แหวกม่านมายาของการพัฒนาจิต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2554

หลังการอบรม ผู้เข้าร่วมกระบวนการเข้ามาสอบถามด้วยความสนใจ

"อาจารย์ วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ทำไมอาจารย์ไม่กล่าวโยงเรื่องที่เราทำอยู่นี้ให้เข้ากับวันสำคัญทางศาสนา"

เด็กหนุ่มอายุยี่สิบปลายสามสิบต้น ในดวงตาของเขาฉายโชนด้วยพลังของความใคร่รู้ เขาถามเพราะเห็นว่าสิ่งที่เราทำกันในห้องอาจจะเทียบได้กับการเจริญสติ

ผมตอบเขาว่าผมไม่ทราบ เพราะช่วงนั้นผมไม่ได้เป็นคนนำกระบวนการ แต่ในใจทราบอยู่ กลุ่มผู้เข้ารับการอบรมบางจำพวก เมื่อกล่าวถึงธรรม หรืออ้างคำบาลี พวกเขาจะหนีห่าง เพราะไม่เคยศึกษาจึงพาลเหมาเอาว่าเป็นเรื่องยาก หรือดูแคลนว่าเป็นเรื่องบุร่ำบุราณ ไม่ทันยุคทันสมัย คนอีกบางจำพวก ตรงกันข้าม นิยมผู้อ้างคำศัพท์แสงเหล่านี้ อาจเป็นเพราะได้เคยศึกษามาบ้าง หรือมีใจชอบด้านวิชาการ กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเถรตรงกับพยัญชนะ และถลำไปยึดจับความหมายของคำตามที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมา หรือเคยทำความเข้าใจด้วยอนุมาน แล้วคิดไปเองว่าตนเข้าใจ ผมเคยตู่เอาอย่างนั้น จนครูบาอาจารย์ต้องทัก...

"เรื่องนี้มันเข้าใจไม่ได้นะ ศรชัย แค่ได้ยินได้ฟังก็ไม่เสียชาติเกิด"

ชะรอย ‘มานะ’ ของตนไม่ปรานี ทุกครั้งที่ได้ฟังเช่นนั้น ก็ฮึกเหิมว่าตนต้องเข้าใจให้ได้ แต่เพราะเข้าใจผ่านตัวอักษรนั้นไม่ได้ ตัวเองจึงยังไปไม่ถึงไหนเสียที คงอย่างที่อาจารย์บอก ในใจจึงตรึกว่า "ก็ไม่เสียชาติเกิดแล้วนะเรา จะเอาอะไรอีกกันเล่า"

เหตุนี้ผู้ศึกษาเรื่องจิตอย่างผม จึงต้องยึดอัปปมาทธรรมเพื่อเตือนให้กริ่งเกรงใจ ต้องรู้ว่าเมื่อใดควรกล่าว เมื่อใดควรเฉย...

แต่เฉยอยู่ไม่ได้ เมื่อได้พบผู้อ้างอิงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างหละหลวม เฉกเช่น ชาวต่างชาติบางกลุ่มเมื่อจะเข้ามาเผยแพร่ลัทธิของตัว ก็อ้างอิงคำของพระพุทธเจ้าราวกับจะเป็นสะพานทอดให้ตนได้สำเร็จอามิสกิจโดยสะดวกดายขึ้น ผมก็ทักท้วงและแย้งอย่างสุดความสามารถว่า

"ผมไม่ขัดว่าท่านจะมาเผยแพร่หลักการพัฒนาจิตใจ

โดยอิงทฤษฎีของชาวตะวันตกอย่างไรก็จงทำไปเถิด

แต่ทำไมท่านจะต้องยกรูปพุทธปฏิมา ขึ้นมาลวงให้ผู้คนเข้าใจผิดว่า นี่เป็นมรรคาแห่งพุทธด้วยเล่า และการที่ท่านยกเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นปรัชญา

นั่นมิใช่ข้อพิสูจน์ต่อความไม่ศรัทธาต่อองค์สัมมาสัมพุทธะดอกหรือ?"

อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ว่าผมจะเพียรทักท้วงอย่างไร มันเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ของคนที่ไม่มีเครดิต ไม่มีใบประกาศนียบัตร ผมซักถามเรื่องความเชื่อ ถ้าหากท่านยกรูปอันเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวพุทธ มาแปะไว้เพื่อนำมาชักชวนให้ผู้คนเข้ามาอบรมในแนวทางของท่าน อย่างน้อยท่านต้องตอบผมได้ว่าท่านเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่? หาไม่แล้วท่านก็จะทำตัวเป็นชาวต่างชาติที่นำเศียรของพระพุทธรูปมาประดับไว้ในห้องนั่งเล่น ยังไงยังงั้น ได้ผลคือผมถูกตัดสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ค และไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากท่านผู้นั้นอีกเลย

หรือนั่นเป็นเพราะผมไปแหวกม่านของท่านเข้าให้แล้ว?

ผมกลับมาสนใจในความเป็นไปของเฟซบุ๊คที่ซึ่งกระแสความเป็นไปของจิตร่วม (แบบจำกัดวงเพื่อน) นั้นโรมรันพันตูกันอย่างน่าพิศวง ผมพบว่าผู้ที่ได้รับการเชิดชูในเฟซบุ๊ค คือผู้ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์หรือสถาบันกษัตริย์ หลังๆ ผมได้ยินมายาคติเรื่องการพัฒนาจิตว่า

"ให้เรากลับไปเป็นเด็กน้อยอีกครั้ง เพราะพลังชีวิตของเราอยู่ที่นั่น"

ซึ่งแปลเป็นภาษาแหวกม่านได้ว่า "ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ ที่คิดได้เอง คุณจะไม่เชื่อในอุดมคติใหม่ที่ผมกำลังจะให้แก่คุณ"

หรือ "ศาสนาที่เรามีอยู่คือตัวบ่อนทำลายอิสรภาพของเรา การนั่งหลับตาภาวนาคือผู้คนที่เอาเปรียบสังคม"

ซึ่งแหวกม่านแล้วแปลได้ว่า "จงก้มหน้าก้มตาทำงานที่เราทำอยู่ต่อไป เพราะถึงมันจะทำลายโลก ไร้แก่นสาร และเอาเปรียบคนอื่นบ้าง ก็ดีกว่าพวกที่อยู่เฉยๆ ทำตัวลอยนวลไม่สร้างประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ แถมยังชอบทำให้เรารู้สึกผิดอยู่เรื่อย"

หรือ "การภาวนาไม่ใช่ขี้ขลาด เคร่งขรึมหรือหลบหนี เราต้องกล้าเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่กลัวที่จะโอบกอด ร้องไห้ได้ หัวเราะได้"

ซึ่งเมื่อแหวกม่าน (รูด) แล้วแปลได้ว่า "คนรุ่นใหม่อย่างเราจะไปนั่งหลังขดหลังแข็งทำสมาธิทำไม อยากกินเหล้าก็กิน อยากเต้นก็ลุกขึ้นเต้น อยากมีเพศสัมพันธ์ก็ลองมันเลย ก็ทุกอย่างคือการภาวนา"

ผมเกิดไม่ทันวู้ดสต๊อก แต่ทำไมเราจะต้องไปไขว่คว้ามัน ฮิปปี้ผ่านไปแล้วไม่ใช่หรือ จงทำดอกไม้ในใจให้เบ่งบาน ผมนึกว่าไม่มีใครเชื่ออะไรแบบนี้แล้ว แต่มันกลับถูกนำมารีแพคเกจในรูปลักษณ์ใหม่ คุณไม่ต้องเชื่อในศาสนา คุณไม่ต้องเชื่อในศาสดา คุณไม่ต้องเชื่อในคำสอนที่โบราณล้าหลัง ขอให้เชื่อในเด็กน้อยในตัวคุณ จงเชื่อในเสียงภายในตน และศูนย์กลางของคุณที่จะนำคุณไปหาทางสว่าง

บางพวกก็ไปอีกโต่งหนึ่ง พวกเขาเหมาเอาว่าความเชื่อทุกอย่างนั้นถูกประกอบสร้างขึ้น จึงอ้างว่าควรเลิกเชื่ออย่างมืดบอด เขามักจะพูดว่าไม่มีสัจธรรมใดๆ มีแต่ลมลวงจากพวกบ้าศรัทธาที่คิดไม่เป็น โดยลืมไปว่าการประกาศเช่นนี้ก็เป็นการประกาศความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง คือเชื่อในการไม่เชื่ออะไรเลย แล้วท่านเหล่านั้นพอใจในความเห็นเช่นนี้ของตนได้อย่างไรกัน เป็นเรื่องที่สุดวิสัยที่ผมจะเข้าใจ...
น้องชายคนเดียวกันกับทีแรก หลังจากเก้กังอยู่พักหนึ่ง ผมซักเขาบ้าง ด้วยงุนงงสงสัยในแรงจูงใจของคนหนุ่มที่น่าจะอภิรมย์อยู่กับกามคุณ เฮฮากับพรรคพวกเพื่อนฝูงในผับบาร์

“น้องชาย ถามจริงๆ คุณนั่งสมาธิ ปฏิบัติอยู่นี่เพื่ออะไร”

“ผมอยากจะเห็นนรก-สวรรค์ ผมเอาซีดีมาเปิดฟังแล้วทำตาม ด้วยหวังว่าจะได้มีมโนมยิทธิ”

อ้าว..เริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ ทำไมเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา?

Back to Top