การศึกษาเปี่ยมสุขของภูฏานกับวุฒิภาวะทางจริยธรรมของเด็กไทย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 เมษายน 2553

เป็นข่าวกันไปพักหนึ่งกับข้อสอบโอเน็ต (O-NET) ของปี ๒๕๕๓ ที่ถามผู้สอบว่า

ข้อใดเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ดีที่สุด
ก. หยุดเรียนไประยะหนึ่งเพื่อคลอดลูก
ข. ทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้
ค. ลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก
ง. แจ้งความเพื่อหาผู้รับผิดชอบ

คำถามในลักษณะนี้เป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและคุณธรรม เป็นคำถามที่ไม่ได้มีข้อที่ “ถูก” เพียงคำตอบเดียว ไม่เหมือนกับคำถามที่มีคำตอบแน่นอนในวิชาคณิตศาสตร์ เช่น ๑+๑ = ๒ แต่สังคมไทยของเรากำลังจะกลายเป็นสังคมที่หมกมุ่นในการประกอบสร้างความเป็นเอกภาพเสียจนไม่อาจจะยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เราต้องการความชัดเจนแต่หยาบมากกว่าความคลุมเครือที่ประณีต คำตอบของคำถามซึ่งควรจะใช้รูปแบบอัตนัยจึงกลายเป็นแบบปรนัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมเรากลายเป็น “สังคมปรนัย” ไปเรียบร้อยแล้วคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

ผมเพิ่งเสร็จจากการแปลเอกสารที่ผมตั้งชื่อให้เป็นไทยว่า “ระบบการศึกษาเปี่ยมสุข” ซึ่งแปลจาก A Proposal for GNH Value Education ของ การ์มา อุระ ผู้อำนวยการศูนย์ภูฏานศึกษาในเมืองธิมพู เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญของภูฏานในการขับเคลื่อนเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ คุณการ์มา อุระ พบว่าหลังจากที่ GNH ได้ถูกบรรจุเข้าไว้เป็นวาระแห่งชาติภูฏาน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐยังมิได้เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมและสอดประสานกันเท่าที่ควร เขาจึงหันมาให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาซึ่งสำหรับเขามันคือแกนกลางสำคัญในการพลิกเปลี่ยนประเทศอย่างยั่งยืน เขาเริ่มศึกษาวิจัยโดยการอ่านหนังสือตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาของเด็กนักเรียนชั้น ๔ ถึง ๑๐ (ประถม ๔ ถึง มัธยม ๔ ของบ้านเรา) ไปจำนวนทั้งสิ้น ๒๗ เล่ม คิดเป็นจำนวนหน้าได้ประมาณ ๓,๘๐๐ หน้า เขาให้ความสำคัญกับตำราเรียนเนื่องจากไม่มีเวลาที่จะเดินทางไปศึกษาการเรียนการสอนจากในโรงเรียนจริงๆ และเขาก็เข้าใจด้วยว่าถึงแม้ว่าตำราเรียนจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน แต่สิ่งที่อยู่ในตำราก็มีส่วนกำหนดทิศทางของการเรียนการสอนอยู่ไม่น้อย

คุณการ์มา อุระ ค้นพบว่าตำราเรียนของภูฏานเกือบทั้งหมดมีลักษณะในการปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรมโดยอาศัยการ “สั่งสอน” และการใช้ “ศรัทธา” เสียเป็นส่วนใหญ่ เขายกตัวอย่างเรื่องเล่าที่ถูกนำมาเสนอในตำราเรียนมีเนื้อหาที่อุดมไปด้วยเรื่องปาฏิหาริย์ หรือเป็นนิยายปรัมปราซึ่งยากที่ผู้เรียนจะนำมาปรับใช้กับปัญหาทางจริยธรรมที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนการสั่งสอนให้เชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจ ก็ถูกเน้นย้ำราวกับว่าเป็นกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจจะตั้งคำถามได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ การ์มา อุระ เห็นว่าการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในรูปแบบที่ทำมา เป็นการสอนให้เชื่อตามไปอย่างเซื่องๆ ไม่ได้ฝึกให้เด็กคิดเป็น ตั้งคำถามได้ หรือมีวิจารณญานนั่นเอง

สำหรับผม ความคิดแบบที่ใช้วิจารณญาณ (Critical Thinking) นั้น จับมือจูงไปกับความคิดแบบกระบวนระบบ (System Thinking) คุณการ์มา อุระ บอกว่าหนังสือเรียนสุขศึกษาสอนให้เด็กรู้จักดื่มน้ำที่สะอาด และหลีกเลี่ยงน้ำดื่มที่สกปรก แต่การให้ข้อมูลก็จบลงที่ตรงนั้น มิได้ขยายเชื่อมโยงไปว่าเพราะเหตุใดน้ำในแหล่งน้ำจึงเกิดการเน่าเสีย ไม่ได้ท้าทายเยาวชนให้คิดถึงการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยต่างๆ ในเชิงโครงสร้างอันก่อให้เกิดมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือนโยบายของรัฐในการควบคุมมลภาวะ ฯลฯ เมื่อไม่ได้ทำเช่นนั้น หน้าต่างของการเรียนรู้ที่กำลังแง้มเปิดออกก็ต้องถูกปิดลงอย่างน่าเสียดาย และเมื่อไม่ได้ฝึกกระบวนการคิดโดยแยบคาย การบ่มเพาะทางปัญญาก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อปัญญาไม่แก่รอบและหยั่งลง โอกาสที่เด็กและเยาวชนจะสั่งสมวุฒิภาวะทางปัญญาเพื่อรับมือกับปัญหาที่ล่อแหลมเชิงจริยธรรม (Moral Dilemmas) สมดังเจตนารมณ์ของผู้ออกข้อสอบโอเน็ตก็เป็นไปได้ยาก

ผมคาดว่าผู้สอบข้อสอบโอเน็ตต้องการที่จะวัดว่า เด็กและเยาวชนไทยมีวุฒิภาวะทางคุณธรรมและจริยธรรมมากน้อยเพียงใด แต่การวัดการประเมินเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยากและท้าทาย หากเราต้องการให้เด็กของเรามีความเข้มแข็งทางจริยธรรม เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญกับแบบฝึกหัดที่ท้าทายความคิดและความรู้สึกของเขาด้วย การ์มา อุระ ชี้ให้เห็นว่า ในแบบเรียน เรามักจะรีบให้ข้อสรุปหรือหยิบยื่นคำตอบอย่างผลีผลามจนเกินไป ไม่ทอดเวลาให้เด็กได้ใช้ความคิดในการใคร่ครวญพิจารณาด้วยตนเองเลย ลักษณะนี้ก็คงไม่ต่างจากการศึกษาของบ้านเรานัก เพราะเรามักจะคุ้นชินกับการลดทอนเรื่องราวที่มีความซับซ้อนเชิงจริยธรรมให้กลายเป็นเรื่องที่มีประเด็นคำตอบเพียงคำตอบเดียว ข้อสรุปที่มักจะขึ้นต้นว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... ” นั้นเป็นการสอนสั่งที่เก่าแก่คร่ำคร่าที่น่าจะได้รับการทบทวน เพราะเด็กหลายคนได้อะไรมากกว่านั้นจากการเล่านิทาน เพราะเราไม่ได้ฟังนิทานเพื่อต้องการเพียงข้อสรุปท้ายเล่มเท่านั้น

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมได้เห็นความพยายามของหน่วยงานราชการที่พยายามทำงานเชิงคุณธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การทำงานเชิงคุณธรรมบ่อยครั้งคือการยัดเยียดคุณธรรมลงสู่ตัวเด็กโดยมิได้ให้เขาเกิดความเข้าใจกระจ่างแท้ด้วยตนเอง กลายเป็นการศึกษาแบบยัดทะนาน (Banking Education) ซึ่งเมื่อเจอกับปัญหาที่ท้าทายในโลกสมัยใหม่ เจอกับความยั่วยวนของเรื่อง กิน กาม เกียรติ เด็กก็มีสิทธิที่จะโดนหมัดน๊อคตั้งแต่ยกแรก เรื่องจริยธรรมและคุณธรรมเป็นปัญหาปลายเปิด มีความซับซ้อนอย่างวิจิตร แต่โชคยังดีที่มนุษย์เราถูกออกแบบมาให้สามารถจัดการกับความซับซ้อนได้ด้วยตนเองโดยการสั่งสมปัญญา ซึ่งแท้จริงก็คือการฝึกอวัยวะทางจิตให้เกิดมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรับความซับซ้อนของเรื่องราวภายนอกที่เข้ามากระทบได้ โดยไม่กระเทือน

จากคำถามเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ยกมาตอนต้นบทความ เห็นได้ว่าระบบการศึกษาของเรายังไม่เก่งในการเปิดพื้นที่ให้กับความซับซ้อนเชิงจริยธรรม และลึกๆ แล้วเราขาดความอดทนที่จะทอดเวลารอคอยให้เด็กๆ และเยาวชนค่อยๆ งอกงามขึ้นตามวาระของเขา เราไม่อยากให้เด็กของเราชิงสุกก่อนห่าม แต่เรากลับชิงให้คำตอบสำเร็จรูปกับเด็กก่อนที่เขาจะได้ใช้เวลาคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง หรือที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กบางคนคิดหาคำตอบมาได้ด้วยตัวเอง เรากลับไม่ยอมรับในคำตอบนั้น เราทรยศต่อความซื่อสัตย์ในความรู้สึกของเขาด้วยความ “จ้องจะเอา” แต่คำตอบที่ถูกของเรา

การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเราให้รองรับความซับซ้อนเชิงจริยธรรม ทำได้โดยแก้ไขให้มีกระบวนการเรียนรู้ปลายเปิดแบบบูรณาการอยู่ในระบบการศึกษาของเรา เช่นการละคร ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์งานละคร การชมละครและการวิจารณ์ละคร โดยเฉพาะการละครร่วมสมัยที่เปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในมิติของสุนทรียภาพและกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ หรือกิจกรรมการทำโครงงานค้นคว้าตามความสนใจของเขา ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การประกวดแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว การทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม กระบวนการจะต้องมาก่อนเนื้อหา เพราะสารัตถะอันละเอียดซับซ้อนไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยกระบวนการที่หยาบ ถ้าหากเชื่อตามนี้ เราก็ควรจะวัดและประเมินความงอกงามของคนจากกระบวนการที่เขาใช้ในการเรียนรู้ การประเมินต้องกลายเป็นกระบวนการที่ละเอียดประณีต ที่ต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตและทำงานกับเด็กอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องผ่านระยะเวลายาวนาน เรื่องนี้เมื่ออรรถาธิบายดูเป็นเรื่องยาก แต่แท้จริงมีอยู่ในภูมิของแผ่นดินเราอยู่แล้ว เช่นเรื่องการฝึกโขน ฝึกรำ เด็กผู้ชายต้องถูกให้ฝึกเต้นเสา ถีบเหลี่ยม เด็กผู้หญิงให้ฝึกรำแม่บทเล็ก ทั้งหมดนี้จะอยู่ในสายตาครูเสมอ อยากรู้ว่าเด็กเป็นอย่างไรถามเอาที่ครูก็ได้ แต่การประเมินสมัยใหม่ได้ยกเรื่องการประเมินให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานกลางซึ่งครอบลงอีกที ด้วยมาตรฐานสากลที่ถูกตั้งโปรแกรมมาจากกระแสโลกาภิวัตน์

ทุกอย่างอยู่ที่เราว่าจะตัดสินใจก้าวไปข้างหน้าอย่างไร หากจะเอา Best of Both Worlds คงเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักปรัชญาของความพอเพียงกับการบริโภคที่ไร้ความยับยั้งชั่งใจคงไปด้วยกันไม่ได้ หากจะให้ย้อนกลับไปหาอดีตอันแสนสุขก็คงไม่ได้อีก หนทางเลือกอันสุดท้ายอาจจะเป็นการก้าวไปข้างหน้าสู่รากเหง้าของเราเอง (Forward to the Roots)

One Comment

Unknown กล่าวว่า...

เห็นด้วยค่ะว่า ข้อสอบที่ออกมานั้นไม่ควรจำกัดความคิดให้เลือกตอบได้เพียงเท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งมันคงใช้วัดอะไรไม่ได้มากกว่าความคิดที่เป็นพื้นฐานตื้นๆ

Back to Top