควกเกอร์เป็นนิกายที่ลงลึกในเรื่องศาสนธรรม คนกลุ่มนี้นิยมสันติวิธีหรือสันติวิถี แม้ยอมตายแต่ไม่ยอมเข้าสงคราม คงเป็นเพราะฐานเดิมบางประการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ ทำให้ข้อสาม คือ การทำงานกับโลกภายในของครู กลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้
พาล์มเมอร์กล่าวว่า ทำไมเด็กนักเรียนจึงชอบครูคนใหม่ ที่เพิ่งจะมาเป็นครู หรือบรรดาพวกครูฝึกหัดทั้งหลาย ผมเองได้ใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นเริ่มต้นกับเวิร์คชอปที่จัดให้บรรดาครู ซึ่งผมทดลองมาแล้วสองเวิร์คชอป มันชวนให้ครูได้ไปใคร่ครวญอะไรบางอย่างว่า ทำไมเด็กจึงรักครูคนใหม่ของเขา คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสรุปกันจากการสนทนาในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออว่า ครูคนใหม่ยังไม่ได้เป็นครูอย่างครูเก่า ซึ่งจะมี “มาดของครู” ที่ซึ่งเด็กจะกลัว และมีอำนาจลี้ลับที่จะสะกดเด็กให้อยู่ในอำนาจได้ สามารถจัดการห้องเรียนได้เรียบร้อย คือ เด็กจะเคารพเชื่อฟังครู แต่ครูคนใหม่ยังไม่มีอำนาจนี้ ยังเป็นครูธรรมดาที่เปราะบาง อ่อนแอ บางทีจัดการนักเรียนไม่อยู่ก็ร้องไห้หน้าห้องเรียนนั้นเอง แต่แล้วเด็กจะรักและจะให้ความร่วมมือ ครูหลายคนที่มาร่วมเวิร์คชอปกับผมบอกว่า พวกเขาพากันรักครูคนใหม่ของเขา และเลยไปถึงรักวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย
ตอนผมไปอยู่หมู่บ้านเด็ก ทำงานร่วมกับ พิภพ ธงไชย ในปีแรกของโรงเรียนแห่งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะว่า ให้ไปอยู่กับเด็กโดยไม่ต้องใช้อำนาจ มันทำให้ผมคิดถึงว่า อำนาจที่แท้จริงของครูคืออะไร? ไม่ใช่ไม้เรียว หรือคะแนน ผมได้ใคร่ครวญโจทย์ข้อนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้เป็นครูสมใจ หากแต่เป็นครูนอกระบบโรงเรียน ผมอาจจะพบคำตอบ แต่งานเขียนของพาล์มเมอร์ได้ทำให้คำตอบนั้นชัดเจน และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
พาล์มเมอร์พูดถึงการเชื่อมโยงกับเด็กได้ แล้วนำพาเด็กไปเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนด้วย ต้องเข้าหา เข้าถึงวิชาที่สอน จนองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นเลือดเนื้อของครูเอง ส่วนวิธีการสอน กระบวนการสอน ครูแต่ละคนอาจจะต้องหาทางเข้าหาความเหมาะสมลงตัว ยืดหยุ่นและผันแปรได้ตามความถนัดหรือตามอัตลักษณ์ของครูแต่ละคนเอง
พาล์มเมอร์พูดถึงครูคนหนึ่งที่อยู่ข้างใน (Inner teacher) ว่า เราต้องค้นหาครูภายในของเราให้พบ ในฐานะนักเรียนวอยซ์ ไดอะล็อค ผมคิดว่า ครูภายในที่ว่านี้ เชื่อมโยงอยู่กับเด็กน้อยผู้เปราะบางของ ดร. สโตน สองสามีภริยา (Dr. Hal & Sidra Stone) ทั้งสองได้กล่าวถึงสรรพคุณของเด็กน้อยผู้เปราะบางที่ดำรงตนอยู่ภายในเราไว้ว่า หนึ่ง เด็กน้อยมีความสามารถที่จะสนิทสนม เมื่อเราเปราะบาง เรายอมรับความอ่อนแอของเรา ความกลัวของเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นครูคนใหม่ตลอดกาล ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม?
สอง เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ตัวตนดั้งเดิมของเรา (ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปบางคนได้โยงเข้ากับจิตเดิมแท้อันประภัสสร หรือเรืองแสง) ทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ชอบอะไร ซึ่งอาจจะช่วยนำพาให้เราไปสอนในสิ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงได้จนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่ง เราอาจจะสามารถเชื่อมโยงเด็กให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือปรัชญา และทำให้เด็กรักในสิ่งที่เรารักไปได้ด้วย
สาม เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ผู้ที่ตื่นตะลึง ทึ่งกับทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้า ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ด้วยสภาวะจิตที่พร้อมจะเรียนรู้สูงสุดอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกกันว่า สภาวะจิต หรือสมอง ที่เราจะสามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)
สี่ เด็กน้อยผู้เปราะบาง ยังมีแผนที่ทางจิตวิญญาณติดตัวมา เมื่อเราเข้าไปแตะตัวเด็กน้อยในตัวเราได้ เราจะเห็น “แผนที่ทางจิต” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychic fingerprint” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไพเราะที่สุดในโลกคำหนึ่ง (คำของ ดร. สโตน เอง) และเราจะแจ้งใจซึ่งทางเดินแห่งจิตวิญญาณของเรา เราจะได้เห็นว่า ครูไม่ได้เพียงสอนวิชาเท่านั้น หากยังสอนมหาวิชา หรือวิชาว่า ด้วยการเติบโตด้านใน ด้านจิตวิญญาณอีกด้วย
One Comment
ขอบพระคุณค่ะ สำหรับบทความที่ เสริมแรงบันดาลใจ
แสดงความคิดเห็น