มอง ‘จิตอาสา‘ ผ่านสายตาเด็กวัด



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2555

หนุงหนิง คือหญิงสาววัยทำงาน ชีวิตวัยเด็กของเธอเรียกได้ว่าเป็นคุณหนูตัวจริง เพราะฐานะทางบ้านเหลือกินเหลือใช้ เธอไปโรงเรียนมัธยมด้วยกระเป๋าถือหลุยส์ วิตตอง และของฟุ้งเฟ้อแห่งยุคสมัย แต่ทรัพย์สมบัติเป็นของไม่เที่ยง เมื่อถึงจุดหนึ่งเธอจึงต้องพาตัวเองเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ให้กับทางบ้าน หนุงหนิงมีรูปร่างค่อนข้างเจ้าเนื้อ เพราะไม่เคยถูกความลำบากขัดเกลาจึงไม่ใคร่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ส่วนรูปร่างของเธอก็ทำให้เธอต้องรับบทเป็นตัวโจ๊กในหมู่เพื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนประเภทไม่เอาไหนทั้งสิ้น

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลทำให้เกิดกระแส “คนช่วยเหลือกัน” ในหมู่คนรุ่นใหม่ หนุงหนิงก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาสัมผัสกับกระแสนี้เช่นเดียวกัน

“จากที่เรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับใคร ก็รู้สึกดีกับตัวเองเมื่อมาทำงานอาสา เพราะอย่างน้อยได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง”

มีอยู่ช่วงหนึ่งหนุงหนิงจะไล่ติดตามข่าวผ่านทางเฟซบุ๊ค สื่อโซเชียลมีเดียยอดฮิต เพื่อดูว่าจะมีกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมที่ไหนบ้าง บางครั้งเธอไปช่วยด้วยแรงกาย บางครั้งก็บริจาคสิ่งของตามแต่กำลัง ทุกครั้งเธอจะรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากกว่าเธอ

เหตุการณ์พลิกผัน เมื่อ “หนุงหนิง” ตัดสินใจลาออกจากงานซึ่งมองไม่เห็นอนาคต เพื่อแสวงหาทางเดินใหม่ เธอต้องกลายมาเป็น “เด็กวัด” โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อญาติผู้ใหญ่ที่เธอจะไปอยู่ด้วยมีปัญหาบางอย่าง จึงขอฝากเธอเอาไว้ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ในภาคอิสาน กับหลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งรู้จักมักคุ้นกันมานาน

เมื่อคุณหนูต้องกลายมาเป็นเด็กวัด เธอพบว่าชีวิตเดิมๆ ที่ไปเฮฮาปาร์ตี้ก๊งเหล้ากับก๊วนเพื่อน จนมีนิสัยนอนดึกตื่นสายได้ถูกแทนที่ด้วยการตื่นแต่เช้ามืด และจะต้องทำงานสารพัดที่เป็นงานของส่วนรวม เช่นงานกวาดถูกพื้น ล้างจาน ซักผ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่เธอไม่เคยทำมาก่อน เธอเล่าว่าพระอาจารย์มักจะมาดูเธอกวาดพื้นแล้วสอนว่า “อย่าใจลอย ให้เอาใจมาอยู่ที่การกวาดพื้น” แต่เธอก็ทำไม่ได้ เธอรังเกียจงานที่ต้องใช้แรงงานเหล่านี้ เธอรู้สึกเหนื่อยและท้อ ยิ่งติดกับดักความคิด ความรันทดก็กัดเซาะใจของเธอ ได้แต่รำพึงว่าเหตุใดหนอโชคชะตาจึงเล่นตลกกับเธอได้ถึงเพียงนี้

หกเดือนผ่านไป เธอพบว่าการกวาดพื้นไม่ได้ทรมานใจเธอย่างที่เคยเป็น เธอไม่ได้รักไม่ได้ชอบมัน แต่เธอสามารถทำมันได้เป็นปกติ ยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีงานเข้ากรรมฐานประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของทางวัด เธอเห็นเด็กวัดคนอื่นๆ ต้องทำงานหนักเสียยิ่งกว่า เธอยิ่งรู้สึกว่าจะนั่งนิ่งเฉยอยู่เห็นจะไม่ได้ ต้องลุกขึ้นไปหยิบจับช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่ต้องให้พระอาจารย์บอกกล่าว

เมื่อถึงวันงาน ชาวบ้านพากันทะยอยเข้าวัด เธอรู้สึกดีที่พวกเขาจะได้นอนในเต๊นท์ที่เธอได้จัดเตรียมมาอย่างดี ได้เดินบนลานวัดสะอาดเอี่ยม ซึ่งเธอและเด็กวัดคนอื่นๆ เพียรพยายามกวาดใบไม้ออกไปได้กองเบ้อเริ่มทุกวันผ่านมาเป็นเดือน ได้นั่งบนผ้าปูรองนั่งสีขาวซึ่งเธอซักและตากมากับมือ แต่ความปลาบปลื้มของเธออยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่อเธอถูกชาวบ้านและชาวเมืองที่มาวัดหลายคนใช้งานจนแทบไม่มีเวลาว่าง

“จะเดินไปตรงไหนก็ไม่ได้เลย เขาคงเห็นว่าเป็นเด็กวัดเรียกใช้งานตลอด เดี๋ยวก็เรียกให้ไปดูแลลูกหลาน เดี๋ยวก็ใช้ให้เราไปหยิบของ เหนื่อยมาก”

เมื่องานประจำปีสิ้นสุดลง ก็เหลือผ้ากองโตให้เธอซัก เธอบอกถึงความรู้สึก

“แรกๆ ที่ซักผ้า มันขุ่นใจ เพราะไม่เห็นมีใครมาช่วยเลย งานเลิกแล้วเขาก็กลับบ้านกันหมด ก็คิดไปมาอย่างนั้น แต่รู้ว่าถ้าคิดไปมันก็เปลืองพลังงานเป็นคูณสอง ก็เลยทำไปเรื่อย ไม่รู้เมื่อไหร่เหมือนกันที่ความขุ่นใจหายไป กลายเป็นซักผ้าได้เรื่อยๆ ตอนนั้นให้ชวนไปไหนก็ไม่ไปเพราะเหมือนกับว่านี่เป็นหน้าที่ของเรา เราทิ้งไปไม่ได้”

หนุงหนิงไม่น้อยใจที่พวกเราออกไปหาอะไรอร่อยๆ ในเมืองทานโดยไม่ได้ชักชวน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเธอคงเลือกที่จะให้เพื่อนๆ โขกสับเธอในงานปาร์ตี้ ดีกว่าอยู่บ้านซักผ้า

ผมถามเธอว่าแล้วรู้ไหมว่าที่เธอทำอยู่น่ะก็เป็น “จิตอาสา” เหมือนกันนะ

“หนิงเป็นคนไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ แต่เคารพและชื่นชมคนที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น แรกๆ เห็นพระที่อยู่ในวัดไม่อยากกราบไหว้ เพราะเห็นบางท่านอายุยังน้อย แต่พออยู่ไปรู้เลยว่าท่านทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านมากโดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย หนิงมาจากบ้านที่ทำธุรกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีผลประโยชน์ ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีก็ไม่คบไม่หา แต่มาอยู่ที่นี่ชาวบ้านที่มาวัดเขาเอ็นดูเรา ห่วงใยเรา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่มีอะไรให้เขาสักอย่าง พวกพี่ๆ ลูกศิษย์พระอาจารย์ก็ให้หนุงหนิงไปพักที่บ้านทั้งที่พึ่งรู้จักกันโดยไม่ได้รังเกียจหรือต้องการอะไรตอบแทน”

เธอพูดถึงมิตรภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออารี คือวัฒนธรรมของการให้ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ถ้าเรามีความละเมียดพอที่จะเข้าไปค้นหาและเรียนรู้

“เดี๋ยวนี้เห็นพระที่วัดก็กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ เพราะรู้ว่าท่านทำให้ผู้อื่นอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน”

บทเรียนของการให้ที่ต้องงดงามตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง และสิ้นสุด ของคุณหนูผู้กลายเป็นเด็กวัด แม้ว่าเธอจะทำไม่ได้อย่างนั้น แต่ได้สัมผัสแล้วกับตัวเอง เพราะจิตอาสาที่แท้ไม่ใช่งานอีเวนต์ยิ่งใหญ่ ไม่ได้วัดตามจำนวนผู้มาร่วมงาน หรือภาพลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกไปตามสื่อ แต่เริ่มจาก “การสละ” สิ่งที่สละได้ยากที่สุด จะมีอะไรหากไม่ใช่ “ความใจแคบ” ของตัวเราเอง ถึงทำได้ยากแต่หากใครสละได้ใจจะกว้างขึ้นอีกนิด พอที่จะเปิดอ้าออกจนมองเห็นความงดงามของเราและผู้อื่นได้แม้เพียงชั่วครู่ยาม ก่อนจะปิดลงอีกครั้งเมื่อขุ่นเคืองหรือหลับใหล งานของการสละจึงต้องหมั่นทำต่อเนื่องไปไม่มีวันจบสิ้น ทุกขณะที่จิตระลึกได้

อีกไม่กี่วันข้างหน้าหนุงหนิงจะกลับไปทำงานที่เมืองกรุง คำสนทนาสุดท้ายเธอทิ้งไว้ให้ตรองตรึก

“ปีหน้าหนิงจะมาวัดอีก หนิงจะมาซักผ้า เพราะรู้ว่างานนี้มันเป็นงานของหนิง”

Back to Top