บทความนี้ไม่พูดเรื่องน้ำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554

ตอนสมัยเรียนวิศวะ ผมเคยได้ยินเรื่องกฎของเมอร์ฟี่

“สิ่งใดก็ตามที่ผิดพลาดได้ ย่อมจะผิดพลาดในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด”

เมื่อก่อนยังฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ในวันที่ผมต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเองที่กรุงเทพฯ เพราะมหาอุทกภัยถล่มเมือง ผมจึงเริ่มเข้าใจว่าคุณเมอร์ฟี่ต้องการจะบอกอะไร

ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว

แต่มันเป็นความผิดพลาดของใครผมก็ยังมึนๆ ธรรมชาติจิตใจของคนเรามักจะไม่ชอบอยู่กับความมึนงงนานนัก มันต้องการตัดลงสู่ความชัดเจนเพื่อขจัดเสียซึ่งสภาวะอันไม่น่าชอบใจนี้ ปัญหาก็คือในระหว่างที่เรากำลังมึนตึ้บอยู่นั้น คนเรามักจะมุ่งตรงไปที่คำตอบซึ่งไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง แต่เรามักจะพุ่งเป้าไปหา “แพะรับบาป” เพื่อที่ว่าบุคคลหรือวัตถุสิ่งนั้นจะได้มารองรับความขุ่นเคืองใจของเรา ผลที่ได้คือความสะใจในการแสดงออก แต่เราไม่เฉลียวใจว่าจิตใจของเราในขณะนั้น กำลังทำงานในระดับขั้นที่ไม่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและโลกของเรา คือลำดับขั้นจิตบำเรอตน (I-in-me) หรือจิตจริยธรรม (I-in-Crowd) – อ่าน “บันไดจิตวิวัฒน์ ๕ ขั้น” ใน มติชน วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

การตกไปอยู่ในความขุ่นมัวส่งผลเป็นความเครียดสะสม อาการก็คือหงุดหงิดโดยไม่ต้องมีสาเหตุ เห็นอะไรขวางหูขวางตา นอนหลับไม่สนิท จิตใจไม่แจ่มใส คิดอะไรไม่ออก ถ้าอยากแก้ไขก็ต้องเล็งไปที่เหตุ เมื่อต้นเหตุอยู่ที่ความคิด ก็ต้องพาตัวเอง “ออกจากความคิด” เสียก่อน เพราะการติดกับดักของความคิดทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง การระลึกรู้อยู่ที่ความรู้สึกในร่างกายก็เป็นวิธีการหนึ่งในการออกจากความคิดที่วุ่นวาย

การออกจากความคิดไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด หรือหยุดคิด ความคิดที่วุ่นวายก็เหมือนสายน้ำที่ไหลไปอย่างควบคุมทิศทางไม่ได้ เราหยุดสายน้ำไม่ได้ฉันใด เราก็หยุดความคิดไม่ได้ฉันนั้น แต่ความลับอยู่ตรงที่เราสามารถ “กั้น” ความคิดของเราได้ชั่วขณะ โดยอาศัย “ทำนบ” ซึ่งหมายถึงความรู้สึกถึงอาการในกาย เมื่อความรู้สึกตัวชัด เราจะออกจากความคิดได้ชั่วขณะ

แต่เราทุกคนรู้ว่า “ทำนบ” สามารถกั้นน้ำได้เพียงชั่วคราว สักประเดี๋ยวความเผลอเรอของเราจะทำให้ความคิดไหลซึมเข้ามา เหมือนน้ำที่ไหลซึมตามรอยรั่วของกระสอบทรายอย่างช้าๆ และหากมีใครมาพังแนวกระสอบทรายของเรา น้ำย่อมไหลบ่าเข้ามาอย่างควบคุมไม่อยู่ ไม่ต่างกันกับเวลามีใครหรืออะไรมากระแทกอารมณ์อย่างรุนแรง การระลึกรู้ที่เรียกว่า “สติ”​ จะขาดหาย ความคิดสับสนและความไม่พอใจก็ไหลเข้าท่วมใจ

ถ้าเราสามารถออกจากความคิดได้บ่อยๆ เราจะพัฒนาพลังความสามารถอันหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือความสามารถใช้ความคิดในโหมด “สร้างสรรค์”​ ซึ่ง โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ บอกว่าในโหมดนี้ความคิดของเราจะแผ่ออกในลักษณะองค์รวม เราจะมีปัญญามองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุและปัจจัย ตรงข้ามกับโหมด “เอาตัวรอด” ซึ่งมักจะคิดอะไรสั้นๆ โดยใช้ความคุ้นชินเดิม มาตีตราแปะป้ายหาความผิด คนเราเพ่งโทษผู้อื่นเพราะความกลัว ความไม่มั่นใจในอนาคต และความต้องการจะทำให้สภาพปัจจุบันนั้นไม่แปรเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เราควบคุมได้

หากเรามองโลกตามความเป็นจริงจะพบว่าไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยน ระบบต่างๆ ในธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนแต่อิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน และมันไหลเลื่อนเคลื่อนที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา นักรบธรรมท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่า

“ความเจริญมันไม่มีหรอก มีแต่การเสื่อมไปข้างหน้า”

เมื่อเกิดแล้วก็เสื่อมถอยเลย ที่บอกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจึงควรจะพูดเสียใหม่ว่าเป็น “เกิดขึ้น แปรปรวน และดับไป” เพราะเอาเข้าจริงไม่มีอะไรดำรงคงค้างอยู่ในสภาวะหนึ่งได้เลย ปัญหาอยู่ตรงที่หากเรายังใช้ความคิดในระบบ “เอาตัวรอด” ที่มุ่งจับผิดและหาคนผิดมาลงโทษ เราจะมองไม่เห็นอนิจจลักษณะคือความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบซึ่งอิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน แต่การจะก้าวเข้าไปสู่การใช้ความคิดในระดับ “ปัญญาญาณ” คือความรอบรู้ นอกจากจะต้องพาตัวเองออกจากการ “ติดเชือก” ทางความคิดแล้ว จะต้องฝึกความรู้รอบเสียก่อน
การรู้รอบหมายถึงเราต้องไม่ลดทอนและมองความจริงอย่างแยกส่วนจนมองไม่เห็นเหตุและปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้พยายามนำความรู้เรื่อง “ความคิดเชิงระบบ” (Systems Thinking) โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร พุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัย เรื่องน่าแปลกก็คือหากใครศึกษาองค์ความรู้ทั้งสองไปจนถึงจุดหนึ่งจะพบว่าเรา “ขว้างงู (แมมบ้า) ไม่พ้นคอ” หมายถึงทุกปัญหาจะชี้กลับมาที่เหตุปัจจัยสำคัญก็คือ “ตัวเราเอง” เพราะเราไม่แยกการดำรงอยู่ของเราออกมาอย่างเป็นเอกเทศจากระบบโดยไม่อิงอาศัยอะไรเลยได้ แม้แต่ความคิดที่ว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบก็ไม่ถูกต้อง

เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบ แต่ระบบเป็นส่วนหนึ่งของเรา

สิ่งที่เราตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำจึงมีผลต่อสภาพปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นจึงโทษใครไม่ได้ เพราะเมื่อสาวหาเหตุไปจนสุดแล้วเราอาจจะต้องกลับมาเขกหัวตัวเองในฐานะ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ในโรงมหรสพแห่งระบบชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น ณัฐชนนท์ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์​ บริษัทโฆษณา เธอชอบนั่งจิบกาแฟริมแม่น้ำ และพักในคอนโดหรูติดแม่น้ำ แต่เพราะมีลูกค้าที่มีความต้องการอย่างเธอ นักลงทุนจึงรุมแย่งกันพัฒนาที่ดินริมแม่น้ำ การได้มาซึ่งที่ดินนั้นไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือหลักผังเมืองหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แล้วเราจะโทษบรรพชนของเราในอดีตได้หรือไม่ เพราะการที่ท่านเหล่านั้นนิยมตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างฟลัดเวย์ ขนาบแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งในปัจจุบัน

สำหรับคุณสมชาย พนักงานแบงค์ผู้อยากจะมีบ้านเดี่ยวสักหลังเพื่อสร้างครอบครัว สามปีที่ผ่านมาเขาตัดสินใจดาวน์บ้านจัดสรรแถบชานเมือง ซึ่งเจ้าของโครงการถมที่ลุ่มให้สูงขึ้น ในที่ซึ่งควรจะเป็นแก้มลิงรับน้ำ สมชายกับภรรยาและลูกน้อย ควรถูกตำหนิหรือไม่ ที่อยากจะอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวและสวนหย่อมเล็กๆ เอาไว้หย่อนใจ แทนการไปอุดอู้อยู่ในทาวน์เฮาส์เก่าคร่ำคร่าแถบใจกลางเมืองซึ่งราคาแพงกว่า และเมื่อโรงงานทำชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ทำให้ชีวิตของขวัญจิตซึ่งอพยพมาทำงานจากภาคอีสานสามารถลืมตาอ้าปากได้ ใครจะไปสนว่ามันตั้งอยู่ขวางทางน้ำล้นทุ่งที่จะออกสู่ทะเล

หรือถ้าหากเราจะโทษรัฐบาลที่เก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนในปริมาณมากเกินไป จนเมื่อดีเปรสชันมาทำให้ระบายน้ำไม่ได้ เราก็ควรจะถามความรู้สึกของลุงชม อาชีพทำนา ว่าเมื่อยามที่ประสบภัยแล้งในบางปีจนผลผลิตข้าวเสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัว คุณลุงอยากให้เก็บน้ำเอาไว้หรือปล่อยน้ำออกให้หมดเขื่อน

การเพ่งโทษนั้นง่าย แต่การมองเห็นการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยของปัญหานั้นยากกว่า ศาสตราจารย์แดเนียล คาห์เนมาน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพูดเรื่อง “คิดสั้น-คิดยาว” ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow บอกว่าถึงคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือระดับผู้เชี่ยวชาญ ต่างมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ทั้งนั้นเพราะมีอคติที่เข้ามาบดบังการมองเห็นตามความเป็นจริง แต่เขาก็ยังบอกอีกด้วยว่า การคิดสั้นในแบบที่เรียกว่า “ญาณทัสสนะ” (Intuition) ก็อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่การคิดวิเคราะห์ในลักษณะที่เป็นแบบแผนทำไม่ได้

มาร์กาเร็ต วีตเลย์​ บอกว่าในยามวิกฤติผู้คนย่อมกระหายข้อมูลที่เที่ยงตรงฉับไว ปัญหาก็คือในยามนั้นเรามักจะอยู่ในสภาวะข้อมูลท่วม เพราะไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ข้อมูลไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ แต่มันไหลไปพร้อมกับนัยยะของความรู้สึกและความเห็น หากข้อมูลถูกปิดกั้นด้วยความคิดแบบ “เอาตัวรอด” คุณภาพของข้อมูลที่ไหลไปก็จะกระปริดกระปรอยเหมือนน้ำประปายามอุทกภัย

บางทีการสนับสนุนให้เกิดการไหลของข้อมูลและทรัพยากร ผนวกกับความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้คนตัวเล็กอาจจะเป็นหนทางในการจัดการยามคับขัน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเรื่องความมั่นคง ที่เน้นการรวมศูนย์และควบคุมข้อมูลแบบที่ทหารรุ่นเก่าใช้เมื่อยุคสงครามโลก ข้อมูลในยุคสังคมออนไลน์นี้ไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดี

มาร์กาเร็ตเล่าว่าในเหตุการณ์กันยาฯ วิปโยค 9/11 ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของสหรัฐอเมริกาซึ่งสังกัดอยู่กับทบวงการบินสหรัฐ (FAA) ต้องนำเครื่องบินจำนวน ๔,๕๐๐ ลำและผู้โดยสารจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ คน ลงบนพื้นดินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่ชั่วโมงแรก พวกเขาสามารถนำเครื่องบินจำนวนกว่าร้อยละ ๗๕ ร่อนลงบนพื้นได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางความหวาดกลัวในเรื่องการก่อวินาศกรรมในเครื่องบินแต่ละลำ มันเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังมีความพยายามจะทำการบันทึกเพื่อถอดบทเรียน แต่จำต้องยกเลิกไปด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครสามารถบรรยายขั้นตอนหรือวิธีการทำงานในช่วงนั้นออกมาเป็นมาตรฐานได้ อาจเป็นเพราะความสามารถในการจัดการครั้งนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยการร่วมมือ ความชำนาญ ความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ซึ่งรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติกัน

เมื่อเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ผ่านไป เราทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากจะถอดบทเรียนของวิกฤติครั้งนี้ออกมาเป็นกระดาษเปื้อนหมึก ข่าวเศร้าเคล้าน้ำตา หรือจะลงทุนกับการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน?

Back to Top