มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2552
ผู้เขียนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าแรก ฉบับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า “จนท.สังคมสงเคราะห์ ปลอบโยน ด.ญ.วันเพ็ญ แซ่เล้า อายุ ๑๒ ปี ที่ปล่อยโฮเป็นที่น่าเวทนา โดยมีน้องสาววัย ๒ ขวบ นั่งดูดนมดูอย่างไร้เดียงสา หลัง ๒ พี่น้องถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ในบ้านเช่าใน อ.วังน้อย” ภาพเด็ก ๒ คน ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงภาพในอดีตครั้งผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี วันหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งรับประทานอาหารกับเพื่อนรุ่นพี่อีก ๒ คน มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งเดินโซซัดโซเซเมาสุรามาทรุดกายลงที่โต๊ะที่เรานั่ง ร่างของเธอผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก แต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่ได้รูดซิปกางเกง พวกเรารู้ได้จากลักษณะภายนอกทันทีว่า เธอประกอบอาชีพขายบริการและกำลังป่วยเป็นโรคเอดส์ เสียงของเธอแหบแห้งและพร่ำพรรณนาวนไปวนมาเกี่ยวกับลูกของเธอ “เด็กลูกครึ่งมันน่ารักจริง ๆ คนโตมันอายุ ๑๒ ไอ้คนเล็ก ๕ ขวบ...เนี่ย...ก็ปล่อยให้มันอยู่กันเอง วันๆ มันก็กินสปาเก็ตตี้กับซอสมะเขือเทศเปล่าๆ...วันนี้ไอ้คนโตบอกไม่ให้ฉันมาทำงาน...มันร้องไห้ บอกว่า แม่จ๋า...อย่าไปทำงานเลยนะ พวกเราคิดถึงแม่ อยู่กับพวกเราเถอะนะ ไม่ต้องไปทำงานแล้วนะ” เธอพยายามลุกขึ้นยืน แต่ก็หมดเรี่ยวแรงล้มตัวลงมาทับผู้เขียน ทิ้งน้ำหนักตัวทั้งหมดลงมา เนื้อตัวเธอเปียกเหนอะหนะ ไม่รู้ว่าเหนอะหนะจากอะไร ผู้เขียนเห็นความกลัวข้างในตัวเองอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สตรีผู้นี้พูดถึงลูกๆ ของเธอนั้น ยิ่งน่าเศร้าใจกว่า จนผู้เขียนอดร้องไห้ออกมาไม่ได้
เรื่องราวเหล่านี้ในเยอรมนีมีมากมายจนผู้เขียนแทบสำลัก และเกิดคำถามในใจมากมาย หน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กมีมากมาย แต่ก็ช่วยได้ไม่ทั่วถึง หากมองเรื่องนี้อย่างผิวเผิน อาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นพิษผลจากวัตถุนิยมบริโภคนิยมเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย แต่เมื่อศึกษาไปจริงๆ จะพบว่าหลายกรณีเหลือเกินที่คนเหล่านี้สมัครใจย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไทยไปเอง แม้จะต้องไปเผชิญกับชีวิตสารพัดรูปแบบในต่างแดน แม้จะผิดกฎหมายเป็นที่ดูถูกดูแคลน เป็นที่รังเกียจของต่างชาติก็ยอม มากกว่าจะที่อยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมเดิมที่กดดันและปิดโอกาสในชีวิต
ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นฐานเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงปรากฏการณ์การหนีของคนจากเยอรมนีตะวันออกเข้าสู่เยอรมนีตะวันตก โดยลักลอบผ่านกำแพงเบอร์ลิน เข้าสู่บริเวณของเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่มีกำแพงล้อมรอบไว้ท่ามกลางพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด
ในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ดินแดนทั้งหมดของเยอรมนีได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เพื่อเป็นสินชดเชยสงครามให้ฝ่ายเสรีนิยม (อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ) และฝ่ายคอมมิวนิสต์ (รัสเซีย) เมืองเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจึงถูกแบ่งด้วย แต่ทว่า เมืองเบอร์ลินทั้งเมืองอยู่ในอาณาบริเวณของเยอรมนีตะวันออก ดังนั้นพื้นที่ที่ตกเป็นของอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ จึงเป็นเสมือนเกาะเล็ก ๆ อยู่ใจกลางเยอรมนีตะวันออก ในตอนแรกยังไม่มีกำแพงใด ๆ กั้นเขตระหว่างตะวันออกและตะวันตก แต่ผ่านไป เกิดเหตุการณ์ที่คนเริ่มย้ายสำมะโนครัวออกจากเยอรมนีตะวันออกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจุดหนึ่งที่คนย้ายถิ่นฐานมามากที่สุดคือเบอร์ลินตะวันตก จนกระทั่งรัฐบาลฝ่ายรัสเซียต้องประกาศมาตรการห้ามย้าย และทำการกั้นรั้วลวดหนามขึ้นทันทีทันใดในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ เพื่อไม่ให้คนเดินทางอีกต่อไป และในที่สุดได้เกิดสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิด คือมีการสร้างกำแพงขึ้นสูงประมาณ ๓ เมตร ความยาวประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตกไว้ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบหนีเข้าเบอร์ลินตะวันตกได้โดยง่าย มีรถถังและทหารผลัดเปลี่ยนเวรยามอย่างเข้มงวดตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ยังมีคนหนีข้ามผ่านกำแพงเบอร์ลินอยู่อย่างต่อเนื่อง ยอมเสี่ยงตายสละชีวิต มากถึง ๕,๐๐๐ ครั้ง ตลอดระยะเวลา ๒๘ ปี เรียกว่า หนีกันวันเว้นวัน และมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อคนทั้งโลกว่า เมื่อระบบ ๒ ระบบได้ประจันหน้ากันอยู่ที่กำแพงเบอร์ลิน ระบบหนึ่งเป็น “ระบบปิด” อีกระบบหนึ่งเป็น “ระบบเปิด” ผู้คนเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองแบบระบบเปิด ซึ่งให้ความสำคัญกับ “ความเป็นสมาชิก” ของคน และคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง สามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ใช่การกำหนดนโยบายมากจากคนกลุ่มเล็ก ๆ จากชนชั้นปกครองอย่างเช่นเผด็จการทหารในเยอรมนีตะวันออก และถึงแม้ฝ่ายปกครองจะประชาสัมพันธ์ถึงคุณธรรมจริยธรรมในระบบมากมายเพียงใด แต่ก็ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่า ทำไมต้องมีทหารถือปืน มีรถถังคอยกำกับ และเข่นฆ่าคนที่หนีออกจากระบอบที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด
จนในที่สุด รัฐบาลรัสเซียต้องยอมรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเปิดกำแพงเบอร์ลินในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ประโยคที่โด่งดังมากไปทั่วโลก คือประโยคที่ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวต่อประธานาธิบดี มิคาเอล กอร์บาชอฟ ของรัสเซียว่า “Tear down this wall (จงทลายกำแพงนี้ลง)” นั่นหมายถึง จงทลายกำแพงในใจคุณลง และยอมเปิดรับหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเสมอภาค เช่นเดียวกันกับคนทั้งโลก
ถึงแม้ในขณะนั้นเยอรมนีตะวันตกจะเป็นประเทศที่มีสภาพสังคม เศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่ภายหลังกำแพงเปิด การฟื้นฟูเยอรมนีตะวันออกเป็นไปอย่างเชื่องช้า และใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ในการบูรณะประเทศฟากที่เคยปกครองโดยทหาร อย่างไรก็ตาม ได้ทำให้ทั้งโลกได้เรียนรู้ร่วมไปด้วย ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคน ๒ ฟาก ที่ห่างกันไม่ถึง ๑ กิโลเมตร ว่าสภาพบ้านเมืองมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บ้านเมืองที่ปกครองโดยการรัฐประหารหรืออำนาจในระบบปิด มีความบอบช้ำทรุดโทรมมาก คนยากจน มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ ความรุนแรงของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่คลั่งชาติ นีโอนาซี ที่คอยดักทำร้ายชาวต่างชาติ
แต่ถึงแม้เยอรมนีจะมีปัญหานีโอนาซี แต่คนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ ตุรกี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งคนเอเชียที่พบเห็นได้มากมาย ก็ยังคงย้ายถิ่นฐานมาอยู่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ การมองแต่เพียงว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของบริโภคนิยม จึงอาจไม่ใช่เหตุผลที่ครอบคลุมหรือดีนักในการนำมาอธิบาย ทว่าการย้ายถิ่นฐานไปยอมตกระกำลำบากที่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินหรือไม่? เป็นการขยายวงกว้างของตัวกำแพงที่มองไม่เห็นที่มีอยู่ทั่วโลกหรือไม่?
โดยส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อเรื่องวิวัฒนาการของคน เชื่อว่าคนทั้งหมดจะเรียนรู้และมีพัฒนาการ จนเกิดดุลยภาพและสันติภาพในการอยู่ร่วมระหว่างคนด้วยกัน ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม และระหว่างคนกับจักรวาลเป็นลำดับไป ผู้เขียนเชื่อว่าหากเรามองโลกอย่างมีที่มาที่ไป จะพบว่าคนได้ผ่านความทุกข์ยาก และบาดเจ็บล้มตายกรุยทางให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมามาก มีความจริงที่ปรากฏชัด มีบทเรียนที่มนุษยชาติสูญเสียร่วมกันอย่างใหญ่หลวง และผ่านการตระหนักรู้ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะมีกำแพงสูงและกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด ก็ไม่สามารถยับยั้งธรรมชาติของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ทะลุทะลวงกำแพงเหล่านั้นได้ ทว่าผู้ที่กำแพงในใจเปิดได้ทันเวลาอย่างประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ และกลายเป็นวีรบุรุษในใจของคนเยอรมนีตลอดกาลนั้น จะเหลือบนโลกอยู่สักกี่คนหรือ? คำตอบของเรื่องนี้ อาจอยู่แต่ในสายลม...
แสดงความคิดเห็น