พัฒนาจิตจากการทำงาน



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2554

คนทำงานสามารถพัฒนาจิตได้ทุกวันโดยไม่ต้องไปวัด

ประมาณเจ็ดปีแล้วที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ได้ทดลองรูปแบบการจัดประชุมเพื่อพัฒนาจิตคนทำงานโดยมีปรัชญาว่า “พัฒนาจิตจากการทำงาน”

หมายความว่าคนทำงานทุกคน ทุกสาขาอาชีพ สามารถยกระดับจิตใจของตนเองระหว่างทำงานได้ หากทำไม่ได้ก็มีกลวิธีที่จะช่วยให้ยกระดับจิตใจของตนเองในภายหลัง ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปทดลองทำได้ มิใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร

ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องไปเข้าคอร์ส ฝ่ายบุคคลของทุกบริษัทหรือองค์กรลองทำได้

พัฒนาจิตจากการทำงานคือยกระดับจิตใจของตนเอง มิได้มุ่งหวังจะให้ยกถึงสวรรค์ชั้นไหน หรือละแล้วซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง หรือบรรลุอะไร เพียงมุ่งหวังให้มีความสุขกับการทำงาน เห็นคุณค่าของงาน และตั้งใจทำงานเพื่องานเท่านั้นเอง

มีความสุขกับการทำงาน หมายความว่าตื่นเช้าก็อยากมาทำ ทำงานก็ไม่มองนาฬิการอเลิก พบอุปสรรคก็เห็นเป็นเรื่องสนุก

เห็นคุณค่าของงาน กินความตั้งแต่เห็นคุณค่าของตัวเอง ว่าตัวเราสำคัญต่องานและองค์กร เห็นคุณค่าของอาชีพหรือวิชาชีพที่กำลังทำ เห็นคุณค่าของการทำงานหนัก และมีอุดมการณ์ของงานและชีวิต

ตั้งใจทำงานเพื่องาน เงินเดือนและค่าตอบแทนแม้สำคัญ แต่คนทำงานที่ดีคือคนทำงานเพื่องาน เป็นขั้นตอนพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ

ฝ่ายบุคคลทุกองค์กรเฝ้าหาคอร์สพัฒนาบุคลากร แต่ส่วนใหญ่พัฒนาได้เพียงระยะสั้นๆ เมื่อกลับไปทำงานก็เบื่องานเหมือนเดิม เพราะเมื่อคนกลับเข้าสู่โครงสร้าง บรรยากาศ บริบท และวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ ก็จะทำงานแบบเดิมทุกครั้งไป เปรียบเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากเราติดตั้งโปรแกรมเวอร์ชั่นไหนแล้วก็ต้องทำงานภายใต้เวอร์ชั่นนั้นตลอดไป

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์มีประสบการณ์จัดประชุมเพื่อ “พัฒนาจิตจากการทำงาน” กับโรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง และทำงานกับโรงเรียนรัฐบาลประมาณหนึ่งร้อยแห่งทั่วทุกภาค ทำงานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ ทดลองทำกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในทัณฑสถานจังหวัดเชียงราย ทดลองทำกับผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายสุขภาพในท้องที่ ทำงานกับเครือข่ายการบริการสุขภาพปฐมภูมิเขตเมืองโคราช และเครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน

แพทย์ พยาบาล ครู เจ้าหน้าที่ทัณฑสถาน บุคลากรประจำ รพ.สต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนด้านยาเสพติด ผู้บริหารระดับกลางของเครือข่ายการทำงานใดๆ มีจำนวนมากที่เข้าใจปรัชญาพัฒนาจิตจากการทำงาน และสามารถจัดการประชุมด้วยตนเองต่อไปตามแต่โอกาสและงบประมาณจะมีให้

เคล็ดลับในการจัดประชุมเรื่องนี้ไม่ยาก จุดสำคัญคือสอนให้เจ้าหน้าที่รู้จัก “ฟังอย่างตั้งใจ” ที่เรียกว่า deep listening คนเราส่วนใหญ่ไม่ฟังกัน หากฟังก็ฟังเพียงเนื้อหา หากจัดประชุมยิ่งฟังกันเพียงผ่านหูหรือไม่ฟังเลย ดังนั้นเรื่องที่การประชุมเพื่อพัฒนาจิตจากการทำงานมุ่งเน้น คือสอนให้คนฟังกันอย่างตั้งใจ

ฟังอะไร

ฟังเพื่อนร่วมงานเล่าวิธีทำงานของเขา

ฟังอย่างตั้งใจ หมายถึงตั้งใจฟัง สังเกตสีหน้า วิธีพูด อากัปกิริยา นั่งมองนั่งฟังจนเข้าใจเรื่องที่เขาพูด เข้าใจเนื้อหาที่เขาบอก เข้าใจเจตนาของเขา เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการกระทำของเขา พูดง่ายๆ ว่าเข้าใจจนเปรียบเสมือนสวมแว่นเดียวกันกับเขา มองโลกในแบบที่เขามอง ใส่รองเท้าของเขา ยืนในที่ที่เขายืน

เวลาเราฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ ไม่มากก็น้อยเสมือนหนึ่งเจริญสติไปในตัว

คนเล่าเล่าอะไร ให้เล่าวิธีทำงานของตนเองที่เรียกว่า story telling วิธีทำงานหมายถึง ทำงานอย่างไร (How) มิใช่ทำอะไร (What) เช่น เวลาขอให้คุณหมอเล่า คุณหมอมักเล่าว่าวันๆ ทำอะไร ตอนเช้าไปตรวจผู้ป่วยตามเตียง ตรวจไป ๓๐ คน แล้วมาออกตรวจผู้ป่วยนอกนานสามชั่วโมง ตรวจไป ๕๐ คน เป็นชาย ๒๗ คน เป็นหญิง ๒๓ คน ประมาณนี้เรียกว่าเล่าว่าไปทำอะไรมา แต่มิได้ลงรายละเอียดว่าทำอย่างไร เช่น เริ่มต้นทำงานกี่โมง ไปเยี่ยมผู้ป่วยแต่เช้าตรู่ ญาติผู้ป่วยพูดว่าอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรที่ญาติและผู้ป่วยเห็นหน้าหมอมาทำงานแต่เช้า ไปออกตรวจผู้ป่วยนอก สวัสดีผู้ป่วยอย่างไร พบผู้ป่วยยากจน พิการ เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ คุณหมอพูดว่าอย่างไร ปลอบผู้ป่วยอย่างไร พูดไปแล้วปลอบไปแล้วผู้ป่วยมีสีหน้าอย่างไร แล้วตนเองรู้สึกอย่างไร ฯลฯ เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

หากเป็นครู ครูไม่เล่าว่าสอนกี่ชั้น ชั้นละกี่คน เด็กได้กี่เปอร์เซ็นต์ตกกี่เปอร์เซ็นต์ ครูควรเล่าว่าได้พบเด็กยากจนชื่ออะไร พบเด็กเกเรชื่ออะไร แล้วครูเข้าหาเขาอย่างไร พูดว่าอย่างไรบ้าง เด็กดื้ออย่างไร ครูใช้วิธีไหนอีกในการเข้าหาจนสำเร็จ ชวนเด็กไปทำงานบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยให้เด็กพบคุณค่าของตนเอง เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

หากเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ให้เล่าเรื่องดูแลผู้ต้องขังอย่างไรให้เขาพัฒนาตนเอง หากเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ให้เล่าว่าได้ชักชวนประชาชนในท้องถิ่นมาทำกิจกรรมอะไรเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ตอนไปชักชวนไปตอนไหน กี่โมง ไปพูดว่าอย่างไรจึงสำเร็จ กิจกรรมที่ว่าทำอย่างไร เป็นต้น เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่าง คนทำงานทุกคนมีเรื่องเล่าอัศจรรย์มากมายรอจะเล่า

ข้อผิดพลาดคือเวลาพวกเราเข้าประชุมมักชอบพูดว่าไปทำอะไรมา หรือชอบนำเสนอผลงานเป็นจำนวนนับ หรือชอบระดมสมองซึ่งก็ไม่ค่อยกล้าจะพูดเท่าไรนัก หรือชอบแสดงความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งไม่สามารถนำไปทำอะไรได้มากนัก หรือชอบเสนอแนะนำคนอื่นซึ่งคนอื่นก็ฟังไปเช่นนั้นเอง ไม่ทำตามที่เสนอแนะ หรือชอบพร่ำบ่นปัญหาที่ไม่มีทางออก แย่กว่านี้คือเชือดเฉือนกันในห้องประชุมให้หมดเวลาไป

การจัดประชุมเพื่อพัฒนาจิตจากการทำงาน จึงต้องการองค์ประกอบที่สำคัญสองประการ ประการหนึ่ง คือเตรียมและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้เล่าวิธีทำงานของตนเอง ให้เขาได้อวดว่าเขาทำงานอย่างไรงานจึงสำเร็จ หากเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บางระดับมาเล่าเรื่อง จะได้เรื่องราวแปลกใหม่มากมาย เช่น ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมาเล่าว่าเขาพบอะไรบ้างยามค่ำคืน แล้วเขาทำอย่างไร เป็นต้น ประการที่สอง คือเตรียมผู้ฟังให้รู้จักฟังอย่างตั้งใจ ยอมรับเรื่องเล่าโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่โต้เถียงหรือเห็นแย้งหรือเสนอแนะอะไร เพียงฟังด้วยความตั้งใจและรู้สึกไปกับเรื่องเล่านั้น
หลังจากนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนได้สะท้อนความรู้สึกที่ได้รับจากการเล่าและการฟังเรียกว่า reflection การสะท้อนความรู้สึกจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของกลไกพัฒนาจิต

ด้วยการประชุมในรูปแบบนี้ มูลนิธิฯ พบว่าเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมประชุมได้รับแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำงานเดิมๆ ด้วยความรู้สึกใหม่ๆ

มีความสุขกับการทำงาน เห็นคุณค่าของงาน และตั้งใจทำงานเพื่องาน

Back to Top