จิตตปัญญา ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษา



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2554

"ขอบฟ้ากว้าง" เป็นโครงการที่นำการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่เข้าไปในระบบการศึกษา ของรัฐ มีคนถามว่าทำอย่างไร? หัวข้อข้างล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะตอบคำถามข้อนี้

สอนอย่างไร?

สอนด้วย being ของครู

เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปีติศึกษาที่เชียงราย ปีแรกของการก่อตั้ง เราจะเห็นเด็กๆ ถ่ายบุคลิกภาพของครูมา ซึ่งตอนนั้นเป็นครูฝรั่ง เด็กๆ ก็จะเชิดหน้าชูคอ เดินตัวตรง มองหน้าผู้ใหญ่ตรงๆ และพูดจาชัดถ้อยชัดคำ ครับ เด็กๆ จะถอดแบบของครูมาเลยเป๊ะๆ มันเป็นการก๊อปปี้เฉพาะภายนอกหรือเปล่า หรือเด็กจะได้ก๊อปปี้อะไรมากกว่านั้น

จิตตปัญญาคือการเรียนรู้ในวิถีแห่งการดำรงอยู่ หรือ being

การเรียนรู้ที่เร็วและตรงที่สุดของจิตตปัญญา คือการได้อยู่กับครู ครูทางจิตวิญญาณ ที่มี being ที่ใสกระจ่าง being ที่หลุดจากอาการปกป้อง หลุดจากอาการที่เป็นปฏิกิริยาต่อโลก สามารถรักโลกและเป็นอิสระ ประสบการณ์ตรงของผมก็คือ การที่ผมได้มีโอกาสอยู่กับท่านติช นัท ฮันห์เป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่กุฏิหลังน้อยริมน้ำตก วัดผาลาด เชิงดอยสุเทพ เหมือนกับเราได้ไปดำรงอยู่ในฌานชั้นต้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นมาสัก ๓ เดือน เป็นการเข้าไปสัมผัสสภาวะจิตอันปลอดโปร่งอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นครั้งแรกในชีวิต และอารมณ์นั้นก็เป็นเครื่องนำทาง เป็นเข็มทิศนำทางในชีวิตของเราตลอดมา

คำไทยอีกคำหนึ่งที่จะอธิบายคำว่า being คือ "เป็นให้ดู อยู่ให้เห็น"

จิตเดิมแท้และสิ่งที่มารบกวนหรือเป็นอุปสรรค

จิตเดิมแท้มีความใสกระจ่าง ประภัสสร สวยงาม ทรงพลัง คล่องแคล่วในการงาน ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะความรู้ในสมองของเราเท่านั้น แต่เป็นสนามที่ทอดผ่านไปทั้งจักรวาล จิตเดิมแท้จึงเป็นจิตจักรวาลด้วย ปัญญาของปราชญ์ต่างๆ จึงเป็นปัญญาของเราด้วย

จิตเดิมแท้อยู่ลึกเข้าไปข้างในที่สุด แต่ก็เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับจิตนอกที่สุด คือจิตสำนึกประจำวันธรรมดา ที่ อาร์โนลด์ มินเดล เรียกว่า CR หรือ Consensus Reality หรือโลกประจำวันแห่งจิตสำนึก โลกที่เราสมมติขึ้นมา ส่วนลึกลงไปคือโลกในจิตไร้สำนึก คือ NCR หรือ Non-Consensus Reality

จิตนอกมีอะไรหลายอย่างที่จะไปครอบคลุมเคลือบแฝงทำให้บดบังจิตใน ทำให้จิตในหม่นหมอง ไม่เป็นสามารถสำแดงตัวตนออกมาได้ สิ่งที่มาเคลือบแฝง จะเกิดในวัยเด็ก วัยที่เรายังไม่เข้มแข็ง ไม่มีพลังเพียงพอจะปกป้องตัวเอง จะยืนยันตัวเอง เราต้องอาศัยคนอื่น การถูกทำร้ายทางจิต (บางทีอาจจะทางกายด้วย) ทำให้เกิดบาดแผล ทำให้เกิดปม ทำให้เกิดเปลือกนอก ไปห่อหุ้มความใสกระจ่างแห่งจิตใน จิตเดิมแท้ ทำให้จิตนั้นไม่สามารถสำแดงตัวออกมาได้ การจะให้กลับคืนมาเป็นปกติ เราจะต้องเยียวยา การเยียวยากับการคลี่ออกต้องไปด้วยกัน การคลี่ออกช่วยให้เกิดการเยียวยา และการเยียวยาก็ช่วยให้เกิดการคลี่ออก เสริมกันและกันอย่างนี้เอง

ทุกวันนี้ คนก็ป่วย สังคมก็ป่วย

การป่วยทางจิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะปัจเจกบุคคล แต่มันโยงใยกันป่วยทั้งสังคม สังคมมนุษย์โลกกำลังป่วยอยู่ มันเป็นสมุหะพีชะ หรือเป็นพืชพันธุ์แห่งความป่วยไข้ในระดับสังคมมนุษย์ เฉพาะฉะนั้นบางทีเราไปทึกทักเอาว่า อาการที่เราเป็นกันอยู่นับว่าเป็นปกติ แต่มันไม่ปกติ มันป่วยอยู่ พอไปคิดว่าปกติ มันก็พากันเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างที่ป่วยๆ กันอยู่ โดยไม่คิดจะรักษาเยียวยา จิตเดิมแท้ จิตประภัสสรจึงสำแดงออกมาไม่ได้

มันมาให้เหตุผลว่า ทำไมคนมาเรียนรู้เพื่อจะคลี่จิตเดิมแท้ออกมา หากไม่มีการเยียวยาอย่างพอเพียง มันไม่ยั่งยืน มันจะกลับสภาพไปป่วยทางจิตได้อีก

สูตรยั่งยืนของพาล์มเมอร์

ประสบการณ์ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง

(ขอบฟ้ากว้างเป็นโครงการนำการศึกษากระบวนทัศน์ การศึกษาสำหรับอนาคตเข้าไปใช้ในโรงเรียนของเทศบาลนครขอนแก่นสองแห่งด้วยกัน)

พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ บอกว่า เขาต้องใช้เวลาให้ครูไปหลีกเร้นใคร่ครวญแบบของเขา ๓ วัน แปดครั้งในรอบ ๒ ปี เขาจึงคิดว่า ต้องแบบนี้ทำนองนี้จึงจะ "มีโอกาส" ได้เข้าถึงความยั่งยืน

เพราะฉะนั้น พูดให้ชัด ความยั่งยืนของโครงการนี้ จะต้องไปอยู่ที่ตัวครู ครูจะได้รับการเอื้อเฟื้อบรรยากาศ กระบวนการแวดล้อมให้ครูได้คลี่ออกและเยียวยาตัวเองอย่างไร ให้ได้เข้าไปสัมผัส ได้ดำรงอยู่กับจิตเดิมแท้อย่างเด่นชัด ทำความรู้สึกให้ชัด และกลับไปได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า ฝึกฝนที่จะดำรงอยู่กับจิตเดิมแท้อย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ สภาวะ ในทุกๆ โอกาส จนเป็นสายต่อเนื่องไม่ขาดตอน ความยั่งยืนจึงจะค่อยๆ ปรากฏ และดำรงอยู่ได้

การเรียนรู้โดยการก๊อปปี้นั้นไม่ใช่เป็นการก็อปปี้ตัวตนในขอบเขตจำกัด แต่เป็นการก็อปปี้พลังงานบริสุทธิ์ เป็นการก๊อปปี้ไปพ้นตัวตน เข้าถึงจิตเดิมแท้ที่ดำรงอยู่ภายในด้วย และเมื่อครูได้ ครูก็จะส่งผ่านปัญญาปฏิบัติ และองค์ความรู้เช่นนี้ไปในการก๊อปปี้นั้นเอง

ดังจะเห็นได้ว่า ในการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ ครูชั้นประถมจะอยู่กับเด็กต่อเนื่องไป ๖ ปี ตามเด็กขึ้นไปในแต่ละชั้นเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การ "เป็นให้ดู อยู่ให้เห็น" นั้นสำคัญมาก

ความยั่งยืนของขอบฟ้ากว้าง คือความยั่งยืนของครู หากครูยั่งยืน ห้องเรียนก็อยู่ได้ ครูจะยั่งยืนได้ ต้องเข้าถึงจิตตปัญญาศึกษาที่แท้ ซึ่งได้แก่การพัฒนาภายในต่อเนื่องตลอดเวลา การเยียวยาต้องทำต่อเนื่อง ต้องปลอกหัวหอมลงไปหลายชั้น จึงจะคล่องอกได้อย่างแท้จริง

และอีกประการหนึ่ง ครูที่มาพัฒนาในแนวทางนี้ ครูจะได้มากกว่าการสอนเด็ก เพราะการคลี่ออกเยียวยาจะไปครอบคลุมชีวิตในทุกๆ ทาง ทุกๆ ด้าน ชีวิตโดยรวมก็จะมีความสุขและมีพลังให้กับการเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้นอีกด้วย

การบริหารจัดการก็เช่นกัน ผู้บริหารก็มีผู้บริหารแบบจิตตปัญญาด้วย จึงจะบริหารอย่างสร้างสรรค์ บริหารอย่างไปพ้นอัตตาตัวตนอันคับแคบ ไปสู่การบริหารด้วยจิตเดิมแท้

โจทย์ที่แท้ คือทำอย่างไรให้ครูยั่งยืนอยู่ในจิตตปัญญา คือการเข้าสู่กระแสแบบไม่ไหลเวียนกลับ เสพติดรสชาติของการหลุดพ้นจนไม่อาจมีชีวิตไปเป็นอย่างอื่นได้อีก

คลี่ออก เยียวยา

วลีนี้ผมได้มาจากคำของ ติช นัท ฮันห์ คือ “Reveal and Heal: คลี่ออกและเยียวยา” ก็แปลอย่างตรงไปตรงมานั้นเอง ระยะหลัง ผมมาทำงานกับการเยียวยามากขึ้น ประชา หุตานุวัตร เพื่อนรักคนหนึ่งที่เกื้อกูลกันตลอดมา ให้กำลังใจกันตลอดมา ได้สนับสนุนผมเรื่อยมาในทางนี้ ประชาบอกว่า ผมเป็นผู้เยียวยาโดยกำเนิด คือมีติดตัวมา เป็นผู้เยียวยาอย่างเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของผม แม้ในวัยหนุ่มสาว เพื่อนๆ ที่ทุกข์ร้อน เมื่อได้มาอยู่กับผม ความทุกข์ ความสับสน ความรู้สึกไร้ค่าด้อยค่าก็จะจางคลายไปได้ อย่างไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันก็เป็นไปเช่นนั้น

ผมก็อาศัยการสนับสนุนของเพื่อนๆ เช่นนี้ โดยมีประชาเป็นตัวอย่างหนึ่ง กลับมาทำงานเยียวยาอีก โดยเฉพาะเมื่อได้มาศึกษางานของ อาร์โนลด์ มินเดล ผมว่ามินเดลได้ปลดปล่อยงานด้านจิตวิทยา โดยเอามาเชื่อมโยงกับงานพ่อมดหมอผีจากทั่วโลก เขาเข้าไปศึกษาโดยเข้าไปเป็นศิษย์ของพ่อมดหมอผีจากทวีปต่างๆ อย่างน่าสนใจมาก และเอามาเชื่อมโยงกับควอมตัมฟิสิกส์ เขียนหนังสือชื่อ Quantum Mind ที่ เมธาวี เลิศรัตนา ภรรยาของผมกำลังย่อยเป็นตอนๆ ลงในเว็บบอร์ดของวงน้ำชา ที่ www.wongnamcha.com

เอมี มินเดล ภรรยาของเขา ก็เขียนหนังสือชื่อ Alternative to Therapy ผมว่าชื่อหนังสือใหญ่โตมากๆ เลย และผมว่าเป็นหนังสือดีมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลกเท่าที่เคยได้อ่านมา ที่ว่าชื่อใหญ่ก็เพราะนำเสนอทางเลือกในการเยียวยาผู้คนที่ป่วยทางจิต น่าสนใจมากๆ เราอาจจะทราบว่า ในเมืองไทย จิตแพทย์ไม่ค่อยทำการบำบัด อย่าว่าแต่จะไปหาทางเลือกของการบำบัดเลย เสียดายที่เราขังตัวเองอยู่ในจิตวิทยากระบวนทัศน์เก่า แม้ที่ก้าวหน้าที่สุดก็ยังเก่ามาก เราไม่เปิดตัวออกไปศึกษาอะไรที่กว้างออกไป เราไม่กล้าแสวงหาปัญญาปฏิบัติของไทยเราเองด้วยซ้ำ ที่สำคัญเราไม่เคยเชื่อมโยงกับพ่อมดหมอผีในบ้านของเรา งานด้านนี้ที่เห็นก้าวหน้าอยู่บ้าง ก็คืองานของหมอโกมาตร ที่ไปศึกษาการรำผีฟ้า แถวๆ อีสานใต้กระมัง

Back to Top