โรคสมองกดทับใจ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553


ผมนั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง สายตาเมียงมองหาเคาน์เตอร์กาแฟ นัยว่าจะช่วยทำให้การพูดคุยของเราออกรสยิ่งขึ้น... แต่เหมือนรู้ว่าผมกำลังทำอะไร เธอโพล่งออกมา

"เรากำลังควบคุมคาเฟอีนอยู่ งดกาแฟ ชา มาสองอาทิตย์แล้ว"

ยังไม่ทันที่ผมจะปริปากอะไร เธอไขข้อข้องใจให้

"ไมเกรนน่ะ…คาเฟอีนมันจะไปกระตุ้นไมเกรน แต่ก่อนไม่รู้ แต่ตั้งแต่มาฝึกโยคะ เริ่มสังเกตเห็นกายตัวเองมากขึ้น เห็นเลยว่าถ้าจิบเข้าไปมันขึ้นมาจี๊ดที่หัวเลย"

สารบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย เฉกเช่นเดียวกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อจิตใจ แต่จิตใจกับร่างกายสัมพันธ์กันอยู่อย่างลึกซึ้ง ร่างกายจึงถูกเหนี่ยวนำให้เปลี่ยนแปลง อาการทางกายเช่นปวดหัว ปวดท้อง โรคเรื้อรังทั้งหลายที่หมอหาสาเหตุไม่ได้ บางทีอาจจะเป็นโรค “สมองกดทับใจ” คืออารมณ์เหนี่ยวนำให้เกิดอาการทางใจ และใจเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดแตกซ่านจนสะท้อนย้อนลงมาจิตใจให้ปั่นป่วนสับสน ส่งผลระยะยาวต่อร่างกาย

เมื่อรู้อย่างนี้เราก็น่าจะหลีกไปเสียจากอารมณ์ที่จรมากระทบ ฟังดูง่ายและเป็นน่าจะเป็นทางแห่งความสุข เพราะคนเราล้วนรักสุขเกลียดทุกข์กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะหลายคนมีชีวิตอยู่โดยขาดดราม่าไม่ได้ หากชีวิตมันราบเรียบก็ต้องหาเรื่องให้โลดโผนเสียบ้าง อะไรที่มันจะดูราบรื่นก็ไปป่วนให้มันยุ่งเหยิงเสียบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้วงซุบซิบนินทาจึงไม่ว่างเว้นเรื่องราว ผมว่าหากอยากทราบว่าจิตร่วมของคนไทยวิวัฒน์ไปเท่าใดแล้ว ก็ให้เอาจำนวนผู้คนที่ยังหาความรื่นรมย์จากวงกอสซิบสนทนาไปลบออกจากจำนวนผู้ที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตตปัญญา เชื่อว่าคงอีกนานกว่าตัวเลขนี้จะเป็นบวก!!

ทำไมเราขาดดราม่าไม่ได้ เอ็กฮาร์ท โทลลี พูดถึง “เหง้ารันทด” (Pain-body) เป็นปมที่สั่งสมอารมณ์ลบของเราตั้งแต่ในอดีต มันรอวันจะปะทุเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแหล่งใดก็ตาม เขายกตัวอย่างเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งซึ่งตามปกติเป็นคนใจเย็นและเป็นคนสบาย ๆ เปลี่ยนไปเป็นคนโกรธเกรี้ยวอย่างหยุดไม่อยู่เมื่อนายหน้าขายหุ้นโทรมาแจ้งข่าวร้าย โทลลีบอกว่าในครอบครัวที่ “เงิน” สร้างปัญหาและการทะเลาะเบาะแว้งในบ้านตลอดเวลา อารมณ์ลบเกี่ยวกับเงินจะถูกสั่งสมเข้ามาอยู่ในตัวเราและรอวันที่จะถูก “กระตุ้น” ให้ระเบิดออกมาตามแต่วาระโอกาสที่สุกงอม

เขายังพูดถึงเด็กผู้ชายที่ถูกแม่ทอดทิ้งตั้งแต่เล็กหรือถูกแม่เลี้ยงดูอย่างทิ้งขว้าง เขาจะสั่งสมความระทมทุกข์อย่างมหาศาล เพราะต้องการที่จะได้รับความรักอย่างมากแต่กลับถูกปฏิเสธ ความโกรธเกลียดจึงปูดโปนออกมานัวเนียกับความต้องการได้รับความรัก เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น เขาจะถือว่าผู้หญิงทุกคนคือสมรภูมิรบที่ต้องโรมรันเอาชนะ เขาจะชำนาญการเกี้ยวพาราสีมีเสน่ห์ดึงดูดใจเพศตรงข้าม เขาไม่รู้ว่า“เหง้ารันทด” กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มันโหยหา และเมื่อได้ตามปรารถนาแล้วก็หมดความสนใจและเปลี่ยนเป้าหมายต่อไป หรือมิฉะนั้นก็จะตีโพยตีพายอย่างโกรธเกรี้ยวเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เมื่อไม่จัดการกับเหง้าที่ฝังลึกและเงาที่แฝงเร้น เขาจึงรักใครไม่เป็นเอาเสียเลย

“เหง้ารันทด” ไม่ได้เป็นเพียงปมที่แฝงอยู่ในจิตอย่างไร้พิษสง โทลลีบอกว่ามันยังอาจจะส่งพลังงานออกไปยังคนรอบข้างให้สามารถสัมผัสได้ด้วย ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยเจอว่าบางคนเพียงเดินเข้ามาในประตูก็ทำให้บรรยากาศทั้งห้องเปลี่ยน บางคนอยู่ใกล้แล้วรู้สึกถึง “รังสีอำมหิต” แต่แท้จริงแล้วรังสีนั้นไม่ได้ออกมาจากเขาฝ่ายเดียว มันเกิดมาจากทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ คล้ายกับเมื่อเรานำกีตาร์สองตัวมาวางข้างกันแล้วดีดสายของกีตาร์ตัวหนึ่ง กีตาร์อีกตัวที่วางข้างกันซึ่งตั้งสายเอาไว้เหมือนกันจะเกิดคลื่นกำทอนส่งเสียงที่ความถี่นั้นออกมาด้วย ประเด็นอยู่ที่ต้องตั้งสายให้ตรงกัน หมายความว่าการส่งคลื่นจะไม่สมบูรณ์หากผู้รับไม่มีความสามารถในการรับ ดังนั้นครั้งหน้าเมื่อคุณรู้สึกว่าเดือดร้อนเพราะได้รับรังสีอำมหิตจากใคร ก็อย่าพึ่งไปโทษผู้ส่งเขาเสียฝ่ายเดียว ให้มองเสียใหม่ว่าตัวเราก็มี “เหง้ารันทด” เป็นภาครับสัญญานความถี่หรืออารมณ์นั้นอยู่ในตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

เรื่องการส่งคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลที่ไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ บอกว่าด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เราสามารถวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากหัวใจซึ่งส่งกำลังออกไปได้ไกลในรัศมีถึง ๑๕ ฟุต ซึ่งถ้าเราไม่ลืมว่าแสงอาทิตย์ก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง สนามพลังที่ออกจากหัวใจจึงมีความไวเท่ากับแสงเลยทีเดียว ดร.ฟริซ อัลเบิร์ต พอพ (Dr.Fritz Albert Popp) นักชีวฟิสิกส์อ้างว่าในร่างกายคนเรามีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นเป็นแสนครั้งต่อวินาที มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะควบคุมปฏิกิริยาเหล่านั้นด้วยกระบวนการทางเคมี แต่โดยอาศัยอนุภาคโฟตอนเพียงตัวเดียว เราจะสามารถให้ข้อมูลที่เซลล์ต้องการเพื่อจัดการกับกระบวนการทางเคมีจำนวนมหาศาลนั้นได้ทั้งหมด อนุภาคโฟตอนที่พูดถึงก็คือ ‘แสง’ ที่ประพฤติตัวเหมือนกับอนุภาคนั่นเอง

คลื่นความเร็วแสงที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลจากเซลล์หนึ่งไปสู่เซลล์อื่นมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับการส่งผ่านคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เพียซชี้ให้เห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึงของสนามพลังรูปโดนัทที่ส่งออกมาจากสิ่งมีชีวิตกับสนามแม่เหล็กโลก หากเราขยายนัยออกไปจะเห็นว่าสนามพลังที่มีอยู่ในระดับตั้งแต่ระดับเซลล์ ระดับดวงดาว ระดับแกแลกซี่ ไปจนถึงระดับจักรวาล อาจจะมีลักษณะเหมือนกับโฮโลแกรมที่ไม่ว่าจะตัดเสี้ยวส่วนใดมาพิจารณาก็จะเห็นถึงส่วนทั้งหมด เป็น “จักรวาลในหนึ่งอะตอม” หรือเป็นดั่งวาทะของโวลแตร์ที่ว่า “พระเจ้านั้นเปรียบเหมือนวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ทุกหนทุกแห่ง ส่วนเส้นรอบวงนั้นเล่าจะปรากฎ ณ ที่ใดก็หามิได้”

เพียซยังค้นพบผ่านกระบวนการฝึกสมาธิแบบฟรีซเฟรมของสถาบันฮาร์ทแมท (Institute of Heartmath) ว่าเมื่อปฏิบัติสมาธิถึงจุดหนึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจกับคลื่นสมองจะเข้าสู่รูปคลื่นที่สอดคล้องกันเรียกว่า Entrainment เขาพบว่าการทำงานของสมองจะย้ายจากสมองส่วนหลังมาสู่สมองส่วนหน้า หรือพูดง่าย ๆ ว่าย้ายจากโหมดเอาตัวรอดไปสู่การใช้ปัญญาอันตื่นรู้ หมายความว่าคนนั้นจะไม่เป็นโรค “สมองกดทับใจ” หรือ “ใจกดทับสมอง” แต่ใจกับสมองไปด้วยกันด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว การฝึกปฏิบัติสมาธิที่ทำกันอยู่ในบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะให้ผลเช่นเดียวกันโดยอาจไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าให้ยุ่งยาก เพราะถ้าปฏิบัติได้ถูกทางจะสังเกตเห็นได้ด้วยตนเองว่า อารมณ์ที่ผ่านเข้ามา “กระตุ้น” เรานั้นมีอิทธิพลต่อเราน้อยลง ส่วน “เหง้ารันทด” และ “เงาในซอกหลืบ” ของเราก็ไม่ชวนเราให้เล่นละครบทโศกดราม่าเคล้าน้ำตาบ่อยจนเกินไปนัก แม้บางครั้งเมื่อเขาส่งบททดสอบมาให้เล่น เราอาจจะตอบปฏิเสธไปเสียก็ยังทำได้ ไม่เหมือนก่อนที่ต้องเล่นไปตามนั้นอย่างไม่มีทางเลือก มิหนำซ้ำยังเล่นด้วยความสะใจอีกต่างหาก

Back to Top