เดินอินเดีย



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2552

อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกับกลุ่มจิตวิวัฒน์เป็นครั้งที่สองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ครั้งแรกอาจารย์มาเล่าเรื่อง “การเดิน” ของท่านจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ครั้งที่สองอาจารย์กลับมาเล่าเรื่อง “การเดินทาง” ของท่านอีกครั้ง

ครั้งนี้ท่านเดินทางครึ่งประเทศอินเดีย

แม้ว่าครั้งนี้อาจารย์จะไม่ได้ใช้วิธีเดินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ดูคล้ายประสบการณ์ที่ท่านได้ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ท่านเดินทางไปในประเทศอินเดียด้วยเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากการเขียนหนังสือเรื่องการเดินในครั้งแรก โดยตั้งปณิธานไว้แต่แรกว่าครั้งนี้จะไปทบทวนชีวิตของตนเอง และทดแทนพระคุณให้แก่ผืนแผ่นดินอินเดียที่เคยศึกษาหาความรู้โดยไม่มีข้อแม้ อะไรที่ให้ได้ท่านจะให้ โดยไม่มีการอิดออดหรือพยายามจะต่อรอง ไม่ว่าจะราคาสินค้า หรือค่าพาหนะ หรืออะไรทั้งสิ้น เดินทางให้ทั่วโดยไม่รบกวนใคร ไม่เป็นภาระใคร อยู่ได้ทุกสถานที่ ไปได้ทุกสถานที่ ถึงจะไปในที่เปลี่ยวลับตาแม้พบผู้ร้ายต้องการอะไรก็พร้อมจะให้โดยไม่อิดออด

เมื่อศรัทธาแรงกล้าตั้งแต่ต้นแล้ว ท่านก็ทำตามนั้นจนสำเร็จ

ครั้งนี้ท่านเดินทางย้อนรอยสมัยที่เคยเป็นนักศึกษาก่อน จากนั้นท่านเดินทางไปเรื่อยๆ ลงไปที่อินเดียใต้ รถจะพาไปไหนก็ไปที่นั่น ไม่ใช้เป้าหมายเป็นตัวกำหนดเพราะชีวิตถูกกำหนดด้วยเป้าหมายมามากแล้ว

บางเวลาท่านต้องนั่งรถไฟชั้นที่ต่ำที่สุดร่วมกับคนที่ยากจนเป็นที่สุดของที่สุดของอินเดีย แม้ว่าจะมีตั๋วที่นั่ง แต่เมื่อถูกไล่ก็พร้อมจะสละให้ บางครั้งท่านนอนหน้าห้องส้วมที่น้ำปัสสาวะไหลเจิ่งนอง ยามรถไฟเลี้ยว น้ำปัสสาวะไหลไปมาให้ท่านต้องคอยยกตัวหลบ บางครั้งท่านนอนร่วมกับคนอินเดียที่ยากจนข้นแค้นและเจ็บป่วย เวลาที่จะเข้าห้องน้ำต้องค่อยๆ เดินไปทีละก้าว ตั้งสติวางขาลงไปบนช่องว่างระหว่างมนุษย์ที่นอนแออัดกันบนพื้น แต่นั่นทำให้ได้เห็นความเป็นมนุษย์อย่างใกล้ชิด และยังคง “เดินทาง” ไปเรื่อยๆ

มีเรื่องน่าประทับใจ คือท่านหาโอกาสไปพบครูเก่าๆ ที่เคยสอนท่าน ไปพบภารโรงแก่ๆ ที่เคยเกื้อกูลกันมา ไปพบห้องที่ท่านเคยนอนในหอพักนักศึกษาที่เลิกใช้แล้ว เหล่านี้มิใช่ประสบการณ์ย้อนอดีตหรือโหยหาอดีต แต่วิธีที่ท่านเดินทางไปและการประพฤติปฏิบัตินั้นทำให้ท่านได้ “เห็น” “ตัวเอง” หมายถึง เห็นตัวเองอย่างแท้จริง และรู้จักตัวเองตามที่เป็นจริง หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง “ความจริง” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

มีเรื่องน่าประทับใจอีกที่ท่านได้ไปพบพระพุทธรูปเก่าแก่นับพันปีอยู่กลางทุ่งนา น่าจะเป็นประสบการณ์ที่สร้างความปีติให้แก่ท่านล้นเหลือ ใครที่ชอบเดินทางไปคนเดียวออกนอกเส้นทางปกติไปพบของเก่าแก่ที่ไม่มีใครเหลียวแลจะเข้าใจความปีตินี้ดี แต่สำหรับอาจารย์ประมวลแล้วน่าจะเป็นมหาปีติเพราะท่านมิใช่ไปพบอย่างนักท่องเที่ยวแต่ไปพบด้วยตัวตนที่แท้ของตนเอง ทั้งนี้เพราะท่านได้ปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ นานาไปมากแล้วระหว่างการเดินทาง

การเดินหรือการเดินทางของท่านไม่เหมือนนักเดินทางคนอื่นเพราะท่านได้ปลดเปลื้องพันธนาการที่ผูกมัดคนในสังคมออกจนหมดสิ้นหรือเกือบจะหมดสิ้น ความอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกย่างก้าว ความพร้อมของจิตใจที่จะไปโดยไม่มีเงื่อนไข ความพร้อมของจิตใจที่จะให้โดยไม่มีข้อแม้ เหล่านี้ทำให้ท่านดูคล้ายจะไม่มีอะไรผูกมัดกับสังคมหรือสถานะทางสังคมที่มีอยู่ ท่านจึงเหลือแต่ “ตัวตน” ที่ท่องไปในแผ่นดินอินเดีย

อย่างไรก็ตามท่านยังมีคนที่อยู่ข้างหลัง ท่านพูดถึงภรรยาที่อยู่ข้างหลังได้น่ารักมาก ดังนั้นแม้ว่าท่านจะไป และจะให้ แต่ท่านก็จะกลับไปด้วย ความมุ่งมั่นของท่านนั้นชัดเจนและแก่กล้าจนกระทั่งไม่มีอะไรขัดแย้งกัน คือจะไป จะให้ และจะกลับในคราวเดียว

ดังนั้นจนแม้วันกลับเมื่อท่านถูกกักตัวที่สนามบินเพราะเหตุน้ำหนักของหนังสือที่ท่านซื้อหามาระหว่างการเดินทางมากเกินกำหนด ขณะที่ท่านรอให้กระบวนการจัดการตามระเบียบสายการบินดำเนินไปอย่างเชื่องช้าน่าจะตกเครื่องบินได้แล้ว ท่านก็ยังมีสติกับปัจจุบัน ไม่มีความกระวนกระวายใจหรือเรียกร้องสิ่งใด ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามศรัทธาที่ท่านมีนั่นคือจะไป จะให้ แล้วอย่างไรก็จะกลับ จนกระทั่งมีใครบางคนมาช่วยจัดการสัมภาระของท่านและพาขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยในวินาทีสุดท้าย

ผมเดาว่าท่านนิ่ง สงบ เยือกเย็น เพราะศรัทธาท่านมั่นคง ไม่ได้กลับเที่ยวบินนั้นก็แปลว่าไม่ได้กลับ และไม่กังวล เพราะอย่างไรก็จะกลับไปพบคนที่รออยู่อย่างแน่นอน

เรียกว่าอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง

ท่านว่าสารรูปของท่านในบางช่วงเวลานั้นถ้าไปขอทานใครเขาก็คงจะให้ ไปเจอคนไทยด้วยกันก็ไม่น่าจะจำได้ว่าท่านเป็นคนไทย น่าจะแปลว่าท่านได้ปลดเปลื้องพันธะเรื่องเครื่องแต่งกายลงแล้ว บางขณะท่านได้รับการต้อนรับจากหมู่ขอทานให้เข้าร่วมสมาคมเพราะคิดว่าท่านเป็นขอทานประเภทหนึ่ง นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านก้าวสู่ผืนดินอินเดียแล้วถูกขอทานสะกิดจนถึงวันที่ท่านอาศัยร่วมกับขอทานนับเป็นการเดินทางไกลอย่างหาได้ยากยิ่ง

แต่ที่สำคัญกว่าการปลดเปลื้องพันธะเรื่องเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดมากที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษย์ ท่านยังได้ปลดเปลื้องพันธะที่มองไม่เห็นซึ่งได้ชื่อว่าปลดเปลื้องยากที่สุดคือ “อคติ” ดูคล้ายท่านจะวางอคติลงได้มากที่สุดเมื่อท่านเดินทางไปสักการะวัดในศาสนาเชนซึ่งเป็นเดียรถีย์ เดียรถีย์สำหรับคนทั่วไปคงจะไม่ชัดว่าคืออะไร แต่รู้ว่าคำนี้ไม่ดีแน่ๆ น่ารังเกียจไปจนถึงเลวทรามต่ำช้า อาจารย์ประมวลนั้นเป็นคนธรรมดา ไม่มีอะไรต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่ท่านวางอคติลงได้และเดินทางไปดูกับตาว่าศาสนาเชนเป็นอย่างไร ไปศึกษาให้เห็น พูดคุยกับนักบวชในศาสนาเชน ตามหาพระในศาสนาเชนมาบูชา และทำความเข้าใจอย่างดีที่สุด

สำคัญที่สุดคือท่านปลดเปลื้องพันธนาการจากลัทธิความเชื่อทั้งปวง เมื่อท่านไปถึงวัดไหน เทวสถานไหน อารามของลัทธิใด บุคลิกท่าทางที่นอบน้อมและไม่ยึดติดสิ่งใดน่าจะเป็นสาเหตุให้ท่านได้รับเชิญจากเจ้าของสถานที่ให้เข้าไปสักการะหรือปฏิบัติในวิหารชั้นในหรือเขตหวงห้ามหรือเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาหรือลัทธิแห่งนั้นเสมอๆ

เพราะความว่างไม่เป็นพิษแก่ผู้ใด

Back to Top