จิตตปัญญาศึกษา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2552

การขยายตัวที่ค่อนข้างจะรวดเร็วของการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในสถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่ปัจจุบันดูเหมือนจะหาหลักยึดอะไรไม่ค่อยได้ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา

ในเรื่องของการศึกษา นับตั้งแต่การปฏิรูปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ มาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนจะพายเรืออยู่ในอ่างของปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรและอย่างไร เช่น การปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ การผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การขยายโอกาสทางการศึกษาในทุกระดับ และโดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยเฉพาะสาขาวิชาบริหารการศึกษา และหลักสูตรและการสอน) รวมไปถึงการแข่งขันให้มหาวิทยาลัยติดอันดับโลก ดูเหมือนไม่ได้ช่วยให้การศึกษาโดยเฉพาะผู้เรียนมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ทั้งที่การปรับเปลี่ยนเหล่านั้นมีข้ออ้างร่วมกัน คือการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และผลการทดสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บ่งบอกว่า ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องความเก่ง (คะแนนผลสัมฤทธิ์ที่ค่อนข้างต่ำในทุกรายวิชา) ส่วนเรื่องความดี และความสุข ก็มีแนวโน้มลดลงเมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น ดูเหมือนโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทยจะมีคุณภาพของปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของคุณภาพลดลง

โครงการโรงเรียนวิถีพุทธที่มีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะติดอยู่กับรูปแบบภายนอก มากกว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ โรงเรียน และสถาบันการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ ส่วนใหญ่ยังคงบริหารจัดการ และให้การศึกษาภายใต้ระบบคิดและแนวปฏิบัติตาม (รับใช้และตอบสนอง) ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมโดยขาดสติหรือไม่รู้เท่าทัน

ชื่อบทความ “จิตตปัญญา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม?” เป็นชื่อเดียวกับการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะจัดในวันที่ ๒-๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาควรจะนำมาพิจารณา ใคร่ครวญ ทบทวนอย่างจริงจัง

ผู้เขียนเคยเขียนบทความชื่อ “ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขอหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา” ลงในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ ตอนนั้นไม่ได้ตั้งคำถามว่าจิตตปัญญาศึกษาจะเป็นทางเลือกหรือทางรอดของสังคม แต่เสนอให้พิจารณานำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ โดยได้นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่ง มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า ๗๐๐ คน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หากจะตอบคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษาจะเป็นทางเลือกหรือทางรอดของสังคม ผู้เขียนขอตอบภายใต้บริบทสังคมไทยว่าเป็นทางเลือก ยิ่งถ้าพิจารณาภายใต้บริบทการศึกษาในระบบของประเทศไทย ยิ่งชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็น (แค่) ทางเลือก เพราะการศึกษาในระบบในปัจจุบันอยู่ภายใต้แนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยมแบบขาดสติ ที่แม้แต่โรงเรียนวิถีพุทธที่เสนอและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าเทียมกับโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธที่เป็นโรงเรียนเอกชน

สังคมยังคงดำรงและดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะมีจิตตปัญญาศึกษาหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่มีคุณค่ามากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า เรา (ชุมชนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา) ต้องทุ่มเทมากขึ้น ทำงานหนักเพิ่มขึ้น ตั้งสติ และเสริมปัญญามากขึ้นเพื่อให้สิ่งดีๆ ที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษาเกิดขึ้น และสร้างสรรค์สังคมแห่งความดีงามให้เป็นจริง

ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมผู้เขียนจึงตอบว่าจิตตปัญญาศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เป็น (แค่) ทางเลือกของสังคม

นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง (๒๕๕๒-๒๕๖๑) สอดคล้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งไปพูดในการประชุมวิชาการประจำปีที่จัดโดยที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ สรุปได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างคุณภาพการศึกษา การพัฒนาครูอาจารย์ และการปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (อีกแล้วครับท่าน)

โดยการสร้างกลไก/องค์กรใหม่เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปรอบสอง เช่น จะจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการผลิต และพัฒนาวิชาชีพครู พัฒนาครูของครูในสถาบันผลิตครู พัฒนาครูประจำการ และผู้นำทางการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น จะมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ประเมิน และให้การรับรองสมรรถนะวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐาน เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้การผลิตกำลังคนมีความสอดคล้องกับความต้องการเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามสมรรถนะ จะมีสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ผลิตรายการในรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในรูปแบบหลากหลายแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้และการประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น ยังจะจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อผลักดันการกระจายอำนาจบริหารจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษาให้เป็นจริง เพื่อความอิสระและคล่องตัวของโรงเรียน (อีกแล้วครับท่าน)

เห็นไหมครับว่า เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้แนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการศึกษาในทุกระดับและประเภทให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และเมื่อพิจารณาแนวทางการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาคงต้องเข้าไปร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับสถาบันคุรุศึกษา แต่ก่อนอื่นคงต้องถอยกลับมาใคร่ครวญทบทวนตนเอง

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย ได้รับอานิสงส์จากบุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงานจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างและพัฒนาชุมชนปฏิบัติและเครือข่าย แล้วช่วยกันขับเคลื่อนในหลายรูปแบบหลากลักษณะ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความต้องการ และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างของทั้งผู้รับและผู้ให้

ในปัจจุบันจิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ เป็นทั้งวิชาการ วิชาชีพ และนักปฏิบัติ จึงมีหลายประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องควรใคร่ครวญอย่างลุ่มลึก เพื่ออย่างน้อยช่วยกันทำให้จิตตปัญญาศึกษาเป็นทางเลือกของสังคม แล้วพัฒนาไปสู่ทางรอดที่พึงประสงค์ของสังคมร่วมกัน เช่น หากจะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในระบบ เราคงต้องมีองค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็นสาระเชิงทฤษฎี วิธีแสวงหาความรู้/วิธีวิทยาการวิจัย/เครื่องมือ กระบวนการทางจิตตปัญญาและผลการศึกษาที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ เพราะเราคงไม่สามารถโน้มน้าวให้นักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ยอมรับจิตตปัญญาศึกษาได้เพียงแค่พูดว่า เชื่อเราเถอะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่นักการศึกษากระแสหลักจะถามว่า มีผลการศึกษา/วิจัยที่พอจะทำให้มั่นใจได้หรือไม่ว่าได้ผล เพราะแม้แต่ทฤษฎีและแนวปฏิบัติทางการศึกษาใหม่ๆ บางอย่างที่มีผลการวิจัยรองรับ ก็ยังเป็นได้แค่การศึกษาทางเลือก

ระหว่างเขียนบทความ นึกแวบไปถึงประเด็นคำถามที่น่าสนใจของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ที่เชิญชวนให้เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ลองใคร่ครวญทบทวนดู เลยนำมาเสนอเป็นของแถม

เราชวนให้ผู้คนรักและเมตตาต่อกัน...เรารักและเมตตากันเองหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนอภัยต่อกัน...เราให้อภัยกันแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนใช้ชีวิตสมดุล หัว-กาย-ใจ...เราสมดุลตัวเองได้เพียงใด
เราชวนให้ผู้คนย้อนดูตัวเอง เข้าใจตระหนักรู้ตัวเอง...เราดูหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนคุยกันด้วยความสุนทรีย์ ฟังกันมากขึ้น...เราทำระหว่างกันด้วยหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนฟังคนโดยไม่ตัดสิน...เราตัดสินคนเร็วไปบ้างหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนเข้าใจเบื้องหลังกรอบความคิดหรือมุมมองต่อโลกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ได้รับ...เรารู้ทันหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนลดอัตตาตัวตน...เรายังมีอยู่เพียงใด

เราชวนให้ผู้คน...เราทำได้อย่างที่ชักชวนเพียงใด...จิตตปัญญา

และขอเพิ่มเติมอีกหนึ่งคำถาม...

เราอยากให้ผู้อื่นยอมรับ เข้าใจเรา...เราทำให้ผู้อื่นยอมรับ เข้าใจเราหรือไม่...จิตตปัญญาศึกษา

One Comment

surachaiwongwatroj กล่าวว่า...

ปัญหารู้สึกกว้าง-มาก-ยุ่งเหยิง-ทางออกน้อย
จำเป็นต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เรื่องของจิตที่พอเพียง
ครอบครัว - ปัจจัย 4 - ลดน้อยลง
โรงเรียน แนว บวร สอนให้เด็กมีความรู้พื้นฐาน พร้อมทีจะโตขึ้นและใช้ชีวิตในท้องถิ่นได้ - แต่ถ้าจะไปเรียนต่อหรือทำงาน ต้องมีความพร้อม - เข้มแข็งทางด้าน
จิตใจ ผู้ที่จะเป็น ครูดีที่สุด คนในหมู่บ้าน วัดและจิตใจ
คนไทยเก่งๆมีมาก แต่เก่ง มีความรู้ เสียสละยังมีน้อย
หวังว่า ผมคงได้เห็นการพัฒนาแนวจิตตศึกษาก่อนตาย

Back to Top