ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
พัฒนาการทางอารมณ์และจริยธรรม



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556

ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการศึกษาในศตวรรษใหม่ ประกอบด้วยทักษะ ๓ ประการคือ การเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ทักษะการเรียนรู้แบ่งเป็นทักษะย่อย ๔ ขั้นตอน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารความคิด การทำงานร่วมกัน และการสร้างนวัตกรรม ทักษะย่อยที่สามคือ การทำงานร่วมกัน (collaboration) เป็นส่วนที่สอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพช่วงเด็กประถมตามแนวคิดของ อีริก เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) ที่ว่า เด็กประถมมีพัฒนาการทางสังคมที่สำคัญคือ การแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือกัน พูดง่ายๆ ว่าทะเลาะกัน ดีกัน และเล่นด้วยกัน หากเป็นการทำงานกลุ่มส่งครูก็จะเป็น คิดต่างกัน หาจุดลงตัว และทำงานเป็นทีม

หากโรงเรียนไทยจัดการศึกษาแบบที่เรียกว่าเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Active Learning) ให้แก่เด็กประถม ๖ ปีและเด็กมัธยมอีก ๖ ปี เวลายาวนานต่อเนื่อง ๑๒ ปีที่เด็กไทยต้องฝึกใช้ทักษะการทำงานร่วมกันทุกๆ วันย่อมทำให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์โดยธรรมชาติ

นั่นคือ เด็กและเยาวชนไทย “จัดการ” อารมณ์ตนเองได้

คำว่าจัดการ มิได้แปลว่าควบคุมหรือไม่ให้มี คนเรารัก โลภ โกรธ หลงได้เป็นธรรมดา แต่จะจัดการอย่างไร นักเรียนไทยรักกันได้แต่ระวังโรคและการตั้งครรภ์ โลภได้แต่อย่าเข้าไปในเว็บการพนันออนไลน์ โกรธได้แต่อย่ายกพวกตีกันหรือนัดตบกันหลังโรงเรียน หลงได้แต่ไม่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกสองเดือน ฯลฯ คงเห็นพ้องกันว่า เด็กและวัยรุ่นไทยปัจจุบันทำทั้งหมดที่ว่ามา คือยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่ได้เกิดจากการสั่งสอน แต่เกิดจากการปะทะทางอารมณ์ซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมว่า ในสังคมใดๆ ณ บริบทและเวลาใดๆ เราควรจัดการอารมณ์อย่างไร

การศึกษาที่มุ่งเน้นการมอบความรู้ หลักสูตร การสอบ ความเป็นเลิศ จะกำหนดให้นักเรียนไทยมีพฤติกรรมตัวใครตัวมัน ทุกคนมีภารกิจเรียนให้เก่ง แต่ขาดโอกาสปะทะสังสรรค์กับเพื่อนในทางสร้างสรรค์

ส่วนทักษะการใช้ชีวิตแบ่งเป็นทักษะย่อย ๔ ขั้นตอนคือ รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต รู้จักค้นหาทางเลือกและตัดสินใจ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง และรู้จักยืดหยุ่น ทักษะย่อยที่สามคือ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาจริยธรรม (ethics)

จริยธรรมมิใช่ศีลธรรม (moral) จริยธรรมเป็นทักษะซึ่งต้องการการฝึกอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดจากการเทศนาสั่งสอน เราต้องโยนเด็กของเราลงสู่สถานการณ์ที่เขาได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่จะมีจริยธรรม

คนทุกอาชีพต้องมีจริยธรรม อาชีพที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นยิ่งต้องมีจริยธรรมกำกับมิให้ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อส่วนรวม ดังนั้น นักการเมือง หมอ ครู ผู้พิพากษา ตำรวจ จึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีจริยธรรมแข็งแกร่ง เพราะบุคคลเหล่านี้กำความรู้และถืออำนาจไว้ในมือสูง แต่แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็มิใช่ข้อยกเว้น การเสียบลูกชิ้นต้องเสียบให้ตรงเป็นแนวศูนย์กลางโดยสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นเวลาปิ้งก็จะสุกไม่เท่ากัน ทำให้คนกินเดือดร้อนได้ ส่วนที่ไม่สุกก็ทำให้ท้องเสียหรือมีพยาธิ ส่วนที่สุกเกินจนไหม้เกรียมก็ก่อสารพิษและอาจจะก่อมะเร็ง เป็นต้น

แต่เพราะชีวิตเลือกได้และมีความยืดหยุ่น (resiliency) ดังนั้น เด็กประถมและมัธยมควรมีเวลา ๑๒ ปีในการเรียนรู้ด้วยแบบ แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง เพื่อที่จะได้รับรู้ผลลัพธ์ของการกระทำของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในทีม และตัดสินใจเอาเองว่า ตนเองจะใช้ชีวิตที่มีระดับจริยธรรมมากน้อยเพียงไร ให้รู้ว่าการใช้ชีวิตอย่างไรล้วนมีราคาต้องจ่ายทั้งสิ้น

คุณหมอที่ไม่รับของกำนัลจากบริษัทยาเลยแม้กระทั่งปากกาสักด้ามหรือกระดาษทิชชูสักกล่อง มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอที่รับทุนบริษัทยาไปต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ก็มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอสองท่านนี้มีฐานะต่างกัน ความสุขความทุกข์ต่างกัน

คุณครูที่ไม่คำนึงถึงนักเรียนที่เรียนอ่อน เอาแต่สนใจนักเรียนที่เรียนเก่ง กับคุณครูที่สนใจนักเรียนทั่วทั้งห้องเสมอหน้ากัน ทั้งสองท่านเลือกชีวิตของตนเอง และมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่ายเช่นกัน รายได้ต่างกัน ความสุขความทุกข์ในใจนั้นต่างกัน

เรื่องเช่นนี้ยากต่อการตัดสินผิดถูก แต่ง่ายต่อการฝึกทักษะ หากเด็กนักเรียนได้รับโอกาสฝึก

พัฒนาการทางอารมณ์และทางจริยธรรมเป็นนามธรรม มาห์เลอร์ (Mahler) และ โคห์ลเบอร์ก (Kohlberg) อาจจะเขียนทฤษฎีพัฒนาการสองเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติในประเทศไทยได้ หากขาดการลงมือทำ

การปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือปฏิบัติ

Back to Top