การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
เสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งเน้นการฝึกทักษะให้แก่นักเรียนมากกว่าการมอบความรู้

ทักษะสำคัญมีสามประการคือ ทักษะเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ นักเรียนที่มีความสามารถในศตวรรษใหม่ คือนักเรียนที่มีทักษะสามประการนี้ดี ส่วนเรื่องความรู้ ใครอยากรู้อะไรหรือจำเป็นต้องรู้อะไร ให้ไปหาเอาข้างหน้า

ลำพังทักษะการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิต สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ในโรงเรียน

การศึกษาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แยกการเรียนหนังสือและการใช้ชีวิตออกจากกัน บ้างเรียนเก่งแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น ส่วนใหญ่เรียนก็ไม่เก่ง ใช้ชีวิตก็ไม่เป็น เราจึงได้เยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเต็มบ้านเต็มเมืองมิหนำซ้ำ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาก็ต่ำเกือบสุดเกือบทุกสำนัก

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งเน้นการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนหนังสือ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการทำงานเป็นทีม (collaboration) การทำงานเป็นทีมก็เป็นทักษะ ลองขึ้นชื่อว่าทักษะก็ต้องฝึก มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรม

โรงเรียนที่ดี ครูที่ดี โดยเฉพาะสำหรับชั้นเด็กเล็ก การออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนให้เด็กเล็กได้ทำงานเป็นทีมในทุกๆ วันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิวัติการศึกษา

การทำงานเป็นทีม มิใช่การแบ่งกลุ่มทำรายงานส่งครูหรือการแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษา

การทำงานเป็นทีม หมายถึงการแบ่งกลุ่มเรียนรู้ด้วยการกระทำ คำสำคัญคือการกระทำหรือการทำงาน (action) กลุ่มที่ดีจะถูกออกแบบให้เด็กทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้ผ่านการกระทำหรือการทำงาน (learning by action หรือ active learning)

บ้างเรียกว่าการเรียนรู้ผ่านปัญหา (Problem-based Learning) หรือการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning) มักเรียกย่อๆ กันว่า PBL

จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม สาระคือเด็กต้องได้เรียนรู้จากการทำงาน หากเด็กมิได้เรียนรู้ ได้แต่ความรู้ เช่น แบ่งกลุ่มไปทำรายงานมาส่งครู เช่นนี้ไม่มีประโยชน์ หรือแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษาแล้วเขียนรายงานมาส่งครู เช่นนี้ได้ประโยชน์น้อย คำสำคัญที่อย่าหลงลืมคือการเรียนรู้ผ่านการทำงาน

ในการแบ่งกลุ่มทำงานใดๆ เด็กทุกคนต้องได้ลงไม้ลงมือกระทำหรือทำงาน ไม่เปิดโอกาสให้เด็กบางคนอยู่เฉยๆ ถ้าทำได้และควรทำอย่างยิ่งคือ ให้มีเด็กทุกประเภทเป็นสมาชิกของกลุ่ม คือเด็กเรียนเก่ง เด็กเรียนไม่เก่ง เด็กฉลาด เด็กที่ดูคล้ายจะช้า (ซึ่งมิได้แปลว่าโง่) เด็กที่ดูคล้ายจะซน (ซึ่งมิได้แปลว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น) เด็กแอลดี เด็กพิการ เด็กชาติพันธุ์ และศาสนาต่างๆ ฯลฯ

เรามีเด็กหลากหลายประเภทเช่นนี้ในกลุ่มก็จริง แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เราได้เด็กหลากหลายนิสัยเข้ามาอยู่ในกลุ่มโดยไม่รู้ตัวด้วย เด็กขยัน เด็กขี้เกียจ เด็กมีวินัย เด็กไม่มีวินัย เด็กรวย เด็กจน ลูกเจ้าสัว ลูกกรรมกร เด็กเร็ว เด็กช้า เด็กขี้ประจบ เด็กฉอเลาะ เด็กมารยาสาไถย เด็กหญิงผู้ใจบุญ เด็กชายผู้ใจร้าย เด็กอู้งาน เด็กเอาหน้า เด็กละโมบ เด็กเผื่อแผ่ เด็กเกเร ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มของเด็กคือตัวแทนของสังคมที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ในวันหน้า

การเรียนรู้ที่ดีจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ชีวิตที่ดี

กลุ่มที่ดีนอกจากให้เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำแล้ว ยังต้องมีกระบวนการพูดคุยเพื่อประเมินการเรียนรู้หลังการทำงานดังที่เรียกว่า After Action Review (AAR) ซึ่งเป็นทักษะที่ครูสมัยใหม่ต้องทำเป็น เมื่อแบ่งกลุ่มเด็กไปเรียนรู้โครงการอะไรบางอย่างด้วยการลงมือทำงานแล้ว เด็กจะต้องกลับมาพูดคุยกันเพื่อประเมินการเรียนรู้โดยมีครูนำกระบวนการ ครูทำหน้าที่เป็นทั้งครูฝึก (coach) และผู้นำกระบวนการ (facilitator) ครูมิใช่ผู้สอนหรือผู้มอบความรู้อีกต่อไป ความรู้อยู่ข้างนอกนั้นให้นักเรียนไปหาเอาเองเมื่อจำเป็น แต่วันนี้นักเรียนควรได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ก่อน

การเรียนรู้เป็นทีมเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

การเรียนรู้เป็นทีมด้วยกันระหว่างเด็กหลากหลายประเภทที่มีนิสัยต่างๆ กัน จำเป็นต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นทีมดังกล่าวแล้ว การทำงานเป็นทีมสอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพของอีริกสัน (Erikson) ขั้นตอนที่ห้า ที่เรียกว่า อินดัสทรี (Industry) คือ เด็กพัฒนาบุคลิกภาพด้วยการปฏิสังสรรค์กับคนอื่นในสังคม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างร้อนแรงและเป็นครั้งแรกของมนุษย์ทุกคนเมื่อก้าวออกจากบ้านเข้าสู่ระบบการศึกษา

ในขั้นตอนการทำงานเป็นทีมนี้ เด็กทุกคนต้องฝึกทักษะสามประการโดยธรรมชาติ นั่นคือ การแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือกันทำงาน ตามลำดับ เราอาจจะเข้าใจง่ายขึ้นหากพูดว่า เด็กเล็กต้องฝึกทักษะการทะเลาะเบาะแว้ง คืนดี และเล่นด้วยกันต่อ เด็กโตต้องฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง การลงรอยกัน และร่วมมือกันทำงานต่อไป

ทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี เกิดจาการออกแบบโครงงานที่ดี การออกแบบโครงงานที่ดีจะต้องช่วยให้เด็กทุกคนในกลุ่มได้ลงมือทำและทำสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล แต่ทุกคนได้ทำและทำสำเร็จ แล้วจึงมาพูดคุยกันหลังกลุ่มเพื่อประเมินการเรียนรู้ว่า ใครได้เรียนรู้อะไรและอย่างไร

เวลาเด็กหนึ่งคนทำอะไรได้ พัฒนาการบุคลิกภาพของอิริคสันเรียกว่า ออโตโนมี (autonomy) เกิดความภาคภูมิใจว่าเราทำได้ เวลาเด็กหนึ่งคนริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เรียกว่า อินนิชิเอชัน (initiation) เกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีความสามารถ ทั้งสองประการนี้เกิดในทีมโดยธรรมชาติ และนำไปสู่การสร้างตัวตนของเด็กคือ เซลฟ์ (self)

เด็กที่มีตัวตนจะรู้จักรักตนเอง ไม่ใช้พฤติกรรมเสี่ยง เด็กที่ไม่มีตัวตนให้รักจึงไม่ตั้งใจเรียน ไร้วินัย เข้าหาอบายมุข ควบคุมพฤติกรรมทางเพศไม่ได้ และใช้ชีวิตล่องลอยไม่มีอนาคต

จากความสามารถออโตโนมี และ อินนิชิเอชัน และการทำงานเป็นทีม คือ อินดัสทรี ดังกล่าวแล้ว นักเรียนคนหนึ่งจึงจะพัฒนาตนเองไปเป็นวัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะพร้อมๆ กับทักษะการเรียนรู้ที่ดี

ทั้งหมดนี้คือกลไกการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

Back to Top