มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2552
เหนือกรุงปักกิ่งมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปชม ได้แก่สุสานราชวงศ์หมิง ยกเว้นสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีแล้ว สุสานราชวงศ์หมิงนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน เพราะนอกจากอยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีความยิ่งใหญ่อลังการทั้งด้านขนาดและวิจิตรศิลป์ เนื่องจากส่วนใหญ่สร้างในช่วงที่ราชวงศ์นี้ยังเรืองอำนาจและว่างเว้นจากสงคราม
ในบรรดาสุสานของจักรพรรดิ ๑๓ พระองค์ที่จับกลุ่มอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ มีเพียงสุสานเดียวที่ทางการได้ขุดสำรวจเรียบร้อยแล้ว ได้แก่สุสานติ้งหลิงของจักรพรรดิองค์ที่ ๑๓ คือจักรพรรดิวั่นลี่ (ค.ศ.๑๕๖๓-๑๖๒๐) สุสานแห่งนี้จัดว่าวิจิตรอลังการมากที่สุด ผู้ที่เข้าไปชมสุสานแห่งนี้นอกจากจะต้องเดินผ่านลานด้านหน้าและซุ้มประตูหลายซุ้มแล้ว ยังต้องลงบันไดลึก ๓๐ เมตรกว่าจะถึงวังใต้ดิน และต้องผ่านประตูหินขนาดใหญ่หลายบานซึ่งในอดีตถูกปิดตาย
ในวังใต้ดินซึ่งมีห้องโถงใหญ่สามห้อง นอกจากบรรจุพระศพของจักรพรรดิและพระมเหสีกับพระสนมแล้ว ยังมีบัลลังก์หินอ่อนสามบัลลังก์ และสมบัติของจักรพรรดิอีกมากมาย รวมทั้งมงกุฎทองคำและเครื่องราชูปโภคที่ทำอย่างวิจิตรบรรจง รวมแล้วหลายพันชิ้น
วังดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการบุกรุกและลักขโมย ดังนั้นจึงสร้างประหนึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน นอกจากนั้นยังมีประตูพิเศษที่ลั่นดาลด้วยตนเองจากด้านใน เมื่อปิดแล้วก็ไม่สามารถเปิดได้อีก เท่านั้นยังไม่พอ ทางเข้าวังยังปกปิดไว้เป็นความลับ กล่าวกันว่าช่างที่ออกแบบและสร้างทางเข้าดังกล่าวถูกฆ่าปิดปากทันทีที่บรรจุพระศพเสร็จ ส่วนผู้ที่ฆ่านั้นก็ไม่วายถูกฆ่าอีกทอดหนึ่ง เป็นเช่นนี้อยู่หลายทอด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครที่ล่วงรู้ความลับดังกล่าวหลงเหลือแม้แต่คนเดียว
สมบัติมากมายประมาณค่ามิได้เหล่านี้ถูกเก็บไว้ในสุสาน ก็ด้วยความเชื่อว่าจะตามไปอำนวยสุขให้แก่จักรพรรดิอย่างพรั่งพร้อมในภพหน้า ดังนั้นจึงต้องป้องกันรักษาอย่างเต็มที่ไม่ให้ใครขโมยไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไร้ผล เพราะเมื่อทางการจีนสามารถเข้าไปในวังใต้ดินได้สำเร็จเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ได้พบว่าสมบัติหลายชิ้นในนั้นถูกขโมยไปแล้ว แม้กระนั้นก็ยังเหลืออีก ๓,๐๐๐ ชิ้นที่ต่อมาถูกย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์
จักรพรรดิวั่นลี่เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพนั้น ทรงหมกมุ่นในกามสุข เอาแต่เสวยน้ำจัณฑ์และมัวเมาในเพศรส ไม่ใส่ใจราชการแผ่นดิน ปล่อยให้ขันทีและขุนนางกังฉินขึ้นมาเป็นใหญ่ ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงและรีดนาทาเร้นราษฎรจนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ความตายดูเหมือนจะไม่ทำให้พระองค์สำนึก เพราะคิด(หรือหวัง) ว่าถึงตายไปแล้วก็ยังสามารถเสวยสุขได้ต่อไปในภพหน้า ดังนั้นจึงสะสมทรัพย์สมบัติไม่หยุดยั้งเพื่อเอาไว้ใช้ต่อในปรโลก
แต่ความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้แม้แต่อย่างเดียว เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ ทรงมีอำนาจล้นฟ้า เป็นเจ้าชีวิตของผู้คนนับร้อยล้าน แต่เมื่อสิ้นลมแล้ว แม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ยังรักษาหรือหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ไม่ได้เลย
ความยึดติดถือมั่นว่า “ของกู” นั้นฝังลึกมากในใจของผู้คน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าตัวเองจะต้องตายก็ยังไม่ยอมปล่อยวางทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ยังยึดมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นยังจะต้องเป็น “ของกู” ต่อไปในปรโลก จึงพยายามหวงแหนเอาไว้อย่างถึงที่สุด จักรพรรดิองค์แล้วองค์เล่าพยายามสร้างสุสานหรือวังใต้ดินให้ซับซ้อนยิ่งกว่าองค์ก่อนๆ แต่ก็ไม่เคยประสบผล ไม่มีสุสานใดเลยที่ปลอดพ้นจากการบุกรุกและลักขโมย
มิใช่แต่ “ของกู” เท่านั้น ความยึดติดถือมั่นว่า “ตัวกู” ก็ฝังลึกในจิตใจของผู้คนด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่ว่าสุสานเหล่านี้สร้างขึ้นจากแรงขับภายในของจักรพรรดิที่ต้องการเป็นอมตะ จริงอยู่ร่างกายไม่มีวันคงทน ในที่สุดย่อมต้องเสื่อมสลายไป แต่สิ่งที่จักรพรรดิและผู้คนทั้งหลายปรารถนาในส่วนลึกก็คือ ความยั่งยืนของ “ตัวกู” ที่สืบเนื่องไปถึงภพหน้า แม้ตายไปแล้วก็ยังมี “ตัวกู” เป็นผู้รับรู้และเสวยสุขต่อไปได้อีก ดังนั้นนอกจากจะหวงแหนทรัพย์สมบัติทั้งหลายเอาไว้เป็น “ของกู” ต่อไปในยามที่หมดลมแล้ว ยังต้องการให้ทายาทและข้าราชบริพารเซ่นไหว้ต่อไปชั่วกาลนาน โดยมีประเพณีพิธีกรรมที่ซับซ้อนเป็นเครื่องกำกับ รวมทั้งการวางผังและออกแบบสุสานตลอดจนลวดลายเครื่องประดับให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย เพื่อบันดาลสิริมงคลแก่เจ้าของสุสานไปชั่วนิรันดร์
อย่างไรก็ตาม “ตัวกู” ไม่ได้ต้องการเป็นอมตะอย่างเดียวเท่านั้น หากยังต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” ด้วย มิใช่ด้วยการแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการแสดงยศศักดิ์อัครฐาน สำหรับจักรพรรดิจีน ความยิ่งใหญ่ของสุสานเป็นเครื่องประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” อีกอย่างหนึ่ง จักรพรรดิวั่นลี่ทรงมีบัญชาให้สร้างสุสานสำหรับพระองค์เองตั้งแต่มีพระชนม์ ๒๒ พรรษา แม้อยู่ในวัยหนุ่ม ยังห่างไกลจากความตาย แต่หลังจากที่ทรงครองราชย์มาได้ ๑๓ ปี ก็คงตระหนักแล้วว่าเพียงกามสุขเท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่ทรงต้องการมากกว่านั้นคือการประกาศความยิ่งใหญ่ จึงทรงสร้างสุสานอันมโหฬารขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งสุสานมิใช่หลักประกันความสุขสำหรับภพหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” ในภพนี้ด้วย
ความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” นั้น นอกจากแสดงออกด้วยวัตถุ เช่น สุสาน วัง คฤหาสน์ หรือบ้านเรือน แล้ว ยังวัดกันด้วยชื่อเสียงอีกด้วย ยิ่งมีชื่อเสียงขจรขจายกว้างไกลเพียงใด ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า “ตัวกู” นั้นยิ่งใหญ่หรือโดดเด่นมากเพียงนั้น คนเรานั้นมีทรัพย์สินมากมายเพียงใดก็ยังไม่รู้สึกพอ แต่ยังต้องการความยิ่งใหญ่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจาก “ของกู” แล้ว “ตัวกู” ยังต้องการยืนยันให้คนอื่นรู้ว่า “นี่กูนะ” อีกด้วย
“นี่กูนะ” เป็นแรงปรารถนาที่ทรงพลังมาก ในด้านหนึ่งมันทำให้เราต้องการเป็นใหญ่หรือโดดเด่นเหนือผู้อื่น (หากอวดเบ่งไม่ได้ผล ก็ต้องอ้างบารมีของพ่อหรือย้อนถามว่า “รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร”) แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสภาพต่ำต้อยหรือไร้ชื่อเสียงเรียงนาม โดยเฉพาะในยุคนี้ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ทรมานได้เท่ากับการเป็น nobody เพราะนั่นไม่ต่างจากการอยู่เหมือนคนตาย ถึงแม้จะมีกินมีใช้สะดวกสบายก็ตาม ไม่มีวิธีใดที่จะทำร้ายจิตใจของผู้คนได้มากเท่ากับการทำกับเขาประหนึ่งว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ ใช่หรือไม่ว่า นั่นคือสาเหตุที่ผลักดันให้ผู้คนมากมายเลือกที่จะปลิดชีวิตตนเองมากกว่าที่จะทนอยู่ในสภาพดังกล่าว
มีกินมีใช้อย่างเดียวไม่พอ เราทุกคนยังต้องการเป็น somebody นั่นคือเป็นที่ยอมรับหรืออย่างน้อยก็เป็นรู้จักของผู้คน ยิ่งมากยิ่งดี ชื่อเสียงจึงเป็นยอดปรารถนาของผู้คนในเวลานี้ อะไรที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง ก็ยอมทำทั้งนั้น หากเด่นในทางดีไม่ได้ ก็พร้อมจะเด่นในทางที่เลว เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าการทนอยู่ในสภาพ “ตายทั้งเป็น” ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะต้องฆ่าคนสักกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่ากว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เขาก็ต้องลงมือฆ่าไปแล้วหกคน
ยังดีที่สำนึกทางศีลธรรมทำให้คนส่วนใหญ่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้วิธีที่โหดร้ายดังกล่าวเพื่อประกาศตัวตนให้โลกรู้ แต่หันไปใช้วิธีอื่นแทน มีวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในเวลานี้และพบเห็นได้ไม่ไกลจากสุสานราชวงศ์หมิง ห่างออกไปไม่ถึง ๒๐ กม. คือกำแพงเมืองจีนที่พาดผ่านเหนือกรุงปักกิ่ง ความยิ่งใหญ่โด่งดังของกำแพงแห่งนี้ดึงดูดคนทั้งแผ่นดินจีนและจากทุกมุมโลกไปเยี่ยมเยือนนับล้านคน เมื่อปีนขึ้นไปได้ไม่กี่สิบเมตร สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือเส้นสายลายมือบอกชื่อแซ่ที่เปรอะเปื้อนตลอดแนวกำแพง ยิ่งผนังภายในหอคอยหรือเก๋งจีนด้วยแล้ว ชื่อแซ่ทุกสีทุกขนาดและทุกภาษาจะปรากฏอย่างโดดเด่นเต็มตา ตรงไหนที่มีคนเดินผ่านมาก ก็ยิ่งมีชื่อแซ่เปรอะเปื้อนมากเท่านั้น
ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้ทิ้งชื่อแซ่ของตนเอาไว้เป็นที่ระลึกอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อประกาศตัวตนให้คนอื่นรับรู้ และที่ใดเล่าจะมีผู้คนรับรู้ถึงการประกาศนั้นได้มากเท่ากับที่กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ ๑ ใน ๗ ของโลก มองให้ลึกลงไป เขาไม่เพียงต้องการประกาศชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองเท่านั้น หากยังต้องการบอกว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”
ที่น่าคิดก็คือ ลำพังตัวเขาเองไม่เพียงพอหรือที่จะยืนยันว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ” ทำไมถึงต้องให้คนอื่นร่วมรับรู้หรือเป็นสักขีพยานด้วย เป็นไปได้หรือไม่ว่าในส่วนลึกของจิตใจเราทุกคนสงสัยว่า “ตัวกู” มีอยู่จริงหรือ หรือว่า “ตัวกู” เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง มองในแง่ของพุทธศาสนา ความสงสัยดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วอัตตาหรือ “ตัวกู” นั้นหามีจริงไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาหรือยึดมั่นเอาเองว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ว่าจะยึดอะไรเป็นตัวตน ในที่สุดก็พบว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนอันเที่ยงแท้ยั่งยืนได้เลย แม้กระทั่งร่างกาย หรือจิตใจ จริงอยู่ในชีวิตประจำวันเรามักสำคัญตนว่า “กู” เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นพ่อ เป็นลูก เป็นคนไทย แต่บ่อยครั้งจะพบว่า “ตัวกู” หรือความสำคัญตนเช่นนั้นไม่เคยคงที่หรือคงตัวเลย หากแปรเปลี่ยนไปเสมอ สุดแท้แต่เหตุการณ์หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แม้แต่ความสำคัญตนว่า “กู” เป็นคนไทยก็หายไปเมื่อเจอคนบ้านเดียวกัน เกิดความสำคัญตนว่า “กู” เป็นคนขอนแก่นหรือภูเก็ตมาแทนที่
ความไม่เที่ยงแท้คงทนของ “ตัวกู” นี้เองที่ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า “ตัวกู” นั้นมีจริงหรือไม่ แต่หากจะยอมรับความจริงว่า “ตัวกู” ไม่มีอยู่จริง “ตัวกู” ก็ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นมันจึงพยายามทุกอย่างที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มายืนยันว่า “ตัวกู” มีจริง ยิ่งมีผู้คนยืนยันมากเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจหรือหายสงสัยมากเท่านั้น การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นวิธีหนึ่งที่จะยืนยันกับตนเองว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง ในทางตรงข้าม การไม่มีใครรู้จักหรือไม่อยู่ในสายตาของคนอื่นเลย เท่ากับตอกย้ำความสงสัยว่า “ตัวกู” ไม่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก ดังนั้นการพยายามเผยแพร่ชื่อเสียงของตนจึงเป็นเรื่องใหญ่มากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง คงไม่มีวิธีใดที่ง่ายและสะดวกเท่ากับการทิ้งลายมือชื่อแซ่ไว้ตามที่สาธารณะ (รวมทั้งฉีดสเปรย์ตามกำแพงริมถนน) เพื่อยืนยันว่า “นี่กูนะ” หรือ “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”
“ตัวกู” นั้นกลัวความขาดสูญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นมันจึงปรารถนาความเป็นอมตะ แต่หากจะต้องตาย ก็หวังว่าจะมีโลกหน้าเพื่อให้ตัวตนได้สืบต่อ แต่ถ้าไม่เชื่อโลกหน้า ก็ยังหวังว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง” เพราะหากยังมีชื่อเสียงปรากฏแม้สิ้นลมไปแล้ว ก็เท่ากับว่าตนยังไม่ตาย (ความเชื่อดังกล่าวสะท้อนชัดเจนจากคำกล่าวของลองเฟลโลว์ กวีอเมริกันเมื่อพูดถึง ไมเคิล แองเจโล ว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน”) ด้วยเหตุนี้คนเราจึงกลัวที่จะถูกลืมหลังตาย (อาจกลัวถูกลืมมากกว่ากลัวตายด้วยซ้ำ)
แต่ที่ “ตัวกู” กลัวยิ่งกว่านั้น ก็คือกลัวความจริงว่า “ตัวกู” ไม่มีอยู่จริง นี้คือปัญหาที่รบกวนจิตใจของผู้คนทั้งๆ ที่ยังห่างไกลจากความตาย ดังนั้นจึงพยามทำทุกอย่างเพื่อยืนยันว่า “ตัวกู” นั้นมีอยู่จริง อาทิ การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักให้มากที่สุด รวมถึงการแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจเพื่อเติมเต็มความรู้สึกพร่องอันเนื่องจากความสงสัยในความว่างเปล่าแห่งตัวตน (อนัตตา)
จักรพรรดิประกาศตัวตนและสนองความต้องการเป็นอมตะด้วยการสร้างสุสาน ส่วนคนเล็กคนน้อยที่ไม่สามารถสร้างอนุสาวรีย์ให้ตนเองได้ ก็มีวิธีประกาศให้ผู้คนรู้ว่า “นี่กูนะ” ด้วยการทิ้งชื่อเสียงเรียงนามไว้บนกำแพงเมืองจีนและสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรและจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนาน ก็ยิ่งมีหวังว่าตนเองได้เป็นอมตะตามไปด้วย
แต่ความพยายามทั้งหมดนี้ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า “ตัวกู” นั้นหามีจริงไม่ และไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืนเลยแม้แต่อย่างเดียว
แสดงความคิดเห็น