ของขวัญอันขัดแย้ง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557

เมื่อวันที่ ๒๒-๒๖ ม.ค. ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสเรียนหลักสูตรจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ที่เรียกว่า Process-Oriented Psychology (หรือ Process Work) เรื่อง “ผู้นำจากภายใน (Leadership Presence)” กับกระบวนกรผู้มากประสบการณ์ อาจารย์ Gill Emslie จาก Findhorn Consultancy Service สหราชอาณาจักร โดยเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติบโตจากภายในผ่านการทำความเข้าใจการกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้ง แม้เธอจะมาสอนเรื่องนี้ให้กับกลุ่มศึกษาปฏิบัติเป็นปีที่สี่แล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมเข้าเรียน ก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกคราวไป

คราวนี้ผมได้เรียนรู้การทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นสนามพลังที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันอย่างแยกไม่ออก สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเราด้วย และในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ก็สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราด้วย โดยทั้งสองอย่างส่งผลถึงกันและกันตลอดเวลา เพราะมีการเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ทั้งในสิ่งที่ชอบใจ (สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คุณค่า) และที่ไม่ชอบ (ขัดแย้งกับระบบคุณค่าของเรา)

ในความสัมพันธ์ เพื่อรักษาบรรยากาศที่ราบรื่นและสัมพันธภาพที่ดี เราอาจเลือก “เก็บ” ความรู้สึกกวนใจ (disturbance) ความรู้สึกที่ไม่ดีหรือไม่พอใจ (discontent) ไว้ แล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” เพื่อจะได้ไม่สร้าง “ปัญหา” ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เราเชื่อว่าความรู้สึกนี้จะหายไปเอง และดำรงความสัมพันธ์ในภาวะ “สุภาพ” และ “ให้เกียรติ”​ กันต่อไป แต่ยิ่งหลีกเลี่ยงการปะทะกระทบกระทั่งด้วยการละเลยความรู้สึกภายในของตัวเอง ความสัมพันธ์ก็อาจจะยิ่งห่างเหินกันไปทีละน้อยๆ ดังเราพูดถึงคนอื่นได้อย่างเปิดเผยมากกว่าพูดกับเจ้าตัวโดยตรง และเมื่อห่างกันมากขึ้นไปอีกก็จะเกิดอาการ “อยากออกห่าง” หรืออยากมีชีวิตโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีก เพื่อรักษาความ “สบายใจ” ของตัวเองไว้

ที่น่าสนใจก็คือ แม้เราจะพยายามเก็บความไม่พึงพอใจเหล่านี้เอาไว้อย่างดี แต่เรามักจะไม่รู้ตัวว่าเรา “เก็บอาการ” ไม่อยู่ และแสดงออกโดยไม่รู้ตัวหรือนึกไม่ถึง ซึ่งอาการหรือสัญญาณซ้อนเหล่านี้ (double signals) ส่งผลต่ออีกฝ่ายผ่านจิตไร้สำนึกโดยไม่รู้ตัวได้อย่างแยบยล และอาจส่งผลให้เขาเกิดความรู้สึกต่างๆ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลหรือที่ไปที่มา เช่น อาการหมั่นไส้ เหม็นเขียว อิจฉา กระอักกระอ่วน ติดขัดหรือไม่สบายใจ รวมทั้งอาการด้านบวกเช่น ความชอบพอ หลงใหล คลั่งไคล้ หรือหลงเสน่ห์ด้วย

กล่าวเฉพาะด้านลบว่า ส่วนใหญ่กว่าเราจะรู้ตัวก็ปล่อยให้ความรู้สึกกวนใจเหล่านี้สั่งสมและหมักหมมจนกลายเป็นความห่างเหิน หวาดระแวงทั้งในระดับอ่อนๆ แบบกวนใจเป็นพักๆ (แม้จะอยู่ห่างกัน) และแบบรุนแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงขั้นโกรธหรือแค้น ยิ่งเราต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เราก็จะสร้าง “ภาพลักษณ์ตัวแทน” ของอีกฝ่ายในใจเราเองอย่างวิจิตพิสดารมากกว่า “ตัวจริง” และเริ่มพูดถึงเขาราวกับรู้จักเขาดีแล้ว

แต่ที่น่าแปลกคือ ยิ่งเรากีดกันสิ่งรบกวนออกไปจากหน้าจอชีวิตมากเท่าไร ก็ดูเหมือนเราเริ่มกลายเป็นสิ่งนั้นมากขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น คนที่ประณามความรุนแรงก็เริ่มกระทำการรุนแรงเสียเอง หรือผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการในองค์กรหรือครอบครัวของตัวเองได้อย่างแนบเนียน เป็นเพราะเราเองปฏิเสธสิ่งรบกวนนั้นๆ ทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในตัวเรา

ดังนั้นทางออกที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ “การมีท่าทีที่เหมาะสม” การมองว่าอาการ “กระทบรบกวน” ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสัมพันธภาพ ไม่ถือว่าเป็น “ปัญหา” ที่ต้องหลีกเลี่ยง หากแต่เป็นสิ่งที่จักรวาลหรือธรรมชาติภายในต้องการให้เราทำความเข้าใจ และหลอมรวมเพื่อให้เกิดความบริบูรณ์และสมดุลในระบบยิ่งขึ้น

โดยแนวทางการทำงานในเรื่องนี้มี ๒ ประการคือ ประการแรก เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าเรามีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น ให้ลองระบุหรือสื่อสารมันออกมา แล้วค้นหาว่า “อีกฝ่าย” แสดงออก พูด หรือทำอะไรที่ส่งผลถึงเรา เช่น สีหน้าท่าทางของเขา คำพูดบางอย่าง หรือการแสดงออกทางสายตา และค้นหาภายในตัวเองว่าสิ่งที่เราให้คุณค่าหลักนั้นคืออะไร และสิ่งที่มากระทบนั้นมีคุณลักษณะเด่นหรือแก่นสาร (Essence) อะไร เช่น เราอาจระบุว่า สิ่งที่กวนใจคือ “เขาดูมั่นใจเกินเหตุและกร่าง” และเมื่อค้นหาแก่นสารภายใน เราอาจพบว่าแม้รูปแบบภายนอกอาจขัดแย้งกับระบบคุณค่าหลักของเราเช่น “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” แต่ภายใต้รูปแบบที่ “มั่นใจเกินเหตุ” นี้ เราก็พบว่ามีคุณลักษณะของ “ความเป็นตัวของตัวเองและอิสระในการแสดงออก” ที่เราเองก็ต้องการบ้างเช่นกัน

ประการที่สอง เราสามารถชำระสะสางสิ่งปฏิกูลที่ตกค้างหมักหมมในความสัมพันธ์ได้ด้วยการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับบุคคลนั้นๆ ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและถามไถ่ความรู้สึกของอีกฝ่ายเพื่อรับรู้กันและกัน ด้วยเจตนาให้บรรยากาศหรือความรู้สึกระหว่างเราโล่งโปร่งและสบายเนื้อสบายตัวยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันหันหน้าเผชิญกับ “อะไรบางอย่าง” ที่ดำรงอยู่กับจิตไร้สำนึกร่วม เพื่อทำความเข้าใจกับ “สิ่งแปลกปลอม” ในตัวเอง อย่างไม่มาหลอกหลอนให้กลายเป็นหวาดระแวงและห่างเหินจนเกินแก้ไข

โดยสรุป เมื่อเกิดเหตุจี้ใจขึ้น เราไม่จำเป็นต้องใช้คาถา “ไม่เป็นไร” กลบเกลื่อนผลกระทบที่ไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะ “เปิดรับ” ของขวัญที่มาพร้อมกับความขัดแย้ง โดยมีแก่นสารล้ำค่าสำหรับชีวิตบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ต่อชีวิตได้ และยังสื่อสารบอกกล่าวต่ออีกฝ่ายให้รับรู้ถึงสิ่งที่เราได้รับ อันจะนำพาความสัมพันธ์ของเราให้เข้าใจและเข้าใกล้กันอย่างจริงแท้ยิ่งขึ้น

Back to Top