มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2555
“เราไม่ใช่คนที่จะเรียกได้ว่านับถือศาสนานะ”
เพื่อนคนหนึ่งของผมพูดด้วยใบหน้าเรียบเฉยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเขา ผมถามเขาว่าแล้วเขาเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เขาตอบว่าไม่แน่ใจและถามกลับมาว่า อะไรคือ “ที่พึ่ง” ซึ่งคำตอบที่หลุดจากปากผมไปก็คือ “เครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ”
แน่นอนว่าเขาไม่มี และไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมีพันธนาการอันรกรุงรัง ซึ่งเป็นผลมาจากมรดกทางวัฒนธรรมของการเป็นมนุษย์ที่เกิดและเติบโตขึ้นบนผืนแผ่นดินที่ถูกเรียกว่า “ประเทศไทย”
ณดนัย นักธุรกิจหนุ่มวัยสี่สิบเศษ เป็นเจนเอ็กซ์ จบการศึกษาจากเมืองนอก ชีวิตครอบครัวเริ่มนิ่ง ลูกเริ่มโตอยู่ในวัยกำลังซน ธุรกิจหรืองานประจำเริ่มลงตัว มีบ้านมีรถ เริ่มมีอิสระทางการเงินพอที่จะหอบครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศได้ปีละครั้งสองครั้ง เวลาที่เคยโปะให้กับการเลี้ยงลูกก็เริ่มน้อยลง พอมีเวลาไปออกรอบฟื้นฝีมือกอล์ฟได้บ้าง เรียกว่าปัจจัยทางโลกของเขามีพร้อมมูล เขาควรจะมีความสุข แต่เขากลับรู้สึกโหยหาอะไรบางอย่าง อาการอย่างนี้ผมอยากจะเรียกอย่างดัดจริตว่า ณดนัย ขาดพร่องเรื่อง “มิติทางจิตวิญญาณ”
เคน วิลเบอร์ พูดเรื่อง “เส้นแนว” ของการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของคนเราว่าต้องมีให้สมดุลกัน ซึ่งคล้ายกับงานด้านพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ ขงจื่อเองก็เน้นการเรียนรู้หลายด้าน เรียกว่าเป็นบัณฑิตต้องไม่ใช่เก่งแต่ในตำรา ต้องรู้จักและช่ำชองในศิลปศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ทั้งหลาย แต่เพื่อนผมคนนี้ดูจะขาดมิติทาง “จิตวิวัฒน์” เพราะเมื่อสนทนากันครั้งใดก็จะมีคำถามในเชิงปรัญชา คุณค่า หรือจริยธรรมว่า “คนเราเกิดมาทำไม” “โลกหน้ามีจริงไหม” หรือไม่ก็ “โลกนี้ความดีไม่มีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับมุมมองของใคร” แต่เมื่อสนทนากันไปมาก็เห็นว่า ที่เขาได้ข้อสรุปอย่างนั้น (หรือยังวนเวียนอยู่กับคำถามเหล่านั้น) ก็เป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่ค่อนข้างจะโหดร้าย และผิดหวังเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ความขุ่นข้องหมองใจนี่เองที่เป็นที่มาของคำถามที่คนทั่วไปผู้ซึ่งใช้ชีวิตแบบหลับใหลไม่เคยถามกัน
ชีวิตของคนอย่าง ณดนัย กำลังบอกอะไรกับพวกเราบางอย่างเกี่ยวกับพลวัตของสังคมไทยในแง่มุมทางจิตวิญญาณหรือไม่ ถ้าหากเหลียวไปมองอันดับหนังสือขายดีตามร้านหนังสือ เราคงจะเห็นภาพของความ “ขาดพร่อง” บางอย่าง ซึ่งส่งผลให้ชั้นแผ่นเทคโทนิคของความศรัทธาร่วม กำลังแตกออกและไหลเลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นนานแล้วในประเทศตะวันตก เร็วๆ นี้ มีหนังสือออกใหม่ของ Alain De Botton ชื่อว่า Religion for Atheists ซึ่งผมขอแปลเป็นไทยว่า ศาสนาสำหรับผู้สิ้นศรัทธา แล้วกัน อลัน กล่าวในเชิงตัดพ้อกึ่งเสียดสี ว่าทุกวันนี้สายใยของความเป็นชุมชนในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะเมืองใหญ่ ได้หายเหือดจนหมดสิ้น แม้กระทั่งการเริ่มสนทนากับคนแปลกหน้าในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ และผู้คนถูกจัดให้คบหาสมาคมกันอยู่ใน “ชนเผ่ายุคใหม่” ก็คือบริษัท สถาบัน องค์กร ที่ตนสังกัดอยู่ จนกลายเป็นเรื่องแปลกที่ใครสักคนจะคบเพื่อนใหม่เมื่ออายุพ้นวัยสามสิบไปแล้ว เขาสันนิษฐานว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ตัดเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาออกไปจากชีวิต ไม่เข้าวัด ไม่ไปโบสถ์ โอกาสที่จะคบหาสมาคมกันอย่างลึกซึ้งในลักษณะ “ถือนิสัย” มีน้อย เราจึงคบเพื่อนวงแคบเข้าทุกที ในขณะเดียวกัน หัวข้อในการสนทนาก็ถูกจำกัดให้ลอยเท้งอยู่บนเรื่องสัพเพเหระ “ที่เราคิดว่าเพื่อนอยากฟัง” ต่อเมื่อการสนทนานั้นลงลึกลงสู่เรื่องความกังวลและความกลัวที่ฝังลึกภายใน เรากลับกระถดหนีด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เราจะรู้สึกขาดพร่องในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์อยู่เกือบตลอดเวลา
หรือมนุษย์ยุคหลังสมัยใหม่จะ [ถูกสาป] ให้ทนทุกข์ทรมานอยู่กับความขาดพร่องของความสัมพันธ์ ดีกว่าจะยินยอมสูญเสียความสามารถที่จะดำรงอยู่ในความไม่หยั่งลงในความเชื่อความเห็นใด
คนยุคหลังสมัยใหม่ผู้ไม่เชื่อและมีความสงสัยเป็นอาวุธ มักจะหยามเหยียดผู้ที่เชื่อถือและศรัทธาในศาสนาว่าเป็นผู้ที่ถูกครอบงำ เป็นพวกไม่มีอิสระทางความคิด งมงาย เต่าล้านปี มีปัญหาชีวิต เข้าสังคมไม่ได้ ฯลฯ นักเขียนหญิงซึ่งมีชื่อเสีย[ง]เป็นที่รู้จักของสังคมไทยคนหนึ่ง ก็เกาะกระแสนี้ด้วยการหยิบสถาบันศาสนามาบริภาษด้วยผรุสวาจาและโจมตีพระสงฆ์ชื่อดังออกสื่อ และพยายามชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าขันเพียงใดที่สังคมไทยในปัจจุบันยังคงเชื่อในเรื่องที่เธอเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล
ส่วนนักวิชาการไทยสายรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และปรัชญาศาสนาวัชรยานบางคน ไปไกลกว่านั้น เพราะกำลังร่วมกันสร้างวาทกรรมว่าพุทธธรรมสายเถรวาทในประเทศไทย ถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จึงไม่อาจจะเป็นที่พึ่งพาอันบริสุทธิ์ให้กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะสอนให้คนสยบยอมกับอำนาจ เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมของสังคม ส่วนการเข้าวัดทำบุญทำทานก็ถูกทำให้เป็นการตลาด วัดร่ำรวยในขณะที่ชาวบ้านจนลง ส่วน “พระไตรปิฎก” นั้นก็ถูก [ตีความ] เข้าข้างฝ่ายผู้มีอำนาจ แถมยังโบราณ และไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ บางท่านไปไกลถึงกับเสนอทางออกให้ยกเลิกสถาบันปกครองสงฆ์ให้หมดไปจากเมืองไทย*
ถ้อยคำของนักวิชาการ นักปรัชญา เหล่านี้ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าถามว่าแล้วเขากำลังจะนำพาพวกเราไปสู่อะไร เป็นเรื่องที่แต่ละท่านต้องพิจารณาดูกันให้ดี
กลับมาดูท่าทีของ อลัน ซึ่งน่ารักกว่า เขาบอกว่าแทนที่เราจะไปมีท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ หรือไปสร้างวาทกรรมอะไรมาต่อต้านศาสนาให้เมื่อยตุ้ม เราควรจะไปเรียนรู้กับสถาบันศาสนาว่าได้ยังประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง และทำได้อย่างไรต่างหาก ยกตัวอย่างความสำเร็จของศาสนาในการสร้างสังฆะหรือชุมชนนั้น ไม่มีองค์กรใดทำได้ดีเท่าองค์กรศาสนา (ลองดูตัวอย่างของพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน หรือหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศส) หรือไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ ความเมตตา กรุณา ความโอบอ้อมอารี ศาสนาก็ทำได้ดี มันเป็นเรื่องหัวเราะไม่ออก เพราะในขณะที่สังคมตะวันตกเน้นเรื่องการไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ผลที่ติดตามมาก็คือคนของเขาต่างต้องอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว และอ้างว้าง โดยเฉพาะเมื่อสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่พึงมีร่วมกันของครอบครัวได้ถูกตัดรากถอนโคนออกไป ความเป็น “ครอบครัว” จึงพร่าเลือนไม่มีน้ำหนักเหมือนในอดีต (ลองชมภาพยนตร์เรื่อง Shame (2011) แล้วจะทราบว่าผมกำลังหมายถึงอะไร)
กลับมาที่ ณดนัย เพื่อนของผมคนนี้ เมื่อได้ฟังว่าเขาไม่เชื่ออะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณความดีหรืออะไร เอะใจว่าเขามีลูกวัยกำลังน่ารักอยู่สองคน ผมจึงลองถามว่า
“แล้วพาลูกไปวัด หรือไหว้เจ้าตามประเพณีจีนอยู่ไหม”
เขาบอกว่าพาลูกเข้าวัดอยู่บ้าง ไหว้เจ้าก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร เป็นแค่พาไปให้รู้จักว่ามีแบบนี้อยู่ ผมนึกถึงเพื่อนญี่ปุ่นที่พูดจาทำนองนี้เหมือนกัน เพราะวัดกลายเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพียงแค่นั้น ไม่มีอะไรที่เป็นคำสอนหรือพระธรรมที่จะต้องเล่าเรียนมาปฏิบัติ
เพราะไม่อยากเสียเวลาจึงยิงเข้าแสกหน้า
“แล้วจะส่งต่อคุณค่าอะไรให้กับลูก”
เขาอึ้งไปเล็กน้อย ก่อนจะตอบว่า “ก็ไม่เห็นต้องส่งต่ออะไร แค่เราอยู่ด้วยกัน”
“งั้นก็ส่งผ่านความรักล่ะสิ” ผมพยายามตีความให้
“ไม่อยากจะเรียกอย่างนั้น...เรียกว่าเป็นประสบการณ์ร่วมดีกว่า” เขาตอบ
ครานี้เป็นผมบ้างที่เป็นฝ่ายอึ้ง
8 Comments
คำถาม 1 - ทำไมต้องมีที่พึ่ง?
คำถาม 2 - จากข้อความ "...ถ้อยคำของนักวิชาการ นักปรัชญา เหล่านี้ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าถามว่าแล้วเขากำลังจะนำพาพวกเราไปสู่อะไร ..." ผมถามว่า ที่ผ่านมา ศาสนานำเราไปสู่อะไร มีแต่สิ่งที่ดีอย่างเดียวหรือที่ศาสนาและสิ่งที่เกาะศาสนามาได้ชักนำเราไป? พระสงฆ์มีปัญญาหยุดสงครามแทนที่จะปลุกเสกของขลังให้ทหารไหม? สงครามครูเสดไม่ใช่เพราะความเชื่อที่ต่างกันหรือ? การประหารชีวิตบุคคลรักร่วมเพศในที่สาธารณะ การปาหินให้ตาย การฆ่าเพื่อเกียรติ ล้วนแล้วแต่เป็นการตีความบัญญัติทางศาสนาไม่ใช่หรือ?
คุณเชื่อหลักฐานการขุดค้นทางอารยธรรมว่ามนุษย์มีอารยธรรมมาไม่เกิน 10000 ปีไหม? คุณเชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินไหม? ถ้าคุณเชื่อ คุณย่อมต้องปฏิเสธชาดก รวมทั้งไบเบิลและกุรอาน เพราะชาดกบอกว่ามนุษย์มีอารยธรรมมาหลายสิบล้านปี ไบเบิลและกุรอานบอกว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์
ถ้าศาสนาศักดิ์สิทธิ์จริง มีศาสนสถานของศาสนาใดหรือไม่ที่ไม่จมน้ำในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา?
แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือที่ศาสนาสร้างสังคมที่ "ดี" กว่า
เราจำเป็นต้องมีศาสนาเพื่อเป็นคนที่เมตตา โอบอ้อมอารีจริงหรือ?
ถ้าคุณถามผมว่า ผมจะส่งต่ออะไรให้ลูก
ผมจะบอกคุณว่า ผมจะส่งต่อ "การยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม"
แค่นั้นก็พอแล้ว
http://freemindfromreligion.blogspot.com
จิตคุณไม่วิวัฒน์พอที่จะฟังมุมมองที่แตกต่างเลยหรือครับ? ถึงต้องลบความเห็นผมทิ้งน่ะ
อีกทีนะ... ถ้าหากว่า มันถูกลนด้วยความบังเอิญ หรือจริงๆมันไม่ได้ถูกบันทึกใน server
คำถาม 1 - ทำไมต้องมี "ที่พึ่ง" ?
คำถาม 2 - จากข้อความ "...ถ้อยคำของนักวิชาการ นักปรัชญา เหล่านี้ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าถามว่าแล้วเขากำลังจะนำพาพวกเราไปสู่อะไร..." ผมถามว่า แล้วที่ผ่านมา ศาสนานำเราไปสู่อะไรบ้าง?
พระสงฆ์หยุดสงครามได้หรือ? สุดท้ายก็ปลุกเสกเครื่องรางให้ทหารเข้าสงคราม
แล้วครูเสดล่ะ? ไม่ใช่เพราะศาสนาหรือ?
การล่าแม่มด การเผาทั้งเป็น การประหารชีวิตพวกรักร่วมเพศ การปาหินให้ตาย นี่ก็เพราะศาสนาไม่ใช่หรือ?
คำถาม 3 - คุณเชื่อการขุดค้นทางอารยธรรมที่ว่ามนุษย์มีอารยธรรมมาไม่เกิน 10000 ปีไหม? ถ้าเชื่อ คุณก็ลืมนิยายที่ว่าด้วยการเวียนว่ายตายเกิดนับสิบนับร้อยกัปป์เสีย เพราะมันเข้ากันไม่ได้
คำถาม 4 - คุณเชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินไหม? ทฤษฎีที่บอกว่า เรามีต้นกำเนิดมาจากลิง และทำให้เราพัฒนาการรักษาโรคได้อย่างทุกวันนี้ ถ้าเชื่อ ก็จงลืมบัญญัติที่ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์
และหากให้ผมตอบคำถามว่า ผมจะทิ้งอะไรไว้ให้ลูก ผมจะตอบว่า "การยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชาวโลกอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข"
สวัสดีครับครับคุณ Atheist
ขอบคุณมากนะครับสำหรับการร่วมแสดงความคิดเห็น อีกทั้งช่วยเขียนเตือนว่าโพสต์ไม่ขึ้นด้วย
ทางแอดมินก็สงสัยเช่นกัน เพราะได้รับคอมเมนต์ของคุณผ่านทางอีเมล แต่ก็ไม่เห็นขึ้นบนเว็บ เมื่อสักครู่ตรวจสอบดูจึงเห็นว่าติด spam detector ของ blogger หลังจากคอมเมนต์นี้ทางแอดมินจะไปปลดให้นะครับ (และได้ save screen shot ไว้ให้ด้วยแล้ว หากต้องการ)
อนึ่ง ๑) บทความแต่ละชิ้นเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนครับ ๒) เมื่อมีผู้เขียนคอมเมนต์ใน blog ทีมแอดมินก็มักส่งต่อให้ผู้เขียนทราบ (หากไม่พลาด เพราะช่วยกันทำหลายคน และล้วนทำเป็นงานจิตอาสา) และ ๓) สมาชิกจิตวิวัฒน์และทีมแอดมิน ไม่คิดและไม่เคยประกาศว่าจิตตนเองวิวัฒน์แล้ว กลุ่ม การประชุม คอลัมน์ และ blog เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกันครับ
ขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ
ด้วยจิตคารวะ _/|\_
เรียนท่านผู้อ่านอื่นๆ ที่อ่านแล้วอาจงงกับความคิดเห็นที่ 4 ที่แอดมินอธิบาย
ความคิดเห็นที่ติด spam detector คือ ความคิดเห็นที่ 1 และ 3 ครับ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดครับ
ทำไมต้องมีที่พึ่ง "บิดามารดาเป็นผู้แสดงโลกให้แก่บุตร"อื่มม พึ่งพ่อแม่เป็นที่เกิด
แต่ มีคำในบทสวด "พุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า.....ข้าพเจ้าเป็นทาส...."ถึงตรงนี้รู้สึกเป็นที่สะดุดขึ้นในใจ......แต่เมื่อศึกษาและสืบค้นทั้งทดลอง พิสูจน์ตัวตัวเอง และไถ่ถาม
"เชื่อได้อย่างไร?กับสิ่งที่ว่าเป็นคำสั่งสอนของพุทธเจ้า"
"แล้วรู้ไหนว่าเราถูกเก็บมาเลี้ยงนั้นไม่ใช่พ่อแม่เรา เขาเก็บมาเลี้ยง"
"ไม่จริงครับพ่อแม่ผมท่านเลี้ยงผมมาครับ"
"แล้วเชื่อได้อย่างไร? ว่าเป็นพ่อแม่ตัวจริง"
ตอบคำถามคุณ Atheist
คำถาม 1 - ทำไมต้องมีที่พึ่ง?
คำถามนี้ส่วนตัวผมว่ามันเป็นการตั้งคำถามที่ไม่รัดกุมนะ คำถามที่รัดกุมกว่านั้นก็คือแม้แต่ในขณะที่เราพูดอยู่เรารู้ได้อย่างไรว่าเรายึดถือ หรือไม่ยึดถืออะไรเอามาเป็นที่พึ่งบ้าง
คำถามที่ดีกว่านั้นคือ “เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์เราจะอยู่โดยไม่ยึดถืออะไรเป็นสมุฐานของความเชื่อของตนเลย?” ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์เราถ้ามองในแง่ของการประกอบสร้าง “สำนึกรู้” หรือ Consciousness เราจะเห็นว่าลักษณะทางชีววิทยาและการประกอบสร้างทางสังคมวัฒนธรรมมีผลต่อสำนึกรู้ของเราทั้งสิ้น Maturana พูดเรื่องนี้เอาไว้ใช้ว่าเราทำการ Structural Coupling กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเพื่อดำรงอยู่ ถ้าทำไม่ได้เราก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ตั้งแต่ลำดับวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว (เราจะสูญพันธ์) แต่ถ้ามองในแง่ของศาสนา อย่างศาสนาพุทธ และอีกหลายศาสนาที่พูดถึง “นามธรรม” ที่ติดมากับการกำเนิดขึ้นของชีวิต พุทธศาสนาพูดเรื่องของ กรรมและอาสวะที่นำมาสู่ปฏิสนธิจิต และสังสารวัฏ ศาสนาคริสต์พูดเรื่องบาปกำเนิด มันชัดเลยว่าเราจะไปพูดอย่างพล่อย ๆ ไม่ได้ว่าตัวเรานั้นมีสิทธิในการ “เลือก” ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร “โดยอิสระ” และไปพ้นจากการครอบงำของนามธรรมที่ติดมากับการได้มาซึ่ง “ชาติกำเนิด”
ดังนั้นทั้งชีววิทยาและศาสนาพูดตรงกันว่าชีวิตเราไม่ได้กำเนิดขึ้นอย่างโดด ๆ อย่างอิสระจากความไม่มีอะไรเลย การที่เราเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยนั่นหมายถึงเราต้องยอมรับว่า “ที่มา” ของเรามีผลทำให้เราต้องแบกต้นทุนทางรูปธรรมและนามธรรม และนั่นแปลว่าเราไม่สามารถไปพ้นจากการครอบงำและพันธการของเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือตัวเรา ตั้งแต่จุติได้ชีวิตมาเลยทีเดียว
สำหรับผมถ้ายอมรับว่าเราถูกครอบงำแล้ว ก็ไม่ต้องไปถามกันอีกว่าทำไมต้องมีที่พึ่ง!
ก็เพราะไม่รู้ จึงแสวงหาความรู้เกี่ยวกับตัวเอง จึงเลือกหนทางที่ทำให้ความรู้นั้นชัดเจน อย่างน้อยก็ต้องสามารถอธิบายความจริงที่เกิดขึ้นในใจ หรือปรากฏการณ์ของโลกได้ในระดับหนึ่ง ศิลปวิชาทั้งหลายในโลกนี้เกิดมาก็เพื่อรองรับตรงนี้ พยายามอธิบาย พยายามสร้างความเข้าใจ พยายามพาตัวเราออกจากความว้าวุ่นของความไม่เข้าใจในโลกและชีวิต
ทีนี้เราจะเลือกอะไร ก็ขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย ตัวผมเชื่อในการสั่งสมเจตนาของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะหันไปหาจิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ มานุษย์วิทยา แต่ “ลึก ๆ” ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือพยายามเข้าใจตัวเอง การที่เราเอนเอียงไปชอบคำอธิบายของศาสตร์ใดนั่นก็แสดงว่าเรา “เลือก” ที่พึ่งของเราแล้ว โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดของคุณ Atheist ก็คือพาตัวเองไป “พึ่ง” ในชุดความเชื่อที่จะไม่เชื่อในศาสนา
(จะค่อย ๆ ทะยอยตอบคำถามข้ออื่น)
ศรชัย 23.4.55
ขอบพระคุณและขออภัยเป็นอย่างสูงที่เข้าใจผิดครับ
_/\_
แสดงความคิดเห็น