เมื่อเล็กๆ น้อยๆ คือความยิ่งใหญ่ และผู้ให้คือผู้รับ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2552

ชื่อบทความฟังดูเหมือนจะขัดแย้งกันในความหมาย เพราะถ้าคิดแบบง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็คือ เล็กๆ น้อยๆ จะยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ผู้ให้ก็คือผู้ให้ จะเป็นผู้รับได้อย่างไร จริงไหม

แต่ถ้าลองสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ให้เวลาในการใคร่ครวญ ทบทวนอย่างลึกซึ้ง เราก็สามารถที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งทางภาษาได้

การให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่คุ้นชิน การก้าวข้ามออกจากคำจำกัดความเดิมที่คับแคบและดูเหมือนจะชัดเจนตามภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงจะเรียนรู้ด้วยความกล้าหาญ อย่างมีสติใช่หรือไม่ เพื่อที่เราจะได้ไม่ติดกับความคุ้นชินของเราเองแบบถอนตัวไม่ออก

การสร้างและการขยายความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในมุมมองของความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น จะช่วยเปิดโลกทัศน์ที่จำกัดและคับแคบของเราให้รอบด้าน กว้างไกล และลุ่มลึกมากขึ้น ใช่หรือไม่

ถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การแสวงหาเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นและสรรพสิ่ง ก็น่าจะเป็นทิศทางที่สมเหตุสมผลมากกว่าการแยกสิ่งนั้นออกมาแล้วให้ความหมายจำกัดเฉพาะตัว ยกเว้นมีจุดหมายเฉพาะ ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะหนึ่งใด ซึ่งผู้ให้คำจำกัดความนั้นก็ต้องมีสติรู้เท่าทันความเฉพาะเหล่านั้น

มนุษย์ควรเป็นผู้เรียนรู้และสร้างความหมายให้กับชีวิตและสรรพสิ่ง หรือเป็นผู้จำกัดความหมาย... หรือยอมให้ถูกจำกัดความหมาย

ลองใคร่ครวญทบทวนดู

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวันเป็นเวลา ๕ วัน ร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐-๒๔ พ.ค. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา และประสบการณ์การขับเคลื่อนโครงการอบรมเพิ่มขีดความสามารถของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในการพัฒนาการบริหารจัดการกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย ๒๕ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่โรงงานรีไซเคิลของฉือจี้ เราได้เห็นอาสาสมัครทำงานอย่างมีความสุข เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ แม้ดูเหมือนจะเป็นงานเล็กๆ และดูเหมือนจะไม่คุ้มกับเวลาและแรงงานที่ลงไปเลย ผลผลิตต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ ตามความหมายของเศรษฐศาสตร์และการบริหารจัดการยุคใหม่ภายใต้กระบวนทัศน์เศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

เราเห็นอาสาสมัครผู้หญิงสวมแว่นตาใช้กรรไกรค่อยๆ ตัดกระดาษเพื่อแยกส่วนที่ไม่มีหมึกพิมพ์ (ตัวอักษรหรือรูปภาพ) ออกมา เราเห็นอาสมัครผู้ชายถอดชิ้นส่วนของพัดลมที่มีคนนำมาบริจาคทีละชิ้น เพื่อแยกพลาสติก เหล็ก สายไฟ... ชิ้นส่วนไหนซ่อมได้ก็จะนำไปซ่อม ชิ้นส่วนไหนยังใช้ได้ก็จะนำไปประกอบใหม่เพื่อนำไปมอบให้ผู้ยากไร้ที่มีความต้องการ

เราเห็นแต่ละคนช่วยกันทำงานเสมือนงานเป็นครู จึงตั้งใจเรียนรู้และทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยความเต็มใจ เราเห็นแต่ละคนช่วยกันทำงานเสมือนงานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางจิตใจสำหรับผู้ปฏิบัติ

วิธีคิดและวิถีปฏิบัติของฉือจี้เป็นการสร้างคุณค่า และคุณค่าเพิ่มให้ผู้ปฏิบัติ เป็นการสร้างมูลค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เป็นการสร้างคุณค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับผู้รับ สิ่งแวดล้อม และสรรพสิ่ง

จึงไม่แปลกที่เราได้สัมผัสความอิ่มเอิบใจในการทำงานของอาสาสมัครเหล่านั้น

ระหว่างที่ดูก็จะมีอาสาสมัครฉือจี้บรรยายแบบลงรายละเอียด ไม่รีบร้อน เสียงใสๆ หน้าตายิ้มแย้มบ่งบอกความยินดีที่มีคนมาเยี่ยมชม ในคำบรรยายตลอดเวลาจะให้มุมมองที่หลุดไปจากความคุ้นชินของคนโดยทั่วไป เช่น การนำกระดาษมารีไซเคิล ช่วยลดการทำลายต้นไม้ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน นำขยะกระดาษที่ไร้ราคามาผลิตและแปรรูปใหม่ จำหน่ายได้ราคาและมีคุณค่าเพิ่มทางจิตใจของผู้ทำและผู้ซื้อ เพราะเงินที่ได้นำไปช่วยผู้ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ทำได้ทำความดีงาม (ได้บุญ) ผู้ซื้อก็ได้ประโยชน์เชิงใช้สอย และที่สำคัญได้บุญด้วย

การตัดกระดาษสีขาวออกจากส่วนที่มีหมึกพิมพ์ ช่วยลดการใช้นํ้าและการใช้สารเคมีในการฟอกขาว ลดสารเคมีปนเปื้อนลงไปในดิน ในแม่นํ้า ลำคลอง และทะเล ทำให้สภาพแวดล้อมมีความปลอดภัยสำหรับคน สัตว์ และสรรพสิ่ง... การทำงานเล็กๆ ที่พวกเราเห็นช่างมีความหมายและคุณค่าที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับพวกเขา

จึงไม่แปลกที่พวกเขาดูมีความสุขและตั้งใจทำงานเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น โดยที่พวกเขาไม่ได้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินแม้แต่น้อย แถมต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางมาทำงาน ค่าชุดทำงาน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว... เพื่อจะได้มาทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก ต่อสภาพแวดล้อมและชนรุ่นหลัง ช่างเป็นมุมมองที่ยิ่งใหญ่และกว้างไกลเหลือเกิน

สิ่งตอบแทนที่ได้คือคุณค่าทางจิตใจ มีความสุขใจที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือโลกและสรรพสิ่ง คุณค่าของตนเองอยู่ที่การได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

การนำสิ่งของไปมอบให้ผู้ประสบภัยและผู้ยากไร้ ผู้มอบจะแสดงความเคารพและขอบคุณผู้รับด้วยความนอบน้อมถ่อมตน คำอธิบายที่น่ารักคือ ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ (เพราะมีเขา เราจึงได้ทำบุญ) ช่างเป็นวิธีคิดที่อ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน และให้คุณค่าต่อผู้รับมอบเหลือเกิน
ผู้ให้คือผู้รับ ผู้รับคือผู้ให้... ช่างเป็นการให้ความหมายใหม่ที่ลุ่มลึกที่หลุดออกไปจากความหมายเดิมของผู้ให้ และผู้รับที่เราคุ้นชิน นั่นคือ ผู้ให้คือผู้ให้ (ผู้มีบุญคุณ) ผู้รับคือผู้รับ (ผู้เป็นหนี้บุญคุณ)

ขอบคุณมูลนิธิฉือจี้ที่ให้ความหมายและมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ในความหมายที่ใหม่และกว้างไกลกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์เล็กๆ ส่วนหนึ่งจากการขับเคลื่อนจิตตปัญญาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กับกิจกรรมเล็กๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมออกไปหามุมสงบของตัวเองในสวนโดยไม่พูดคุยกับใคร แต่ให้สังเกตความเป็นไปและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏต่อหน้าประมาณ ๒๐นาที โดยไม่รีบร้อนที่จะสรุปหรือตัดสินจากประสบการณ์เดิม แล้วกลับมาเล่าสิ่งที่ตนเองสังเกตให้กลุ่มฟัง ในตอนท้ายมีการสรุปสะท้อนบทเรียน และต่อไปนี้คือข้อสรุปสั้นๆ ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์เล็กๆ เพียง ๒๐ นาทีของผู้เข้าร่วมอบรมบางคน เป็นข้อความสั้นๆ เล็กๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้ง

“ผมสังเกตเห็นลมหายใจของสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัว” “ในความเรียบง่าย เห็นความงดงามของธรรมชาติ” “กิ่งไม้เล็กๆ ที่ร่วงหล่น ก็อาจกลายไปเป็นรังนก” “การพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” และที่ชอบมากคือ “ใบไม้แห้งให้ความเจริญงอกงามกับชีวิต ใบไม้แห้งมิใช่ใบไม้แห้ง และเราก็มิใช่เราอีกต่อไป”

ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมเล็กๆ นี้จะมีความหมายที่ยิ่งใหญ่สำหรับหลายๆ คนที่เข้าร่วมอบรม มันเป็น ๒๐ นาทีของชีวิตใหม่ เป็น ๒๐ นาทีของความหมายใหม่ของสิ่งเก่า

กิ่งไม้เล็กๆ ที่ร่วงหล่นก็กลายไปเป็นรังนกที่พยุงและโอบอุ้มชีวิตใหม่ ใบไม้แห้งก็กลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ เป็นที่หลบแดดหลบฝนให้กับอีกหลายชีวิตเล็กๆ... ใบไม้แห้งมิใช่ใบไม้แห้งอีกต่อไป...

เล็กๆ น้อยๆ คือความยิ่งใหญ่... ผู้ให้คือผู้รับ...

Back to Top